เกาะโต๊ะ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
“เกาะโต๊ะ” เป็นข้อความที่เกิดขึ้นจากการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยระบุถึงพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในสมัยที่นายทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความว่า “ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ. เลย" เพื่อตอบโต้พลเอก ประวิตร ที่ให้สัมภาษณ์ระบุถึงกรณีที่นายทักษิณมีเรื่องที่ทำผิดกฎหมายอยู่ ซึ่งการเขียนข้อความในทวิตเตอร์ของนายทักษิณสร้างกระแสในทางการเมืองค่อนข้างมาก มียอดรีทวิตประมาณ 73,800 ครั้ง (จากปกติในช่วงก่อนหน้านั้น มียอดรีทวีตข้อความของนายทักษิณ ชินวัตร ประมาณ 500 ครั้ง) นอกจากนี้ กระแสของข้อความดังกล่าวทำให้คำว่า “เกาะโต๊ะ” กลายเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับกระแสโจมตีพลเอก ประวิตร เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยครั้ง และยังเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าการออกมาโจมตีพลเอก ประวิตร โดยตรงของนายทักษิณนั้น อาจเป็นการต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง
ที่มาของ “เกาะโต๊ะ”
ลำดับเหตุการณ์ก่อนจะเกิดคำว่า “เกาะโต๊ะ” นั้น เริ่มจากในช่วงก่อนหน้าที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้มีการปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งหมด เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนได้ไปสอบถามพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ซึ่งพลเอก ประวิตร ได้กล่าวถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยว่า ขอให้ครบ 90 วันก่อนถึงจะปลดล็อคได้ทั้งหมด ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการปลดล็อคบางส่วนให้แล้ว และยังมีการระบุแล้วว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ยังห้ามไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อ สำหรับเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ต้องรอจนกว่าจะมีการปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ ข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองใช้สื่อออนไลน์ในการหาเสียงนั้น เนื่องจากว่าการใช้สื่อออนไลน์เหมือนกับการหาเสียง ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีหน้าที่พิจารณาว่าพรรคการเมืองใดที่ใช้สื่อออนไลน์แล้วเข้าข่ายการหาเสียงก็ต้องมีบทลงโทษตามกฎหมาย[1]
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561 นายทักษิณ ชินวัตร มีการโพสต์เฟซบุ๊ค ในชื่อ “Thaksin Shinawatra" กล่าวถึงสถานการณ์ครบรอบ 12 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยมีใจความบางส่วนระบุถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยระบุว่า
...เรามีการปฏิวัติ 2 ครั้งใน 12 ปี ปฏิวัตินายกฯที่เป็นพี่น้องกันและได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แน่นอนมีคนได้ดีและร่ำรวยจากการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้ง แต่คนที่แย่ลงในหลายมิติมีมากกว่า และไม่สำคัญเท่ากับประเทศไทยที่เรารักถูกมองแย่ลงในสายตาคนทั้งโลก เราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันหน้ามาปรึกษาหารือกันเพื่อบ้านเมือง หรือว่าเราจะตะแบงฟาดฟันกันฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นที่ต่างกัน ชอบไม่เหมือนกัน บางคนต้องถึงกับชีวิต บางคนเจ็บป่วย บางคนติดคุก บางคนถูกกลั่นแกล้งทางธุรกิจ ทางอาชีพและตำแหน่งหน้าที่ราชการ จนอยากจะตะโกนแรงๆ ว่าเราคนไทยด้วยกันไม่ใช่หรือ...[2]
อีกทั้งในบางช่วงนายทักษิณยังระบุถึงความบอบช้ำของประเทศไทยในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา
ว่าความสุขของคนไทยหายไป รวมทั้งการพัฒนาประเทศก็ถดถอย
