งูเห่า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:05, 19 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

“งูเห่า” ในการเมืองไทย เป็นการเปรียบเปรยถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมติขัด ฝืน หรือแย้งกับมติของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากฝ่ายที่ตนเองโหวตลงคะแนนให้ เปรียบเสมือนงูเห่าในนิทานอีสป ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยชาวนา แต่กลับแว้งกัด ทำร้ายชาวนา
ผู้มีพระคุณของตนเองจนถึงแก่ความตาย คำว่า “งูเห่า” ในการเมืองไทย ถูกบัญญัติใช้ครั้งแรกใน ปีปลาย 2540 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยขณะนั้น กล่าวถึง ส.ส. กลุ่มปากน้ำ นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม ที่สังกัดพรรคประชากรไทย แต่กลับยกมือโหวตให้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พรรคประชากรไทยมีมติสนับสนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผลที่สุดก็คือ พรรคประชากรไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในสภา เมื่อถึงปี 2562 คำเรียก “งูเห่า” ถูกนำกลับมาได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ที่เด่นชัดที่สุด ก็คือ กรณี ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ 4 คน ได้แก่
นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี
และ พันตำรวจโทฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ได้ลงมติผ่านพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล
และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 อันสวนทางกับมติพรรคที่มีมติให้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงการลงมติอีกหลายครั้งในสภา จน ส.ส. ทั้ง 4 คน ต้องถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ในท้ายที่สุด

 

ชาวนากับงูเห่าในนิทานอีสป

 

ชาวนาคนหนึ่งช่วยชีวิตงูพิษซึ่งเกือบจะตายจากความหนาวเหน็บ เมื่อชาวนาให้ความอบอุ่นแก่งูตัวนั้น มันก็คลายตัวออกและรัดพันมือของชายผู้นั้น การฉกปลิดชีพเพียงครั้งเดียวคร่าชีวิตชายผู้ซึ่งหวังจะช่วยชีวิตมันไว้ ขณะที่ชาวนากำลังจะตาย เขาพูดบางคำออกมาซึ่งควรค่าแก่การจดจำว่า “ดีแล้ว ข้าได้รับสิ่งที่คู่ควรจากการแสดงความเมตตาปราณีต่อเจ้าวายร้าย![1]

 

นิทานอีสปเรื่อง “ชาวนากับงูพิษ” (The Farmer and the Viper) ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน
เพื่อเตือนใจว่า มนุษย์ไม่ควรเอื้อเฟื้อหรือให้ความเมตตาสงสารกับคนชั่ว ตราบเท่าที่เขาเป็นคนชั่ว เขาก็สามารถทำร้ายทำลายทุกคนได้แม้แต่ผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อตนเอง นอกจากนั้นแล้ว ยังมีนิทานอีสปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อเรื่องแตกต่างออกไป โดยเป็นเรื่องราวของ “งูกับชาวนา” (The snake and the farmer) เช่นเดียวกัน ทว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบมิตรภาพ ซึ่งหากแตกหัก หรือมี “รอยแผล” ไปแล้ว ก็จะไม่มีวันย้อนคืนกลับมาดีได้ดังเดิม ในกรณีนี้ “รอยแผล” เกิดขึ้นจากงูเผลอไปกัดลูกชายชาวนาจนถึงแก่ความตาย
เพราะลูกชายชาวนาเดินไปเหยียบงูที่นอนขดอยู่โดยบังเอิญ ขณะที่ชาวนาเห็นดังนั้น จึงคว้าขวานไล่ฟันงูที่เลื้อยหนีอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อชาวนาจามขวานไปโดนปลายหางงูเข้า ทันใดนั้น เขาคิดขึ้นได้ว่าตนเองเกือบจะฆ่างูตายเสียแล้ว จึงนำอาหารและน้ำไปให้งูเพื่อหวังจะคืนดีด้วย ทว่างูได้ตอบปฏิเสธมิตรภาพที่ชาวนามอบให้
โดยให้เหตุผลว่าเราทั้งคู่ต่างก็มี “รอยแผล” ที่แสนเจ็บปวดด้วยกันทั้งนั้น ตราบเท่าที่ความเจ็บจากรอยแผลของเรายังอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะหวนกลับมาอยู่กันได้อย่างสงบสุข[2] อย่างไรก็ตาม “ชาวนากับงู” เรื่องหลังนี้กลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่าและไม่ค่อยถูกนำมาเปรียบเทียบเตือนใจผู้คนในสังคมเมื่อเทียบกับเรื่องแรก

