หัวหน้า คสช. กับประเด็นปัญหาเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:04, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐได้มีมติเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐตามมาตรา 88 และ 89 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วย ซึ่งมาตรา 160 นี้ได้บัญญัติว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไว้อีกด้วย ซึ่งในมาตรา 98 (15) ได้บัญญัติให้การเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้าม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประเด็นปัญหาว่า “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นั้นเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) หรือไม่ ทั้งนี้ ภายหลังเมื่อมีผู้ร้องในประเด็นนี้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (60) ประกอบมาตรา 98 (15) ด้วยเหตุนี้ ความเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้สิ้นสุดลงแต่อย่างใด

 

การกำหนดคุณสมบัติแคนดิเคตนายกรัฐมนตรี

          การเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 88 และ 89 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลดังกล่าวไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลนั้น ๆ ให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ การเสนอชื่อบุคคลจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ (1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และ (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น ทั้งนี้ การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขเช่นว่านี้ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวข้างต้นประกอบมาตรา 160 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีแล้ว ประเด็นที่สำคัญคือ ในมาตรา 160 (6) ยังได้กำหนดให้รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ดังนั้น บุคคลผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไปด้วย

            เงื่อนไขนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้ว ยังต้องพิจารณามาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งมาตรานี้ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้หลายประการ หากกล่าวโดยเฉพาะในมาตรา 98 (15) ซึ่งเป็นประเด็นแล้ว มาตรานี้ได้บัญญัติให้การเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ดังนั้น จึงหมายความว่าบุคคลที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่เพียงมิอาจใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เท่านั้น แต่ยังมิอาจเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งมิอาจถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 และ 89 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วย

            อย่างไรก็ตาม การกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น มิได้เพิ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หากแต่บทบัญญัติในหลักการเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 102 (11) และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 109 (11) ด้วย[1] ทั้งนี้ การกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลเพื่อมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีจุดมุ่งหมายในการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นของบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้น ๆ จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชน โดยหลักการเดียวกันนี้ได้มีการบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 มาตรา 93 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขลักษณะต้องห้ามบางประการเพื่อให้เหมาะสมและเป็นไปตามสภาพสังคมในยุคนั้น ๆ เรื่อยมา[2]

            ทั้งนี้ สำหรับการเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 159 และ 160 ได้กำหนดเงื่อนไขว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งยังมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้น เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น[3] โดยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีนี้ถูกกำหนดให้มีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะต้องครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จึงได้มีการกำหนดให้รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นเท่ากับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[4]      

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับประเด็นปัญหาเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

            ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ จนเป็นที่ถกเถียงถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกันอย่างกว้างขวาง[5] การถกเถียงในเรื่องนี้ได้นำไปสู่การร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ “หัวหน้า คสช.” ว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ เช่น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้ตั้งข้อสงสัยว่าการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15)[6] โดยที่ยื่นขอให้ กกต. ยื่นคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562[7] ทั้งนี้ ยังมีนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนแก่ กกต. ให้ทบทวนการประกาศรับรองให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562[8] รวมทั้งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอศาลปกครองให้วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562[9] เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของ พลเอก ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจาก "เจ้าหน้าที่รัฐ" มาเป็น "บุคคลสาธารณะ" ซึ่งคาดกันว่าเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาที่วิจารณ์ถึงความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[10] นอกจากนี้แล้ว การตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของตำแหน่งหัวหน้า คสช. ก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพราะตำแหน่งนี้มีการใช้อำนาจต่าง ๆ ตามกฎหมาย และยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มตามพระราชกำหนดเงินเดือนประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 แต่ในขณะเดียวกันมีผู้ตั้งข้อสังเกตในทางตรงข้ามว่า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นแค่องค์กรชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ โดยยกกรณีที่ คสช. ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน[11] เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะเป็นองค์กรชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้เสนอในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเคยตีความคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ว่าต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ 3) อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4) มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย[12] เป็นต้น

            กระทั่งวันที่ 14 มีนาคม 2562 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติเรื่องกรณีที่
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543  เมื่อพิจารณาถึงสถานะของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. แล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้างตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช.ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย จึงมิได้มีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ตามที่มีการร้อง จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560[13] ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาคำร้องที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ โดยที่ประชุม กกต. มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ เห็นว่าการประกาศชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ชอบด้วยกฎหมายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และมาตรา 89 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 13 และมาตรา 14[14]