...แล้ววันนี้เราช้ำกันพอแล้วหรือยัง ประเทศช้ำพอแล้วหรือยัง รอยยิ้มของไทยที่เรียกว่ายิ้มสยามหายไปไหนหมด แล้วเราจะอยู่กันแบบนี้ ในขณะที่โลกเขากำลังเอาสมองไปคิดค้นสิ่งใหม่ นำความเจริญให้ประเทศเขาแต่เรากำลังล้าหลังในทุก ๆ ด้าน ถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่เป็นกบน้อยในกะลา เราจะรู้ว่าเราต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ เทคโนโลยีที่ทั้งโลกกำลังใช้ประโยชน์มันกำลังจะไล่ล่าประเทศที่ปรับตัวไม่ทันและไม่คิดปรับตัว...[3]
นอกจากนี้ ในช่วงสุดท้ายของข้อเขียนดังกล่าว นายทักษิณได้ระบุว่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังเสียดายโอกาสของประเทศ และก่อนจบนายทักษิณได้ระบุว่าจะอโหสิกรรมให้คนที่กลั่นแกล้งตนเอง
ในโอกาสครบรอบ 12 ปีนี้ ผมขอเปิดอกว่าผมเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นผมต้องสูญเสียความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวผม ที่พ่อแม่ลูกเราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมาตลอด ต้องมาพรากจากกัน ผมเสียใจที่คนที่รักผม สนับสนุนผมถูกรังแก แต่คงไม่เสียใจเท่าประเทศที่ผมรัก แผ่นดินที่ผมเกิด และเติบโตมา ซึ่งครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ต้องมาตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ ถึงแม้ว่าผมมีอายุที่กำลังก้าวเข้าปีที่ 70 แล้ว แต่ผมเสียดายประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 12 ปีที่ออกมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ 12 ปี แล้วยังไม่ลืมผม ยังส่งผ่านความรักความปรารถนาดีมาถึงกันเสมอมา สุดท้ายนี้ผมขออโหสิกรรมให้กับทุกคนที่ให้ร้ายกลั่นแกล้งผมมา ณ ที่นี้ด้วย[4]
ต่อมาเมื่อสื่อมวลชนสอบถามพลเอก ประวิตร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561 ถึงท่าทีของนายทักษิณในการรำลึกครบรอบ 12 ปี ของการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอก ประวิตร ตอบว่า “บ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะใคร แต่ไม่ใช่พวกเราแน่นอนเพราะพวกเราไม่ได้เกี่ยวข้อง เราออกมาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ” เมื่อมีการสอบถามต่อไปว่านายทักษิณส่งสัญญาณพร้อมพูดคุยปรองดองนั้น พลเอก ประวิตร ตอบว่า “เขายังมีเรื่องที่ทำผิดกฎหมายอยู่ขอให้ไปเคลียร์ตรงนั้นให้ได้ก่อน”
หลังจากบทสัมภาษณ์นี้ถูกแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ในวันเดียวกันนั้นเอง นายทักษิณได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์อย่างดุเดือดว่า "ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.เลย” โดยในโพสต์ดังกล่าวมีการแนบ URL ข่าวที่พลเอก ประวิตร ให้สัมภาษณ์ตอบกรณีการเขียนข้อความในเฟซบุ๊คของนายทักษิณ จึงเป็นที่ชัดเจนว่านายทักษิณออกมาตอบโต้พลเอก ประวิตร เช่นกัน แต่นอกเหนือจากนั้น ข้อความในทวิตเตอร์ของนายทักษิณกลับชวนให้สังคมสงสัยและตั้งคำถามถึงการขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพลเอก ประวิตร ทันที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแสความนิยมในตัวพลเอก ประวิตร กำลังตกต่ำเช่นเดียวกัน
สู่กระแส #เกาะโต๊ะ
หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้เขียนทวิตเตอร์ระบุข้อความคำว่า “เกาะโต๊ะ” ทำให้เกิดกระแสที่กล่าวถึงคำดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ผู้ใช้งานทวิตเตอร์เมืองไทยพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก "#เกาะโต๊ะ" ส่งผลให้วลีดังกล่าวขึ้นเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยมีการนำคำพูดนี้ไปล้อเลียนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการรีทวีตต่อกันจำนวนมาก การสร้างกระแส #เกาะโต๊ะ รวมถึงการสร้างมีมเกาะโต๊ะขึ้นมาทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค เช่น "หยุดฝุ่นเกาะโต๊ะ แหล่งสะสมเชื้อโรคน่ากลัว ด้วยผ้าเช็ดทำความสะอาด Scott เด็ดขาดขึงขังมั่นใจ" ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังเกาะกระแส "เกาะโต๊ะ" ทวีตขายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือ "แล้วที่เราไม่มีปากกาใช้อยู่ตอนนี้นี่เพราะใคร ทีตอนยืมนี่มาเกาะขอบโต๊ะขอยืมเลยนะ" บริษัทเครื่องเขียนลงข้อความโฆษณาปากกา[5]
