พรรคตัวแปร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:43, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          พรรคตัวแปร เป็นการเปรียบเปรยถึงบรรดาพรรคการเมืองขนาดกลางที่มีจำนวน ส.ส. มากพอที่จะทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นที่แน่ชัดว่าฟากที่จะจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ ฝ่ายค้าน ก็คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ โดยในช่วงแรกนั้นหลายพรรคยังสงวนท่าทีว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับฝั่งใด ซึ่งได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เป็นต้น บรรดาพรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น

 

ที่มาที่ไปของคำว่า “พรรคตัวแปร”

          พรรคตัวแปร คือ พรรคการเมืองที่ไม่ได้ประกาศจุดยืนการร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจนในช่วงการหาเสียงว่าจะเลือกอยู่ขั้วไหนในสภา ต่างจากพันธมิตรพรรคการเมืองร่วม (political alliance) ที่มีการประกาศจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะอยู่ขั้วเดียวกันหลังการเลือกตั้ง เช่น Pakatan Harapan ซึ่งเป็นพันธมิตรพรรคการเมืองในมาเลเซียซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2018 จนทำให้ มหาเธร์ มูฮัมหมัด แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากกลุ่มพันธมิตร Pakatan Harapan สามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ[1]

พรรคตัวแปรมักจะเป็นพรรคขนาดกลางที่มีสัดส่วน ส.ส. 10-20% ของสภาทั้งหมด กล่าวคือ มี ส.ส. 50-100 คน มักเกิดขึ้นในระบอบการเมืองรัฐสภาที่มีระบบการเลือกตั้งแบบกระจายคะแนนเสียงและเอื้อให้เกิดรัฐบาลแบบผสม (coalition government) แม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. สูงสุดในสภาก็มักจะไม่ได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งและจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคเดียวได้ พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดจึงต้องไปรวบรวมเสียง ส.ส. เพิ่มจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากพรรคอันดับสามลงมา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งแบบผสมหลายพรรคและจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคตัวแปร

          ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นำเอาระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนคะแนนเสียง (Mixed-Member Apportionment System: MMA) มาปรับใช้ในการสร้างกติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ โดยการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพื่อคิดสัดส่วน ส.ส. อันพึงมีจากคะแนนเสียงของแต่ละพรรคเทียบเคียงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ แล้วจึงจัดสรรปันส่วนระหว่าง ส.ส. เขต 350 คน กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน เพื่อทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายและแก้ปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำ[2] นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังได้เขียนบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 ให้ ส.ว. ที่มาจากการคัดสรรและแต่งตั้งโดย คสช. มีสิทธิลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้องค์ประกอบสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อยู่ที่ 750 คน โดยที่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี[3]

ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนคะแนนเสียงนี้เอื้อต่อการตั้งพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเล็กในสภาที่มีจำนวน ส.ส. ไม่ถึง 10 คน ส่วนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็มีการใช้ยุทธศาสตร์ “แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย” หรือการแตกพรรคใหญ่เป็นพรรคย่อย เช่น แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ได้ลาออกไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เช่น พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม โดยพรรคเพื่อไทยเน้น ส.ส. เขต ส่วนพรรคที่เหลือเน้นการเก็บคะแนนเพื่อนำไปคำนวนสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อหวังว่าการใช้ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ได้ ส.ส. ในภาพรวมมากเพียงพอกับการรวมรวบเสียงเพื่อสู้กับ ส.ว. 250 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี[4]

แม้พรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบพรรคการเมืองไปก่อนวันเลือกตั้ง แต่ผลที่ตามมา คือ การเลือกตั้งปี 62 ที่มีพรรคการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้งมากถึง 81 พรรค เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 54 ที่พรรคการเมืองส่งลงรับสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมดเพียง 40 พรรค ส่วนพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาในการเลือกตั้งปี 62 ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมี ส.ส. ครบ 500 คน นั้น มีทั้งหมด 26 พรรค โดยในจำนวนนี้มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เพียงหนึ่งคนมากถึง 12 พรรค ต่างจากผลการเลือกตั้งปี 54 ที่มีพรรคการเมืองในสภาทั้งหมดเพียง 11 พรรค[5]

 

พรรคตัวแปรในการเลือกตั้ง 62

          เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สิ้นสุดลง ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภา มีพรรคการเมืองที่ ส.ส. มากกว่าหนึ่งร้อยคนเพียงสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุด 136 คน และ พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. 116 คน ทำให้พรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส. ระหว่าง 50-100 คน เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส. 81 คน พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 53 คน และ พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 51 คน

          ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคขนาดกลางทั้งสามพรรคมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน พรรคอนาคตใหม่ที่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่ใช่แค่ไม่เอาคุณประยุทธ์ แต่ต้องไม่เอาพลังประชารัฐด้วย”[6] ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี “ชัดๆเลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ แน่นอน...เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่”[7] ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ได้ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง ลดอำนาจรัฐและความขัดแย้ง “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุน ต้องเป็น ส.ส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร”[8]

          จุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคตัวแปร คือ การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่พรรคได้ ส.ส. น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ทำให้การประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ของนายอภิสิทธิ์ไม่มีผลผูกพันธ์กับพรรคอีกต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จึงได้มีการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคใหม่ซึ่งได้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค ภายหลังพรรคได้มีการลงคะแนนลับและมติให้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพร้อมลงมติให้พลเอกประยุทธ์เป็น[9] รวมถึงการที่พรรคภูมิใจไทยได้เปลี่ยนท่าทีเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมองว่าหากพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมก็จะได้เสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่ถึง 376 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้รัฐบาลผสมของพรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งเพียงไม่กี่เสียงก็ตาม[10]

 

 

 

บทส่งท้าย

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ถือเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคตัวแปรสุดท้ายที่เข้าร่วมรัฐบาลซึ่งทำให้รัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แม้จะเป็นพรรคตัวแปรแต่ก็ได้โควตารัฐมนตรีพรรคละ 7 ตำแหน่ง[11] นอกจากนั้นยังมีพรรคเล็กอีกนับสิบพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้าหากพรรคพลังประชารัฐขาดพรรคตัวแปรทั้งสองพรรคก็อาจจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนในสภามากเกินกึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะมีเสียงของ ส.ว. สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมากถึง 249 เสียง ก็ตาม ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพรรคตัวแปรได้ประกาศแถลงจับขั้วเป็นพันธมิตรทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเพียงสองวันร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ แม้สุดท้ายจะทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ตาม[12]

อย่างไรก็ดี แม้พรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงจากพรรคตัวแปรจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ก็ได้วิเคราะห์ว่ารัฐบาลประยุทธ์สองเป็นรัฐบาล transformer ที่แปลงร่างจาก คสช. มาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง องค์ประกอบบุคลากรยังคงเป็นกลุ่มคนเดิมๆ รัฐบาลอาจจะคุมกองทัพได้แต่คุมสภาไม่ได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล้มรัฐสภาทั้งกระดาน[13] เช่นเดียวกับ Marwaan Macan-Markar ผู้สื่อข่าวของสำนัก Nikkei Asian Review วิเคราะห์ว่า รัฐบาลประยุทธ์สองเป็นรัฐบาลผสมครึ่งใบที่ครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือนอีกครึ่งหนึ่งมาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช. พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 19 พรรค ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและพร้อมที่จะทดสอบข้อเสนอกับพลเอกประยุทธ์ได้ทุกเมื่อ[14] จะเห็นได้จากการที่ ส.ส. พรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระในหลายกรณี

          การที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ถูกออกแบบภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้เกิดพรรคเล็กเข้าสภาเป็นจำนวนมาก การจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เสียง ส.ส. จากพรรคตัวแปรและพรรคอื่นๆ นับสิบพรรค ผนวกกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมที่ได้ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ ส.ส. สะท้อนให้เห็นถึงรัฐบาลที่อ่อนแอในการออกแบบนโยบายที่ต้องคำนึงถึงพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ส่งผลการผลักดันนโยบายสำคัญเป็นไปอย่างเชื่องช้า ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้ออกแบบให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง (strong government) พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดสามารถรวมเสียง ส.ส. จากเพียงไม่กี่พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่กำหนดสี่ปี

 

บรรณานุกรม

“Thailand caught in power struggle as Prayuth forms coalition cabinet.” Nikkei Asian Review. (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://asia.nikkei.com/Politics/Thai-election/Thailand-caught-in-power-struggle-as-Prayuth-forms-coalition-cabinet>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

“ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554.” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=2236>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

“จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่?.” FB: Abhisit Vejjajiva. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/videos/774934712871541/>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

“จุรินทร์ : ปชป.จำเป็นต้องร่วมรัฐบาลเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ-ช่วยเกษตรกร.” WorkpointToday. (4 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/democrat-11/>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

“แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?.” The Matter. (21 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563.

