เดินคารวะแผ่นดิน
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
“เดินคารวะแผ่นดิน” เป็นกลยุทธ์ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย นำคณะออกเดินไปใน 77 จังหวัด เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรค โดยเริ่มต้นวันแรกในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ใช้เวลาเดินทั้งสิ้น 120 วัน โดยระหว่างการเดินคารวะแผ่นดินนั้น ได้รับการตอบรับและต่อต้านในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ซึ่งอาจเข้าข่ายของการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ต่อมานายสุเทพได้ชี้แจงว่าการเดินคารวะแผ่นดินไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการเดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น และการเดินคารวะแผ่นดินถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เดินคารวะแผ่นดิน: จุดเริ่มต้น ระหว่างทาง และจุดสิ้นสุด
การเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เริ่มขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจะเดินไปให้ครบ 77 จังหวัด เพื่อเชิญชวนประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยนายสุเทพเน้นย้ำว่าการเดินคารวะแผ่นดินนี้เป็นการเชิญชวนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น จะไม่มีการหาเสียงใด ๆ ซึ่งการสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้นมีค่าบำรุงพรรคปีละ 365 บาท หรือวันละ 1 บาท
จุดเริ่มต้นของการเดินคารวะแผ่นดินนั้น เริ่มขึ้นที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยนำคณะผู้จัดตั้งพรรค รวมทั้งพี่น้องประชาชนราว 50 คน เข้าวางพานพุ่มดอกไม้ถวายสักการะ ณ เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงจักรีหลังจากนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนเป็นสมาชิกพรรคคณะผู้จัดตั้งพรรค กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามอุดมการณ์ข้อแรกของพรรค และจะเป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือผลประโยชน์ของชาติ และของประชาชนอย่างแท้จริง โดยยืนยันจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองเป็นเพียงแค่ผู้สมัครสมาชิกพรรคคนหนึ่งร่วมกับพี่น้องประชาชน[1]
หลังจากที่เดินอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ 3 วัน นายเริ่มเดินคารวะแผ่นดินในยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากภาคตะวันออก ซึ่งเริ่มจากจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดแรก เนื่องจากถือเคล็ดว่าจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ใช้พื้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นที่รวบรวมไพล่พลทำการกอบกู้เอกราชชาติให้กับคืนมา โดยก่อนเริ่มเดินนั้นได้บวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ บริเวณสวนสาธารณะทุ่งนาเชย เพื่อสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากนั้นได้มีการลั่นฆ้อง 3 ครั้ง ตีกลอง และเคาะระฆัง เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ด้วยการเติมน้ำมันตะเกียงเข้าสักการะขอพร เมื่อเสร็จพิธีแล้ว คณะเดินคารวะแผ่นดินจึงเริ่มออกเดินทักทายประชาชนตามพื้นที่ และจะเดินไปยังจังหวัดตราด จังหวัดระยอง จนครบจังหวัดภาคตะวันออก[2]
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะเดินคารวะแผ่นดินเริ่มเดินในพื้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มจากจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จากนั้นเข้าสู่จังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่น ๆ จนปิดท้ายที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้นี้ การตอบรับค่อนข้างดีกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมต่อตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งเป็นแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยังคงมีอยู่ในพื้นที่[3] จากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เริ่มเดินในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดแรก กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั่งในช่วงบ่ายนายสุเทพและคณะได้เดินทางไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลบ้านเกาะ อำเภอบางไทร เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกรพัฒนาตำบลบ้านเกาะ โดยบรรดาเกษตรกรเข้าร่วมรายงานปัญหาต่าง ๆ ซึ่งก็ได้รายงานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบน้ำที่มีทั้งแล้งและน้ำท่วมอย่างหนักทำให้เกษตรกรไม่ได้รับการชดเชย อีกทั้งปัญหาเรื่องราคาข้าวที่เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปรัง มีราคาถูกเกวียนละ 6,500 บาท อยากให้ทางพรรคช่วยเหลือในเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่พื้นที่ ซึ่งนายสุเทพกล่าวว่า การร้องเรียนในวันนี้ เรายังช่วยไม่ได้มากนักและเชื่อว่าหลังเลือกตั้ง หากพรรคมี ส.