หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:25, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

            “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” เป็นคำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรณรงค์หาเสียงเลือกผ่านคลิปวีดีโอขนาดสั้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ 24 มีนาคม 2562 โดยสื่อความหมายถึง การไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการกล่าวโจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ทั้งนี้ กลยุทธ์การหาเสียงดังกล่าว สร้างความฮือฮาให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงประชาชนจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดทั้งการสนับสนุนถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ และการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ต่อทิศทางในอนาคตในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคประชาธิปัตย์กลับได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาต่ำกว่าร้อยที่นั่ง อันนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ประกาศลาออกจากการทำหน้าที่ ส.ส. ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะลงมติในสภาให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

 

จุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งปี 2562

           ผมไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์กับอุดมการของประชาธิปัตย์ที่ว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[1]

 

           การประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อกันไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏอย่างเด่นชัดในวันที่ 10 มีนาคม 2562 เมื่อมีการโพสต์คลิปวิดีโอบน Facebook ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยหัวข้อว่า “จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่?” หรือเป็นเวลาเพียงสองสัปดาห์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ คลิปวิดีโอดังกล่าวจึงถือเป็นกลยุทธ์ หรือ “หมัดเด็ด” ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ที่ต้องการดึงคะแนนเสียงจากคนเมืองและคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะเบื่อหน่ายสภาพการเมืองภายใต้การปกครองของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันมีนัยยะสื่อความหมายว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ตลอดเวลาที่ผ่านมา 5 ปี นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจการปกครองจาก รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นั้น เต็มไปด้วยความล้มเหลว ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติจำนวนมาก ท่าทีและการใช้คำพูดของ นายอภิสิทธิ์ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ เต็มไปด้วยความขึงขัง จริงจัง เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมให้มีการสืบทอดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องเกรงใจเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

           ถึงแม้ว่า ก่อนหน้าที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ดังกล่าว หลายฝ่ายมองว่านายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนทางการเมืองที่คุมเครือไม่แน่ชัด รวมถึงไม่เคยชี้แจงให้เกิดความเข้าใจและความกระจ่างในทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้วแต่อย่างใด[2] อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้น ของการประกาศจุดยืนทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มปรากฏตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2562 โดยได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบน Facebook คลิปหนึ่ง ในหัวข้อ “จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีประวัติทุจริต หรือไม่?”[3] ซึ่งสื่อความถึงการไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่พัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้ง “พวกบกพร่องโดยสุจริต หรือ ทุจริตเชิงนโยบาย” ใช้นโยบายประชานิยม นำเสียงของประชาชนมาแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ซึ่งแตกต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เคยปรากฏมลทินในเรื่องเหล่านี้ และหากมีรัฐมนตรีคนใดที่เกิดข่าวทุจริตอื้อฉาวขึ้นก็จะรับผิดชอบโดยการลาออกทันที แม้ข้อความในคลิปวิดีโอจะไม่ได้ระบุถึงพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ แต่หากพิจารณาจากท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ก็เป็นที่ชัดเจนว่าคลิปดังกล่าว มุ่งเป้าโจมตีไปที่ นายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงพรรคเพื่อไทย

           ในเวทีดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ ช่วงหัวข้อ “ทำไมต้องเลือกคุณ” ซึ่งจัดขึ้นโดย The Standard เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้อ่านจดหมายรัก เปรียบเปรยถึงความสัมพันธ์ของคู่รัก ระหว่างประชาชนฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเนื้อหาเสียดสีพรรคเพื่อไทย คสช. และพรรคอนาคตใหม่ ตามลำดับ[4] ในกรณีของพรรคเพื่อไทยนั้น มีนโยบายสวยหรู ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำเพื่อประชาชน แต่แท้จริงแล้วกลับทำเพื่อตัวเอง ทั้งยังสื่อนัยถึงการทุจริตในโครงการจำนำข้าว รวมถึงการหลบหนีคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกด้วย กรณีของ คสช. ที่เข้ามาด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ อาจดูแข็งแกร่งปกป้องประชาชนได้ และให้คำสัญญาว่าจะคืนความสุขแก่ประชาชนอีกครั้ง ทว่านับวันกลับยิ่งก้าวร้าวและครอบงำ เพราะใช้กติกาที่ตนเองสร้างขึ้นมา จนประชาชนโต้แย้งไม่ได้และปราศจากการอนุญาตให้ตรวจสอบ ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่นั้น อาจดูเหมือนเป็นความหวังของความเปลี่ยนแปลง เพราะมีความ “กบฏ” ในตัว แต่โต้เถียงทลายทุกคุณค่าที่สังคมยึดถือจนกลายเป็นความเกลียดชัง ในทางกลับกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (และพรรคประชาธิปัตย์) อาจดูราบเรียบธรรมดาไม่หวือหวาเร้าใจ แต่ก็ไม่เคยหนีหายไปไหน ยังคงห่วงใย ซื่อตรง เรียนรู้ความผิดพลาด พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยทำร้ายหรือกำกับควบคุม เปิดรับเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมยืนเคียงข้างประชาชน สร้างความอบอุ่นและเป็นอนาคตของทุกคน

