Blind Trust

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:07, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          Blind trust เป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบทรัสต์ หรือ กองทุนทรัสต์ ที่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562 ถึงแนวทางการจัดการกับทรัพย์สินของตนเอง โดยการโอนสิทธิการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนไปให้บริษัทจัดการแทน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมายและป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นอกจากนี้พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ยังจำกัดไม่ให้รัฐมนตรีถือหุ้นเอกชนเกินร้อยละ 5 และหากยังประสงค์รับผลประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือการถือครองหุ้น ก็ต้องมีการโอนหุ้นให้กับนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามกรณีการจัดการทรัพย์สินในรูปแบบ blind trust ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ[1] และการทำให้ “มองไม่เห็น” นั้นยิ่งทำให้การตรวจสอบทรัพย์สินและผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นไม่ได้[2] ด้วยเหตุนี้การแถลงข่าวแนวทางการจัดการทรัพย์สินในรูปแบบ blind trust หรือ blind private fund เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่และป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีทั้งเสียงชื่นชมถึงการแสดงความรับผิดชอบ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกล่าวอ้างเกินจริง

 

'ข้อถกเถียง กรณี'Blind Trust ในการเมืองไทย

          เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้แถลงข่าวลงนามโอนทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าราว 5 พันล้านบาท ให้กับบุคคลที่สาม คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน​ ภัทร จำกัด ดูแลในรูปแบบ blind private fund ตามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) หรือที่ถูกนำเสนอในชื่อ blind trust เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมาย และสร้างมาตรฐานจริยธรรมให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยนายธนาธรระบุว่าการโอนทรัพย์สินส่วนบุคคลให้กับบุคคลที่สามดูแลเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับสาธารณชนได้ชัดเจน และ blind trust เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากอำนาจในการบริหารจะอยู่ภายใต้ผู้รับมอบอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว และเจ้าของทรัพย์สินจะมองไม่เห็นทรัพย์สินเหล่านั้น นอกจากนี้ตนต้องการยกระดับมาตรฐานจริยธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นและหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ได้ระบุข้อจำกัดและแนวปฏิบัติในการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการระบุให้ทำในรูปแบบ blind ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ blind trust ดังนั้นข้อตกลงในการโอนสิทธิในการบริหารจัดการทรัพย์สินระหว่างนายธนาธรกับภัทรจึงเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ[3]

          คำแถลงของนายธนาธรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 184 ในหมวดที่ 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการรับสัมปทานจากรัฐ  หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ  หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม[4] เพื่อมิให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือการรับประโยชน์ทับซ้อน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ที่จำกัดให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด และ/หรือเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ไม่เกินร้อยละ 5 นอกจากนี้กรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ถือหุ้น รัฐมนตรีจะต้องโอนหุ้นให้กับนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคล พร้อมกับส่งหนังสือแจ้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ[5]

          กระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากนายธนาธรกล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่เข้าสู่วงการการเมือง และต้องการสร้างมาตรฐานการทำงานการเมือง ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ พร้อมกับสร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับความโปร่งใส มาตรฐานการดูแลผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[6] ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ตำแหน่ง ณ เวลานั้น) นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่านายธนาธรไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่โอนทรัพย์สินให้บุคคลที่สามบริหารจัดการ นายกรณ์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนบุคคล ว่าการโอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแลหลายคนน่าจะเคยทำ โดยที่นายกรณ์ก็ลงนามให้สถาบันการเงินบริหารทรัพย์สินได้โดยอิสระเช่นเดียวกัน[7] นายอนุทิน ระบุว่าการทำ blind trust ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 และนายอนุทินก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อพ.ศ. 2547 ไม่เกี่ยวกับสปิริต[8] นางวรวรรณให้ความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนบุคคลเกี่ยวกับกรณี blind trust ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากบลจ. บัวหลวง จำกัด ก็เคยบริหารกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ในนักการเมืองและอดีตรัฐมนตรี โดยสามารถระบุเจตจำนงในสัญญาบริการได้ แม้จะไม่ได้ทำในรูปแบบ blind trust แต่เนื้อหาก็ไม่ได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า[9] นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรา กรณีที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ตำแหน่ง ณ เวลานั้น) ทำสัญญาจ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินขณะดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560[10]

          นายกรณ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า blind trust ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้น'สิ่งที่ลงนามไปไม่ใช่ 'blind trust นอกจากนี้การโอนทรัพย์สินไปที่ “มองไม่เห็น” การตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้[11] นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าการแถลงดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจสร้างคะแนนนิยมหรือไม่[12]

