11 พรรคเล็ก
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความหมาย
“11 พรรคเล็ก” เป็นการกล่าวถึงบทบาทของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 ที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนของ ส.ส. พึงมีที่ 71,168.5141 คะแนน แต่ด้วยสูตรการคิดคำนวณคะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และการคิดคำนวณของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ทำให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงน้อยกว่า 71,168.5141 คะแนน ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง โดยมีทั้งสิ้น 11 พรรค โดยมีช่วงคะแนนตั้งแต่ 69,431 คะแนน ไปจนถึงพรรคที่ได้คะแนนอันดับสุดท้ายได้คะแนนเพียง 33,787 คะแนน ทั้งนี้ พรรคเล็กทั้ง 11 พรรคนี้ มีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องการรวบรวมเสียงในสภาให้ได้เพียงพอสำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคะแนนเสียงจากพรรคเล็กทั้ง 11 พรรค ถือเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว
11 พรรคเล็ก ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 149 คน นั้น ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่พึงมีต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนน แต่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เป็นพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยพึงได้ ส.ส. 1 คน แต่กลับได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ไปพรรคละ 1 ที่นั่ง โดยมีจำนวน 11 พรรค ดังนี้[1]
1. พรรคประชาภิวัฒน์ โดยมีนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
และอดีต ส.ว. เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 68,973 คะแนน
2. พรรคไทยศรีวิไลย์ โดยมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ที่มีบทบาทที่ผ่านมา คือ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค
ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 60,354 คะแนน
3. พรรคพลังไทยรักไทย โดยมีนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ซึ่งสนิทกับ พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 60,298 คะแนน
4. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน โดยมีนายปรีดา บุญเพลิง อดีตผู้นำครูประชาบาลขอนแก่นที่ร่วมกับเพื่อนครูต่อสู้ปลดแอกครูประชาบาลออกจากมหาดไทยก่อนจะเดินทางเข้าสู่สนามการเมือง เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 56,308 คะแนน
5. พรรคประชานิยม โดยมีพลตำรวจเอก ยงยุทธ เทพจำนงค์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพรรค และได้ประกาศสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียง ได้คะแนนทั้งหมด 56,215 คะแนน
6. พรรคประชาธรรมไทย โดยมีนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ผู้ที่สนิทสนมกับนายทักษิณ ชินวัตร และเป็นบุคคลสำคัญในพรรคไทยรักไทย รวมทั้งเคนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 47,787 คะแนน
7. พรรคประชาชนปฏิรูป โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายไพบูลย์เป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 45,374 คะแนน
8. พรรคพลเมืองไทย โดยมีนางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย และที่ได้เป็น ส.ส. ครั้งนี้เนื่องจากนายเอกพร รักความสุข หัวหน้าพรรค ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ส่งผลให้นางสาวศิลัมพา เลขาธิการพรรค ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 2 ก้าวขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน ด้วยคะแนน 44,961 คะแนน
9. พรรคประชาธิปไตยใหม่ โดยมีนายสุรทิน พิจารณ์ อดีตเลขาธิการพรรคเสรีธรรม อดีตหัวหน้าพรรครักษ์แผ่นดินไทย และในปี พ.ศ. 2547 ได้ก่อตั้งพรรคพรรคประชาธิปไตยก่อนจะถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคประชาธิปไตยใหม่ในปัจจุบัน โดยนายสุรทินเป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 39,260 คะแนน
10. พรรคพลังธรรมใหม่ โดยมีนายระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม และยังเป็น แกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) ที่บุกยึดสำนักงานของสำนักงานกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกระทรวงพลังงาน ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. โดยนายระวีเป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 34,924 คะแนน
11. พรรคไทรักธรรม โดยมีนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เดิมคือพรรคไทยรักธรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นไทรักธรรม เป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรค ทำให้ได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 33,754 คะแนน
ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้ ซึ่งชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มมา 1 คน คือ นางสาวศรีนวล บุญลือ และเมื่อนำคะแนนจากการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ไปคำนวณบัญชีรายชื่อใหม่ จะพบว่า พรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นมาพรรคละ 1 คน โดยพรรคพลังประชารัฐจะได้นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ส่วนประชาธิปัตย์จะได้นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร เข้ามาตามลำดับบัญชีรายชื่อ ทำให้นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคไทรักธรรม กลายเป็นผู้ถูกหักออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน หลังจากทำหน้าที่ได้เพียง 3 วัน[2]
และในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค จากพรรคไทรักธรรม ได้กลับเข้าทำหน้าที่ ส.ส. อีกครั้ง หลังจากที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สัดส่วนของคะแนนเสียงจึงกลับมาอยู่ที่พรรคไทรักธรรม ซึ่งเมื่อนายพีระวิทย์กลับมาทำงานในฐานะ ส.ส. ครั้งนี้ได้ยืนยันว่าจะขอเข้าร่วมงานกับฝ่ายรัฐบาล[3]
บทบาทของพรรคเล็กกับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
หลังจากการจัดการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ผ่านไปก็เข้าสู่ช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวมีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภามากถึง 25 พรรค โดยพรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส. มากที่สุด จำนวน 136 คน ถัดมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน ส.ส. 116 คน[4] จะเห็นได้ว่าทั้งสองพรรคต่างมีคะแนนเสียงของ ส.ส. ในสภาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อให้รัฐบาลมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง นั่นคือ 250 เสียง โดยมีบทบาทสำคัญจะอยู่ที่พรรคขนาดกลางที่เป็นพรรคตัวแปร อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคเหล่านี้สามารถต่อรองทางการเมืองได้มากกว่าพรรคขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม บทบาทของ 11 พรรคเล็ก ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลก็มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจาก พรรคเล็กที่มี ส.ส. เพียง 1 คน ต่างรวมตัวกัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 กลุ่ม ส.ส. 11 พรรคเล็กได้มีการหารือร่วมกันและมีการเปิดแถลงจุดยืนของกลุ่ม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย กล่าวถึงจุดยืนของกลุ่ม 11 พรรคเล็กว่าจะให้การสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ โดยนายสัมพันธ์กล่าวว่า “ทั้ง 11 พรรคจะสนับสนุนให้มีรัฐบาลโดยเร็ว ส.ส. ทั้ง 11 คน มั่นใจว่าจะยกมือสนับสนุนเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนจะตั้งรัฐบาลแบบไหน พวกเราคงไม่ก้าวก่าย และพวกเราจะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล”[5]
ขณะเดียวกันกลุ่ม ส.ส. 11 พรรคเล็ก ยังแสดงท่าทีว่าพร้อมสำหรับการตรวจสอบรัฐบาล หากรัฐบาลทำดี 11 พรรคเล็กก็จะสนับสนุน แต่ถ้ามีรัฐมนตรีคนใดทำงานผิดไปจากความเป็นจริง ทั้ง 11 พรรคเล็กก็พร้อมจะคัดค้านเช่นกัน[6] ต่อมานายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ได้เดินทางมายังสถานที่ดังกล่าว เพื่อรับมอบหนังสือแสดงเจตจำนงที่ลงนามร่วมกันโดยหัวหน้าพรรคทั้ง 11 พรรค ว่าจะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกครั้ง[7]
เมื่อจัดตั้งรัฐบาลผ่านไปไม่นานนัก ก็เกิดกรณีที่พรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคประชาธรรมไทย ขอถอนตัวไม่ร่วมรัฐบาลต่อ โดยจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคขนาดใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญ ตั้งแต่การจัดสรรเวลาในการอภิปรายที่ให้น้อยเกินไป การควบคุมการตั้งกระทู้ถามสดในสภา อีกทั้งจะขอปรึกษาหารือเรื่องนโยบายกับรัฐบาลก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ทั้งสองพรรคตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างถาวร และยืนยันว่าจะไม่มีการถอนคำพูดในภายหลัง โดยขอเป็น ส.ส. ฝ่ายประชาชนต่อไป[8]
ต่อมาร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีพรรคเล็กประกาศแยกตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยระบุว่ามีการพุดคุยกันเรียบร้อยแล้ว และได้เปรียบเทียบกรณีดังกล่าวกับการเลี้ยงลิงว่า “ผมเป็นคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้วน่าจะพอได้แล้ว เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ต้องเคลียร์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาจจะเข้าใจผิด”[9] และจากการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้พรรคเล็กพอสมควร โดยเฉพาะพรรคประชาธรรมไทยที่ได้ออกมาตอบโต้กรณีดังกล่าวว่าการให้สัมภาษณ์ของร้อยเอก ธรรมนัส ถือเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของพรรค ดังนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งสมาชิกพรรค จึงเห็นควรให้ ส.ส. ของพรรคประชาธรรมไทย ทำงานให้ประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล[10]