 

ปฏิกิริยาทางการเมือง

           คลิปวิดีโอ “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” ซึ่งนับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล[5] ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมืองหลากหลายทิศทาง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย กล่าวชื่นชมการประกาศจุดยืนดังกล่าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[6] ขณะที่นักการเมืองบางคนยังคงเกิดข้อกังขาถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก การประกาศว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการอย่างว่าจะไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นจึงมองว่าท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น เป็นการ “กั๊ก” อนาคตทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมภายหลังการเลือกตั้งได้ ดังที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า พรรคเพื่อไทยก็มีจุดยืนที่จะมาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศออกมาอย่างชัดเจนมากกว่านี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า

           คุณอภิสิทธิ์ จะต้องตอบให้ชัด ถ้าพลังประชารัฐชนะ จัดตั้งรัฐบาลได้ คุณอภิสิทธิ์จะร่วมกับพลังประชารัฐใช่หรือไม่ เพราะคุณอภิสิทธิ์บอกว่าไม่ร่วมกับเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ต้องตอบให้ชัดอย่ากั๊ก เพราะมันเสียโอกาสประชาชน พอไม่ชัดเจน ประชาชนไม่เข้าใจ คิดว่าคุณไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เอาพลังประชารัฐ ร่วมกับพลังประชารัฐได้ใช่หรือไม่ จึงขอให้ประชาธิปัตย์ตอบให้ชัดอย่าหวังเพียงแค่คะแนนก่อนเลือกตั้ง บอกว่าไม่ร่วม กับเพื่อไทยเราขอบคุณ เพราะเราก็ไม่ร่วมกับคุณ[7]

           การประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แสดงให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ของคนประชาธิปัตย์ เพราะแม้กระทั่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เป็นแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และเป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยการโพสต์ Facebook ว่า เคารพในการตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายการต่อสู้ที่เคยร่วมกันมากลับต้องสูญเปล่า ทั้งนี้ ถ้อยความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังมีลักษณะ “ทวงบุญคุณ” และแสดงออกถึงการคัดค้านจุดยืนที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง ว่า “ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เค้าเลือกข้างมาแล้ว ผมเห็นข้อดีก็คือ จะทำให้พี่น้องมวลมหาประชาชนที่เคยออกมาชุมนุมในครั้งนั้น คนที่เคยเสียสละ เสียเลือดเสียเนื้อบัตรเจ็บล้มตายเพราะมีอุดมการร่วมกันในครั้งนั้น คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์มาตลอดชีวิตเหมือนผม ตัดสินใจชัดเจนประกาศหนุนพลเอกประยุทธ์แบบไม่ต้องเกรงใจด้วยเช่นกัน”[8] การออกมาแสดงความเห็นของ นายสุเทพ เสือกสุบรรณ ได้ก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้ที่เคยออกมาเดินขบวนสนับสนุน กปปส. ซึ่งคาดกันว่าจำนวนมากเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และเกรงว่าคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง

 

ผลพวงทางการเมืองจากกรณี “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”

           การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ซึ่งได้กำหนดกฎกติกาในการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยยะสำคัญทางการเมือง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยได้ที่นั่ง สส เกินร้อยที่นั่งมาติดต่อกันสมัย กลับได้ที่นั่ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเพียง 33 ที่นั่ง รองจากพรรคเพื่อไทย (136) พรรคพลังประชารัฐ (97) และพรรคภูมิใจไทย (39) ตามลำดับ ในสภาผู้แทนราษฎร[9] สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือ พื้นที่ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่ง พรรคประชาธิปัตย์เคยได้รับเลือกตั้ง 37 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2554 เหลือเพียง 9 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2562 ขณะที่ เขตกรุงเทพฯ นั้น พรรคประชาธิปัตย์ (23 ที่นั่ง) ชนะพรรคเพื่อไทย (10 ที่นั่ง) ในปี 2554 แต่กลับไม่ได้รับเลือกตั้งเลยในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งถือเป็นฐานคะแนนเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์มากว่า 3 ทศวรรษนั้น ลดลงจาก 50 ที่นั่ง ในปี 2554 เหลือเพียง 22 ที่นั่งในปี 2562[10] จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีสาเหตุมาจากการประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อง “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” ที่ไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวาทกรรมโจมตี “ระบอบทักษิณ” ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลในภาคใต้ จึงเกรงว่าการไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะส่งผลให้ “ระบอบทักษิณ” กลับมามีอำนาจครอบงำการเมืองไทยเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา[11]

           ทันทีที่รู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ในคืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น โดยการประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับยืนยันที่จะทำหน้าที่ในสภาต่อไปเพื่อรักษาสัจจะที่ให้ไว้แก่ประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง[12] และภายหลังนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 พร้อมกับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[13] ทั้งนี้ ภายใต้ความสับสน ความคลุมเครือ ไม่แน่ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคพลังประชารัฐหรือทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ในการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. ของพรรครวม 80 คน ได้มีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี (ด้วยคะแนน 61 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียงและบัตรเสีย 1 ใบ)[14] เมื่อถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่จะต้องมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ณ หอประชุมทีโอที สถานที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราวนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินออกมาแถลงว่าตนเองไม่สามารถสนับสนุนพลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะฝืนมติพรรคได้ แม้ว่ามีสมาชิกพรรคบางส่วนจะพยายามแสวงหาข้อยกเว้นเพื่อการรักษาเกียรติภูมิของตนเอง

           ดังนั้นเมื่อมาถึงวันนี้ผมเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะผม แต่เกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน เพราะการทำงานทางการเมือง ผมยึดถืออุดมการณ์และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเลื่อนลอย แต่เพราะผมเชื่อว่า การเมืองที่มีอุดมการณ์และหลักการเท่านั้นถึงจะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวได้

           คานธี เคยส่งจดหมายให้กับหลานพูดถึง บาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่ต้องจะต้องตัดสินใจ ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[15]

           การแถลงลาออกจากการทำหน้าที่ ส.ส. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดด้วยน้ำตาคลอ และเดินออกไปทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด โดยมี ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ คอยสังเกตการณ์อยู่บริเวณใกล้เคียง อนึ่ง แม้ว่าบทบาททางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องควบคุมสถานการณ์กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างปี 2552-2553 ทว่าในกรณีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับได้รับคำชื่นชมจากหลายฝ่ายถึง "สปิริต" ในการรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชนและการรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ม.จ.จุลเจิม ยุคล[16]  นายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทย[17] นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์[18] และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์[19] เป็นต้น

 

การสื่อสารการเมืองในกรณี “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”

           หากพิจารณากลยุทธ์การหาเสียง “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ด้วยแนวสื่อสารการเมือง (political communication)[20] แล้วนั้น ก็จะพบว่ากลยุทธ์ดังกล่าวออกมาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ที่เคยประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งหลายสมัยอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจัดวางตำแหน่งตนเองในสนามเลือกตั้งโค้งสุดท้าย สมทบด้วยพรรคการเมืองหน้าใหม่ไฟแรงอย่างพรรคอนาคตใหม่ และดูเหมือนว่าสามพรรคการเมืองข้างต้นจะพุ่งเป้าแข่งขันไปที่พรรคพลังประชารัฐ นอกจากนั้นแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่ากลยุทธ์ “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” อาศัยสื่อใหม่ (new media) คือ Facebook ส่วนตัวบนอินเตอร์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการสื่อสารในแนวนอนแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ในชุมชนสังคมออนไลน์แล้ว ยังทำให้สาร “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” ถูกส่งตรงไปถึงกลุ่มผู้รับสารที่คาดหวังในเวลานั้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็คือ ฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ตัวสาร (message) ที่สื่อออกไปกลับได้รับการสนองตอบในทางตรงกันข้าม เพราะไม่เพียงพรรคประชาธิปัตย์จะได้ที่นั่งในสภาต่ำกว่าที่คาดหมายไว้อย่างมากเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อเส้นทางทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการประเมินผิดพลาดโดยพิจารณาว่า “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” จะได้รับความนิยมมากกว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ของพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

McNair, Brian (2018). An Introduction to Political Communication. 6th Edition. New York: Routledge.