ส. 50-60 คน แล้วก็จะช่วยได้การมาวันนี้เราก็จะเก็บข้อมูลความเดือดร้อนของเกษตรกรไปเป็นข้อมูล[4]
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเดินในพื้นที่ภาคกลางแล้ว คณะเดินคารวะแผ่นดินได้เริ่มเดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มจากจังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ต่อเนื่องไปในจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลาวงของคนเสื้อแดงนั้น ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ความขัดแย้งร้ายแรงแต่ประการใด ซึ่งนายสุเทพ ระบุว่า “เชื่อว่าประสบการณ์การทางการเมืองของพี่น้องประชาชาชนทุกฝ่าย ได้เรียนรู้มาด้วยกันแล้วว่า เราสามารถจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”[5]
สำหรับพื้นที่สุดท้ายคือภาคเหนือ โดยเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งนายสุเทพระบุถึงการเดินคารวะแผ่นดินที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ได้รับการต้อนรับจากประชาชนดีมาก ขณะที่ตนเองไม่ใช่คนอื่นไกล เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ถึง 4 ปี วันนี้จึงพบเจอคนเก่า ๆ หลายคน ส่วนใหญ่ก็ฝากให้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง รวมทั้งไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปมีปัญหาเช่นเดิมอีก[6] และจังหวัดสุดท้ายของการเดินคารวะแผ่นดิน คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยตลอดระยะเวลากว่า 120 วัน นายสุเทพย้ำว่าการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน ในเมื่อรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ยังไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ นายสุเทพจึงจำเป็นต้องทำพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมา เพื่อเดินหน้าปฏิรูปการเมืองให้เป็นผลสำเร็จ[7]
หลากปฏิกิริยาต่อการเดินคารวะแผ่นดิน
จากการเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในระยะเวลา 120 วัน ทำให้เกิดกระแสทางการเมืองในวงกว้าง ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยส่วนเห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนในสังคมได้มารวมพลังร่วมกัน ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่านายสุเทพและกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี พ.ศ. 2557 จนกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารในปีเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ สังคมการเมืองไทยมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ดังกล่าวใน 2 รูปแบบ คือ ปฏิกิริยาเชิงบวก และปฏิกิริยาเชิงลบ
ปฏิกิริยาเชิงบวกต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเดินคารวะแผ่นดิน ดังเช่นที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาติไทยมองว่า การที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศหยิบรองเท้าที่เคยใช้ในการเดินนำชาว กปปส. ออกสู่ท้องถนนเป็นเวลา 204 วัน ขึ้นมาใส่อีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อเดินคารวะแผ่นดินให้ครบทุกจังหวัดนั้น ส่งผลให้หลายคนเกิดความสงสาร และเห็นสำคัญและความตั้งใจจริงของพรรค นอกจากนี้ การเดินคารวะแผ่นดินเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริงและทางพรรคก็ได้สอบถามปัญหาและความต้องการของประชาชนได้โดยตรง ทำให้ผู้สมัครของพรรคเป็นตัวแทนของประชาชนรับรู้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง[8]