ต่อมาพลโท คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาชี้แจงในกรณีดังกล่าว่า “ท่าน (พลเอก ประวิตร) เห็นข่าวแล้ว ไม่ได้รู้สึกโกรธและโมโหอะไร เพราะทราบว่าประชาชนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น และต้นเหตุมาจากอะไร ดังนั้นอย่าไปพูดแค่เพียงปลายเหตุ”[6] การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวตรงกับเหตุการณ์ ในช่วงแรกที่พลเอก ประวิตร ที่ถูกพาดพิงในกรณีเกาะโต๊ะ ซึ่งไม่มีการตอบโต้ใด ๆ แต่บทบาทในการชี้แจงในช่วงแรกนี้เป็นของพลโท คงชีพ เป็นหลัก และในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561 หลังจากเกิดกรณี #เกาะโต๊ะ ได้เพียง 1 วัน พลเอก ประวิตร เดินทางลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีดังกล่าวนั้น พลเอก ประวิตร ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่โบกมือทักทายสื่อและมีสีหน้ายิ้มแย้ม[7]
หลังจากที่กระแส #เกาะโต๊ะ เป็นที่พูดถึงและกลายเป็นประเด็นทั้งแฮชแท็ก มีม และข้อความต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พลเอก ประวิตร ไม่มีท่าทีใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561 พลเอก ประวิตร ได้กล่าวถึงกรณีกระแสโจมตีประเด็น “เกาะโต๊ะ” ขอตำแหน่งจากคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาพูดไปเอง”[8] จะเห็นได้ว่า พลเอก ประวิตร ใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ ในการไม่ตอบโต้ในกรณีกระแสโจมตีประเด็น “เกาะโต๊ะ” ขอตำแหน่ง และเมื่อมีการตอบกลับก็เป็นการตอบกลับเพียงสั้น ๆ เท่านั้น โดยเลี่ยงไปตอบคำถามอื่นในรายละเอียดแทน เช่น กรณีการปรับคณะรัฐมนตรี กรณีการใช้มาตรา 44 ตั้งนายกเมืองพัทยา และการเตรียมการเลือกตั้ง เป็นต้น[9]
หลากปฏิกิริยาต่อกระแส #เกาะโต๊ะ
หลังจากที่กระแส #เกาะโต๊ะ กลายเป็นกระแสโจมตีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในกรณีการวิ่งเต้นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั้น ในทางกลับกันก็เกิดกระแสตรงข้าม กล่าวคือ กลุ่มคนที่สนับสนุน คสช. ก็มีการขุดประวัติของนายทักษิณ ชินวัตร โดยนำเสนอเป็นภาพที่ถ่ายร่วมกับพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และได้มีการเล่าถึงการเติบโตของธุรกิจชินวัตรคอมพิวเตอร์ของนายทักษิณที่ผงาดขึ้นมาในยุคของคณะ รสช. มีอิทธิพลอยู่ในการเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ. 2534 ขณะที่กระทรวงคมนาคมเปิดประมูลดาวเทียมไทยคม โดยกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2533 จนกระทั่งกระบวนการประมูลสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2534 ตามเอกสารที่เป็นทางการบริษัทที่แสดงตัวกับกระทรวงคมนาคมว่าต้องการประมูลโครงการดาวเทียมมีทั้งสิ้น 5 บริษัท แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองประมูลกลับมีผู้ส่งเอกสารครบเพียง 3 เจ้า หนึ่งคือชินวัตรคอมพิวเตอร์ของทักษิณ, สองคือไทยแซท และสามคือวาเคไทยของเจ้าของรถไฟฟ้า BTS ปัจจุบัน[10]
จากกรณีดังกล่าวทำให้กลุ่มคนที่สนับสนุน คสช. มองว่า นายทักษิณเองก็มีพฤติกรรมที่เกาะ รสช. เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเช่นกัน และเชื่อว่าที่บริษัทของนายทักษิณชนะการประมูลในครั้งนั้น เพราะสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้า รสช. ซึ่งมีบทบาทในทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2534 เป็นปีเดียวกันกับที่นายทักษิณชนะการประมูลโครงการดาวเทียม โดยมีเฟซบุ๊คแฟนเพจที่ชื่อ “เปรี้ยง” นำเสนอภาพนายทักษิณถ่ายคู่กับพลเอ สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งในภาพดังกล่าวนายทักษิณมีท่าทางสำรวม ขณะที่พลเอก สุนทร กำลังโอบไหล่นายทักษิณอยู่ โดยเฟซบุ๊คแฟนเพจดังกล่าวระบุข้อความว่า "ไม่นุ่มนวลเหมือนเกาะแข้งเกาะขาทหารเพื่อขอสัมปทานเลยเนอะ"
นอกจากนี้ ยังมีข้อความอื่น ๆ ที่มีการระบุในทำนองที่โจมตีนายทักษิณในกรณีดังกล่าวออกมาเพิ่มเติม เช่น “ว่าใคร อะไรก็แล้วแต่ มันเข้าตัวได้หมดทุกเรื่องเลยน่ะ จริง ๆ 555” หรือ “ดูอ้อนน้อม ไม่ขึงขัง เหมือนตอนทวีตตอบโต้บิ๊กป้อม เลยอ่ะ” หรือ “ไม่มีพี่จ๊อด ไม่มีไทยคม” หรือ “กุมเป้าแน่นเชียวนะแม้ว” เป็นต้น[11]