          กระแสแสดงความชื่นชม ขณะที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการอ้างตนเป็นนักการเมืองคนแรกที่โอนทรัพย์สินให้ blind trust และแนวทางการตรวจสอบทรัพย์สินที่โอนไปสู่ blind trust นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนบุคคลว่า แม้ว่าไทยจะยังไม่มีกฏหมายรองรับ blind trust แต่นายธนาธรได้แสดงความประสงค์และเปิดเผยหนังสือตกลงร่วม (MOU) ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างเงื่อนไขในรูปแบบ blind trust และชี้แจงถึงข้อกังวลว่าการ “มองไม่เห็น” ว่าจะเป็นการตรวจสอบไม่ได้และยิ่งไม่โปร่งใส เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการ “มองไม่เห็น” ในที่นี้หมายถึงเจ้าของทรัพย์สินมองไม่เห็นว่าทรัพย์สินของตนมีอะไรบ้างและใครเป็นผู้บริหารทรัพย์สินของตน นอกจากนี้ในกระบวนการรายงานทรัพย์สินในทรัสต์ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลทรัสต์ นางสาวสฤณีระบุต่อว่านายธนาธรเป็นนักการเมืองคนแรกที่เห็นว่าประกาศจัดตั้ง blind trust ก่อนที่จะทราบผลเลือกตั้ง เปิดเผยข้อมูลและเอกสารสัญญาต่อสาธารณะ กำหนดข้อบังคับว่าจะไม่ซื้อหุ้นไทย และไม่รับโอนทรัพย์สินจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว 3 ปี นับได้ว่าเป็นมาตรฐานที่สูงและไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนทำมาก่อน[13]

          นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงสื่อ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง นายเอกนิติ นิติทัณฑประภาส อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงว่าการโอนทรัพย์สินไปสู่กองทุน blind trust ไม่ใช่ช่องทางที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ เนื่องจากผู้ทำหน้าที่บริหารกองทุนต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่[14] สำนักข่าวบีบีซีไทย[15] เทคซอส (TechSauce)[16] และ ลงทุนแมน[17] ได้กล่าวถึงแนวทางในการจัดการทรัพย์สินในรูปแบบอื่น และแนวปฏิบัติของนักการเมืองในต่างประเทศด้วย

          ทั้งนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงจัดตั้ง blind trust เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.​ 2562 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562[18] ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562 เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยนายธนาธรและนางรวิพรรณ คู่สมรส มีทรัพย์สินรวมกัน 5,632,536,266 บาท มีหนี้สินรวม 683,303 บาท นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่านายธนาธรไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินให้กับนิติบุคคลบริหารดังที่กล่าวอ้าง[19] อย่างไรก็ตามมีการชี้แจงจากพรรคอนาคตใหม่ว่าสาเหตุที่ไม่ได้โอนทรัพย์สิน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธรสิ้นสุดลง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ได้ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562[20]

 

การบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

          ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี โดยมีทางเลือกในการจัดการทรัพย์สิน ทั้ง การขายทรัพย์สินที่มีออกไป การจ้างบุคคลที่สามเข้ามาบริหารจัดการแทน ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป blind trust เป็นแนวทางการจัดการทรัพย์สิน โดยให้บุคคลที่สามเข้ามาบริหารจัดการแทน โดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บริหารจัดการ และไม่มีอำนาจตัดสินใจในทรัพย์สินหลังมอบอำนาจไปแล้ว นอกจาก blind trust ก็ยังมีแนวทางการบริหารอื่นที่เป็นที่กล่าวถึงที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว คือ การบริหารจัดการในรูปแบบกองทุนส่วนบุคคล (private fund)

          กองทุน (Fund) คือ แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน โดยเจ้าของทรัพย์สินมอบอำนาจให้ผู้จัดการกองทุนที่อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านั้น โดย'กองทุนส่วนบุคคล ('Private Fund) เป็นกองทุนประเภทหนึ่ง ที่บริหารจัดการทรัพย์สินของนักลงทุนรายใหญ่ อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยผู้ลงทุนสามารถกำหนดสัดส่วนประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยเจ้าของทรัพย์สินมอบอำนาจให้ผู้จัดการกองทุนที่อยู่ในบลจ. บริหารจัดการทรัพย์สิน[21]