ขณะที่ปฏิกิริยาเชิงลบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นทั้งในฝ่ายที่เคยสนับสนุนกลุ่ม กปปส. และฝ่ายที่ต่อต้านกลุ่ม กปปส. และกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยมองว่าการกระทำของนายสุเทพเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนแต่ละกลุ่มแสดงออกถึงวิธีการต่อต้านที่แตกต่างกัน เช่น ชายคนหนึ่งตะโกนใส่นายสุเทพว่า “โกหกแล้ว” ขณะที่ร้านค้าบางร้านก็ระบุไม่ให้เข้าโดยบอกว่าไม่ต้อนรับ หรือในกรณีชายคนหนึ่งกล่าวกับนายสุเทพที่กำลังเดินคารวะแผ่นดินบริเวณถนนเยาวราชว่า "เคยสนับสนุนคุณตอนนั้นนะ แต่ตอนนี้ผมไม่เห็นด้วย"[9] ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ที่มวลชนกลุ่ม กปปส. บางส่วนนำนกหวีดมาคืนให้นายสุเทพ จนกลายเป็นเหตุการณ์ “แห่คืนนกหวีด” ตามมา นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นายสุเทพเดินไปยังพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็มักจะเจอการต่อต้านในหลายรูปแบบ เช่น การถือป้าย การปฏิเสธที่จะรับเอกสารจากพรรค การไม่สนใจ การกล่าวถ้อยคำแสดงความไม่เห็นด้วย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นปฏิกิริยาแสดงออกในเชิงสันติถึงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายสุเทพทั้งสิ้น
กลยุทธ์ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย
กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีกลยุทธ์เดินคารวะแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีสโลแกนพรรคว่า “คนธรรมดาสร้างชาติ”[10] ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. โดยชูหลักการว่าเป็นการต่อสู้ภาคต่อของกลุ่ม กปปส. จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรค และมีหลักการว่า “พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ขจัดระบอบทักษิณ”[11] นอกจากนี้ พรรครวมพลังประชาชาติไทยมีเป้าหมายและนโยบายสำคัญ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ได้แก่
เป้าหมายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยมีอยู่ 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เร่งปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ในด้านต่าง ๆ และประการที่สอง มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชาวบ้านมากกว่าสิ่งอื่นใด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อชีวิตที่มั่นคง โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา[12]
สำหรับนโยบายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่สำคัญ อาทิ นโยบายจังหวัดของประชาชน ยกฐานะทุกจังหวัดเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมบรรดาหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน การจัดสรรงบประมาณจากรัฐโดยตรง ไม่ผ่านกระทรวงและกรม นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้าน ยกรายได้ครัวเรือนให้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง ดูแลการเกษตรของประเทศอย่างเป็นระบบครบวงจร เชื่อมโยงทั้งการผลิต การแปรรูปและการตลาด นโยบายด้านการศึกษา เน้นฝึกนักเรียนนักศึกษาให้มีความรู้คู่คุณธรรมและประกอบอาชีพได้ดี มีรายได้ที่มั่นคงในเวลาอันรวดเร็ว นโยบายเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ กระจายอำนาจการบริหารงาน ให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจมืออาชีพและเป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้แต่ละจังหวัดมีสำนักงานตำรวจที่ขึ้นกับจังหวัดและประชาชนในพื้นที่[13]
จะเห็นได้ว่า จากหลักการ เป้าหมาย และนโยบายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น ถูกปรับมาเป็นกลยุทธ์ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ในรูปแบบของการเดินคารวะแผ่นดิน เพื่อดึงพลังของภาคประชาชนออกมาอย่างแท้จริงตามแนวทางที่พรรคยึดถือ ดังที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิบายลักษณะดังกล่าวว่า “การหาเสียงของรวมพลังประชาชาติไทย ก็จะต้องใช้ยุทธศาสตร์เดิน คือหาเสียงด้วยการเดินเป็นหลัก การเดินนั้นไม่ต้องใช้เงิน คนธรรมดาที่หัวใจโตทำได้ทุกคน ทุกพรรคเดินได้ แต่เดินได้ไม่เท่ากัน เพราะหัวใจไม่เท่ากัน มันช่างเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส ผู้สมัครจะต้องเดินทุกวัน เดินจนถึงวันสุดท้ายก่อนจะหย่อนบัตร”[14]