 

“งูเห่า” กับการเมืองไทย

คำเรียก “งูเห่า” ปรากฏครั้งแรก ในปี 2540 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มปากน้ำ 12 คน
นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม จากพรรคชาติไทย มีความขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค
จนกลุ่มปากน้ำไม่มีสังกัดพรรคอยู่ ทว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น รับ ส.ส. กลุ่มปากน้ำเข้ามาสังกัดพรรคประชากรไทย แต่ภายหลังกลับโหวตลงคะแนนสนับสนุนนายกรัฐมนตรีซึ่งขัดกับมติของพรรคประชากรไทย นายสมัคร สุนทรเวช จึงเปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนชาวนา ซึ่งได้ช่วยเหลืองูเห่า
แต่ภายหลังกลับมากัดตนเอง ตามท้องเรื่องในนิทานอีสป[3]

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2540 ภายหลังจากที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจึง สนับสนุนให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติพัฒนา
ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเสียงสนับสนุน 197 เสียง จากพรรคความหวังใหม่ (125 เสียง) พรรคชาติพัฒนา (52 เสียง) พรรคประชากรไทย (18 เสียง) และพรรคมวลชน (2 เสียง) ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสนับสนุนน้อยกว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอยู่เพียง 1 เสียง (196 เสียง) จากพรรคประชาธิปัตย์ (123 เสียง) พรรคชาติไทย (39 เสียง) พรรคกิจสังคม (20 เสียง) พรรคเอกภาพ (8 เสียง) พรรคเสรีธรรม (4 เสียง) พรรคพลังธรรม
(1 เสียง) และพรรคไท (1 เสียง)[4]

ดังนั้น พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้ชักชวนให้ 13 ส.ส. จากพรรคประชากรไทย อันประกอบด้วย 12 ส.ส.กลุ่มปากน้ำ และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ยกมือโหวต สนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะทำตามมติพรรคประชากรไทย อันส่งผลให้ นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไปด้วยคะแนนเสียง 209 เสียงต่อ 185 เสียง อย่างไรก็ตาม พรรคประชากรไทยได้มีมติขับ
ส.ส. ทั้ง 13 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้กลุ่มงูเห่าพ้นจากสถานภาพการเป็น ส.ส. ทว่า กลุ่มงู
ได้ยื่นคำร้องต่อศาลธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมติของพรรคหรือไม่ ศาลธรรมนูญจึงได้วินิจฉัยไว้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ว่า ส.ส. มีความเป็นอิสระและไม่จำเป็นต้องทำตามมติพรรคเสมอไป สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. จึงมิได้สิ้นสุดลงอันเนื่องมาจากเหตุแห่งการโหวตสวนมติพรรค ดังนั้น มติพรรคประชากรไทยที่ขับ ส.ส. ทั้ง 12 คน ออกจากพรรค ถือเป็นมติที่ไม่ชอบเพราะขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ[5]

