เสียงปริ่มน้ำ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:10, 11 มกราคม 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียง  รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

          ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ปรากฏว่าที่นั่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำให้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคจึงมีความหมายและความสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล หรือการลงมติผ่านกฎหมายหรือนโยบายสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งตามที่เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้เมื่อมีการลงมติต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ผลการลงคะแนนจึงมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นที่มาของการเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวว่า “เสียงปริ่มน้ำ” ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.  ความหมายหรือแนวคิด

          ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[1] มาตรา 83 กำหนดให้
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน ดังนี้

(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน

(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน

          สภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อยู่ในหมวดที่ 7 รัฐสภา ประกอบด้วย มาตรา 83 ถึงมาตรา 106 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละ 1 คะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งจะส่งผู้สมัครคนเดียวกันลงสมัครรับเลือกตั้งเกิน 1 เขตมิได้

          สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกัน โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

          ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรนั้น โดยหลักแล้วเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือ ทั้งคณะได้แต่ทำได้เพียงปีละครั้ง รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
          โดยอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4  ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
และกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา[2]

นอกจากนี้ในมาตรา 120 กำหนดให้ “การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกําหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับ เป็นอย่างอื่นก็ได้

การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ในรัฐธรรมนูญ

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน
ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

รายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนต้องเปิดเผยให้ประชาชน ทราบได้ทั่วไป เว้นแต่กรณีการประชุมลับหรือการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดํารงตําแหน่งใด ให้กระทําเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

          สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ปรากฏว่าที่นั่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำให้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคจึงมีความหมายและความสำคัญต่อรัฐบาล รวมทั้งการลงมติผ่านกฎหมายหรือนโยบายสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งไปเมื่อมีการลงมติต่างๆ ที่ใช้เสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลการลงคะแนนจึงมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นที่มาของการเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวว่า “เสียงปริ่มน้ำ”

         

2.  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

จากการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้ได้ที่นั่ง ส.ส. ของแต่ละพรรคมีรายละเอียดดังนี้

 

ลำดับที่

ชื่อพรรคการเมือง

จำนวน ส.ส.

แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

จำนวน ส.ส.

แบบบัญชีรายชื่อ

ส.ส.

ทั้งหมด (คน)

1

พลังประชารัฐ

97

18

115

2

เพื่อไทย

136

0

136

3

อนาคตใหม่

30

50

80

4

ประชาธิปัตย์

33

19

52

5

ภูมิใจไทย

39

12

51

6

เสรีรวมไทย

0

10

10

7

ชาติไทยพัฒนา

6

4

10

8

เศรษฐกิจใหม่

0

6

6

9

ประชาชาติ

6

1

7

10

เพื่อชาติ

0

5

5

11

รวมพลังประชาชาติไทย

1

4

5

12

ชาติพัฒนา

1

2

3

13

พลังท้องถิ่นไท

0

3

3

14

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย

0

2

2

15

พลังปวงชนไทย

0

1

1

16

พลังชาติไทย

0

1

1

17

ประชาภิวัฒน์

0

1

1

18

ไทยศรีวิไลย์

0

1

1

19

พลังไทยรักไทย

0

1

1

20

ครูไทยเพื่อประชาชน

0

1

1

21

ประชานิยม

0

1

1

22

ประชาธรรมไทย

0

1

1

23

ประชาชนปฏิรูป

0

1

1

24

พลเมืองไทย

0

1

1

25

ประชาธิปไตยใหม่

0

1

1

26

พลังธรรมใหม่

0

1

1

27

ไทรักธรรม

0

1

1

รวม

249

'1'49

498

 

จากจำนวน ส.ส. ที่ได้รับการรับรองขณะนั้นจำนวน 498 คน จากทั้งหมด 500 คน เพราะภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้มีการประกาศที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คนว่าควรจัดสรรให้พรรคการเมืองใด และ ส.ส. แบบเขตอีก 1 คนที่เพราะได้มีการเลือกตั้งใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยถูกแจกใบส้มจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หลังจากที่พรรคขนาดเล็กจำนวน 11 พรรคเล็ก ได้มีการแถลงข่าวจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น ทำให้แผนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พลังประชารัฐมีความชัดเจน และเป็นฝ่ายได้เปรียบในการชิงตั้งรัฐบาลด้วยสูตร 20 พรรคร่วม มีเสียงสนับสนุน 253 เสียงจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 เสียง เปิดโอกาสให้การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้สูงมาก สำหรับสูตร '20 พรรคร่วมรัฐบาลนั้น ประกอบด้วย'[3]