สำหรับคำว่าคารวะแผ่นดินมีความหมายที่มีนัยที่สำคัญ ซึ่งนายเถกิง สมทรัพย์ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวถึงความหมายของคำว่าเดินคารวะแผ่นดิน หมายถึง การเดินไปคารวะประชาชน ไปไหว้ประชาชน เพื่อชักชวนประชาชนให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกพรรค อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นแนวทางการทำงานของพรรคว่าเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยการเดินจะเป็นการระดมพลังของประชาชนให้แน่นแฟ้น ไม่ได้มุ่งสร้างความแตกแยก ขณะที่บางกลุ่มบางฝ่ายพยายามสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ถือเป็นการทำลายแผ่นดินนี้[15] ฉะนั้น แนวทางของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงเน้นการเดินเพื่อนำเสนอตัวตน หลักการ เป้าหมาย และนโยบายของพรรค รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรค เพื่อให้พรรคเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชน ก่อนจะเข้าสู่การหาเสียงในรูปแบบปกติทั่วไป
“กลยุทธ์การเลือกตั้ง” กับความสำคัญในทางการเมือง
เมื่อถึงการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง จะพบว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ จะมีกลยุทธ์ในทางการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้คะแนนเสียงตามที่มุ่งหวังไว้ ซึ่งกรณีของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เลือกใช้ช่องทางการเดินเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการรับรู้ที่มีต่อพรรค ซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างชื่อของพรรคให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่มีการเลือกตั้งตัวแทนเข้าทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เชื่อมระหว่างประชาชนกับตัวแทนให้สัมพันธ์ยึดโยงกัน ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นกลุ่มคนที่ปรารถนาจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทน เพื่อผลักดันวาระนโยบายบางอย่าง จึงจำเป็นที่ต้องได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศและผลักดันวาระนโยบายดังกล่าวต่อไป “กลยุทธ์การเลือกตั้ง” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงดังกล่าว ซึ่งพรรคการเมืองต่างเลือกใช้กลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนี้
“การใช้เครื่องมือดิจิทัล” เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงจำนวนมาก อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้สามารถใช้รูปแบบการสื่อสารในการหาเสียงได้หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดสด การนำเสนอนโยบายด้วยข้อมูลอินโฟกราฟิก รวมทั้งรูปแบบวิดีโอขนาดสั้นและยาว การนำเสนอข้อมูลด้วยการเขียนผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น การใช้เครื่องมือดิจิทัลนี้มีความรวดเร็วสามารถรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา กลยุทธ์การเลือกตั้งด้วยรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในการเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 พรรคการเมืองแทบทุกพรรคล้วนใช้ช่องทางเครื่องมือดิจิทัลในการสื่อสารทั้งสิ้น ทั้งในรูปแบบของสื่อออนไลน์ส่วนตัวและสื่อออนไลน์ทางการของผู้สมัคร รวมทั้งสื่อออนไลน์ของพรรคการเมือง ที่นำเสนอนโยบายที่สำคัญ บรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียง การถ่ายทอดสดการปราศรัยของพรรคการเมือง โดยมียอดผู้เข้าชมเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกลยุทธ์[16]
“การใช้ถ้อยคำ” เป็นกลยุทธ์ที่มีความทุกช่วงเวลา เนื่องจากหากถ้อยคำที่ใช้ในการหาเสียง มีผลอย่างยิ่งต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ฉะนั้น การเลือกกลยุทธ์ดังกล่าวต้องเริ่มจากการคิดประเด็นหลักที่จะใช้ในการหาเสียง เมื่อได้ประเด็นดังกล่าวแล้ว จะต้องคิดวิธีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวด้วยถ้อยคำที่กระชับแต่สามารถสะท้อนประเด็นดังกล่าวได้[17] ดังเช่นที่ปรากฏในการหาเสียงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีความโดดเด่นในการใช้ถ้อยคำ เช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ใช้ถ้อยคำสโลแกนว่า “Change” ขณะที่คู่แข่งคือจอห์น แม็คเคน จากพรรครีพับลิกัน ใช้ถ้อยคำสโลแกนว่า “Country First” ซึ่งทั้งสองสโลแกนนี้เกิดขึ้นภายใต้ช่วงเวลาของวิกฤตสินเชื่อสับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) หรือในการเลือกตั้ง ส.ส. ของไทยในปี พ.ศ. 2554 ที่พรรคเพื่อไทย ใช้ถ้อยคำสโลแกนว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน อีกครั้ง” เพื่อเน้นย้ำความเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคที่เคยประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้สโลแกนว่า “เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายเพื่อประชาชน” เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จึงเน้นในเรื่องการเดินหน้าให้เกิดความต่อเนื่อง[18]