          ทรัสต์ (Trust) เป็นการจัดการทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง โดยที่เจ้าของทรัพย์สินมอบอำนาจให้กับทรัสตี (Trustee) เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และบริหารจัดการทรัพย์สินตามเจตจำนงของเจ้าของทรัพย์สิน (ผู้ก่อตั้งทรัสต์) เมื่อพ.ศ. 2550 ได้มีข้อยกเว้นให้จัดตั้งทรัสต์ได้เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน โดยทรัสต์มีสถานะเป็นกองทรัพย์สิน และล้มละลายไม่ได้[22] Blind trust จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปและอำนาจในการบริหารจัดการ ดูแลผลประโยชน์ ให้กับบุคคลที่สาม (ทรัสตี) โดยทรัสตีจะบริหารทรัพย์สินตามเจตนำนงของเจ้าของทรัพย์สินผู้ก่อตั้งทรัสต์ แต่เจ้าของทรัพย์สินจะไม่สามารถมีส่วนในการตัดสินใจ ไม่เห็นการบริหารทรัพย์สิน และไม่ทราบว่าใครเป็นทรัสตีที่ดูแลทรัพย์สิน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นอกเหนือจาก blind trust แล้ว ยังมี double blind trust ที่ทั้งผู้มอบทรัพย์สิน (ผู้ก่อตั้งทรัสต์) ไม่ทราบว่าใครเป็นทรัสตี ขณะเดียวกันทรัสตีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ อย่างไรก็ดีในส่วนของการตรวจสอบทรัพย์สินและผลประโยชน์ก็ยังคงเรียกตรวจสอบกับผู้ที่ดูแลทรัพย์สินได้[23]

 

Blind Trust มาตรฐานใหม่การเมืองไทย (?)

          ด้วย blind trust เป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินที่นักการเมืองในต่างประเทศเลือกใช้ อย่างไรก็ดียังคงมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบ blind trust เนื่องจากนักการเมืองเจ้าของทรัพย์สินย่อมทราบดีว่าตนจะได้รับทรัพย์สินและผลประโยชน์คืนเมื่อสัญญาสิ้นสุด นอกจากนี้การไม่เปิดเผยทรัสตียังทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทรัสตีเป็นบุคคลใกล้ชิดหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจของนักการเมืองหรือไม่ และบุคคลใกล้ชิดของนักการเมืองไม่ก้าวก่ายการบริหารจัดการของทรัสตีจริงหรือ

          ในต่างประเทศมีกรณีตัวอย่างที่นำไปสู่ประเด็นถกเถึยงเหล่างนี้ เมื่อพ.ศ. 2542 ลอร์ด เซนส์เบอรี โอนหุ้นในบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตไปที่ blind trust หลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์อังกฤษ อย่างไรก็ตามเขามีแนวโน้มที่จะกลับไปเป็นเจ้าของหุ้นในกิจการดังกล่าวหลังจากพ้นตำแหน่ง เมื่อพ.ศ. 2560 มีรายงานว่านางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่ได้ใช้ blind trust เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย แต่มาเริ่มใช้เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สินใน blind trust ต่อสาธารณะ นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าไม่สามารถตรวจสอบทรัพย์สินของนางเมย์ได้ เมื่อพ.ศ. 2559 มีรายงานข้อสังเกตเกี่ยวอสังหาริมทรัพย์ของนายโทนี แบลร์​ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และครอบครัว แม้ว่านายแบลร์ใช้ blind tust ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน แต่ต่อมาพบว่าภรรยาของเขามีส่วนรู้เห็นในการบริหารจัดการทรัพย์สิน โดยแนะให้ผู้ดูแลซื้ออสังหาริมทรัพย์[24]

          กฎหมาย Ethics in Government Act of 1978 ของสหรัฐ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยทรัพย์สินทางการเงินที่ถือครอง นอกจากว่าจะโอนทรัพย์สินไปสู่ blind trust ที่ผ่านการตรวจสอบ โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาทิ นายบิล คลินตัน และนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เลือกใช้ blind trust ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้โอนทรัพย์สินไปให้ blind trust เป็นผู้บริหาร[25] แต่โอนอำนาจควบคุมให้บุตรชาย 2 คน ทำให้ยังทราบว่าครอบครัวทรัมป์มีทรัพย์สินอะไรบ้างและได้ประโยชน์อะไรบ้างจากทรัพย์สินเหล่านั้น[26]

          แม้ว่าในต่างประเทศการใช้ blind trust จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ นายธนาธรกล่าวว่าการจัดตั้ง blind trust เป็นการทำ “มากกว่า” มาตรฐานขั้นต่ำกำหนด เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับความโปร่งใส ให้ไปไกลกว่ากฎหมาย[27] ลักขณา ปันวิชัย คอลัมนิสต์และพิธีกร เห็นว่าการแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบ มีความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่การโอนทรัพย์สินเพื่อให้ดูแลแบบ blind trust ควรเป็นความสมัครใจมากกว่าที่จะเป็นมาตรฐานบังคับ[28] อย่างไรก็ตามสำนักข่าวอิศรารายงานเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562 ไม่พบว่านายธนาธรโอนทรัพย์สินให้กับบลจ.​ ภัทร ดังที่กล่าวอ้างไว้[29] โดยนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงในเวลาต่อมา ว่าสาเหตุที่นายธนาธรไม่ได้โอนทรัพย์สินให้บุคคลที่สาม เนื่องจาก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นั่นเอง[30]