แต่ด้วยกระแสทั้งจากสังคมและจากพรรคเล็กอื่น ๆ ในท้ายที่สุดร้อยเอก ธรรมนัส ต้องออกมาขอโทษ ส.ส.พรรคเล็กทั้งหมด พร้อมกับชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาจะเปรียบเทียบเป็นลิงแต่อย่างใด ซึ่งได้โทรศัพท์ขอโทษหัวหน้าพรรคเล็กทุกคนแล้ว รวมทั้งนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย พร้อมย้ำว่าที่พูดออกไปเพราะความสนิทและเป็นพี่เป็นน้องกัน ทำให้ลืมคิดถึงความรู้สึก[11] และเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ทั้งพรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคประชาธรรมไทยได้กลับเข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้งเนื่องจากทราบถึงปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ถ้าปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศแบบไร้เสถียรภาพต่อไป ปัญหาก็จะเกิดกับประชาชนโดยตรง[12] เป็นการปิดฉากลงของการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ พร้อมทั้งทำให้กลุ่ม 11 พรรคเล็ก ที่เคยแตกกระจายกันไปกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง
บทบาทของพรรคเล็กในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สำหรับประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองไทยที่เริ่มมีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2490 – 2500 พรรคการเมืองไม่ได้มีบทบาทมากนัก โดยพรรคการเมืองมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มของผู้สนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นหลัก อาทิ กลุ่มสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ มีการตั้งพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ กลุ่มสนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ มีพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา อีกทั้งยังไม่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค จึงทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่นั้นมีจำนวน ส.ส. ไม่แตกต่างกันมากนัก และเมื่อรวมกันก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลได้ จึงต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. อิสระ เข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาบทบาทของพรรคการเมืองหายไปในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริหารประเทศ ทำให้บทบาทของพรรคการเมืองเลือนหายไป จนกระทั่งพรรคการเมืองหวนกลับมามีบทบาทในทางการเมืองอย่างจริงจัง นั่นคือ หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้บทบาทของพรรคการเมืองมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2518 มีพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรถึง 23 พรรค เป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. น้อยกว่า 5 คน จำนวน 12 พรรค ผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ดังที่ปรากฏให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป ต่อมาหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส. ในสภาเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ จัดตั้งเป็น “รัฐบาลสหพรรค”[13]
และในช่วงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 เป็นการออกแบบให้ ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ในปี พ.ศ. 2522 มีพรรคการเมืองในสภาทั้งสิ้น 15 พรรค โดยพรรคกิจสังคมได้ที่นั่งมากสุด คือ 41 คน แต่พรรคขนาดเล็กที่มีเสียง ส.ส. ในสภา 1 คน ไม่มีบทบาทดังกล่าว เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีบทบาทคือพรรคการเมืองขนาดกลางที่มีจำนวน ส.ส. ไล่เลี่ยกันและสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่างแย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในท้ายที่สุดต้องเชิญพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลไกนี้ก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพในระดับที่สูง[14]
ต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 79 คน พรรคชาติไทยได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 77 คน และมีพรรคการเมืองในสภาทั้งสิ้น 10 พรรค เป็นพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส. น้อยกว่า 5 คน จำนวน 2 พรรค หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 พรรคความหวังใหม่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 มีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 125 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 มีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 123 คน และมีพรรคการเมืองในสภาทั้งสิ้น 9 พรรค เป็นพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส. น้อยกว่า 5 คน จำนวน 1 พรรค [15] ทำให้เห็นว่า แม้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 2 ก็พร้อมที่พลิกกลับมาจัดตั้งรัฐบาลแข่งได้เสมอ แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มี ส.ส. น้อยมากจนไม่สามารถต่อรองในทางการเมืองได้มีจำนวนพรรคลดลง