ภายหลังจากการตั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย สำเร็จ แกนนำกลุ่มงูเห่า ได้รับการจัดสรรที่นั่งรัฐมนตรีไปถึง 4 ตำแหน่ง ก็คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประกอบ สังข์โต ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องตกเป็นฝ่ายค้านพร้อมกับ ส.ส. อีก 4 คนที่เหลือในพรรคประชากรไทย ก็คือ นายสุมิตร สุนทรเวช, นางลลิตา ฤกษ์สำราญ, นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และ นายสนิท กุลเจริญ[6] จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้คำเรียก “งูเห่า” นอกจากจะบ่งชี้ไปถึง 12 ส.ส.
กลุ่มปากน้ำ ของนาย วัฒนาอัศวเหม เป็นการเฉพาะแล้ว ยังถูกใช้ในการเมืองไทยโดยทั่วไปด้วย อันหมายถึง ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรค เพื่อผลประโยชน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ครั้งที่สองเกิดขึ้นในระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 หรือที่รู้จักกันในชื่อ การจัดตั้ง “รัฐบาลในค่ายทหาร”[7] เมื่อ ส.ส.อีสาน “กลุ่มเพื่อนเนวิน” 23 คน นำโดยนายเนวิน
ชิดชอบ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งยกมือโหวตสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายยกรัฐมนตรี อันเป็นที่มาของวลีที่โด่งดัง ซึ่งนายเนวิน ชิดชอบ พูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร ว่า “มันจบแล้วครับนาย”[8] เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ในปี 2551 หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้บริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี จากกรณีการทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค ภายหลังจากการยุบพรรค ส.ส. พรรคพลังประชาชน ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เว้นเพียง ส.ส.อีสาน “กลุ่มเพื่อนเนวิน”
23 คน ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ความขัดแย้งครั้งนี้ก่อตัวขึ้นจากการแบ่งสรรอำนาจภายในพรรคพลังประชาชน ระหว่าง “แก๊งออฟโฟร์” คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายธีรพล นพรัมภา นายเนวิน และนายแพทย์
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับนายทักษิณ ชินวัตร ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกอบกับการสนับสนุนให้
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังที่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า”[9]

สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้ 235 เสียง จาก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (163 เสียง)
พรรคพลังประชาชนเดิมที่ไม่ย้ายไปเพื่อไทย (เพื่อนเนวิน-กลุ่มนายสุวิทย์ คุณกิตติ จำนวน 33 เสียง) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (5 เสียง) พรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม (8 เสียง) พรรคเพื่อแผ่นดิน (12 เสียง) และพรรคชาติไทยเดิม (14 เสียง) ขณะที่พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนเพียง 198 เสียง จาก ส.ส. พรรคเพื่อไทย (178 เสียง) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (2 เสียง)
พรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม (3 เสียง) พรรคประชาราช (5 เสียง) พรรคเพื่อแผ่นดิน (9 เสียง) และพรรคชาติไทยเดิม (1 เสียง) การโหวตครั้งนี้ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ด้านกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง นั่นก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย[10]

 

'ปัญหา “งูเห่า” หลังการเลือกตั้งทั่วไป '2562

ในการเมืองไทยคำเรียก “งูเห่า” ถูกใช้เพื่อหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่โหวตสวนมติของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด เป็นที่น่าสังเกตว่าปรากฏการณ์ “งูเห่า” มักเกิดขึ้นในยุคที่กฎกติกาการเลือกตั้งถูกออกแบบให้เกิดรัฐบาลผสมจากหลายพรรค และพรรคการเมืองเองก็มิได้มีความเข้มแข็งเป็นสถาบันทางการเมืองหลักในระบอบการปกครอง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2562 ก็เกิดปรากฏการณ์ "งูเห่า" ภาคสาม ขึ้นทันทีในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ต้องมีการพิจารณาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งมีเสียงปริศนา 7 เสียงจากพรรคฝ่ายค้าน ที่ลงคะแนนลับให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์
เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร[11] นอกจากนั้นแล้ว ในการลงมติลับเพื่อเลือกรองประธานสภา 2 คน ยังมีเสียงจากพรรคฝ่ายรัฐบาลลงมติให้กับผู้ท้าชิงจากพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกรองประธานสภาคนที่ 1
และสำหรับรองประธานสภาคนที่ 2 ก็มี 3 เสียงจากฝ่ายค้าน โหวตให้การสนับสนุนอีกด้วย[12]

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาลงมติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งสภามีมติเห็นชอบ 374 เสียง ต่อ 70 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง นั้น การลงมติครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่มีมติพรรคไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้สามารถจัดทำเป็นพระราชบัญญัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องกระทำไปเพื่อเหตุผลจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุ้นชินกับการใช้อำนาจพิเศษปราศจากการตรวจสอบ จากมาตรา 44
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 พรรคอนาคต จึงขอใช้สิทธิ์ไม่เห็นชอบ เนื่องจาก “ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน และเพื่อเป็นการแสดงความไม่ยินยอมที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์​ใช้อำนาจที่ได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญ​ จนกลายเป็นพฤติกรรมไม่แยแสต่อรัฐธรรมนูญ”"[13] ในจำนวนนี้
มี ส.ส. อนาคตใหม่ 5 คน ไม่ทำตามมติพรรค โดย 3 คน ลงคะแนนโหวตเห็นชอบกับร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้แก่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พันตำรวจโทฐนภัทร
กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี และอีก 2 คน ที่งดออกเสียงมาจาก นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ และ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์[14]

ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ในการโหวต พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระแรก นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี จากพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงมติรับหลักการตามเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการสวนมติของวิปฝ่ายค้านที่ให้งดออกเสียง โดยที่ภายหลัง นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ให้สัมภาษณ์ว่าตนเองไม่ใช่ "งูเห่า" ที่รับเงินมาโหวตสวนมติพรรค แต่เป็นการลงมติไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่[15] ในเวลาใกล้เคียงกัน ปรากฏเป็นข่าวว่า นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่
พรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดย นางสาวศรีนวล บุญลือ ยืนยันว่าการเข้าพบครั้งนี้ไม่มีวาระทางการเมืองแอบแฝง เพียงแต่เป็นการนำผู้บริหารโรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดชียงใหม่ เข้าพบเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างที่พักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหลังจากถูกไฟไหม้ไปก่อนหน้านี้[16]

ทั้งนี้ วีรกรรมของ "งูเห่า" อนาคตใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ในคราวที่สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาผลกระทบคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
และผลกระทบจากมาตรา 44 โดยพรรคฝ่ายค้านยืนยันจะวอล์กเอาท์อีกเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล เสนอญัตติขอให้นับคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อ เหตุการณ์นี้ทำให้สภาล่มถึง 2 ครั้ง จนกระทั้งเมื่อถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ปรากฏว่ามี 10 เสียงของ ส.ส. จากฝ่ายค้านมาลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ในจำนวนนี้ปรากฏชื่อของ 2 ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ก็คือ นายจารึก ศรีอ่อน และ พันตำรวจโท
ฐนภัทร กิตติวงศา ลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อทำให้ที่ประชุมเดินหน้าต่อไปได้ ผลการลงมติ ก็คือ ฝ่ายรัฐบาลชนะจากการลงมติไม่เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าว ด้วยเสียง 244 เสียง ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง[17]

สิ่งที่เป็นเสมือน "ฟางเส้นสุดท้าย" ก็คือ กรณีที่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ และพันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในประเด็นเงินกู้ 191 ล้านบาท จากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่[18] เมื่อถึงวันที่ 16 มกราคม 2563 ที่ประชุมใหญ่อนาคตใหม่ จึงมติขับ 4 ส.ส. งูเห่า ประกอบด้วย นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ด้วยมติ 250 ต่อ 5 คะแนน[19]

กล่าวได้ว่ากรณี “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการเมืองไทยสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของพรรคการเมือง เพราะหากพรรคการเมืองเข้มแข็งมากพอ ก็จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับรัฐบาล (political party work as link between government and people) ได้โดยการสะท้อนผลประโยชน์ผ่านนโยบายของพรรคการเมือง[20] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกลงคะแนนเสียงโดยพิจารณาจากนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคลเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันธรรมชาติของ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผูกพันกับพื้นที่เลือกตั้งและประชาชนในพื้นที่ของตนเอง ก็ทำให้ ส.ส. แบ่งเขตจำนวนมากให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่มากกว่าการทำหน้าที่ที่เป็นทางการในรัฐสภา (เช่นเดียวกับที่ประชาชนในพื้นที่ก็คาดหวังให้ ส.ส. อยู่ให้บริการความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง) ด้วยลักษณะของพรรคการเมืองไทยดังกล่าว กอปรกับสภาพทางสังคมวิทยาข้างต้น จึงส่งผลให้เกิดกรณี “งูเห่า” ในการเมืองไทยอยู่เป็นระยะ