          อย่างไรก็ตาม กระทั่งภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ในการประชุมร่วม 2 สภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้ ส.ส. บางส่วนหยิบยกประเด็นเรื่องคุณสมบัติของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอภิปราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเด็นที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพราะหัวหน้า คสช. ถือเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ซึ่งระบุว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ด้วย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เรื่องหัวหน้า คสช. กับสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกลับมาประเด็นอีกครั้งหนึ่ง จนนำไปสู่การที่ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรคได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน และได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้วินิจฉัยต่อไป[15]

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินัจฉัย “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

            ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ฝ่ายค้าน รวมตัวกัน 110 คน ยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยพิจารณาถึงมิติที่สำคัญ 5 ประการ ก็คือ[16] 1) หัวหน้า คสช. เป็นผลจากการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน 2) หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ“รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เห็นจากการออกประกาศและคำสั่ง คสช. 3) หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใดของรัฐ 4) หัวหน้า คสช. ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดกำหนดกระบวนการวิธีได้มาหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง 5) หัวหน้า คสช. มีอำนาจเฉพาะชั่วคราว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ

          ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลที่รับรองการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และส่งผลต่อการตีความให้หัวหน้า คสช. ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ว่า เมื่อผู้กระทำการรัฐประหารได้สำเร็จ ย่อมทำให้ผู้กระทำการนั้น ๆ ได้อำนาจรัฐที่เรียกว่า “รัฏฐาธิปัตย์” และมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก และออกกฎหมายได้นั้น แนวคิดดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างสำคัญในเรื่องของรัฏฐาธิปัตย์และอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกล่าวอย่างสั้น ๆ ในที่นี้ รัฏฐาธิปัตย์ (sovereignty) ก็คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดภายในรัฐ และเป็นอำนาจที่ประชาชนมอบให้ โดยรัฏฐาธิปัตย์ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองดูแลและควบคุมผู้อยู่ใต้อำนาจรัฐ แต่เมื่อรัฏฐาธิปัตย์ใช้อำนาจนั้นโดยไม่ชอบธรรม ประชาชนซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้ย่อมสามารถที่จะต่อต้านรัฏฐาธิปัตย์ได้เพื่อเป็นการปกปักรักษาสังคมหรือประชาชนภายในรัฐ และในสภาวะที่สังคมยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะปกครองกันอย่างไรนั้น จะมีอำนาจอย่างหนึ่งที่จะเข้ามาชี้ขาดตัดสินปัญญาดังกล่าว เรียกว่า อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) ซึ่งเป็นอำนาจในการก่อตั้งระบบกฎหมายและบรรดาองค์กรทางการเมืองทั้งหมดขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือบรรดากฎหมายและองค์กรทางการเมืองทั้งหมด กล่าวคือ เป็นอำนาจที่ก่อตั้งระบอบการเมืองและระบบกฎหมายจากสภาวะที่ปราศจากกฎหมายนั่นเอง[17]

 

นัยยะต่อการเมืองไทย

          เมื่อพิจารณาถึงประเด็นเรื่อง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” กับการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น จะเห็นได้ว่านี่เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เน้นย้ำสถานะพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” ของ คสช. หรือการที่ คสช. มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น ทั้งนี้ สถานะพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจครองความได้เปรียบทางการเมืองของเหนือฝั่งตรงข้ามของตนเอง ทว่าในขณะเดียวกันสถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในแง่นี้อาจกล่าวโดยส่วนหนึ่งได้ว่า เงื่อนไขทางการเมืองที่ดำเนินต่อไปในเช่นนี้ก็ยังคงตอกย้ำถึงความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วทางการเมืองของไทยที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษที่มิอาจหาทางคลี่คลายลงมาได้

 

บรรณานุกรม

“(สกู๊ป)เส้นทางคดี “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ของ พล.อ.ประยุทธ์.” ช่อง '3' (8 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <http://news.ch3thailand.com/politics/98974>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

“‘เรืองไกร'ร้องกกต.ฟัน'บิ๊กตู่'ขาดคุณสมบัติ.” มติชน (11 กุมภาพันธ์ 2562), หน้า 10.

““เรืองไกร" ยื่นหนังสือ กกต. ส่งศาลรธน.วินิจฉัย "บิ๊กตู่" หัวหน้าคสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่.” คมชัดลึก (27 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก

          <https://www.komchadluek.net/news/politic/363935>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

“ปปช.ระบุ คสช.ยื่นทรัพย์สินได้หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยังไม่ชัดสมาชิกสภาปฏิรูปต้องยื่นหรือไม่.” โพสต์ทูเดย์ (18 สิงหาคม 2557). เข้าถึงจาก

          <https://www.posttoday.com/politic/news/313126>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“ปมหัวหน้าคสช.ชิงนายกฯ.” ไทยโพสต์ (11 กุมภาพันธ์ 2562). หน้า 1 และ 10.

