การจัดซื้อเรือดำน้ำ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
“การจัดซื้อเรือดำน้ำ” เป็นโครงการของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงิน 36,000 ล้านบาท ให้จัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan class S26T จำนวน 2 ลำ แถม 1 ลำ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และต่อมาภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว คณะรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ให้กองทัพเรือดำเนินการจ้างสร้างเรือดำน้ำลำแรก โดยทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. ซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเงินเป็นงวด 7 ปี รวมทั้งสิ้น 17 งวด ทั้งนี้ รัฐบาลให้เหตุผลว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้เป็นไปเพื่อยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางทะเล เป็นหลักประกันความปลอดภัยของประเทศ หรือ “มีไว้ให้คนเกรงใจ” อย่างไรก็ตาม โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ได้ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนก่อนที่จะมีการอนุมัติแต่อย่างใด ทั้งยัง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณบริหารราชการแผ่นดิน เบียดบังงบประมาณของกระทวงอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและประชาชนกำลังประสบปัญหาเรื่องปากท้อง จนได้รับการประเมินกันว่า “การจัดซื้อเรือดำน้ำ” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล คสช. เสื่อมถอยและลดลงอย่างต่อเนื่อง
“การจัดซื้อเรือดำน้ำ” ภายใต้รัฐบาล คสช.
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นความพยายามของกองทัพเรือไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ได้ปลดประจำการเรือดำน้ำ 4 ลำ ซึ่งประกอบด้วย เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[1] อย่างไรก็ตาม โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของราชนาวีไทยก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติจัดซื้อจากรัฐบาล เนื่องจากเป็น “เมกะโปรเจค” ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งนี้ ความพยายามแรกเกิดขึ้นในปี 2538 ที่กองทัพเรือขอซื้อเรือดำน้ำรุ่น Kockums จำนวน 2 ลำ จากสวีเดน ด้วยงบประมาณสี่หมื่นล้านบาท โดยก่อหนี้ผูกพัน 7 ปี ต่อมาในปี 2553 กองทัพเรือได้เสนอขอจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ หรือมือสอง จำนวน 2-3 ลำ ด้วยวงเงินงบประมาณ 48,000 ล้านบาท[2] และมาถึงสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กองทัพเรือก็ได้นำเสนอแผนจัดซื้อ เรือดำน้ำมือสองรุ่น U-206A จำนวน 6 ลำ จากเยอรมนี ด้วยวงเงินงบประมาณ 7,700 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่เคยถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จนกองทัพเรือต้องหันไปให้ความสนใจและผลักดันโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จากประเทศเกาหลี จำนวน 1 ลำแทน ด้วยงบประมาณ 14,600 ล้านบาท[3]
จนกระทั่งถึงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan class S26T จำนวน 2 ลำ แถม 1 ลำ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงินงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยซื้อครั้งละ 1 ลำ ด้วยงบประมาณประจำปีแบบผูกพัน ทั้งนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และมีความจำเป็นที่จะมีเรือดำน้ำประจำการมากกว่า 1 ลำ โดยกล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อครั้งนี้ว่า “เรือดำน้ำมีความจำเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านมีกันหมดแล้ว อีกทั้งเมื่อซื้อต้องนำมาใช้งานได้ เพราะทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทยมีมหาศาลโดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่ไทยยังไม่เคยไปสำรวจ อีกทั้งจะมีประโยชน์มากในเรื่องการป้องกันอธิปไตย”[4] นอกจากนั้น การขาดเรือดำน้ำประจำการมากกว่า 60 ปี ทำให้เกิด "รูโหว่" ในทางยุทธศาสตร์ทางทะเลและการดูแลพื้นที่ใต้น้ำจึง "จำเป็นต้องให้มีเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ"[5]