ช่วงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พบว่า รัฐบาลผสมในยุคนี้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่ทำให้เกิด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเข้ามาเป็นครั้งแรก และมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคกึ่งมากขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พบว่า พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 248 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 128 คน และพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส. น้อยกว่า 5 คน จำนวน 2 พรรค แต่พรรคการเมืองขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก ที่มี ส.ส. ระหว่าง 5 – 10 คน บางส่วนเข้าควบรวมกับพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา[16] และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ที่พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ทำให้ไม่มีพรรคการเมทิหรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 พบว่าแนวโน้มระบบพรรคการเมืองยังคงเป็นไปในลักษณะที่มีจำนวน ส.ส. ที่มากกว่ากว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 อย่างมาก จึงเป็นการยากที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 จะช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กก็มีเพียง 1 พรรคเท่านั้น
“พรรคเล็ก” กับความสำคัญในทางการเมือง
ความสำคัญในทางการเมืองของพรรคเล็กหรือพรรคการเมืองขนาดเล็กนั้น เกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ นั่นคือ ลักษณะแรกเป็นความสำคัญของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เกิดจากพรรคการเมืองขนาดเล็กเอง เช่น การส่งผลต่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล บทบาทในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น และลักษณะที่สองเป็นความสำคัญของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อม เช่น การกำหนดกติกาการเลือกตั้ง บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
พรรคเล็กในฐานะพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มี ส.ส. ไม่เกิน 5 คน มักจะไม่ได้รับการดูแลจากแกนนำพรรครัฐบาลมากนัก เนื่องจากการลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนในเรื่องใด ๆ ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากเท่ากับพรรคการเมืองขนาดกลาง แต่การมีพรรคการเมืองขนาดเล็กอยู่ในสภาผู้แทนราฎรจำนวนมากจะส่งผลต่อเสถียรภาพที่ไม่มั่นคงของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน การมีพรรคการเมืองขนาดเล็กในสภาจำนวนมากนั้น บ่งชี้ว่าในสภาผู้แทนราษฎรมีกลุ่มคนที่เป็น “ตัวแทน” ที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เช่น การมีพรรคที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเฉพาะ (Resemblance Model) เพื่อคอยปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มเฉพาะอย่างแท้จริง และอาจกล่าวได้ว่าการมีพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากย่อมแสดงถึงการมีอยู่ของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมการเมือง[17]
พรรคเล็กในฐานะผลผลิตของการออกแบบระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากการออกแบบกติกาของสถาบันทางการเมือง ก่อให้เกิดผลจะจะเห็นได้ว่าระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่ระบบพรรคการเมืองที่ต่างกันตามไปด้วย ดังเช่นในระบบเวสต์มินเตอร์ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบคะแนนนำกำชัย (First Past The Post: FPTP) ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมักจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่เป็นตัวแทนของชุดความคิดสองขั้วหลักในสังคมที่มีศักยภาพในการระดมทรัพยากรจำนวนมากได้ พรรคการเมืองดังกล่าวจึงไม่มีความสุดโต่งมากนัก ลักษณะดังกล่าวเป็นที่มาให้เกิดระบบสองพรรค (Two-party System) ขึ้นมา[18] ขณะที่ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representative: PR) ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสในการได้รับเลือกตั้งให้มีตัวทนเข้ามา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในเรื่องของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละประเทศมีใช้แตกต่างกัน แต่ในกรณีประเทศไทย จะพบว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะมีการใช้ระบบผสมที่นำเอาระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representative: PR) มาใช้ร่วมด้วย แต่ก็ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้รับเลือกตั้งมากนัก เนื่องจากบริบาทของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้พรรคการเมืองต้องได้รับคะแนนเสียงขั้นต่ำที่ ร้อยละ 5 ต่อการมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในสภา สะท้อนให้เห็นว่าระเบียบต่าง ๆ มีความสำคัญในการส่งเสริมหรือยับยั้งบทบาทของพรรคการเมืองขนาดเล็ก
