เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:19, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          “เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย” ปรากฎขึ้นและเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เวทีดีเบตทางการเมืองถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยมีการเชิญผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมในเวทีต่าง ๆ ที่ถูกจัดขึ้น ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป กระแสของการจัดเวทีดีเบตปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในสื่อสารมวลชลแขนงต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและกระแสรอง เช่น สื่อโทรทัศน์ และสื่อทางเลือกอย่างสื่อออนไลน์ ต่างให้ความสำคัญกับการจัดเวทีดีเบตทางการเมือง ซึ่งนอกจากการเกิดขึ้นของเวทีดีเบตทางการเมืองหลายหลากเวทีแล้ว เวทีที่ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ก็คือ เวทีดีเบตในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นโดยสื่อสองสำนักที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก นั้นคือเวที “ดีเบตเลือกตั้ง 62 เปิดนโยบายโค้งสุดท้ายชิงใจประชาชน” ที่จัดโดย “Workpoint News” ที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเวที “The Standard  Debate” ที่จัดโดยสำนักข่าวออนไลน์ “The Standard” ที่จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเดอะสตรีทรัชดา

 

พรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย

          ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น หัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบนี้คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในฐานะของเจ้าของอำนาจอธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยทางตรงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับรัฐสมัยใหม่ ส่งผลให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนถูกสร้างขึ้นในฐานะของเครื่องมือในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านระบบของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และการเลือกตั้งผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยนี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดและความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน รวมเข้าไว้ด้วยกันในลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และหลายกลุ่มผลประโยชน์ได้มีพัฒนาการขึ้นมาในเวลาต่อมา กระทั่งกลายเป็นสิ่งที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พรรคการเมือง” และการกลายเป็นพรรคการเมืองนี้เอง ที่ส่งผลให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค จำเป็นที่จะต้องมีจุดขายหรือแนวทางสำคัญของการขับเคลื่อนพรรคร่วมกัน ทั้งเรื่องของอุดมการณ์ของพรรคการเมือง และแนวนโยบายของพรรคการเมือง

          เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดจะพบว่า ความหมายของพรรคการเมืองในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของ “พรรคการเมือง” ว่าหมายถึง คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้[1] อีกทั้งยังมีนักวิชาการได้ให้ความหมายของพรรคการเมืองเอาไว้ว่า กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเพื่อเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและในการบริหารประเทศ ด้วยการส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง โดยมุ่งหวังที่จะได้เป็นรัฐบาลหรือเสียงข้างมากในรัฐสภา เมื่อพิจารณาจากความหมายของพรรคกรเมืองจะพบว่าพรรคการเมืองมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มหรือคณะของบุคคลที่รวมตัวกันภายใต้พรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหวังเข้าไปบริหารประเทศด้วยการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งในกระบวนการของการเลือกตั้งนั้น “นโยบายพรรคการเมือง” กลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้ง

          นโยบายพรรคการเมือง เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่จัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ๆ เช่น เป็นพรรคการเมืองของผู้ที่นิยมชมชอบระบบสังคมนิยม อนุรักษ์นิยม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์เป็นต้น เมื่อตั้งพรรคการเมืองสำเร็จ อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองดังกล่าวก็จะกลายมาเป็นที่มาของนโยบายพรรคการเมืองนั้น[2] และนโยบายทางการเมืองนี้เองที่จะกลายมาเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองนำเสนอออกสู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะเลือกพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองนั้นนำนโยบายพรรคการเมืองของตนเข้ามาบริหารประเทศ โดยนโยบายที่พรรคการเมืองกำหนดออกมาแข่งขันกันในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น เป็นได้ทั้งนโยบายพื้นฐาน เช่น เรื่องของสังคม การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งในประเด็นนี้คาดว่าทุกพรรคการเมืองจะมีออกมาไม่ต่างกัน และนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยจะแข่งขันกันแรงขึ้น เพราะแต่ละพรรคจะแข่งกันแย่งผลงาน เพื่อประกาศว่าถ้าพรรคนั้นได้รับเลือกตั้งจะมีอะไรที่ปรากฏ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่จะลงถึงมือประชาชน เพื่อเป็นการเอาใจกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้จะมีการใช้สื่อและเทคโนโลยีทางโทรคมนาคมอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้มุ่งประโยชน์ของประชาชน

 