1. พรรคพลังประชารัฐ ขณะนั้นมี ส.ส. 115 เสียง

2. พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้นมี ส.ส. 52 เสียง

3. พรรคภูมิใจไทย ขณะนั้นมี ส.ส. 51 เสียง

4. พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 10 เสียง

5. พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี ส.ส. 5 เสียง

6. พรรคชาติพัฒนา มี ส.ส. 3 เสียง

7. พรรคพลังท้องถิ่นไท มี ส.ส. 3 เสียง

8. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มี ส.ส. 2 เสียง

9. พรรคประชาชนปฏิรูป ขณะนั้นมี ส.ส. 1 เสียง

10. พรรคพลเมืองไทย มี ส.ส. 1 เสียง

11. พรรคพลังชาติไทย มี ส.ส. 1 เสียง

12. พรรคประชาภิวัฒน์ มี ส.ส. 1 เสียง

13. พรรคไทยศรีวิไลย์ มี ส.ส. 1 เสียง

14. พรรคพลังไทยรักไทย มี ส.ส. 1 เสียง

15. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มี ส.ส. 1 เสียง

16. พรรคประชาธรรมไทย มี ส.ส. 1 เสียง

17. พรรคประชาธิปไตยใหม่ มี ส.ส. 1 เสียง

18. พรรคประชานิยม มี ส.ส. 1 เสียง

19. พรรคพลังธรรมใหม่ มี ส.ส. 1 เสียง

20. พรรคไทยรักธรรม มี ส.ส. 1 เสียง

จากการรวมกันของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 20 พรรคการเมืองดังกล่าว จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงสนับสนุนอยู่ที่จำนวน 253 เสียง

'ส่วนอีกฝ่าย ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น ได้มีการจัดประชุมกันตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยพรรคที่มีจุดยืนประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)[4] ได้ร่วมแถลงประกาศจับมือกับพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจำนวน 7 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ก่อนที่คณะกรรมการ
การเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ประกาศรับรองสถานะของ ส.ส. ซึ่ง
ประกอบด้วย '
7 พรรคมีเสียงสนับสนุน 245 เสียง ประกอบด้วย

1. พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 136 เสียง

2. พรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นมี ส.ส. 80 เสียง

3. พรรคเสรีรวมไทย มี ส.ส. 10 เสียง

4. พรรคประชาชาติ มี ส.ส. 7 เสียง

5. พรรคเศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส. 6 เสียง

6. พรรคเพื่อชาติ มี ส.ส. 5 เสียง

7. พรรคพลังปวงชนไทย มี ส.ส. 1 เสียง

 

3.  หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

          วลีที่ว่า “เสียงปริ่มน้ำ” เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่จำนวนที่นั่ง ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองมีลักษณะกระจัดกระจาย พรรคการเมืองต่างๆ จึงพยายามรวมเสียงกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นยังถือว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และฝ่ายที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐต่างมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งคู่ เพราะเสียงสนับสนุนที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในขณะนั้นมีลักษณะก้ำกึ่งกันไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งเรียกปรากฏการณ์ในช่วงภายหลังการเลือกตั้งจนกระทั่งก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จดังกล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ “เสียงปริ่มน้ำ”