แม้การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือและรัฐบาล คสช. จะอยู่ในความสนใจของสังคมและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่สื่อมวลชนและสาธารณชนยังคงเข้าใจว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เป็นเพียงการอนุมัติกรอบวงเงินจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่มีมติอนุมัติให้ทำสัญญาจัดซื้อเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ตกเป็นข่าวคึกโครงว่า คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการจ้างสร้างเรือดำน้ำลำแรกรุ่น Yuan class S26T ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560 โดยไม่มีการแถลงหรือชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบแต่อย่างใด[6] สำหรับการอนุมัติจัดซื้อครั้งนี้เป็นการทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. ซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเงินเป็นงวด 7 ปี รวมทั้งสิ้น 17 งวด สำหรับงวดแรกในปี 2560 ต้องชำระเงินจำนวน 700 ล้านบาท และระหว่างปี 2561-2566 ต้องชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท[7]
ภายหลังจากเกิดกระแสโจมตีการจัดซื้อเรือดำน้ำในสื่อ ต่างๆ และสังคมออนไลน์ กองทัพเรือได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ว่า เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 24 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคล้วนมีเรือดำน้ำประจำการด้วยกันทั้งสิ้น การที่ประเทศไทยปราศจากเรือดำน้ำประจำการมากกว่า 60 ปี จึงทำให้สูญเสียขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางทะเลของตนเองในด้านนี้อย่างสิ้นเชิง ตลอดระยะ 30 ปีที่ผ่านมา กองทัพเจอจึงได้ศึกษาและจัดทำโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลใด สำหรับการพิจารณาข้อเสนอในการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ได้เปรียบเทียบบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจากประเทศต่างๆ มีเพียงบริษัทของจีนเท่านั้นที่ครบเงื่อนไขความต้องการของกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเป็นด้านขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ (ความสามารถด้านการซ่อนพราง ระบบอาวุธที่หลากหลายและรุนแรง และความปลอดภัย) ด้านความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน (การฝึกอบรมกำลังพล และการบำรุงรักษา) และด้านงบประมาณของกองทัพ ด้วยเหตุนี้ เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่น Yuan S26T ที่มีอายุการใช้งานนานถึง 30 ปี จึงคุ่มค่าทั้งในแง่ราคาและประโยชน์ที่ได้รับมากที่สุด กองทัพเรือจึงดำเนินการจ้างสร้างลำแรกในปี 2560 ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 6 ปี[8]
กระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์
กระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วตั้งเป้าโจมตีไปที่ 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นแรก การจัดซื้อครั้งนี้ไม่มีการแถลงข่าว หรือ ชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล ทั้งที่อยู่ในความสนใจของประชาชน การอนุมัติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปกปิด และปราศจากความโปร่งใส มีลับลมคมใน
จึงก่อให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นในการจัดซื้อ อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ Facebook แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ผู้ที่รับเคราะห์กรรมการจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็คือ ประชาชน ที่นอกจากจะถูกยึดอำนาจไปแล้วยังถูกรัฐบาลฉกฉวยเงินไปซื้ออาวุธอีกด้วย[9]
ประเด็นที่สอง การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งอย่างสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็นในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ดังนั้น ด้วยวงเงินงบประมาณมหาศาลจำนวนนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางสาธารณสุขและการศึกษา รัฐบาลจึงควรทบทวนโครงการนี้ใหม่โดยเร็ว สำหรับ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า
...หากเทียบกันจะเห็นว่าการใช้เงินจำนวนมหาศาลกับการซื้อเรือดำน้ำ ดูจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระ รวมถึงยังเป็นเรือที่ยังถูกตั้งคำถามมากมายแต่ยังไม่ได้คำตอบ เช่น เรือคุณภาพดีจริงหรือไม่ ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติควรต้องคิดหน้าคิดหลังให้มากขึ้น หรือหากนำเงินจำนวน 3 หมื่นกว่าล้านบาทมาใช้กับบัตรทองก็จะช่วยได้มากขึ้น จากปกติบัตรทองที่มีงบประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท[10]
แม้โครงการจัดซื้อระดับน้ำ จะถูกร้องไปยังองค์กรอิสระ ก็คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