 

บทส่งท้าย

          Blind trust เป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันอาจเกิดได้จากการทำงานการเมือง blind trust กลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งทางการเมืองและทางการเงิน และเกิดกระแสตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม จากการประกาศจัดตั้ง blind trust เพื่อ “สร้างมาตรฐานใหม่” ทางการเมืองไทย นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกล่าวอ้างเกินจริง ความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการผูกมัดกับคำแถลงของนายธนาธร ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง นอกจากนี้ยังได้ยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมานำเสนอ ประกอบกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินอื่น ๆ ต่อสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ blind trust นับเป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง ที่ทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน และสร้างการรับรู้ทั้งทางการเมืองและทางการเงินให้กับสาธารณะ

 

บรรณานุกรม

“Tonight Thailand - “ธนาธร” โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust หวังสร้างมาตรฐาน." Youtube Channel Voice TV (18 มีนาคม 2562). <https://www.youtube.com/watch?v=yajqMpb6Vhk>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

“กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้." TechSauce (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

“แกะเงินลงทุน‘ธนาธร-รวิพรรณ’ 3.2 พันล. ไม่พบแจ้งข้อมูล ป.ป.ช.ทำ ‘Blind Trust’?." สำนักข่าวอิศรา (21 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/80698-isranewss-80698.html>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

“จริงหรือลวงหลอก“ธนาธร”ให้“blind trust”ดูแลทรัพย์5พันล้าน." ฐานเศรษฐกิจ (22 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/410324>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

“จาก ‘นิตยสารปิดตัว’ สู่การปิดอนาคตการเมือง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’." The Momentum (24 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/thanathorn-v-luck-media-and-who-magazine/>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

“โฉมหน้าหนังสือสัญญาจัดการหุ้น 2 บ. 28 ล. รมว.พาณิชย์ หลังเกิน 5%." สำนักข่าวอิศรา (16 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/investigative/investigate-asset/62024-indd00-62024.html?fbclid=IwAR2Klj-D9NDKmrSy-5B_S1JNSIm-7paKMUVYjw5te44BBhZsNJGqlukIV1I>. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

ธนาธร” แจง “blind trust” …พรรคอนาคตใหม่คือ “political project”." ThaiPublica (18 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-thanathorn/>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

““ธนาธร” ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ." ThaiPBS (18 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278492>. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

“‘ธนาธร'โชว์ จม.ขอโทษบริษัทที่ยังไม่ได้ทำ blind trust เหตุศาล รธน.สั่งหยุดทำหน้าที่." สำนักข่าวอิศรา (1 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/81032-isranews-81032.html>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

“ธนาธรไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการเป็น ส.ส.." The Momentum (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/thanathorn-v-luck-media-shareholding-case/>. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

“พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 117. ตอนที่ 66ก. 12 กรกฎาคม 2543.

“พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125. ตอนที่ 9ก. 14 มกราคม 2551.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134. ตอนที่ 40ก. 6 เมษายน 2560.

“รู้จัก "blind trust" แนวทางจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง." ThaiPBS (18 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278493>. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

“วิวาทะ กรณ์-สฤณี ปม ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust ?." ประชาชาติธุรกิจ (19 มีนาคม 2562).  เข้าถึงจากประชาชาติ <https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-303834>. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

“ศรีสุวรรณร้องกกต.เอาผิด "ธนาธร"โอนหุ้นเข้า "Blind trust”." โพสต์ทูเดย์ (19 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/583755>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

“สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ." ลงทุนแมน (19 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.longtunman.com/13885>. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

“ส่อง blind trust นักการเมืองต่างชาติ ย้อนดูไทย โปร่งใสจริงหรือ." บีบีซีไทย (20 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-47630229>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

ส่อง blind trust นักการเมืองต่างชาติ ย้อนดูไทย โปร่งใสจริงหรือ." บีบีซีไทย (20 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-47630229>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

“อธิบดีสรรพากรชี้ “blind trust” หลบภาษีไม่ได้." ประชาชาติธุรกิจ (19 มีนาคม 2562).  เข้าถึงจากประชาชาติ <https://www.prachachat.net/finance/news-303917>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

“‘อนุทิน’ ชี้ Blind Trust เป็นเรื่องธรรมดา เผย เคยทำตั้งแต่ปี 2547 หลัง รธน. 2540 กำหนด." The Standard (19 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-8/>. เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

 

อ้างอิง

[1] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[2] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[3] "“ธนาธร” ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ," ThaiPBS (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278492>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[4] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134, ตอนที่ 40ก, 6 เมษายน 2560.

