เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:53, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" หรือที่ต่อมากลายเป็นคดีหมายเลขดำที่ 6792/2561 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา หรือ International Conference on Thai Studies ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อผู้สังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบปะปนเข้าไปในงานจำนวนมาก โดยไม่ได้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือติดต่อประสานงานไปยังผู้จัดงานแต่อย่างใด ทั้งยังมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ผู้ร่วมงานกลุ่มหนึ่ง จึงได้ชูป้ายมีข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" และปิดแผ่นป้ายนั้นไว้ภายในงาน จนมีผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งเข้ามาถ่ายภาพและเกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ภาครัฐได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักเขียน และนักศึกษา จำนวน 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ข้อ 12) เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จนกระทั่ง ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

          ด้วยเหตุนี้ ศาลแขวงเชียงใหม่จึงตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นับเป็นเวลา
1 ปี 4 เดือนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ กรณี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ได้รับความใจจากนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ จดหมายเปิดผนึก และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย

 

จุดเริ่มต้นของ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"

          งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา หรือ International Conference on Thai Studies
ถือเป็นงานประชุมวิชาการไทยศึกษาที่สำคัญที่สุดในระดับสากล มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติที่สนใจศึกษา วิจัยเกี่ยวกับประเด็นไทยศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2524 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และจะสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศที่มีการจัดการเรียนการสอนและวิจัยด้านไทยศึกษา ทุกๆ 3 ปี เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย งานวิชาการ การเสวนาโต๊ะกลม ปาฐกถา และนิทรรศการ[1] สำหรับ งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 มีหัวข้อหลักคือ "โลกาภิวัฒน์ไทย การเชื่อมโยง ความขัดแย้ง และปริศนาของไทยศึกษา" ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพนั้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมสูงถึง 1,200 คน และนับเป็นบริบทของเหตุการณ์ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" อันมีจุดเริ่มต้นมาจากวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ” อันประกอบด้วยนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ รวม 176 คน ได้ออกแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” โดยเรียกร้องให้เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางความคิด สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การคืนประชาธิปไตยโดยเร็วผ่านการเลือกตั้ง และปฏิรูปสถาบันศาลกับกองทัพ[2]

          เมื่อถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ผู้ร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ นางสาวภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายนลธวัช มะชัย นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชูป้ายมีข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เพื่อสื่อสารกับผู้เข้าร่วมงานคนอื่นๆ และต้องการแสดงออกให้เห็นว่าเวทีวิชาการที่จัดประชุมอยู่ขณะนั้นกำลังถูกตรวจตราสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง ภายหลังจากมีผู้สังเกตเห็นเจ้าหน้าจำนวนมากแฝงตัวเข้ามาในงานด้วยชุดนอกเครื่องแบบ ใช้อุปกรณ์ช่วยแปลที่มีอย่างจำกัดจนไม่เพียงพอต่อผู้ลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่ายร่วมงาน ทั้งยังเข้าไปถ่ายภาพกิจกรรมภายในงานโดยไม่ได้ขออนุญาติผู้จัดงานแต่อย่างใด[3] ทันทีที่งานประชุมครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ได้ปรากฏเอกสารในราชการกรมการปกครอง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (นายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า นักวิชาการ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว 6 คน ในนามกลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านทหารและรัฐประหาร ได้ชูป้ายข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา จึงได้เรียกให้ 3 คนทราบชื่อแล้วได้แก่ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นางสาวภัควดี วีระภาสพงษ์ และนายชัยพงษ์ สำเนียง เข้ามาชี้แจงและขอความร่วมมือไม่ให้มีการเคลื่อนไหว
ทางการเมือง[4]

          สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือ เอกสารในราชการกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ฉบับนี้ ปรากฏชื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แต่อย่างใด ทั้งนี้ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายความมั่นคงอาจเกิดความสับสน เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” ของ “ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น “แกนนำ” ก่อเหตุในครั้งนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่าแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไม่ได้ทำในนามคณะกรรมการจัดงานประชุม และตนเองก็ได้อ่านแถลงการณ์มาก่อนแล้วก็พบว่าไม่ได้มีเนื้อหารุนแรงหรือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่เป็นข้อเรียกร้องทางวิชาการปกติ จึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เมื่อนักวิชาการที่สนใจการเมืองมารวมตัวกันจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสดงจุดยืนบางอย่าง "สิ่งที่เกิดขึ้นจะถือเป็นการไปก้าวก่ายเสรีภาพทางวิชาการก็ได้ แม้ขณะนี้เราอยู่ภายใต้การปกครองซึ่งมีรัฐบาลทหารควบคุม แต่ในทางวิชาการจำเป็นต้องวิเคราะห์ได้ และควรรับฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร"[5]

 

การดำเนินคดีชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"