“คณบดีพัฒนาสังคมฯนิด้า ชื่นชม‘มาร์ค’กล้าลาออกส.ส. รักษาคำพูด." แนวหน้า (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/417938>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

““ชัชชาติ” ชม “อภิสิทธิ์” ไม่หนุน “ประยุทธ์” ช่วย ปชช.ตัดสินใจง่ายขึ้น." PPTV (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com//news/ประเด็นร้อน/99953>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ชัดพอไหม!!'มาร์ค'ประกาศจุดยืนไม่ยอมให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศ ลั่นไม่เอาทั้งพวกบกพร่องโดยสุจริต-ทุจริตเชิงนโยบาย." ไทยโพสต์ออนไลน์ (5 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30539>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ด่วน!อภิสิทธิ์'ประกาศลาออกหัวหน้าพรรค! สังเวยเลือกตั้งนำปชป.พ่ายศึกยับเยิน." แนวหน้า (24 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/403782>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ตั้งรัฐบาล : มติประชาธิปัตย์จับขั้วตั้งรัฐบาลกับ พปชร.." บีบีซีไทย (4 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48508615>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“เทียบผลเลือกตั้ง 54-62 แต่ละภาคคะแนนโหวตเปลี่ยนแปลงอย่างไร." Workpoint Today (31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/news190531/>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ประชาธิปัตย์ : จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8." บีบีซีไทย (15 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48277332>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ประชาธิปัตย์” แม้ไม่แตก! แต่มนต์ขลังในปักษ์ใต้ไม่เหมือนเดิม." ผู้จัดการออนไลน์ (7 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/south/detail/9620000054036>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ประชาธิปัตย์แถลงจุดยืน "ไม่ตั้งรัฐบาลก่อนรู้ผลเลือกตั้ง"." โพสต์ทูเดย์ (2 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/575725>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

““ปลอดประสพ"ชื่นชม "มาร์ค" ลาออก ส.ส. รักษาสัจวาจา." โพสต์ทูเดย์ (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/591206>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“ฟังกันชัดๆ จากปาก “อภิสิทธิ์” ถึงจุดยืนทางการเมืองที่ทุกคนอยากรู้." ประชาชาติธุรกิจ (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-299464>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

““ม.จ.จุลเจิม" ชื่นชม-เสียดาย "อภิสิทธิ์" ลาออกจาก ส.ส.." โพสต์ทูเดย์ (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/591255>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“‘ไม่เอา‘ประยุทธ์-เพื่อไทย’ มาร์คยํ้าจุดยืน ขอเป็นแกนนำตังรัฐบาล." แนวหน้า (12 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/400865>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“เลือกผมเถอะ ผมรักคุณ" อภิสิทธิ์ อ่านจดหมายรัก ย้ำ 27 ปีดูจืดแต่ไม่ทำร้ายคุณ." Voice Online (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.voicetv.co.th/read/eiRThE5zN>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“‘สุดารัตน์' ขอบคุณ 'ประชาธิปัตย์' ประกาศไม่ร่วมกับ 'เพื่อไทย' สวนกลับอย่ากั๊ก." Voice Online (11 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/rmcoEQkOR>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

““สุเทพ” ประกาศหมดเวลาเกรงใจ ซัดกลับ “อภิสิทธิ์” เลือกข้างชัดเจน." มติชนออนไลน์ (11 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1400781>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

“หมอวรงค์ ชม อภิสิทธิ์ ลาออก ส.ส. ยกเป็นนักการเมืองที่ต้องเอาอย่าง ต้องจารึกไว้." คมชัดลึก (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2584783>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

““อภิสิทธิ์” ลาออกจากส.ส.ประชาธิปัตย์! ลั่น “ทำไม่ได้” โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ." Workpoint Today (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก < https://workpointtoday.com/11abhisit190605/>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