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งก่อนและหลังที่คำนี้จะถูกบัญญัติใช้ในการเมืองไทย
ได้สะท้อนให้เห็นมิติที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับกำหนดให้ ส.ส. มีเอกสิทธิ์ในการกระทำทางการเมือง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เนื่องจาก ส.ส. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญบางฉบับก็กำหนดให้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (party mandate) และการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็จำเป็นต้องเคารพวินัยของพรรค (party discipline) หลักปฏิบัติที่ขัดกันทั้งสองประการนี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้ ส.ส. สามารถใช้เอกสิทธิ์ที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญ กระทำการทางการเมืองตามวิจารณญาณส่วนตน

ประการที่สอง พรรคการเมืองของไทยมักมีอุดมการณ์ไม่แตกต่างกันมากนัก อันสะท้อนให้เห็นได้จากการนำเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมักมีแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 พรรคการเมืองต่างๆ เรียนรู้ว่านโยบายที่ให้ประโยชน์กับประชาชนในวงกว้างจะสามารถนำมาแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงและความนิยมในการเลือกตั้งได้ การที่ ส.ส. ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองหนึ่งลงคะแนนโหวตสวนมติพรรคที่ตนเองสังกัด
จึงเท่ากับเป็นการประเมินแล้วว่า หากตนเองถูกขับออกจากพรรคเดิมที่สังกัด ก็สามารถที่จะย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้โดยไม่มีประเด็นเรื่องอุดมการณ์ หรือ นโยบายที่แตกต่างกันของพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประการที่สาม พฤติกรรมของ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคและย้ายสังกัดพรรคการเมืองในภายหลัง
เป็นดัชนีชี้วัดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส. กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ การเลือกตั้งยังคงขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง เพราะเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ส.ส. ผู้ได้รับเลือกตั้งก็สามารถกระทำการทางการเมือง โดยปราศจากความยึดโยงกับประชาชนผู้เลือกตั้ง ความพร้อมรับผิด
และความรับผิดชอบทางการเมือง และหาก ส.ส. งูเห่า ยังคงได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมหมายความต่อไปได้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญไปที่ตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง

 

บรรณานุกรม

Aesop. (2002). Aesop's Fables. translated by Laura Gibbs. Oxford: Oxford University Press.

Dalton, Russell J., David M. Farrell, and Ian McAllister (2013). Political Parties and Democratic Linkage: How Parties Organize Democracy. Oxford: Oxford University Press.

“2 คะแนนปริศนาโผล่โหวตให้ "อนาคตใหม่" ชิงเก้าอี้รองปธ.สภาฯคนที่ 1." สยามรัฐ (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/81388>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“‘กวินนาถ’ สาบานต่อหน้าไฟ ยืนยันไม่ใช่งูเห่า โหวตสวนเพื่อประชาชน ย้ำไม่ลาออก ส.ส.." The Standard (21 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/kawinnart-takee-budget-voted-case/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“‘งูเห่า'โผล่โหวต!!'ชวน'นั่งประธานสภาชนะ'สมพงษ์'13 เสียง." โพสต์ทูเดย์ (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/590164>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“ด่วน! ที่ประชุมใหญ่อนาคตใหม่ มติขับ 4 ส.ส.งูเห่า ออกจากพรรค." มติชนออนไลน์ (16 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1818970>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“ตำนานงูเห่าการเมือง ภาค 2 เนวิน-อนุทิน-สุเทพ ชู “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ." Workpoint Today (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/ตำนานงูเห่าการเมือง-ภาค/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“เปิดผลโหวต พ.ร.ก.โอนกำลังพล '4 ส.ส.อนค.' โหวตสวน 'ปิยบุตร'." กรุงเทพธุรกิจ (17 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/851142>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

““แม้ว” ฉุนขาด! ดิ้นพล่านหมดอำนาจจูง “เนวิน” อัดยับไม่สำนึกบุญคุณ." ผู้จัดการออนไลน์ (9 ธันวาคม 2551). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9510000144845>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“ย้อนตำนานงูเห่าการเมืองไทย ก่อนเกิดซ้ำครั้งที่ 3?." Workpoint Today (3 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/political-cobra/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”." ThaiPublica (11 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/12/money-politic-dirty-games/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้ง 62: ย้อนตำนาน "งูเห่า" การเมืองไทย กับความเป็นไปได้ของงูเห่าภาค 3 เมื่อสภาเสียงปริ่มน้ำ." iLaw (2 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5238>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

“วีรกรรมโหวต – เข้าทำเนียบ 4 งูเห่าสีส้ม ถูกขับพ้น “อนาคตใหม่”." ประชาชาติธุรกิจ (16 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-402110>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

 

อ้างอิง

[1] Aesop, "The Farmer and the Frozen Viper," in Aesop's Fables, translated by Laura Gibbs (Oxford: Oxford University Press, 2002).