          ในขณะนั้นนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า[5] ได้ออกมาอธิบายจากตัวเลขจำนวนที่นั่ง ส.ส.
ของพรรคการเมืองที่มี ก็เสนอว่าตัวเลขที่นั่งของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. อันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทยก็น่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ติดเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้ยาก  เช่น ถ้าไม่มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาสนับสนุนเลยในการลงคะแนนเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่เป็นผล เพราะแม้พรรคเพื่อไทยจะอ้างความชอบธรรมในฐานะพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ต้องระดมเสียง ส.ส. และ ส.ว. ในการลงคะแนนเสียงเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันให้ได้ 376 เสียงของทั้งสองสภาขึ้นไปจึงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับพรรคเพื่อไทย จึงทำให้พรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. อันดับรองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ อ้างสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาลแทน เพราะอ้างว่าพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ อย่างไรก็ตามตราบใดที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรคือ 251 คน พรรคอันดับ 1 2 หรือ 3 ก็ไม่สำคัญ เพราะใครสามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งก่อน คนนั้นก็เป็นรัฐบาลได้ เพราะการผสมรัฐบาลไม่ใช่เอาจำนวน ส.ส. มารวมกันให้ได้เกิน 250 เสียงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณานโยบายของพรรค อุดมการณ์ของพรรค และบุคลากรภายในพรรคประกอบกันไปด้วย ซึ่งในต่างประเทศพรรคที่เสียงมากอันดับหนึ่งอุดมการณ์ไม่ตรงกับพรรคที่ได้อันดับ 2 และ 3 ก็ไม่มีใครมาร่วมรัฐบาลด้วยเพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ต้องรับสภาพเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งไป หรือในช่วงเวลาที่ปรากฏเรื่องของเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศตัวว่าจะสนับสนุนพรรคใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็สามารถทำได้เช่นกัน และสามารถดึง ส.ส. ในฝั่งที่ประกาศจุดยืนที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เช่น ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ หรือเพื่อไทยเอง เพื่อให้เป็น “งูเห่า” ในการลงคะแนนเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลในแต่ละครั้งที่มีการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถทำได้เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง แต่ก็เชื่อได้ว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวจะขาดเสถียรภาพและอ่อนแอถึงขั้นยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในไม่ช้า แต่ด้วยความไม่ชัดเจนในช่วงเสียงปริ่มน้ำนี้ พรรคการเมืองใดบ้างที่จะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นก็มีการประเมินได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งอาจเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำค่อนข้างสูง

 

4.  สรุป

วลีที่ว่า “เสียงปริ่มน้ำ” เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่จำนวนที่นั่ง ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองมีลักษณะกระจัดกระจาย พรรคการเมืองต่างๆ จึงพยายามรวมเสียงกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นยังถือว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และฝ่ายที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐต่างมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งคู่ เพราะเสียงสนับสนุนที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในขณะนั้นมีลักษณะก้ำกึ่งกันไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยมีการรวมกันของพรรคการเมือง 20 พรรคการเมืองภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงสนับสนุนอยู่ที่จำนวน 253 เสียง และพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย'ประกอบด้วย '7 พรรคมีเสียงสนับสนุน 245 เสียงภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่อ้างความชอบธรรมในฐานะเป็นพรรคที่มีที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ซึ่งเรียกปรากฏการณ์ในช่วงภายหลังการเลือกตั้งจนกระทั่งก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จดังกล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ “เสียงปริ่มน้ำ” นั่นเอง

 

5. บรรณานุกรม

ฐานเศรษฐกิจ (2562). รัฐบาลใหม่เสียงปริ่มน้ำ อยู่ได้ 2 ปีก็นับว่าเก่ง, สืบค้นจาก

http://www.thansettakij.com/content/399207, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

แนวหน้า. (2562). เปิดสูตร‘'20 พรรคร่วม’ 253 เสียง สานฝันดัน‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯฉลุย, สืบค้นจาก'

https://www.naewna.com/politic/413412, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

บ้านเมือง. (2562). 7 พรรคต้านสืบทอดอำนาจ ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาล, สืบค้นจาก

https://www.banmuang.co.th/news/politic/146201?fbclid=IwAR3HpeQbbsnocTqaYQs0IT4ATbtrgqoZAcPKg4pAFOKgS8PdrQw6UQzwMGo, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. (2562). ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ, สืบค้นจาก

https://www.chula.ac.th/cuinside/22137/?fbclid=IwAR0Uu0l0VDSIOBpmxYpMsxls2PWYOP_XbD2eMep-uQTeqrHmknA2PoJlgS0, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และวรศักดิ์  จันทร์ภักดี. (ม.ป.ป.) สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร

          ไทย พ.ศ. 2560, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

อ้างอิง

[1]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[2] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และวรศักดิ์  จันทร์ภักดี. (ม.ป.ป.) สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[3] 'เปิดสูตร‘'20 พรรคร่วม’ 253 เสียง สานฝันดัน‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯฉลุย, สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/413412, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[4] 7 พรรคต้านสืบทอดอำนาจ ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาล, สืบค้นจาก

https://www.banmuang.co.th/news/politic/146201?fbclid=IwAR3HpeQbbsnocTqaYQs0IT4ATbtrgqoZAcPKg4pAFOKgS8PdrQw6UQzwMGo, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563

[5] ฐานเศรษฐกิจ (2562). รัฐบาลใหม่เสียงปริ่มน้ำ อยู่ได้ 2 ปีก็นับว่าเก่ง, สืบค้นจาก http://www.thansettakij.com/content/399207, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563