นโยบายการเมืองในฐานะที่มาของชัยชนะ

          สำหรับประเทศไทยนั้น นโยบายของพรรคการเมืองเพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในสนามการเมืองของไทยในช่วงหลังการขึ้นมาของรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ได้มีการนำเสนอนโยบายทางการเมืองในนามของพรรคไทยรักไทย ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านนโยบายของพรรคการเมือง และหลังจากนั้นเป็นต้นมานโยบายของพรรคการเมืองกลายมาเป็นสมรภูมิสำคัญที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้ในการขับเขี้ยวกันในสนามเลือกตั้งเรื่อยมา[3] ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองผ่านการออกแบบนโยบายเพื่อนำเสนอต่อสังคมเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ส่งผลให้นโยบายของพรรคการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ถูกจับตามมองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างมุ่งมั่นที่จะนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองของตนให้เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้พรรคของตนได้เข้าไปทำหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบายในฐานะของพรรครัฐบาล โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้นำเสนอนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคของตนเอาไว้อย่างชัดเจน อาทิ พรรคพลังประชารัฐ ได้นำเสนอนโยบาย 7:7:7 สวัสดิการ -สังคม – เศรษฐกิจประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอนโยบาย หวัง แก้จน สร้างคน สร้างชาติ, พรรคเพื่อไทย ได้นำเสนอนโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และพรรคอนาคตใหม่ ได้นำเสนอนโยบาย ไทย 2 เท่า[4] จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มีการคิดและนำเสนอนโยบายของพรรคของตนในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้แทบทุกพรรคการเมือง

เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย

          หากพิจารณาความหมายของคำว่า “ดีเบต (Debate)” อาจจะฟังไม่คุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่หากพิจารณาจากคำที่ใกล้เคียงอย่างการ “โต้วาที” จะพบว่าคำทั้งสองนั้นมีลักษณะร่วมกันอยู่ที่เรื่องของการแสดงให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและความสามารถในการนำเสนอความเห็นของผู้นำเสนอความคิดเห็นต่อที่สาธารณะ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ร่วมกิจกรรม เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงจุดเริ่มต้นของการดีเบตจะพบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญของอเมริกัน ที่เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาของการเลือกสหรัฐอเมริกาตั้งระหว่าง จอห์น เอฟ เคนเนดี แห่งพรรคเดโมแครต และ ริชาร์ด นิกสัน แห่งพรรครีพับลิกัน ในปี ค.ศ. 1960 และการดีเบตในครั้งนั้นได้มีการถ่ายทอดสดทางวิทยุและสถานีโทรทัศน์เป็นครั้ง และได้รับความนิยมและมีผู้ติดตามชมเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว และเหตุการณ์ในคราวนั้นได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเวทีดีเบตทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก[5] ทั้งนี้ยังส่งผลให้การดีเบตทางการเมืองกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญที่แพร่กระจายออกสู่ประเทศอื่น ๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          การเกิดขึ้นของ “เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย” ในการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อปี 2562 อาจถือได้ว่าได้รับวัฒนธรรมการดีเบตจากโลกตะวันตกมาไม่มากก็น้อย และมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ให้กับประชาชนได้รับทราบ ทำความเข้าใจ ตั้งคำถาม และได้มีโอกาสในการรับฟังวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่นำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองของตนสู่สาธารณะ

          เวที “ดีเบตเลือกตั้ง 62 เปิดนโยบายโค้งสุดท้ายชิงใจประชาชน” ที่จัดโดย “Workpoint News” ที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 นั้นได้มีการเชิญแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก 5 พรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติพัฒนา, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเศรษฐกิจใหม่ เเละ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ ร่วมในเวทีดังกล่าวเพื่อนำเสนอนโยบายและและตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ได้หยิบเอาคำถามที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมาถามต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากทั้ง 5 พรรคการเมือง

          อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการดีเบตในเวทีครั้งนี้ บรรดาหัวหน้า/ตัวแทนพรรคการเมืองข้างต้นได้โจมตีถึงสภาพการเมืองในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวาระประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีจากการยึดอำนาจรัฐประหารและปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มาจากการดำเนินโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในเวทีดีเบต ก็คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในประเด็นของที่มาของนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการร่วมโหวตตัวนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในช่วงสุดท้ายของเวทีดีเบตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากทั้ง 5 พรรคการเมือง “ได้จับมือเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 60 อย่างแน่นอน”[6]

          สำหรับเวทีดีเบตอีกเวทีหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโค้งสุดท้ายนี้ ก็คือ เวทีของสำนักข่าวออนไลน์
The Standard ในชื่อ “The Standard  Debate” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเดอะสตรีทรัชดา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 โดยได้มีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งหมด 8 พรรคการเมืองเพื่อเข้าร่วม ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, นายวราวุธ ศิลปะอาชา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย, พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ตัวแทนพรรคเศรษฐกิจใหม่

