ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” เป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 เนื่องด้วยระบบเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคที่ได้จำนวนสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตยิ่งมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลให้ได้รับปันส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีน้อยลงไปด้วยเท่านั้น เพื่อป้องกันการผูกขาดเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยกติกาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่เคยได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา จึงได้มีกลยุทธด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในเครือข่ายในลักษณะของพรรคพันธมิตร โดยมุ่งหวังให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักในการช่วงชิงจำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ขณะที่พรรคอื่นๆ คอยเก็บคะแนนเสียงเพื่อนำไปรวมเป็นโควตาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่นาน แผนกลยุทธดังกล่าวก็ต้องประสบปัญหาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พรรคพี่พรรคน้อง” กันนั้น[1] ได้วางยุทธศาสตร์โดยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสับหลีกกันในแต่ละเขตเลือกตั้ง ทำให้เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ในหลายเขตเลือกตั้งจึงไม่มีชื่อผู้สมัครทั้งของพรรคไทยรักษาชาติและพรรคเพื่อไทยไปด้วยนั่นเอง
“แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” : ยุทธศาสตร์เลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่
ด้วยเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการผูกขาดเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคใดพรรคหนึ่งหรือการทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายจนเป็นที่มาของ “ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” (mixed member apportionment system หรือ MMA)[2] ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งให้แตกต่างไปจากครั้งก่อน
ที่สำคัญคือผู้ลงคะแนนจะได้รับบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพื่อใช้เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของแต่ละพรรคการเมือง และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดอยู่ เพื่อคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับอีกต่อหนึ่ง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ “กาครั้งเดียว ได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค” แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่แยกบัตรลงคะแนนออกเป็น 2 ใบ สำหรับเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตใบหนึ่ง และอีกใบหนึ่งสำหรับให้ผู้ลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง ดังคำขวัญที่ว่า “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”
กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น ยังรวมถึงการที่ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันที่ลงสมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้รับหมายเลขที่ต่างกัน[3] หรือการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งด้วยกติกาที่เปลี่ยนแปลงทำให้บรรดาพรรคการเมืองมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ใช้ในการส่งผู้สมัครและการรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพรรคเพื่อไทยที่หลายฝ่ายมองว่าถูกสกัดกั้นโดยตรงด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่นี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า คือในปี พ.ศ.2544 พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงและที่นั่งมากที่สุดทั้งประเภทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ แต่ด้วยกติกาใหม่จะทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งถึงแม้ยังคงถูกคาดการณ์ว่าจะได้จำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเป็นจำนวนมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อนำคะแนนเสียงไปคำนวณเพื่อจัดสรรปันส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวนที่นั่งในส่วนนี้ลดน้อยลง หรือหากมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเกินคะแนนนิยมของพรรคก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของบัญชีรายชื่อ[4]
