ออกกำลังกายทุกวันพุธ
ออกกำลังกายทุกวันพุธ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ความนำ
"ออกกำลังกายทุกวันพุธ" เป็นนโยบายของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2559 โดยกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดกิจกรรมออกกำลังกายทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 15.00 - 16.30 น. เพื่อสร้างเสริมให้ข้าราชการและเข้าพนักงานของรัฐที่สังกัดในหน่วยราชการมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีการจัดกิจกรรมทางกายมากขึ้น นโยบายออกกำลังกายทุกวันพุธ ถูกกำหนดขึ้นภายหลังจากที่ พลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบผลการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (ISPAH 2016 Congress) ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 ที่ระบุว่าประชากรไทยซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย (Physical Inactivity) จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases--NCDs) รัฐบาลจึงออกมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องการเข้าไปส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเครียด และเพิ่มพลังในการทำงาน ภายหลังจากออกนโยบาย
"ออกกำลังกายทุกวันพุธ" นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ร่วมออกกำลังกายพร้อมกับข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ นโยบาย "ออกกำลังกายทุกวันพุธ" ก็ได้รับคำชื่นชมจาก ศาสตราจารย์ ดร.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (ISPAH) รวมถึง ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) อีกด้วย
การส่งเสริมให้พลเมืองออกกำลังกายก่อนรัฐบาล คสช.
นโยบายส่งเสริมให้ประชากรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอในประเทศไทย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล คสช. เท่านั้น เพราะสามารถย้อนกลับไปได้ถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2481-2487)
ที่มีนโยบาย "รัฐนิยม" ซึ่งหลายส่วนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ "ออกกำลังกายทุกวันพุธ" อาทิ ความต้องการที่จะส่งเสริมสุขภาพประชากรเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ทว่านโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความครอบคลุมในทุกวิติของกิจวัตรประจำวัน ค่านิยม บุคลิกของประชากร การแต่งกาย ซึ่งรวมกันแล้วบ่งบอกถึง "อัตลักษณ์ความเป็นชาติไทย" (Thai identity) ที่มีความแตกต่างโดดเด่นจากชาติอื่นๆ ตลอดจนมีเป้าหมายในทางนโยบายที่แตกต่างออกไปอย่างมาก กล่าวคือ ต้องการที่จะพาชาติไปสู่การเป็นมหาอำนาจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างระเบียบควบคุมหน่วยของประชากรเพื่อที่จะบรรลุถึงความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมในสายตานานาอารยะประเทศ ทั้งนี้ ในวิทยานิพนธ์ของก้องสกล กวินรวีกุล เรื่อง "การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487"[1] ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างปี
2481-2487 ได้อาศัยกลไกของรัฐและนโยบายต่างๆ ในอันที่จะเข้าไปจัดระเบียบควบคุมประชากรเพื่อให้เกิดวินัยในร่างกาย โดยมีกระบวนการประกอบสร้างร่างกายพลเมืองใน 4 มิติที่สำคัญ ได้แก่
ด้านที่หนึ่ง การสร้างประชากรรุ่นใหม่ จากพ่อแม่ที่มีพันธุ์สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
มีลักษณะอันพึงประสงค์ โดยใช้หลักเรื่องการปรับปรุงพันธุกรรมของประชากรให้ดีขึ้น (Eugenics) และหลักวิชาการสถิติประชากรมาใช้ในการประเมินจำนวนประชากรที่เหมาะสมแก่ประเทศไทย ทั้งยังมีประชากรรุ่นต้นแบบที่เรียกว่า "ลูกไทย" สำหรับอนาคตอีกด้วย
ด้านที่สอง การเน้นคุณภาพด้านสุขอนามัยของพลเมือง โดยการรณรงค์ให้บริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและถูกสุขลักษณะ บริโภคตรงเวลา เน้นอาหารโปรตีน ส่งเสริมรณรงค์การออกกำลังกายบริหาร เล่นกีฬา เดินทางไกล เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งและสร้างวินัยของร่างกาย รวมถึงการกำหนดสัดส่วนรูปร่างของคนไทยสมัยสร้างชาติ ทั้งเรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง และมีเรือนร่างในอุดมคติ
ด้านที่สาม การสร้างวินัยในหมู่พลเมือง ซึ่งเริ่มต้นแต่การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันของเด็ก เยาวชน มีการอบรมให้ความรู้ด้านการมีความคิดริเริ่มในหมู่พลเมือง การอบรมเลี้ยงดูเด็ก เยาวชน ให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย การส่งเสริมให้เกิดความเชื่อที่ทันสมัยและละเลี่ยงความเชื่องมงาย ที่แสดงออกถึงความ "ล้าหลัง" และชาติไม่พัฒนา ทั้งนี้ รัฐยังเข้าไปจัดการจัดระเบียบวินัยให้กับ "เด็กเกเร" และ "คนจรจัด" อีกด้วย