          โดยสำหรับเวทีครั้งนี้ ได้แบ่งรูปแบบการดีเบตออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ 1)  Pitching: ผู้ร่วมดีเบตต้องนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจที่สุดภายใต้โจทย์ ‘จงบอกเหตุผลที่ประชาชนต้องเลือกคุณ’ ในเวลาที่กำหนด โดยไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละพรรค 2) Battle:  ผู้ร่วมดีเบตจะได้เลือกประเด็นที่อยากพูด และจับสลากเลือกพรรคที่จะดีเบตด้วยตัวเอง สู้กันด้วยความคิด สู้กันด้วยวิสัยทัศน์ และสู้กันด้วยฝีปาก และ 3) Your Question: ผู้ร่วมดีเบตต้องตอบคำถามที่ดีที่สุดเพียง 1 คำถาม โดยคัดเลือกจากทางบ้าน หน้าจอ ห้องส่ง หรือสื่อมวลชน[7] อย่างไรก็ตาม ในเวทีครั้งนี้ บรรดาหัวหน้าพรรค/ตัวแทนพรรคต่างได้นำเสนอนโยบายของพรรคตน รวมทั้ง การวิเคราะห์ การโจมตีความล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ผ่านมา โดยที่ในช่วงท้ายของรายการตัวแทนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เข้าร่วมในวันนั้นได้รวมกันแสดงออกถึงจุดยืนที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านกลไกของพรรคการเมืองอย่างพรรคพลังประชารัฐ

 

บทส่งท้าย

          “เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย” ที่จัดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้น
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องของนโยบายของพรรคการเมืองที่มีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย โดยจะเห็นได้ว่าเวทีดีเบตทางการเมืองถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายสื่อหลายสำนัก เป็นการยืนยันให้เห็นถึงระดับของความสในใจทางการเมืองของประชาชนที่มีเพิ่มมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เพื่อใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลประกอบการตัดสินใจก่อนการไปลงคะแนนในการใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 อาจจะกล่าวได้ว่า “นโยบายของพรรคการเมือง” กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ประชาชนให้ความสนใจไม่แพ้ตัวผู้สมัครลงชิงชัยของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เพราะประชาชนรับรู้และเข้าใจแล้วว่านโยบายของพรรคการเมืองนั้นเปรียบเสมือนคำสัญญาของพรรคการเมืองที่ให้ไว้กับประชาชน และประชาชนรับรู้และเข้าใจแล้วว่าประชาชนมีสิทธิที่จะทวงถาม ติดตาม และตรวจสอบการกระทำตามคำมั่นสัญญาจากพรรคการเมืองที่ได้ให้ไว้กับประชาชน ในฐานะที่ประชาชนได้ยินยอมมอบอำนาจของตนให้กับตัวแทนของประชาชนผ่านพรรคการเมือง เพื่อนำเอาอำนาจที่ได้รับมอบนั้นไปบริหารประเทศให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ตั้งแต่แรก

 

บรรณานุกรม

“ชมอีกครั้ง! THE STANDARD DEBATE มิติใหม่ของการดีเบต,” The Standard (10 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thestandarddebate-live/>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

“ตีแผ่นโยบาย 5 พรรค ก่อนเลือกตั้ง,” สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย (6 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.efinancethai.com/advertorial/AdvertorialMain.aspx?name=ad_201902061053>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

“นักการเมืองตั้งวงถกแก้รัฐธรรมนูญ สุวัจน์แนะต้องถาม ปชช.,” เดลินิวส์ออนไลน์, (17 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก < https://www.dailynews.co.th/politics/699114>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

“ปีศาจทักษิณ: การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ?,” ประชาไท (10 สิงหาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/08/78236>. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

“เปิดตำนาน 59 ปี "ดีเบต" ประชันวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้นำ,” ไทยพีบีเอส (28 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก < https://news.thaipbs.or.th/content/278057>. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134, ตอนที่ 105 ก.

สาธิต วงศ์อนันต์นนท์. (2554). “การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2554 เปรียบเทียบระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย,” ปีที่ 1 ฉบับที่ 03 พฤษภาคม 2554. สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.

อ้างอิง

            [1] “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134, ตอนที่ 105 ก, หน้า 2

            [2] สาธิต วงศ์อนันต์นนท์, “การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2554 เปรียบเทียบระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย,” ปีที่ 1 ฉบับที่ 03 พฤษภาคม 2554 (สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2554), หน้า 1-2.

            [3] “ปีศาจทักษิณ: การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ?,” ประชาไท (10 สิงหาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/08/78236>. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

            [4] “ตีแผ่นโยบาย 5 พรรค ก่อนเลือกตั้ง,” สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย (6 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.efinancethai.com/advertorial/AdvertorialMain.aspx?name=ad_201902061053>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

[5] “เปิดตำนาน 59 ปี "ดีเบต" ประชันวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้นำ,” ไทยพีบีเอส (28 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก < https://news.thaipbs.or.th/content/278057>. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

            [6] “นักการเมืองตั้งวงถกแก้รัฐธรรมนูญ สุวัจน์แนะต้องถาม ปชช.,” เดลินิวส์ออนไลน์, (17 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก < https://www.dailynews.co.th/politics/699114>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.

[7] “ชมอีกครั้ง! THE STANDARD DEBATE มิติใหม่ของการดีเบต,” The Standard (10 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thestandarddebate-live/>, เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563.