“การสร้างความนิยมในตัวบุคคล” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนส่วนหนึ่งจะใช้ตัวช่วย (Heuristics Devices) ในการตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครรายใด โดยพิจารณาจากความรู้สึกที่มีต่อหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งยังแสดงถึงความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเองด้วย[19] ซึ่งในกรณีของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็พบว่าใช้บทบาทของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการนำในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 แม้ว่า นายสุเทพจะไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในพรรคก็ตาม แต่การชูนายสุเทพขึ้นมานำพรรคก็สะท้อนว่า พลังของกลุ่ม กปปส. ยังคงมีอยู่ และสามารถเลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทยเพราะความนิยมในตัวนายสุเทพนั่นเอง นอกจากนี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างเช่นในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 พบว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างใช้ความนิยมในตัวบุคคล นั่นคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์มีความชัดเจนค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่กลายเป็นที่จับจ้องและมีอิทธิพลต่อการเลือกพรรคเพื่อไทยของประชาชนทั่วไป
“การสร้างความนิยมในพรรคการเมือง” เป็นการสร้างความเป็นอัตลักษณ์พรรคการเมือง (Party Identification) ให้ชัดเจน โดยมีเหตุผลใกล้เคียงกับการสร้างความนิยมในตัวบุคคล นั่นคือ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนส่วนหนึ่งจะใช้ตัวช่วย (Heuristics Devices) ในการตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคการเมืองใด โดยพิจารณาจากความรู้สึกที่มีต่อพรรคการเมืองนั้น ซึ่งอาจเกิดจากนโยบาย จุดยืนทางการเมือง และความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาความนิยมในพรรคการเมืองที่ชัดเจนคือในช่วงปี พ.ศ. 2548 ที่ความนิยมของพรรคไทยรักไทยชัดเจนมาก และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2550 – 2557 พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย มีบทบาทดังกล่าวชัดเจนมาก และพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทยเช่นการใช้คำว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เพื่อให้เห็นความสำเร็จของนโยบายพรรคการเมืองดังกล่าว
บทส่งท้าย
เดินคารวะแผ่นดินถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่สำคัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่เน้นการเดินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อเชิญชวนประชาชนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของพรรคย่างแท้จริง โดยใช้ระยะเวลารวมกว่า 120 วัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งการจัดกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการใช้บทบาทของนายสุเทพเพื่อสร้างความนิยมให้กับพรรคการเมือง เป็นกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดผลในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีการใช้สื่อดิจิทัลในการเผยแพร่กิจกรรมการเดินคารวะแผ่นดินในแต่ละวัน ทำให้การเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพได้รับความสนใจทั้งในวงกว้าง กล่าวคือ เกิดการผลพวงของการใช้สื่อดิจิทัลที่ทำให้ข้อมูลแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และการเดินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ได้รับฟังปัญหา ทำให้เกิดความสนใจในเชิงลึก รวมทั้งยังสามารถประเมินความนิยมที่มีต่อพรรคและตัวนายสุเทพได้ในระดับหนึ่งด้วย ซึ่งจากการเดินคารวะแผ่นดินมักจะปรากฏทั้งที่มีผู้สนับสนุน ผู้ที่ต่อต้าน และผู้ที่นำนกหวีดที่เคยร่วมขบวนการกับกลุ่ม กปปส. ในอดีตมาคืน
บรรณานุกรม
Bartlett, Jamie, Josh Smith, and Rose Acton, (2018). The Future of Political Campaigning. London: Demos.