“พปชร.ยกขันหมากส่งเทียบเชิญ ปชป.-ภท. ร่วมจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ จ่อเคลียร์ปมเก้าอี้ รมต..” เรื่องเล่าเช้านี้. (27 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://ch3thailandnews.bectero.com/news/144327>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

 “ไม่เอาประยุทธ์” จากอภิสิทธิ์ ธนาธรถามต่อ “แล้วเอาพลังประชารัฐไหม”.” youtube: The Standard. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://youtu.be/kZdernAFyk8>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

 “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคิดคะแนนอย่างไร?.” KPI-corner. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.kpi-corner.com/content/5989/content130262-2>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : ใครเป็นใคร "นายกฯ ในบัญชี" พรรคการเมือง ที่ผ่านการประกาศของ กกต.” บีบีซีไทย. (1 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47086016>. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้ง 62 : 'อนุทิน' ยัน 'ภูมิใจไทย' อยู่คนละขั้วทหาร-พปชร. ย้ำ นายกฯต้องมาจากส.ส.-ได้เสียงข้างมาก.” ประชาไท. (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/03/81379>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้ง 62 | เปิดไทม์ไลน์ “จุดยืนทางการเมือง” ทุกพรรค จากวันเลือกตั้งถึงวันนี้.” WorkpointToday. (27 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/timeline/>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 .

“เลือกตั้ง 62 l ส.ว. สามารถเลือกนายกได้.” WorkpointToday. (14 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/ส-ว-สามารถเลือกนายกรัฐมน/>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้งมาเลเซีย 2018: มหาเธร์นำแนวร่วมฝ่ายค้านคว้าชัยได้จัดตั้งรัฐบาล” บีบีซีไทย. (9 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-44049794>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

“สุรชาติ : รัฐบาล Transformer นายกทหารคุมกองทัพได้ แต่คุมสภาไม่ได้.” ประชาชาติธุรกิจ. (11 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-359578>. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

““อนุทิน”ชี้ไม่เลือกเพื่อไทยเพราะไม่มีทางได้ 376 เสียง ยังเชื่อ พปชร.ตั้งรัฐบาลได้.” WorkpointToday. (29 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/anutin-3/>. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

 

อ้างอิง


[1] “เลือกตั้งมาเลเซีย 2018: มหาเธร์นำแนวร่วมฝ่ายค้านคว้าชัยได้จัดตั้งรัฐบาล,” บีบีซีไทย. (9 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-44049794>, เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

[2] “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคิดคะแนนอย่างไร?,” KPI-corner. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.kpi-corner.com/content/5989/content130262-2>, เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

[3] “เลือกตั้ง 62 l ส.ว. สามารถเลือกนายกได้,” WorkpointToday. (14 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก  <https://workpointtoday.com/ส-ว-สามารถเลือกนายกรัฐมน/> เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

[4] “‘แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?,” The Matter. (21 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>, เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563

[5] “เลือกตั้ง 2562 : ใครเป็นใคร "นายกฯ ในบัญชี" พรรคการเมือง ที่ผ่านการประกาศของ กกต.,” บีบีซีไทย.
(1 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47086016>, เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 และ “ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554,” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=2236>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

[6] ““ไม่เอาประยุทธ์” จากอภิสิทธิ์ ธนาธรถามต่อ “แล้วเอาพลังประชารัฐไหม”,” youtube: The Standard.
(10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://youtu.be/kZdernAFyk8>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

[7] “จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่?,” FB: Abhisit Vejjajiva. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/videos/774934712871541/>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563.

[8] “เลือกตั้ง 62 : 'อนุทิน' ยัน 'ภูมิใจไทย' อยู่คนละขั้วทหาร-พปชร. ย้ำ นายกฯต้องมาจากส.ส.-ได้เสียงข้างมาก,” ประชาไท. (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/03/81379>, เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

[9] “จุรินทร์ : ปชป.จำเป็นต้องร่วมรัฐบาลเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ-ช่วยเกษตรกร,” WorkpointToday. (4 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/democrat-11/>, เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

[10] ““อนุทิน”ชี้ไม่เลือกเพื่อไทยเพราะไม่มีทางได้ 376 เสียง ยังเชื่อ พปชร.ตั้งรัฐบาลได้,” WorkpointToday. (29 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/anutin-3/>, เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563.

[11] “พปชร.ยกขันหมากส่งเทียบเชิญ ปชป.-ภท. ร่วมจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ จ่อเคลียร์ปมเก้าอี้ รมต.,” เรื่องเล่าเช้านี้. (27 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://ch3thailandnews.bectero.com/news/144327>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

[12] “เลือกตั้ง 62 | เปิดไทม์ไลน์ “จุดยืนทางการเมือง” ทุกพรรค จากวันเลือกตั้งถึงวันนี้,” WorkpointToday. (27 พฤษภาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/timeline/>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

[13] “สุรชาติ : รัฐบาล Transformer นายกทหารคุมกองทัพได้ แต่คุมสภาไม่ได้,” ประชาชาติธุรกิจ. (11 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-359578>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

[14] “Thailand caught in power struggle as Prayuth forms coalition cabinet,” Nikkei Asian Review. (6 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://asia.nikkei.com/Politics/Thai-election/Thailand-caught-in-power-struggle-as-Prayuth-forms-coalition-cabinet>, เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563