          แม้บุคคลทั้ง 3 คน ที่ปรากฏรายชื่อในเอกสารในราชการกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ จะไม่เคยได้รับหนังสือเรียกตัวจากทางการแต่อย่างใด แต่ไม่นานหลังจากนั้น ได้มีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลผู้ก่อเหตุ 5 คน ก็คือ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษา นางสาวภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[6] ซึ่งชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งๆ ที่จำเลย 2 คน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 กล่าวคือ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ต้องทำหน้าที่ดูผู้เข้าร่วมประชุม และจัดการการประชุมให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ขณะที่นายธีรมล บัวงาม เพียงถ่ายรูปตนเองคู่กับป้ายดังกล่าวและโพสต์รูปภาพนั้นลงบนสื่อออนไลน์เท่านั้น[7]

          ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ได้ออกหมายเรียกแก่บุคคลทั้ง 5 และแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ข้อ 12) เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป พร้อมกับแจ้งเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนเข้ารับการอบรม “ปรับทัศนคติ” เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็จะถือว่าคดีเลิกกัน

          ทว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักงานสืบสวนในภายหลัง จึงนำไปสู่การที่อัยการ สั่งฟ้องผู้ต้องหา และศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6792/2561 และกำหนดวันนัดฟ้องในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ผู้ตกเป็นจำเลยทั้ง 5 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในทันทีโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องจากไม่มีพฤติกรรมหลบหนี (ระหว่างเดือนกันยายน 2560 ถึงมิถุนายน 2561 ผู้ต้องห้าทั้ง 5 ได้ไปรายงานต่อสำนักงานอัยการทุกเดือน) และเป็นคดีไม่ร้ายแรง[8]

          ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2561 ศาลแขวงเชียงใหม่ได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้ว 6 ปาก และยังเหลือการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์อีก 4 ปาก ในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยทั้ง 5 คน ของแถลงต่อศาลถึงข้อเท็จริงที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 (ข้อ 12) ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ ศาลจึงสั่งงดการสืบพยานปากที่เหลือ เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายนี้ใหม่ เมื่อถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ศาลแขวงเชียงใหม่จึงได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เนื่องจากไม่มีกฎหมายเอาผิดจำเลยอีกต่อไป นับเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนของการต่อสู้เพื่อยืนยันเสรีภาพทางวิชาการในกระบวนการยุติธรรม[9]

 

แนวคิดเรื่อง “เสรีภาพทางวิชาการ”

 

เหตุผลเดียวที่อำนาจจะถูกใช้ได้โดยชอบเหนือสมาชิกคนใดก็ตามในชุมชนที่เจริญแล้ว ซึ่งค้านกับเจตจำนงของเขา ก็เพื่อปัดป้องอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้อื่น[10]

 

John Stuart Mill

On Liberty, (2003: Ch. 1, p. 83)

 

          แนวคิดเรื่อง "สิทธิ" (rights) และ "เสรีภาพ" (liberty) มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน แม้สองแนวคิดดังกล่าวจะเหลื่อมซ้อนกันในหลายมิติ ทว่า หากพิจารณาจากที่มาแล้ว แนวคิดเรื่อง "เสรีภาพ" มีที่มาจากคริสต์ศาสนาที่วางอยู่บนความคิดเจตจำนงเสรี (free will) เพื่ออธิบายเหตุผลการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดโดยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่แนวคิดเรื่อง "สิทธิ" มาจากการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญายุคภูมิธรรม (age of Enlightenment) ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเมืองของผู้ที่ถือครองทรัพย์สิน[11] ก่อนที่ทั้งสองแนวคิดจะถูกผนวกหลอมรวมมาเป็น "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ.2491)

          โดยมีรัฐบาลไทยขณะนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกสหประชาชาติ ที่ออกเสียงสนับสนุน ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (right and freedom of expression) ถูกระบุไว้ใน ข้อ 19 ว่า "ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน"[12] กล่าวได้ว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งนอกจากมนุษย์ทุกคนจะมีสิทธิตามธรรมชาติแล้ว ยังไม่อาจถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอกโดยไม่มีเหตุผลจำเป็นอีกด้วย

          สำหรับ "เสรีภาพทางวิชาการ" นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนก็คือ 1) เสรีภาพทางวิชาการของสถาบันการศึกษา (institutional academic freedom) ในความหมายที่ว่ามหาวิทยาลัยและหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงมีสิทธิที่จะกำหนดภารกิจทางการศึกษาโดยเสรีและปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล 2) เสรีภาพทางวิชาการส่วนบุคคล (individual academic freedom) ครอบคลุมถึงสิทธิของอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่จะจัดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเสรีและปราศจากการแทรกแซงของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สมาคมคณาจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกา (American Association of University Professors - AAUP) ได้นิยามความหมายของ "เสรีภาพทางวิชาการ" ไว้ในปี ค.ศ. 1940 ว่าหมายถึง ครูและอาจารย์มีสิทธิในชั้นเรียนที่จะอภิปรายแลกเปลี่ยนประเด็นความคิดเห็นกับนักเรียนนักศึกษาได้อย่างเสรี แต่ควรระมัดระวังที่จะไม่ไปแตะต้องประเด็นละเอียดอ่อน (อาทิ ศาสนา) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียนการสอน ขณะเดียวกัน เมื่อมีการแสดงออกด้วยการพูดและเขียนในที่สาธารณะ ครูและอาจารย์ในฐานะที่เป็นพลเมืองก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น
ของตนเองอย่างเสรี โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการถูกเซ็นเซอร์จากสถาบันการศึกษาหรือรัฐบาลแต่อย่างใด[13]