Brady, Henry E., Richard Johnson, and John Sides. (2006). The Study of Political Campaigns, Available from <https://www.researchgate.net/publication/251806712_The_
Study_of_Political_Campaigns>. Accessed 18 June 2020.
““กำนันสุเทพ”ยิ้มแฉ่งนำทีม รปช.เดินคารวะแผ่นดินเชียงใหม่-ยันไร้ปัญหาเลื่อนวันเลือกตั้ง." ผู้จัดการออนไลน์ (10 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก
<https://mgronline.com/local/detail/9620000003311>. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
“คนเล็กหัวใจใหญ่! “เอนก” ซูฮก “สุเทพ” เดิน “คารวะแผ่นดิน” ชู “ยุทธศาสตร์เดิน” จนถึงวันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตร." ประชาชาติธุรกิจ (5 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-286748>. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
“เจอต่อว่าโกหก 'สุเทพ' คาดฝ่ายตรงข้ามส่งมา ป่วนปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน." ประชาไท (29 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79351>. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563.
“‘เทพเทือก' คารวะแผ่นดินถึงเมืองเพชรแล้ว." ผู้จัดการออนไลน์ (27 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/local/detail/9610000118174>. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
“นโยบายพรรครวมพลังประชาชาติไทย." พรรครวมพลังประชาชาติไทย. เข้าถึงจาก <https://act-party.org/party-policy/>. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
เพจเฟซบุ๊คทางการของพรรครวมพลังประชาชาติไทย. พรรครวมพลังประชาชาติไทย - 'ACT Party'. เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/actpartyorg/posts/886486948406932/>. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
“เริ่มแล้ว! "เทือก" นำทัพ รปช.เดินขบวน "คารวะแผ่นดิน" ผ่ากลางเมืองหลวง!." ข่าวสดออนไลน์ (25 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_1734272>. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563.
“สุเทพ เดินคารวะแผ่นดินที่กาฬสินธุ์ สุดแฮปปี้ ชาวบ้านต้อนรับดีเกินคาด." ไทยรัฐออนไลน์ (31 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1484473>. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563.
“สุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิญาณ “รับใช้กษัตริย์” และ “ขจัดระบอบทักษิณ” คือภารกิจ รปช.." บีบีซีไทย (5 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45420226>. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
“สุเทพ บุกเมืองหลวงคนเสื้อแดง เดินคารวะแผ่นดิน มโนเก็บเสียงภาคอีสาน." ข่าวสดออนไลน์ (2 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2036446>. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
““สุเทพ” เก็บข้อมูลปัญหาน้ำท่วมอยุธยา ชวน ปชช.สมัครสมาชิกพรรค เชื่อมีเลือกตั้ง." ผู้จัดการออนไลน์ (3 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9610000120367>. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
““สุเทพ” เดินคารวะแผ่นดินครบ 76 จังหวัดแล้ว เตรียมเปิดเวทีปราศรัยทั่วประเทศ." สยามรัฐออนไลน์ (22 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/66541>. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
““สุเทพ” เดินทางคารวะแผ่นดินที่จันทบุรี." ไอเอ็นเอ็นนิวส์ (1 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.innnews.co.th/regional-news/news_230695/>. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563.
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (2556). เลือกเพราะชอบ: พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปปี พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
เอกสิทธิ์ อวยชัยวัฒน์. (2555). “กลยุทธ์การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย.” นิเทศสยามปริทัศน์. ปีที่ 11. ฉบับที่ 12 (2555): 107 – 121.
[1] "เริ่มแล้ว! "เทือก" นำทัพ รปช.เดินขบวน "คารวะแผ่นดิน" ผ่ากลางเมืองหลวง!," ข่าวสดออนไลน์ (25 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_1734272>, เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563.