ขณะที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ก็เล่าถึงบทบาทของพลเอก ประวิตร ในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้นั้น บัญชาการทหารบก พบว่า พลเอก ประวิตร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในเวลานั้น การแย่งชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง แต่รัฐบาลนายทักษิณที่เข้ามาจัดการกับการแต่งตั้งนายทหารสำคัญ หรือ “โผทหาร” เอง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวได้ง่าย ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2545 ที่ย้ายพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. ในตอนนั้นให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) แล้วตั้งพลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ มาเป็น ผบ.ทบ.จนในปี พ.ศ. 2546 นายทักษิณได้ตั้ง พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้แค่ 1 ปี ก็ได้ย้ายพลเอก ชัยสิทธิ์ ไปเป็น ผบ.สส. แล้วให้ พลเอก ประวิตร ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.แทน
ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ในปี พ.ศ. 2547 พลเอก ชัยสิทธิ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และยังเหลืออายุราชการอีก 1 ปี แต่มีการคาดเดากันว่าพลเอก ชัยสิทธิ์ จะอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปจนเกษียณ เนื่องจากมีความสัมพันธ์เป็นญาติกับนายทักษิณ แต่เพราะพลเอกชัยสิทธิ์ มาจากเหล่าทหารช่าง ทำให้การยอมรับในกองทัพบกจึงมีน้อย และที่ผ่านมา ผบ.ทบ. ส่วนใหญ่จะมาจากเหล่ารบ เช่น เหล่าทหารราบ เหล่าทหารม้า เป็นต้น ผนวกกับกระแสลูกพี่ลูกน้องนายกของพลเอก ชัยสิทธิ์ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ไม่สวยงามนัก และยิ่งเมื่อเจอกรณีพลเอก ประวิตร ที่พยายามขึ้นสู่ตำแหน่งดังกล่าวโดยเข้าหาฝ่ายการเมือง จึงทำให้พลเอก ชัยสิทธิ์ โดนโยกย้ายไปในที่สุด[12]
อย่างไรก็ตาม ก็เกิดกระแสที่สามในกรณี #เกาะโต๊ะ ที่มองว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพลเอก ประวิตร ที่วิ่งเต้นเข้าหาฝ่ายการเมืองเพื่อประโยชน์ในหน้าที่ราชการของตนเอง หรือกรณีของนายทักษิณที่วิ่งเต้นเข้าหาฝ่ายการเมืองเพื่อประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง ทั้ง 2 กรณีนี้ ก็มีลักษณะร่วมประการหนึ่ง นั่นคือ เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างของตนเอง แต่กระนั้น บทบาทของผู้ที่มีอำนาจหรือเจ้าของโต๊ะนั้น ก็สมควรถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติดังกล่าว[13]
“ตำแหน่งผบ.ทบ.” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและเป็นตำแหน่งที่มีการแย่งชิงกันของทหารกลุ่มต่าง ๆ อย่างมาก เนื่องจากกองทัพบกเป็นหัวใจสำคัญของกองทัพที่มีกำลังพลมากที่สุด และจะมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองมากที่สุด โดยบทบาททางการเมืองมักจะปรากฏในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะ “การรัฐประหาร” และการเกิดขึ้นของบรรดา “ทหารการเมือง” กลุ่มต่าง ๆ
“ผบ.ทบ. กับการรัฐประหาร” กล่าวได้ว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือ ผบ.ทบ. มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากในทุกครั้งที่มีการรัฐประหารมักจะใช้กำลังหลักจากกองทัพบกแทบทั้งสิ้น ทำให้กองทัพบกกลายเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากการรัฐประหารที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มีการรัฐประหารรวม 13 ครั้ง และทุกครั้งมีกองทัพบกเป็นหน่วยงานหลัก แม้ว่าจะมีบางครั้งที่หัวหน้าคณะรัฐประหารจะมาจากเหล่าอื่น เช่น ในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2519 และการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2520 มีหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่มีกองกำลังหลักมาจากกองทัพบก หรือในกรณีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่มีกองกำลังหลักมาจากกองทัพบกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกยังเป็นหลักประกันความมีเสถียรภาพของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งในกรณีที่รัฐบาลและผู้บัญชาการทหารบกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะสามารถป้องกันการรัฐประหารไม่ให้ประสบความสำเร็จได้ ดังเช่นในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกที่ได้รับความไว้วางใจ อาทิ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย ในปี พ.