บทส่งท้าย
11 พรรคเล็ก เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีความสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนของ ส.ส. พึงมีที่ 71,168.5141 คะแนน แต่พรรคการเมืองทั้ง 11 พรรค ก็ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ให้พรรคละ 1 คน ซึ่ง 11 พรรคเล็ก ในช่วงเวลาของการก่อร่างสร้างตัวสำหรับรัฐบาลนั้น 11 พรรคเล็กได้เกาะกลุ่มกันและสามารถสร้างกระแสเพื่อเรียกร้องให้สังคมสนใจประเด็นของพรรคเล็กได้ แต่กระนั้น ด้วยเหตุที่เป็นพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้แนวทางการทำงานอาจมีความแตกต่างกัน จนนำไปสู่การถอนตัวของพรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคประชาธรรมไทย ทำให้บทบาทของ 11 พรรคเล็กลดน้อยลงไป แม้ว่าทั้ง 2 พรรคจะกลับเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ทั้งนี้พรรคเล็กในสภาหากอยู่เพียงพรรคเดียวก็ไม่สามารถสั่นคลอนรัฐบาลได้ แต่เมื่อพรรคเล็กทั้ง 11 พรรคมารวมตัวกันทำให้เสียงในการต่อรองทางการเมืองดังกว่าเสียงของพรรคเล็กเพียงพรรคเดียว
บรรณานุกรม
Heywood, Andrew (1997). Politics. London: Macmillan Foundations.
Lijphart, Arend (1995). Electoral Systems and Party Systems: A Study of Twenty-seven Democracies, 1945-1990. Oxford: Oxford University Press.
“‘11พรรคเล็ก'แถลงจุดยืนหนุน'บิ๊กตู่-พปชร.'ยันทำเพื่อประเทศชาติ," แนวหน้าออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/413336>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน.
“โฉมหน้า "11พรรคเล็ก" ตัวแปรหนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (9 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/588607>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
ธนกร วงษ์ปัญญา, "พีระวิทย์ พรรคไทรักธรรม เข้าสภาเป็น ส.ส. รอบสอง ขอทำงานขั้วรัฐบาล มั่นใจไม่หลุดเก้าอี้อีก," The Standard (29 มกราคม 2563), เข้าถึงจาก
<https://thestandard.co/tairaktham-party-290163/>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
“‘ธรรมนัส’ ขอโทษ พูดเล่นมากไป เปรียบพรรคเล็กเหมือนลิง ยันไม่ได้ตั้งใจ," มติชนออนไลน์ (10 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1664267>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
“ธรรมนัสทำพิษ! มติประชาธรรมไทย ทิ้ง รบ.ประยุทธ์ หลังโดนหยามเป็นลิงกินกล้วย!," ข่าวสดออนไลน์ (10 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2876431>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
“‘ธรรมนัส'ให้กล้วย!คอนเฟิร์ม'พิเชษฐ'ยังอยู่พรรคร่วมรัฐบาล," ไทยโพสต์ออนไลน์ (7 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/45209>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2558). แนวทางปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
นิยม รัฐอมฤต (2558). ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ," ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136, ตอนที่ 62 ก, วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.;
“‘มงคลกิตติ์' เผย 'ไทยศรีวิไลย์-ประชาธรรมไทย' ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ," ประชาไท (11 สิงหาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/08/83816>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
“มงคลกิตติ์- พิเชษฐ'แถลงซบ'ลุงตู่'รอบ2ชูทำให้บ้านเมืองสงบ," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (6 มกราคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/610945>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
“มารับถึงที่! 'อุตตม-สนธิรัตน์'อ้าแขนรับ11พรรคเล็ก เข้าร่วมพปชร.จัดตั้งรัฐบาล," แนวหน้าออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/413354>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
อนุชิต ไกรวิจิตร, ผลเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ อาจส่งผลให้พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. พึงมีเพิ่มอีกพรรคละ 1 คน," The Standard (27 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/re-elect-district-8-chiang-mai-results/>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[1] "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ," ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136, ตอนที่ 62 ก, วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.; และโปรดดู "โฉมหน้า "11พรรคเล็ก" ตัวแปรหนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (9 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.