ด้านที่สี่ การแสดงออกทางร่างกายของพลเมืองเพื่อสื่อถึงความเจริญของจิตใจ โดยรัฐได้ออกมาตรการรณรงค์ให้เกิดการแต่งกาย ปรุงแต่ง ดัดแปลงร่างกาย ที่สื่อแสดงถึงความเป็นอารยะ มีมารยาทอันดีงาม และสะท้อนถึงความเป็นไทยไปพร้อมกัน
กล่าวเฉพาะการส่งเสริมรณรงค์ให้พลเมืองออกกำลังกาย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดกิจกรรมให้ข้าราชการกว่า 800 คน จาก 3 กระทรวง ได้แก่ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ออกเดินเท้าทางไกลจากพระนครไปยังจังหวัดนนทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมทางกาย ระเบียบวินัย และการจัดการชีวิตประจำวันให้กับข้าราชการมีความกระตือรือร้นเพราะประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม[2] นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งเสริมกายบริหารผ่านทางสถานีวิทยุเพื่อแนะนำท่าออกกำลังกายให้กับประชาชน หนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คู่มือกายบริหาร การจัดแสดงสาธิตในงานสำคัญต่างๆ อาทิ งานวันแม่ งานวันชาติ ตลาดนัด และการชุมนุมต่างๆ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ทางการยังมีคำสั่งการให้ข้าราชการหยุดงานเพื่อ “เล่นกีฬาทุกวันพุธ” โดยกำหนดไว้ 3 ประเภท ก็คือ กีฬาประเภทรวมหมู่ (การหัดท่ามือเปล่า ระเบียบแถว การดัดตนท่ามือเปล่า และกรีฑา) กีฬาประเภทบุคคล (มวล ฟันดาบ กระบี่กระบอง) และกีฬาประเภทชุด (ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส แบ็ดมินตัน ปิงปอง ตะกร้อ)[3] เหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายสำคัญก็เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและพร้อมที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่
"ออกกำลังกายทุกวันพุธ" ตามนโยบายรัฐบาล คสช.
"การออกกำลังกายทุกวันพุธ" ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป ให้ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล และส่วนราชการต่างๆ มีกิจกรรมทางกาย ในช่วงเวลา 15.00 - 16.30 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและพลานามัยของประชากรไทย ภายหลังจากพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี สรุปรายงานผลการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (ISPAH 2016 Congress) ซึ่งความกังวลว่าเด็กและผู้สูงอายุของคนไทยมีกิจกรรมเหนือยนิ่ง เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่กับการใช้งานแท็ปเลตและดูโทรทัศน์เป็นระยะเวลานาน จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases--NCDs) [4] ดังที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ มาเป็น “โรคที่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกายในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นด้วย"[5] ดังนั้น รัฐบาลจึงมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มความตื่นตัวในการทำงาน ลดความเครียด และเพิ่มพลังในการทำงานของข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย
ภายหลังจากมีข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ข้าราชการออกกำลังทุกวันพุธ และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศมีกิจกรรมการกายบริหารอย่างสม่ำเสมอ หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นต่างขานรับนโยบายทันทีและเป็นไปอย่างคึกคัก อาทิ กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรม “BMA SPORT DAY ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที” บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างสุชภาพกายและจิตใจให้เพื่อให้บุคลากรกรุงเทพมหานครได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน มีสุขภาพที่แข็งแรง ลดภาวะการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลและให้บริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ[6] หรือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกิจกรรมออกกำลังกายเต้นแอโรบิค บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[7] เป็นต้น สำหรับทำเนียบรัฐบาลนั้น ได้ใช้บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เป็นที่ออกกำลังกาย และหากนายกรัฐมนตรีมีเวลาว่างก็จะลงมาออกกำลังกายร่วมกับข้าราชการด้วย ทั้งขอให้ข้าราชการทุกเปลี่ยนชุดที่พร้อมสำหรับออกกำลังร่วมกัน และภายหลังจากเสร็จสิ้นเวลาออกกำลังกายแล้ว ก็สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันส่วนตัวได้ตามปกติ[8]