อ้างอิง

[1] "ฟังกันชัดๆ จากปาก “อภิสิทธิ์” ถึงจุดยืนทางการเมืองที่ทุกคนอยากรู้," ประชาชาติธุรกิจ (10 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-299464>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[2] "ประชาธิปัตย์แถลงจุดยืน "ไม่ตั้งรัฐบาลก่อนรู้ผลเลือกตั้ง"," โพสต์ทูเดย์ (2 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/575725>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[3] "ชัดพอไหม!!'มาร์ค'ประกาศจุดยืนไม่ยอมให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศ ลั่นไม่เอาทั้งพวกบกพร่องโดยสุจริต-ทุจริตเชิงนโยบาย," ไทยโพสต์ (5 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30539>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[4] ""เลือกผมเถอะ ผมรักคุณ" อภิสิทธิ์ อ่านจดหมายรัก ย้ำ 27 ปีดูจืดแต่ไม่ทำร้ายคุณ," Voice Online (10 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.voicetv.co.th/read/eiRThE5zN>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[5] "ไม่เอา‘ประยุทธ์-เพื่อไทย’ มาร์คยํ้าจุดยืน ขอเป็นแกนนำตังรัฐบาล," แนวหน้า (12 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/400865>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[6] "“ชัชชาติ” ชม “อภิสิทธิ์” ไม่หนุน “ประยุทธ์” ช่วย ปชช.ตัดสินใจง่ายขึ้น," PPTV (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com//news/ประเด็นร้อน/99953>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[7] "'สุดารัตน์' ขอบคุณ 'ประชาธิปัตย์' ประกาศไม่ร่วมกับ 'เพื่อไทย' สวนกลับอย่ากั๊ก," Voice Online (11 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/rmcoEQkOR>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[8] "“สุเทพ” ประกาศหมดเวลาเกรงใจ ซัดกลับ “อภิสิทธิ์” เลือกข้างชัดเจน," มติชนออนไลน์ (11 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1400781>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[9] "เทียบผลเลือกตั้ง 54-62 แต่ละภาคคะแนนโหวตเปลี่ยนแปลงอย่างไร," Workpoint Today (31 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/news190531/>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[10] "เทียบผลเลือกตั้ง 54-62 แต่ละภาคคะแนนโหวตเปลี่ยนแปลงอย่างไร," Workpoint Today (31 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/news190531/>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[11] "“ประชาธิปัตย์” แม้ไม่แตก! แต่มนต์ขลังในปักษ์ใต้ไม่เหมือนเดิม," ผู้จัดการออนไลน์ (7 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/south/detail/9620000054036>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[12] "ด่วน!อภิสิทธิ์'ประกาศลาออกหัวหน้าพรรค! สังเวยเลือกตั้งนำปชป.พ่ายศึกยับเยิน," แนวหน้า (24 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/403782>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[13] "ประชาธิปัตย์ : จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8," บีบีซีไทย (15 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48277332>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[14] "ตั้งรัฐบาล : มติประชาธิปัตย์จับขั้วตั้งรัฐบาลกับ พปชร.," บีบีซีไทย (4 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48508615>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[15] "“อภิสิทธิ์” ลาออกจากส.ส.ประชาธิปัตย์! ลั่น “ทำไม่ได้” โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ," Workpoint Today (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก < https://workpointtoday.com/11abhisit190605/>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[16] ""ม.จ.จุลเจิม" ชื่นชม-เสียดาย "อภิสิทธิ์" ลาออกจาก ส.ส.," โพสต์ทูเดย์ (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/591255>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[17] ""ปลอดประสพ"ชื่นชม "มาร์ค" ลาออก ส.ส. รักษาสัจวาจา," โพสต์ทูเดย์ (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/591206>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[18] "หมอวรงค์ ชม อภิสิทธิ์ ลาออก ส.ส. ยกเป็นนักการเมืองที่ต้องเอาอย่าง ต้องจารึกไว้," คมชัดลึก (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2584783>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[19] "คณบดีพัฒนาสังคมฯนิด้า ชื่นชม‘มาร์ค’กล้าลาออกส.ส. รักษาคำพูด," แนวหน้า (5 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/417938>. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

[20] โปรดดูรายละเอียดใน Brian McNair, An Introduction to Political Communication, 6th Edition (New York: Routledge, 2018).