ศ. 2524[14] หรือพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังจากเหตุการณ์กบฏไม่มาตามนัด ในปี พ.ศ. 2528[15]
“ผบ.ทบ. กับกลุ่มทหารการเมือง” เนื่องจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นตำแหน่งสำคัญที่ส่งผลในทางการเมือง จึงทำให้ทหารกลุ่มต่าง ๆ ช่วงชิงกันขึ้นมามีบทบาทนำในกองทัพและกลายเป็นกลุ่มทหารการเมืองที่สำคัญ ดังเช่นในสมัยรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ บทบาทของกลุ่มทหารที่สำคัญคือ กลุ่มจปร.7 หรือกลุ่มยังเติร์ก ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 ที่มาจากชื่อของ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก นายทหารหนุ่มผู้ปลดปล่อยประเทศและก่อตั้งประเทศตุรกี ดำเนินการปฏิรูปประเทศตุรกีให้เป็นประเทศสมัยใหม่ที่เน้นประชาธิปไตยและไม่อิงศาสนา ที่มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอดทศวรรษที่ 2520 จนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษที่ 2530 กลุ่ม จปร.7 เริ่มเกิดความไม่ลงรอยกับกลุ่ม จปร.5 ที่เริ่มมีบทบาทนำในกองทัพ จนกระทั่งในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2534 กลุ่ม จปร.5 เป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำในการกระทำการ และกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด ทั้งนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวได้ปะทุกลายเป็นเหตุการณพฤษภาทมิฬในที่สุด[16] หรือในกรณีของ “ทหารสายบูรพาพยัคฆ์ และสายวงศ์เทวัญ” โดยสายบูรพาพยัคฆ์ คือ นายทหารที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือ “ทหารเสือราชินี” และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) รวมถึงกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ขณะที่สายวงศ์เทวัญ คือ นายทหารที่รับราชการและเติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)[17] ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีความสำคัญในการชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2560 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งออกเป็นสีเสื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน เนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนแรกที่มาจากสายบูรพาพยัคฆ์ จากนั้นก็มีนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อเนื่องกว่า 10 ปี ได้แก่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก อุดมเดช สีตบุตร พลเอก ธีรชัย นาควานิช ซึ่งนายทหารสายนี้มีบทบาทใน คสช. ทั้งสิ้น
“เกาะโต๊ะ” กับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย
การเกิดขึ้นของกรณี “เกาะโต๊ะ” ที่เกี่ยวพันกับการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและเป็นที่แย่งชิงกันของทหารกลุ่มต่าง ๆ อย่างมาก และสะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ ในสังคมไทย ที่ผู้ต้องการความก้าวหน้าในเส้นทางของตัวเองทั้งในทางการเมืองและในระบบราชการจะต้องวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ส่งผลต่อเลื่อนระดับของแต่ละบุคคล ซึ่งในสังคมไทยปรากฏลักษณะของระบบอุปถัมภ์อยู่ในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำที่มักจะปรากฏให้เห็นเด่นชัด