และ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ทำการตรวจสอบถึงความโปร่งใสและขั้นตอนในทางกฎหมาย แต่องค์กรอิสระก็ตรวจสอบและยืนยันว่าการจัดซื้อในโครงการนี้ได้ทำถูกต้องทุกขั้นตอน โดยผ่านวิธีกการจัดทำงบประมาณ ได้รับการอนุมัติโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ[11]
บทส่งท้าย : ความมั่นคงทางทะเลกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ
การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้รัฐบาลทหาร ที่การตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนและสื่อมวลชนเป็นไปได้อย่างอยากยิ่งนั้น ก็ย่อมเกิดข้อครหาต่างๆ มากมาย ทั้งประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ความสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น ตลอดจนการเบียดบังงบประมาณของกระทรวงอื่นๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงและเป็นรูปธรรมต่อประชาชน เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของ รัฐบาล คสช. นั้น งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในงบประมาณปี 2557 ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาเป็นรัฐบาล งบกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท เมื่อถึงปี 2558 ซึ่ง คสช. เข้ามาจัดทำประมาณ ปรากฏว่างบกลาโหมพุ่งสูงขึ้นเป็น 1.92 แสนล้านบาท และมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนกระทั่งงบประมาณปี 2562 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในอำนาจของ คสช. งบกลาโหมอยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท[12] ในยุค คสช. การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ อันมีสาเหตุมาจากดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในขณะที่สหรัฐอเมริกากลับมีบทบาทลดลง นอกจากนั้นแล้ว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยังมีแนวโน้มเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับหลายภูมิภาคทั่วโลก ในกรณีของประเทศไทย ได้ตั้งงบประมาณในการป้องกันประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย[13]
แม้ความมั่นคงทางทะเล (maritime security) เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีแล้ว แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางทะเล ยังคงมีความหมายที่ค่อนข้างคลุมเครือ ระหว่างความหมายเชิงลบ (negative definition) ที่เน้นถึงการปราศจาก “ภัยคุกคาม” ต่างๆ ทางทะเล ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบข้อพิพาททางทะเลระหว่างรัฐ การก่อการร้าย โจรสลัด การลักลอบขนยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย คนถ่ายมนุษย์ การค้าขายอาวุธ ทำประมงผิดกฎหมาย อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุรวมถึงภัยธรรมชาติ กลับความหมายเชิงบวก (positive definition) ที่เน้นความสำคัญไปที่เป้าหมายในอุดมคติที่จะมีร่วมกันทางทะเล ทั้งด้านการพัฒนายกระดับการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล การสร้างตัวเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความจำเริญทางสมุทร” (blue growth)[14] ทั้งนี้ “ความมั่นคงทางทะเล” มาจากสี่องค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ 1) ความมั่นคงของรัฐชาติ (national security) ที่จะถูกเสริมได้ด้วยอำนาจทางทะเล 2) ความมั่นคงมนุษย์ (human security) 3) การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (economic development) ที่จะถูกเสริมได้ด้วยเศรษฐกิจภาคสมุทร 4) สภาพแวดล้อมทางทะเล (marine environment) ที่เป็นเรื่องของความปลอดภัยในการเดินทาง[15] ซึ่งหากพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการจัดซื้อครั้งนี้แล้ว หลายฝ่ายมองว่าถ้าภัยคุกคามทางทะเลของไทย ไม่ใช่การรบหรือทำสงครามแล้ว กองทัพเรือไทยก็มีทางเลือกที่ดีกว่าและประหยัดงบประมาณได้มากกว่าในการรักษาความมั่นคงทางทะเล อาทิ การจัดซื้อ Littoral Combat Ship (LCS) หรือเรือรบที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นต่อเนื่องจากชายฝั่งถึงทะเลเปิด เพื่อปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวรชายฝั่ง แม่น้ำ และอ่าว ตลอดจนปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือในยามภัยพิบัติและปราบปรามอาชญากรรมได้อีกด้วย[16]
บรรณานุกรม
Bueger, Christian (2015). "What is maritime security?." Marine Policy. 53 (March): 159-164.
Cod Satrusayang. "Analysis: Does Thailand need a submarine force?." Thai Enquirer (24 August 2020). Available from <https://www.thaienquirer.com/17417/analysis-does-thailand-need-a-submarine-force/>. Accessed September 23, 2020.