 

การเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการกับนัยสำคัญต่อการเมืองไทย

          เหตุการณ์ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งภายหลังถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม ได้รับความสนใจจากวงวิชาการไทยและนานาชาติ ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่ถูกสอดส่องและแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และยังดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุอย่างมีข้อกังขา ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกภายในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งมีนักวิชาการจากต่างๆ ประเทศจำนวนมากเข้าร่วม จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่จะปรากฏข้อเรียกร้องจำนวนมากให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่สำคัญได้แก่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)[14] องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International)[15] และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists—ICJ)[16] เป็นต้น

          ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า “จนถึงปัจจุบัน มีสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ได้ออกแถลงการณ์หรือออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีไทยศึกษานี้ กว่า 70 องค์กร และมีนักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างน้อย 1,071 รายชื่อ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้อง รวมแล้วมีแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก อย่างน้อย 18 ฉบับ ที่ร่วมแสดงออกถึงการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในกรณีนี้”[17] หลายฝ่ายจึงประเมินกันว่าการกระทำของฝ่ายความมั่นคงในครั้งนี้นับเป็นการสร้างความ “อับอาย” ที่สุดครั้งหนึ่งในวงวิชาการนานาชาติของรัฐบาล คสช.

 

บรรณานุกรม

“176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย." ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/07/72440>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“1940 Statement of Principles on Academic Freedom and Tenure," American Association of University Professors, Available from <https://www.aaup.org/report/1940-statement-principles-academic-freedom-and-tenure>. Accessed September 22, 2020.

Mill, John Stuart (2003). On Liberty. Edited by David Bromwich and George Kateb. New Haven: Yale University Press.

Stivers, Richard (2008). The Illusion of Freedom and Equality. New York: State University of New York Press.

กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (2551). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ('Universal Declaration of Human Rights)'. ม.ป.พ.: ม.ป.ป..

“เครือข่ายนักวิชาการ “จับเท็จ” หนังสือเรียกอาจารย์ มธ. ปรับทัศนคติ." บีบีซีไทย (19 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40652244>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“ทหารนัดเจอ 3 นักวิชาการ หลังชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ไม่ให้เคลื่อนไหวการเมือง." ข่าวสดออนไลน์ (18 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงจาก

          <https://www.khaosod.co.th/politics/news_445709>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา." ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (3 กันยายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=5089>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“ยกฟ้องคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ศาลวินิจฉัยไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินคดีจำเลยทั้ง 5 แล้ว." ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (25 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก

          <https://www.tlhr2014.com/?p=10305>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่." บีบีซีไทย (21 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40996224>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้." ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77690>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“แอมเนสตี้ ร้องไทยยุติดำเนินคดีในข้อหาชูป้าย #เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ชี้ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก." แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (5 กรกฎาคม 2561). เข้าถึงจาก

          <https://www.amnesty.or.th/latest/news/130/>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

“ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา." ประชาไท (16 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/08/72829>. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

 

อ้างอิง 

[1] "ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่," บีบีซีไทย (21 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40996224>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[2] "176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย," ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/07/72440>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[3] "ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่," บีบีซีไทย (21 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40996224>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[4] "ทหารนัดเจอ 3 นักวิชาการ หลังชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ไม่ให้เคลื่อนไหวการเมือง," ข่าวสดออนไลน์ (18 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_445709>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[5] "เครือข่ายนักวิชาการ “จับเท็จ” หนังสือเรียกอาจารย์ มธ. ปรับทัศนคติ," บีบีซีไทย (19 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40652244>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[6] "ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่," บีบีซีไทย (21 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40996224>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[7] "ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้," ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77690>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[8] ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้," ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77690>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[9] "ยกฟ้องคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ศาลวินิจฉัยไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินคดีจำเลยทั้ง 5 แล้ว," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (25 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=10305>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[10] John Stuart Mill, On Liberty, edited by David Bromwich and George Kateb (New Haven: Yale University Press, 2003), Ch. 1, p. 83.

[11] Richard Stivers, The Illusion of Freedom and Equality (New York: State University of New York Press, 2008), p. 41.

[12] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) (ม.ป.พ.: ม.ป.ป., 2551), หน้า 25-16.

[13] "1940 Statement of Principles on Academic Freedom and Tenure," American Association of University Professors, Available from <https://www.aaup.org/report/1940-statement-principles-academic-freedom-and-tenure>. Accessed September 22, 2020.

[14] "ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา," ประชาไท
(16 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/08/72829>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[15] "แอมเนสตี้ ร้องไทยยุติดำเนินคดีในข้อหาชูป้าย #เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ชี้ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก," แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (5 กรกฎาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.amnesty.or.th/latest/news/130/>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[16] "ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้," ประชาไท (17 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77690>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.

[17] "ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (3 กันยายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=5089>, เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563.