กล่าวได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ (The Patron-client System) เป็นระบบที่ต่อเนื่องอยู่ในสังคมจารีตนิยม ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ในแง่ทรัพย์สิน สถานะ และอำนาจ (Wealth, Status and Power) โดยความสัมพันธ์จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ผู้อุปถัมภ์ ('Patron)จะเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งในอำนาจทางการเมือง ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และสำหรับบางกรณีผู้อุปถัมภ์คือบุคคลเป็นที่เคารพนับถือในคุณความดี มีลักษณะคล้ายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และส่วนที่สอง ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ('Client) คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องอาศัยผู้อุปถัมภ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าว รวมทั้งส่วนที่เป็นบวกในทางจิตใจ เป็นทั้งที่พึ่งในทางวัตถุและในทางจิตใจ ในกรณีของสังคมไทยนั้นผู้อุปถัมภ์จะต้องมีบารมี ซึ่งความหมายได้แก่ การเป็นที่ยอมรับว่ามีลักษณะเป็นผู้นำ สามารถอุปถัมภ์ผู้ตามได้ ขณะเดียวกันผู้ตามก็หวังพึ่งผู้อุปถัมภ์ทั้งผลประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าวมารวมทั้งกรณีทางจิตใจด้วย[18]
นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวยังสัมพันธ์กับผู้นำแบบอาณาบารมี (Charismatic Leadership) ซึ่งผู้อุปถัมภ์จะเป็นผู้มีบารมีในทางการเมืองค่อนข้างมาก เนื่องจากสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลอื่นได้ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อผู้อุปถัมภ์สิ้นบารมีลง ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมผู้ใต้อุปถัมภ์ได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี กรณีที่หนึ่ง คือ การที่ผู้อุปถัมภ์สิ้นบารมีด้วยตัวเอง ทำให้ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรูปของทรัพย์สิน สถานะ และอำนาจ ให้แก่ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ได้ และกรณีที่สอง คือ ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ตีจาก อาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์มีบารมีที่สามารถทำให้ผู้อุปถัมภ์หมดการสนับสนุนเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้อุปถัมภ์เดิม[19]
ดังนั้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำเป็นไปในลักษณะที่มีผู้อุปถัมภ์และผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ จะเห็นได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้นำที่มีบารมีทางการเมืองสูงที่สามารถเป็นผู้อุปถัมภ์ฝ่ายข้าราชการประจำได้ ส่งผลให้ฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายอื่น ๆ เป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ที่ต้องเข้าหานายทักษิณเพื่อเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายต้องการ และกลายมาเป็นกรณีเกาะโต๊ะในที่สุด
บทสรุป
เกาะโต๊ะสะท้อนให้เห็นความสำคัญของกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีความสำคัญทางการเมือง เฉกเช่นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั้น มีการแทรกแซงทางการเมืองตลอดเวลา เนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกเป็นตำแหน่งทางราชการที่คำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลและกองทัพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพด้วยตนเองก็ย่อมทำให้ฝ่ายกองทัพต้องเคลื่อนเข้าหา ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่ตอกย้ำถึงระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ดังเช่นกรณีการแต่งตั้งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ต่อมานายทักษิณระบุว่า พลเอก ประวิตร มีการวิ่งเต้นด้วยข้อความที่กล่าวถึงในทวิตเตอร์ว่า “ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ. เลย” ซึ่งทวิตเตอร์ดังกล่าวเกิดเป็นกระแสที่โจมตีพลเอก ประวิตร และจัดทำเป็นมีมและแฮชแท็กอื่น ๆ ในวงกว้าง รวมทั้งยังมีกระแสบางส่วนตีกลับมายังนายทักษิณกรณีการวิ่งเต้นในการปะมูลสัมปทานดาวเทียมไทยคมด้วยเช่นกัน
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
สุรชาติ บำรุงสุข. (2551). ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี
พนมยงค์.