“ผู้ตรวจการวินิจฉัยสถานะ'บิ๊กตู่' หัวหน้าคสช.ไม่ใช่จนท.อื่นของรัฐ.” มติชน (16 มีนาคม 2562), หน้า 10.

“เฟซบิ๊กตู่ลบสถานะเจ้าหน้าที่รัฐ หลังถูกเรืองไกรยื่น กกต.วินิจฉัย.” บางกอกทูเดย์ (1 มีนาคม 2562), หน้า 7.

“มติกกต.เอกฉันท์ การันตีคุณสมบัติ'บิ๊กตู่'ฉลุย.” เดลินิวส์ (21 มีนาคม 2562), หน้า 1, 2, และ 13.

“ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจฯส่งศาลปค.ตีความสถานะ'บิ๊กตู่'.” ไทยโพสต์ (6 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30630>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

“ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะหัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ".” บีบีซีไทย (18 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-49724202>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายกฯ ต่อได้.” 'โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ('iLaw) (18 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5384>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

“หัวหน้าคสช.ไม่ใช่จนท.รัฐ? เปิดคำชี้ขาดศาลรธน.เทียบเคียง'บิ๊กตู่'.” คมชัดลึก. (5 มีนาคม 2562), หน้า 1 และ 3.

กลุ่มงานประธานรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2560). เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ ปี '2540 - 2550 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560'. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สราทิส ไพเราะ. ผลคำวินิจฉัยของศาลต่อการกระทำปฏิวัติรัฐประหาร (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2559).

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2562). ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560'. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

อ้างอิง 

[1] กลุ่มงานประธานรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ ปี '2540 - 2550 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560' (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2560), หน้า 54-55.

[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560' (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562), หน้า 170-173.

[3] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560', หน้า 272.

[4] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560', หน้า 278.

[5] “บี้ปมหัวหน้าคสช.ชิงนายกฯ,” ไทยโพสต์ (11 กุมภาพันธ์ 2562), หน้า 1 และ 10.

[6] “'เรืองไกร'ร้องกกต.ฟัน'บิ๊กตู่'ขาดคุณสมบัติ,” มติชน (11 กุมภาพันธ์ 2562), หน้า 10.

[7] “"เรืองไกร" ยื่นหนังสือ กกต. ส่งศาลรธน.วินิจฉัย "บิ๊กตู่" หัวหน้าคสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่,” คมชัดลึก (27 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/363935>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

[8] “(สกู๊ป)เส้นทางคดี “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ของ พล.อ.ประยุทธ์,” ช่อง 3 (8 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <http://news.ch3thailand.com/politics/98974>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

[9] “ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจฯส่งศาลปค.ตีความสถานะ'บิ๊กตู่',” ไทยโพสต์ (6 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/30630>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

[10] “เฟซบิ๊กตู่ลบสถานะเจ้าหน้าที่รัฐ หลังถูกเรืองไกรยื่น กกต.วินิจฉัย,” บางกอกทูเดย์ (1 มีนาคม 2562), หน้า 7.

[11] “ปปช.ระบุ คสช.ยื่นทรัพย์สินได้หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยังไม่ชัดสมาชิกสภาปฏิรูปต้องยื่นหรือไม่,” โพสต์ทูเดย์ (18 สิงหาคม 2557), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/313126>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[12] “หัวหน้าคสช.ไม่ใช่จนท.รัฐ? เปิดคำชี้ขาดศาลรธน.เทียบเคียง'บิ๊กตู่',” คมชัดลึก. (5 มีนาคม 2562), หน้า 1 และ 3.

[13] “ผู้ตรวจการวินิจฉัยสถานะ'บิ๊กตู่' หัวหน้าคสช.ไม่ใช่จนท.อื่นของรัฐ,” มติชน (16 มีนาคม 2562), หน้า 10.

[14] “มติกกต.เอกฉันท์ การันตีคุณสมบัติ'บิ๊กตู่'ฉลุย,” เดลินิวส์ (21 มีนาคม 2562), หน้า 1, 2, และ 13.

[15] “ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะหัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ",” บีบีซีไทย (18 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-49724202>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[16] ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะหัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ",” บีบีซีไทย' (18 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-49724202>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563. และ “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายกฯ ต่อได้,” โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ('iLaw) (18 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5384>. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563.

[17] สราทิส ไพเราะ. ผลคำวินิจฉัยของศาลต่อการกระทำปฏิวัติรัฐประหาร (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2559), หน้า 7-18.