com/politic/news/588607>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[2] "อนุชิต ไกรวิจิตร, ผลเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ อาจส่งผลให้พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. พึงมีเพิ่มอีกพรรคละ 1 คน," The Standard (27 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/re-elect-district-8-chiang-mai-results/>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[3] ธนกร วงษ์ปัญญา, "พีระวิทย์ พรรคไทรักธรรม เข้าสภาเป็น ส.ส. รอบสอง ขอทำงานขั้วรัฐบาล มั่นใจไม่หลุดเก้าอี้อีก," The Standard (29 มกราคม 2563), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/tairaktham-party-290163/>, เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[4] ข้อมูลจำนวน ส.ส. ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.
[5] "'11พรรคเล็ก'แถลงจุดยืนหนุน'บิ๊กตู่-พปชร.'ยันทำเพื่อประเทศชาติ," แนวหน้าออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/413336>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[6] "'11พรรคเล็ก'แถลงจุดยืนหนุน'บิ๊กตู่-พปชร.'ยันทำเพื่อประเทศชาติ," แนวหน้าออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/413336>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[7] "มารับถึงที่! 'อุตตม-สนธิรัตน์'อ้าแขนรับ11พรรคเล็ก เข้าร่วมพปชร.จัดตั้งรัฐบาล," แนวหน้าออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/413354>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[8] "'มงคลกิตติ์' เผย 'ไทยศรีวิไลย์-ประชาธรรมไทย' ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ," ประชาไท (11 สิงหาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/08/83816>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[9] "'ธรรมนัส'ให้กล้วย!คอนเฟิร์ม'พิเชษฐ'ยังอยู่พรรคร่วมรัฐบาล," ไทยโพสต์ออนไลน์ (7 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/45209>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[10] "ธรรมนัสทำพิษ! มติประชาธรรมไทย ทิ้ง รบ.ประยุทธ์ หลังโดนหยามเป็นลิงกินกล้วย!," ข่าวสดออนไลน์ (10 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2876431>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[11] "‘ธรรมนัส’ ขอโทษ พูดเล่นมากไป เปรียบพรรคเล็กเหมือนลิง ยันไม่ได้ตั้งใจ," มติชนออนไลน์ (10 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1664267>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[12] "'มงคลกิตติ์- พิเชษฐ'แถลงซบ'ลุงตู่'รอบ2ชูทำให้บ้านเมืองสงบ," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (6 มกราคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/610945>, เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563.
[13] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 263 – 265.
[14] นิยม รัฐอมฤต, ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2558), หน้า 109 – 114.
[15] นิยม รัฐอมฤต, ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม, หน้า 109 – 114.
[16] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และภูริ ฟูวงศ์เจริญ, แนวทางปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2558), หน้า 96 – 106.
[17] Andrew Heywood, Politics (London: Macmillan Foundations, 1997), pp. 206-210.
[18] Arend Lijphart, Electoral Systems and Party Systems: A Study of Twenty-seven Democracies, 1945-1990 (Oxford: Oxford University Press, 1995), pp. 16 – 30.