บรรณานุกรม
“เขาพูดไปเอง" บิ๊กป้อม โต้ปมเกาะโต๊ะ พร้อมช่วยงานการเมือง"บิ๊กตู่".” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (26 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/565581>. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน.
“จากรัฐประหารสู่”กบฎ” ปฏิวัติ 9 ก.ย.2528 ตำนาน”ไม่มาตามนัด”.” มติชนออนไลน์ (9 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1123089>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
“โซเชียลระอุ!'ป้อมเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง' VS 'แม้วเกาะแข้งเกาะขาขอสัมปทาน'.” ไทยโพสต์ออนไลน์ (19 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/17990>. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล. ““เกาะโต๊ะ” สนั่นโลกโซเชียลไทย สินค้าและบริการเกาะกระแส ทักษิณ-ประวิตร "แลกหมัด." บีบีซีไทย (20 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45586593>. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
“ทักษิณ สวนเดือด บิ๊กป้อม ท่าทีขึงขังไม่เหมือนตอนขอเป็น ผบ.ทบ.” คมชัดลึกออนไลน์ (19 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/344329>. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
“‘บิ๊กป้อม’โต้ทักษิณ ซัดพูดไปเองปม‘เกาะโต๊ะ’.” แนวหน้าออนไลน์ (26 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/366403>. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
““บิ๊กป้อม”ฉีกยิ้ม โบกมือปัดตอบปมเกาะโต๊ะ คงชีพ เผยบิ๊กป้อมไม่โกรธ ขออย่าสร้างขัดแย้ง.” มติชนออนไลน์ (20 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก
<https://www.matichon.co.th/politics/news_1138509>. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
พลวุฒิ สงสกุล. “ย้อนเส้นทางสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ. ของประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังทักษิณกล่าวหาเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง.” The Standard (19 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/political-prawit-wongsuwan/>. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
“พอกันทั้งสองฝ่าย.” ข่าวสดออนไลน์ (22 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก
<https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1596883>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
เพจเฟซบุ๊คทางการของนายทักษิณ ชินวัตร. Thaksin Shinawatra. เข้าถึงจาก <https://m.facebook.
com/story.php?story_fbid=942019949315890&id=127701087414451&fs=0&focus_compocom=0>. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง.” ไทยรัฐออนไลน์ (20 มกราคม 2558). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/475909>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
ลิขิต ธีรเวคิน, “ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย,” ผู้จัดการออนไลน์ (14 พฤศจิกายน 2550), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9500000135236>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.
วันวิชิต บุญโปร่ง. (2556). “บทบาททางการทหารและทางการเมืองของ “กลุ่มนายทหารบูรพาพยัคฆ์” พ.ศ.2524-2554.” วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 : 1 – 14.