“3.6 หมื่นล้านซื้อเรือดำน้ำ เอามาช่วยโปะ "บัตรทอง" ดีไหม?," โพสต์ทูเดย์ (1 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/report/492673>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“กองทัพเรือแจงเหตุต้องซื้อ "เรือดำน้ำ" ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน," บีบีซีไทย (5 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39502056>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“งบกลาโหมยุค คสช.พุ่งติดท็อปโฟร์," คมชัดลึก (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/363101>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“ทร. เซ็นสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำจากจีนแล้ว," บีบีซีไทย (5 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39815126>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“‘ประวิตร'ยันซื้อเรือดำน้ำ3หมื่นล้าน อ้างเพื่อนบ้านมีหมดแล้ว," กรุงเทพธุรกิจ (24 มกราคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737549>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“ย้อนรอยโครงการ “เรือดำน้ำ” 7 ทศวรรษของราชนาวีไทย," มติชนออนไลน์ (13 มีนาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_493377>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“เรือดำน้ำโผล่แล้ว! ครม.ไฟเขียวซื้อ1ลำเมื่อ18เม.ย.แต่ไม่มีการแถลง," โพสต์ทูเดย์ (24 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/491637>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
““วัฒนา" ซัดรัฐบาลแอบอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ," โพสต์ทูเดย์ (25 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/491721>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“สตง.แจงผลสอบเรือดำน้ำ ผ่านฉลุยทุกขั้นตอน," โพสต์ทูเดย์ (22 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/finance-stock/news/495993>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
“เอกสารแจงสื่อ 4 หน้าเคลียร์ 6 ประเด็นปมซื้อเรือดำน้ำ," ThaiPBS (1 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/262076>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[1] "ย้อนรอยโครงการ “เรือดำน้ำ” 7 ทศวรรษของราชนาวีไทย," มติชนออนไลน์ (13 มีนาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_493377>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[2] "เอกสารแจงสื่อ 4 หน้าเคลียร์ 6 ประเด็นปมซื้อเรือดำน้ำ," ThaiPBS (1 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/262076>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[3] "ย้อนรอยโครงการ “เรือดำน้ำ” 7 ทศวรรษของราชนาวีไทย," มติชนออนไลน์ (13 มีนาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_493377>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[4] "'ประวิตร'ยันซื้อเรือดำน้ำ3หมื่นล้าน อ้างเพื่อนบ้านมีหมดแล้ว," กรุงเทพธุรกิจ (24 มกราคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737549>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[5] "กองทัพเรือแจงเหตุต้องซื้อ "เรือดำน้ำ" ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน," บีบีซีไทย (5 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39502056>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[6] "เรือดำน้ำโผล่แล้ว! ครม.ไฟเขียวซื้อ1ลำเมื่อ18เม.ย.แต่ไม่มีการแถลง," โพสต์ทูเดย์ (24 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/491637>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[7] "ทร. เซ็นสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำจากจีนแล้ว," บีบีซีไทย (5 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-39815126>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[8] "เอกสารแจงสื่อ 4 หน้าเคลียร์ 6 ประเด็นปมซื้อเรือดำน้ำ," ThaiPBS (1 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/262076>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[9] ""วัฒนา" ซัดรัฐบาลแอบอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ," โพสต์ทูเดย์ (25 เมษายน 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/491721>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[10] "3.6 หมื่นล้านซื้อเรือดำน้ำ เอามาช่วยโปะ "บัตรทอง" ดีไหม?," โพสต์ทูเดย์ (1 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/report/492673>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[11] "สตง.แจงผลสอบเรือดำน้ำ ผ่านฉลุยทุกขั้นตอน," โพสต์ทูเดย์ (22 พฤษภาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/finance-stock/news/495993>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563. และ "คอนเฟิร์ม !! จัดซื้อ“เรือดำน้ำ”ใสสะอาด," คมชัดลึก (26 กรกฎาคม 2560), เข้าถึงจาก
<https://www.komchadluek.net/news/regional/289434>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[12] "งบกลาโหมยุค คสช.พุ่งติดท็อปโฟร์," คมชัดลึก (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก
<https://www.komchadluek.net/news/scoop/363101>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[13] "งบกลาโหมยุค คสช.พุ่งติดท็อปโฟร์," คมชัดลึก (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก
<https://www.komchadluek.net/news/scoop/363101>. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563.
[14] Christian Bueger, "What is maritime security?," Marine Policy, 53 (March, 2015): 159-160.
[15] Christian Bueger, "What is maritime security?," Marine Policy, 53 (March, 2015): 161.
[16] Cod Satrusayang, "Analysis: Does Thailand need a submarine force?," Thai Enquirer (24 August 2020), Available from <https://www.thaienquirer.com/17417/analysis-does-thailand-need-a-submarine-force/>. Accessed September 23, 2020.