กล่าวได้ว่า นโยบาย "ออกกำลังกายทุกวันพุธ" ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการตอบรับจากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับคำชื่นชมจากผู้นำองค์การสาธารณสุขระดับนานชาติ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
(The International Society for Physical Activity and Health - ISPAH)[9] ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ความสำเร็จก้าวแรกของปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ได้ประกาศในการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 เช่นเดียวกับ ดร.พูนาม ซิงห์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) ที่ได้กล่าวของคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลไทย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมทางกาย อันเป็นการนำไปสู่สุขภาพที่ดีของประชากรนับล้านทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ให้ผลตอยแทนสูงมากแก่กลับคืนแก่สังคมไทย จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นต้นแบบของนานาประเทศทั่วโลก
ในการสร้างมาตรการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ปัจจุบันถือเป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากทั่วโลก[10]
บทส่งท้าย
การรณรงค์ส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนออกกำลังกายและการบริหารอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นหนึ่งในมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชากรของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจให้สมบูรณ์แข็งแรง มีความพร้อมในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณภาครัฐในอันที่จะเข้าไปช่วยดูแลกลุ่มประชากรที่ประสบปัญหาสุขภาพจากพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือขาดกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของภาครัฐต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชากรดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นกรอบมโนทัศน์และวิธีการบริหารจัดการประชากรรูปแบบใหม่ของรัฐ ดังที่ Michel Foucault นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ชี้เห็นว่า การจัดการประชากรของรัฐตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มุ่งเน้นไปที่ความเป็นเอกภาพและความมั่นคงของสังคมโดยรวม โดยมีหน่วยในการจัดการคือ “ปัจเจกชน” ที่รัฐได้เข้าไปจัดระเบียบวินัยและมีการลงโทษไปพร้อมกัน (discipline and punish) ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในกรณีนี้ ก็คือ ทัณฑสถานสมัยใหม่ โรงพยาบาล และค่ายทหาร ผลที่สุดก็คือ จะได้ผลผลิตของประชากรที่มีวินัยและมีความเชื่องเชื่อไปในเวลาเดียวกัน รัฐจึงสามารถกำกับควบคุมประชากรเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย[11]
แต่เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 รัฐได้เปลี่ยนแปลงกลไกการจัดการจากการควบคุม สร้างวินัย การลงโทษ และการทรมาน มาสู่เทคโนโลยีแห่งอำนาจรูปแบบใหม่ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่การใช้อำนาจชีวะ (bio-power) ในระดับที่สังเกตเห็นได้ยากและลึกไปจนถึงการจัดการในระดับจุลมิติ (microphysics of power) และเป็นการปกครองสำนึกของปัจเจกบุคคล (governmentality) ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดการควบคุมตนเองในอันที่จะดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรง เกิดความเป็นปัจเจกภาพในการดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองโดยไม่ได้คิดว่าตนเองนั้นถูกควบคุมและบงการจากภายนอก[12] การใช้อำนาจรูปแบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพมากกว่าและเกิดประสิทธิผลแก่ฝ่ายรัฐกว้างขวางกว่า เพราะนอกจากจะไม่ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อที่จะผลิตประชากรอันพึงประสงค์ รวมถึงยังเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้กับประเทศแล้ว ประชากรยังเกิดความรู้สึกเชิงบวกต่ออำนาจรัฐและเกิดความภาคภูมิใจต่อสุขภาพที่ดีของตนเอง กล่าวได้ว่า ข้อวิเคราะห์ข้างต้นอาจทำให้เข้าใจถึงนวัตกรรมการใช้อำนาจรัฐที่สังเกตเห็นได้ยากยิ่ง ทว่านวัตกรรมแห่งอำนาจและการจัดการประชากรของรัฐในศตวรรษที่ 21 ก็ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปอย่างใหญ่หลวง นั่นก็คือ การทำให้อายุคาดเฉลี่ย (average life expectancy) ของประชากรยืนยาวขึ้นซึ่งถือเป็นมิติเชิงบวกของ “วาทกรรมสุขภาพ” (health discourse)
บรรณานุกรม
Foucault, Michel. (1977) Discipline and Punish: The Birth of the Prison. translated by Alan Sheridan. New York : Pantheon Books.