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. “#ป้อมเกาะโต๊ะ #แม้วเกาะจ๊อด เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริง.” The Standard (20 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/politics-the-story-thats-not-true/>. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. (2563). เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ: Illumination Editions
[1] “ทักษิณ สวนเดือด บิ๊กป้อม ท่าทีขึงขังไม่เหมือนตอนขอเป็น ผบ.ทบ,” คมชัดลึกออนไลน์ (19 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/politic/344329>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[2] เพจเฟซบุ๊คทางการของนายทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra. เข้าถึงจาก <https://m.facebook.
com/story.php?story_fbid=942019949315890&id=127701087414451&fs=0&focus_compocom=0>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[3] เพจเฟซบุ๊คทางการของนายทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra. เข้าถึงจาก <https://m.facebook.
com/story.php?story_fbid=942019949315890&id=127701087414451&fs=0&focus_compocom=0>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[4] เพจเฟซบุ๊คทางการของนายทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra. เข้าถึงจาก <https://m.facebook.
com/story.php?story_fbid=942019949315890&id=127701087414451&fs=0&focus_compocom=0>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[5] ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล, ““เกาะโต๊ะ” สนั่นโลกโซเชียลไทย สินค้าและบริการเกาะกระแส ทักษิณ-ประวิตร "แลกหมัด," บีบีซีไทย (20 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45586593>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[6] ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล, ““เกาะโต๊ะ” สนั่นโลกโซเชียลไทย สินค้าและบริการเกาะกระแส ทักษิณ-ประวิตร "แลกหมัด," บีบีซีไทย (20 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45586593>, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563.
[7] “บิ๊กป้อม”ฉีกยิ้ม โบกมือปัดตอบปมเกาะโต๊ะ คงชีพ เผยบิ๊กป้อมไม่โกรธ ขออย่าสร้างขัดแย้ง,” มติชนออนไลน์ (20 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1138509>, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
[8] “‘บิ๊กป้อม’โต้ทักษิณ ซัดพูดไปเองปม‘เกาะโต๊ะ’,” แนวหน้าออนไลน์ (26 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/366403>, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
[9] “"เขาพูดไปเอง" บิ๊กป้อม โต้ปมเกาะโต๊ะ พร้อมช่วยงานการเมือง"บิ๊กตู่",” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (26 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/565581>, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563.
[10] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, “#ป้อมเกาะโต๊ะ #แม้วเกาะจ๊อด เรื่องเล่าที่ไม่ตรงความจริง,” The Standard (20 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/politics-the-story-thats-not-true/>, เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
[11] “โซเชียลระอุ!'ป้อมเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง' VS 'แม้วเกาะแข้งเกาะขาขอสัมปทาน',” ไทยโพสต์ออนไลน์ (19 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/17990>, เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
[12] พลวุฒิ สงสกุล, “ย้อนเส้นทางสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ. ของประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังทักษิณกล่าวหาเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง,” The Standard (19 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/political-prawit-wongsuwan/>, เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563.
[13] “พอกันทั้งสองฝ่าย,” ข่าวสดออนไลน์ (22 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1596883>, เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
[14] “ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง,” ไทยรัฐออนไลน์ (20 มกราคม 2558), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/475909>, เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
[15] “จากรัฐประหารสู่”กบฎ” ปฏิวัติ 9 ก.ย.2528 ตำนาน”ไม่มาตามนัด”,” มติชนออนไลน์ (9 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1123089>, เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
[16] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 330 – 334. และอดินันท์ พรหมพันธ์ใจ, เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด (กรุงเทพฯ: Illumination Editions, 2563), หน้า 120 -142.
[17] วันวิชิต บุญโปร่ง, “บทบาททางการทหารและทางการเมืองของ “กลุ่มนายทหารบูรพาพยัคฆ์” พ.ศ.2524-2554,” วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2556) : 1 – 14.
[18] ลิขิต ธีรเวคิน, “ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย,” ผู้จัดการออนไลน์ (14 พฤศจิกายน 2550), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9500000135236>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.
[19] ลิขิต ธีรเวคิน, “ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย,” ผู้จัดการออนไลน์ (14 พฤศจิกายน 2550), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9500000135236>, เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563.