[2] "“สุเทพ” เดินทางคารวะแผ่นดินที่จันทบุรี," ไอเอ็นเอ็นนิวส์ (1 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.innnews.co.th/regional-news/news_230695/>, เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563.
[3] "'เทพเทือก' คารวะแผ่นดินถึงเมืองเพชรแล้ว," ผู้จัดการออนไลน์ (27 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/local/detail/9610000118174>, เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
[4] "“สุเทพ” เก็บข้อมูลปัญหาน้ำท่วมอยุธยา ชวน ปชช.สมัครสมาชิกพรรค เชื่อมีเลือกตั้ง," ผู้จัดการออนไลน์ (3 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9610000120367>, เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
[5] "สุเทพ บุกเมืองหลวงคนเสื้อแดง เดินคารวะแผ่นดิน มโนเก็บเสียงภาคอีสาน," ข่าวสดออนไลน์ (2 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2036446>, เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
[6] "“กำนันสุเทพ”ยิ้มแฉ่งนำทีม รปช.เดินคารวะแผ่นดินเชียงใหม่-ยันไร้ปัญหาเลื่อนวันเลือกตั้ง," ผู้จัดการออนไลน์ (10 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/local/detail/9620000003311>, เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
[7] "“สุเทพ” เดินคารวะแผ่นดินครบ 76 จังหวัดแล้ว เตรียมเปิดเวทีปราศรัยทั่วประเทศ," สยามรัฐออนไลน์ (22 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/66541>, เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563.
[8] "สุเทพ เดินคารวะแผ่นดินที่กาฬสินธุ์ สุดแฮปปี้ ชาวบ้านต้อนรับดีเกินคาด," ไทยรัฐออนไลน์ (31 มกราคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1484473>, เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563.
[9] "เจอต่อว่าโกหก 'สุเทพ' คาดฝ่ายตรงข้ามส่งมา ป่วนปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน," ประชาไท (29 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79351>, เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563.
[10] "นโยบายพรรครวมพลังประชาชาติไทย," พรรครวมพลังประชาชาติไทย, เข้าถึงจาก <https://act-party.org/party-policy/>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[11] "สุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิญาณ “รับใช้กษัตริย์” และ “ขจัดระบอบทักษิณ” คือภารกิจ รปช.," บีบีซีไทย (5 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45420226>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[12] "นโยบายพรรครวมพลังประชาชาติไทย," พรรครวมพลังประชาชาติไทย, เข้าถึงจาก <https://act-party.org/party-policy/>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[13] "นโยบายพรรครวมพลังประชาชาติไทย," พรรครวมพลังประชาชาติไทย, เข้าถึงจาก <https://act-party.org/party-policy/>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[14] "คนเล็กหัวใจใหญ่! “เอนก” ซูฮก “สุเทพ” เดิน “คารวะแผ่นดิน” ชู “ยุทธศาสตร์เดิน” จนถึงวันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตร," ประชาชาติธุรกิจ (5 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-286748>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[15] เพจเฟซบุ๊คทางการของพรรครวมพลังประชาชาติไทย, พรรครวมพลังประชาชาติไทย - ACT Party, เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/actpartyorg/posts/886486948406932/>, เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563.
[16] Jamie Bartlett, Josh Smith, and Rose Acton, The Future of Political Campaigning (London: Demos, 2018), pp. 26 – 37.
[17] Henry E. Brady, Richard Johnson, and John Sides, The Study of Political Campaigns (January 2006), Available from <https://www.researchgate.net/publication/251806712_The_Study_of_Political_
Campaigns>, Accessed 18 June 2020.
[18] เอกสิทธิ์ อวยชัยวัฒน์, “กลยุทธ์การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย,” นิเทศสยามปริทัศน์, ปีที่ 11, ฉบับที่ 12 (2555): 107 – 121.
[19] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, เลือกเพราะชอบ: พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปปี พ.ศ. 2550 (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2556), หน้า 43-44.