___________. (2009). Security, Territory, Population: Lectures at the Collège de France 1977—1978. Translated by Arnold I. Davidson. Edited by Michel Senellart. New York: Picador.
“ก.วิทย์ฯ ขานรับนโยบายรัฐบาล ออกกำลังกายทุกวันพุธสร้างข้าราชการสุขภาพดี." กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (30 พฤศจิกายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.mhesi.go.th/main/th/34-news/news-gov/5895-301159>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
“กทม.ขานรับออกกำลังกายวันพุธ แต่ต้องไม่กระทบงาน." เดลินิวส์ออนไลน์ (21 ธันวาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/bangkok/544228>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
ก้องสกล กวินรวีกุล. (2545)."การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487." วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
“ชื่นชมรัฐบาลไทย ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ." สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (23 พฤศจิกายน 2559). เข้าถึงจาก
<https://www.thaihealth.or.th/Content/34146-ชื่นชมรัฐบาลไทย%20ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
““บิ๊กตู่"สั่งทุกวันพุธ ให้ขรก.ทั่วประเทศออกกำลังกาย เริ่มบ่ายสามโมง30พย.นี้."
ข่าวสดออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_109951>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
“เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ “ISPAH 2016 Congress”." สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (16 พฤศจิกายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.thaihealth.or.th/Content/34023-เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ%20“ISPAH%202016%20Congress”.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[1] โปรดดู ก้องสกล กวินรวีกุล, "การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487," (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545).
[2] ก้องสกล กวินรวีกุล, "การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487," หน้า 98.
[3] ก้องสกล กวินรวีกุล, "การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487," หน้า 106-107.
[4] "เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ “ISPAH 2016 Congress”," สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (16 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.thaihealth.or.th/Content/34023-เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ%20“ISPAH%202016%20Congress”.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[5] "เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ “ISPAH 2016 Congress”," สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (16 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.thaihealth.or.th/Content/34023-เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ%20“ISPAH%202016%20Congress”.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[6] "กทม.ขานรับออกกำลังกายวันพุธ แต่ต้องไม่กระทบงาน," เดลินิวส์ออนไลน์ (21 ธันวาคม 2559), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/bangkok/544228>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[7] "ก.วิทย์ฯ ขานรับนโยบายรัฐบาล ออกกำลังกายทุกวันพุธสร้างข้าราชการสุขภาพดี," กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (30 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.mhesi.go.th/main/th/34-news/news-gov/5895-301159>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[8] ""บิ๊กตู่"สั่งทุกวันพุธ ให้ขรก.ทั่วประเทศออกกำลังกาย เริ่มบ่ายสามโมง30พย.นี้," ข่าวสดออนไลน์ (22 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_109951>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[9] "ชื่นชมรัฐบาลไทย ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ," สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (23 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.thaihealth.or.th/Content/34146-ชื่นชมรัฐบาลไทย%20ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[10] "ชื่นชมรัฐบาลไทย ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ," สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (23 พฤศจิกายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.thaihealth.or.th/Content/34146-ชื่นชมรัฐบาลไทย%20ส่งเสริมข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563.
[11] โปรดดูรายละเอียดใน Michel Foucault, Discipline and Punish: The Birth of the Prison, translated by Alan Sheridan (New York : Pantheon Books, c1977).
[12] โปรดดูรายละเอียดใน Michel Foucault, Security, Territory, Population: Lectures at the Collège de France 1977—1978, Translated by Arnold I. Davidson, Edited by Michel Senellart (New York: Picador, 2009).