[5] "พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 117, ตอนที่ 66ก, 12 กรกฎาคม 2543.

[6] "“ธนาธร” ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ," ThaiPBS (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278492>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[7] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[8] "‘อนุทิน’ ชี้ Blind Trust เป็นเรื่องธรรมดา เผย เคยทำตั้งแต่ปี 2547 หลัง รธน. 2540 กำหนด," The Standard (19 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-bhumjaithai-party-8/>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[9] "รู้จัก "blind trust" แนวทางจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง," ThaiPBS (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278493>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[10] "โฉมหน้าหนังสือสัญญาจัดการหุ้น 2 บ. 28 ล. รมว.พาณิชย์ หลังเกิน 5%," สำนักข่าวอิศรา (16 ธันวาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/investigative/investigate-asset/62024-indd00-62024.html?fbclid=IwAR2Klj-D9NDKmrSy-5B_S1JNSIm-7paKMUVYjw5te44BBhZsNJGqlukIV1I>, เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

[11] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[12] "ศรีสุวรรณร้องกกต.เอาผิด "ธนาธร"โอนหุ้นเข้า "Blind trust”," โพสต์ทูเดย์ (19 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/583755>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[13] "วิวาทะ กรณ์-สฤณี ปม ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust ?," ประชาชาติธุรกิจ (19 มีนาคม 2562),  เข้าถึงจากประชาชาติ <https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-303834>, เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

[14] "อธิบดีสรรพากรชี้ “blind trust” หลบภาษีไม่ได้," ประชาชาติธุรกิจ (19 มีนาคม 2562),  เข้าถึงจากประชาชาติ <https://www.prachachat.net/finance/news-303917>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[15] "“ธนาธร” ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ," ThaiPBS (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278492>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[16] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[17] "สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ," ลงทุนแมน (19 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.longtunman.com/13885>, เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

[18] "จาก ‘นิตยสารปิดตัว’ สู่การปิดอนาคตการเมือง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’," The Momentum (24 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/thanathorn-v-luck-media-and-who-magazine/>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

[19] "จริงหรือลวงหลอก“ธนาธร”ให้“blind trust”ดูแลทรัพย์5พันล้าน," ฐานเศรษฐกิจ (22 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/content/410324>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[20] "ธนาธรไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการเป็น ส.ส.," The Momentum (20 พฤศจิกายน 2562), เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/thanathorn-v-luck-media-shareholding-case/>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

[21] "กรณ์ เผย 'Blind Trust' ของธนาธรไม่มีจริงในประเทศไทย ตรวจสอบไม่ได้," TechSauce (16 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://techsauce.co/news/korn-said-about-blind-trust>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[22] "พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125, ตอนที่ 9ก, 14 มกราคม 2551.

[23] "สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ," ลงทุนแมน (19 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.longtunman.com/13885>, เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2563.

[24] "ส่อง blind trust นักการเมืองต่างชาติ ย้อนดูไทย โปร่งใสจริงหรือ," บีบีซีไทย (20 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-47630229>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[25] "ส่อง blind trust นักการเมืองต่างชาติ ย้อนดูไทย โปร่งใสจริงหรือ," บีบีซีไทย (20 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/international-47630229>, เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2563.

[26] "“ธนาธร” ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ," ThaiPBS (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278492>, เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563.

[27] "“ธนาธร” แจง “blind trust” …พรรคอนาคตใหม่คือ “political project”," ThaiPublica (18 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-thanathorn/>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

[28] "Tonight Thailand - “ธนาธร” โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust หวังสร้างมาตรฐาน," Youtube Channel Voice TV (18 มีนาคม 2562), <https://www.youtube.com/watch?v=yajqMpb6Vhk>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

[29] "แกะเงินลงทุน‘ธนาธร-รวิพรรณ’ 3.2 พันล. ไม่พบแจ้งข้อมูล ป.ป.ช.ทำ ‘Blind Trust’?," สำนักข่าวอิศรา (21 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/80698-isranewss-80698.html>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.

[30] "'ธนาธร'โชว์ จม.ขอโทษบริษัทที่ยังไม่ได้ทำ blind trust เหตุศาล รธน.สั่งหยุดทำหน้าที่," สำนักข่าวอิศรา (1 ตุลาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-news/81032-isranews-81032.html>, เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2563.