[2] Aesop, "The Snake and the Farmer," in Aesop's Fables, translated by Laura Gibbs (Oxford: Oxford University Press, 2002).

[3] "ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”," ThaiPublica (11 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/12/money-politic-dirty-games/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[4] "ย้อนตำนานงูเห่าการเมืองไทย ก่อนเกิดซ้ำครั้งที่ 3?," Workpoint Today (3 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/political-cobra/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[5] "ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”," ThaiPublica (11 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/12/money-politic-dirty-games/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[6] "เลือกตั้ง 62: ย้อนตำนาน "งูเห่า" การเมืองไทย กับความเป็นไปได้ของงูเห่าภาค 3 เมื่อสภาเสียงปริ่มน้ำ," iLaw (2 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5238>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[7] "ตำนานงูเห่าการเมือง ภาค 2 เนวิน-อนุทิน-สุเทพ ชู “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ," Workpoint Today (26 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/ตำนานงูเห่าการเมือง-ภาค/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[8] "“แม้ว” ฉุนขาด! ดิ้นพล่านหมดอำนาจจูง “เนวิน” อัดยับไม่สำนึกบุญคุณ," ผู้จัดการออนไลน์ (9 ธันวาคม 2551), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9510000144845>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[9] "ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”," ThaiPublica (11 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/12/money-politic-dirty-games/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[10] "ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”," ThaiPublica (11 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2019/12/money-politic-dirty-games/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[11] "'งูเห่า'โผล่โหวต!!'ชวน'นั่งประธานสภาชนะ'สมพงษ์'13 เสียง," โพสต์ทูเดย์ (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/590164>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[12] "2 คะแนนปริศนาโผล่โหวตให้ "อนาคตใหม่" ชิงเก้าอี้รองปธ.สภาฯคนที่ 1," สยามรัฐ (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/81388>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[13] "เปิดผลโหวต พ.ร.ก.โอนกำลังพล '4 ส.ส.อนค.' โหวตสวน 'ปิยบุตร'," กรุงเทพธุรกิจ (17 ตุลาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/851142>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[14] "เปิดผลโหวต พ.ร.ก.โอนกำลังพล '4 ส.ส.อนค.' โหวตสวน 'ปิยบุตร'," กรุงเทพธุรกิจ (17 ตุลาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/851142>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[15] "‘กวินนาถ’ สาบานต่อหน้าไฟ ยืนยันไม่ใช่งูเห่า โหวตสวนเพื่อประชาชน ย้ำไม่ลาออก ส.ส.," The Standard (21 กันยายน 2562), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/kawinnart-takee-budget-voted-case/>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[16] "วีรกรรมโหวต – เข้าทำเนียบ 4 งูเห่าสีส้ม ถูกขับพ้น “อนาคตใหม่”," ประชาชาติธุรกิจ (16 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-402110>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[17] "วีรกรรมโหวต – เข้าทำเนียบ 4 งูเห่าสีส้ม ถูกขับพ้น “อนาคตใหม่”," ประชาชาติธุรกิจ (16 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-402110>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[18] "วีรกรรมโหวต – เข้าทำเนียบ 4 งูเห่าสีส้ม ถูกขับพ้น “อนาคตใหม่”," ประชาชาติธุรกิจ (16 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-402110>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[19] "ด่วน! ที่ประชุมใหญ่อนาคตใหม่ มติขับ 4 ส.ส.งูเห่า ออกจากพรรค," มติชนออนไลน์ (16 ธันวาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1818970>. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563.

[20] Russell J. Dalton, David M. Farrell, and Ian McAllister, Political Parties and Democratic Linkage: How Parties Organize Democracy (Oxford: Oxford University Press, 2013), pp. 215-218.