ด้วยเหตุข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงได้มีการแก้เกมด้วยการแบ่งพรรคการเมืองออกในรูปของพรรคเครือข่ายหรือพรรคพันธมิตร ประกอบด้วย พรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ ที่มีนักการเมืองในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยรวมถึงอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าไปร่วมสังกัด[5] ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติซึ่งถูกตั้งขึ้นมาให้มีความสัมพันธ์เป็นดัง “พรรคพี่พรรคน้อง” กับพรรคเพื่อไทยนั้นก็ได้มีบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ย้ายเข้าไปร่วมงาน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล เป็นต้น[6] ยุทธศาสตร์การแบ่งออกเป็นหลายพรรคดังกล่าวได้ถูกสื่อมวลชนเรียกขานในชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “แตกเพื่อโต” “แยกกันเดินรวมกันตี”[7] หรือที่คุ้นหูกันคือชื่อ “ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลักในการเก็บที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ขณะที่พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพรรคไทยรักษาชาติที่สื่อมวลชนมีการประเมินว่าถูกวางบทไว้ให้ “บุกไปแพ้”[8] จากการที่พรรคได้มีการส่งผู้สมัครแบบสลับเขตพื้นที่กับพรรคเพื่อไทย เพื่อเลี่ยงการแย่งคะแนนกันเอง โดยพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งสิ้น 250 เขต ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติส่งผู้สมัครทั้งสิ้น 150 เขต โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 30 เขต พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 22 เขต ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติส่งผู้สมัคร 8 เขต โดยที่ทั้งสองพรรคไม่มีการส่งผู้สมัครซ้ำเขตเลือกตั้งกัน[9] ยิ่งตอกย้ำความสำคัญในข้อนี้ที่ต้องการให้พรรคไทยรักษาชาติเก็บคะแนนในเขตเลือกตั้งที่แพ้ เพื่อให้ได้คะแนนมารวมและคำนวณออกมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทดแทนการขาดหายไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่ส่งลงในนามพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม “ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายได้กลายเป็นคำที่แพร่หลายในบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนก็มาจากการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ได้ออกมาคาดการณ์ว่าการเดินยุทธศาสตร์ของพรรคในเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณนั้น อาจทำให้พรรคเหล่านี้ได้ที่นั่งรวมถึงราว 300 ที่นั่ง ส่งผลให้ขั้วฝ่ายพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ควรต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้การประเมินของนายสุเทพได้นับรวมพรรคอนาคตใหม่ร่วมอยู่ในตัวเลขดังกล่าวไว้ด้วย[10]
ผลพวงจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ทว่ายังมิทันถึงวันเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 จากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งคำสั่งยุบพรรคดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าวันเลือกตั้งเพียง 17 วันเท่านั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมเครือข่าย โดยเฉพาะการที่พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติที่มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสับหลีกกันในหลายเขตเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เป็นการแย่งคะแนนเสียงกันเองนั้น เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ในหลายเขตเลือกตั้งจึงไม่มีรายชื่อของผู้สมัครทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติลงแข่งขัน จึงเป็นที่จับตากันว่าคะแนนเสียงที่ถูกคาดหมายว่าประชาชนจะลงคะแนนให้กับพรรคไทยรักษาชาตินั้นจะตกไปอยู่กับพรรคการเมืองใดบ้าง ได้มีนักวิชาการต่างออกมาวิเคราะห์และแสดงความเห็นไปในหลายแนวทาง อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยังเห็นว่าแม้เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเสียประโยชน์อย่างมาก แต่คะแนนเสียงที่คาดว่าจะเป็นส่วนของพรรคไทยรักษาชาติก็จะยังคงอยู่กับซีกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เนื่องมาจากจุดยืนทางการเมืองที่มีร่วมกัน ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือเป็นพรรคแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) แต่มีระยะห่างกับขั้วฝ่ายพรรคเพื่อไทยอยู่ระดับหนึ่ง น่าจะเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น[11]
จากยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” สู่ปรากฎการณ์ “ส้มหล่นทางการเมือง”
ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการนับคะแนนออกมา แม้ว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายสืบเนื่องมาหลายสมัย จะยังคงได้จำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นลำดับที่หนึ่ง แต่ทว่าจำนวนที่นั่งที่ได้รับกลับไม่ทิ้งห่างพรรคคู่แข่งในขั้วตรงข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐเท่าใดนัก ขณะที่พรรคเครือข่ายภายใต้ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงค์ร้อยก็มีเพียงพรรคเพื่อชาติที่ได้จำนวนที่นั่งเล็กน้อย ซึ่งมาจากคะแนนเสียงที่แปรผลมาจากคะแนนรวมที่พรรคได้รับหรือที่เรียกว่า Popular Vote แต่ที่ดูจะสร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้เฝ้าติดตามการเมืองอยู่พอสมควรคือในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพรรคน้องใหม่ทางการเมืองที่พึ่งจัดตั้งและส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งเป็นสมัยแรก กลับได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 80 ที่นั่ง โดยส่วนมากมาจากคะแนน Popular Vote ของพรรค ในประเด็นนี้นักวิชาการที่เฝ้าติดตามการเลือกตั้งได้วิเคราะห์ว่าการที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนและจำนวนที่นั่งมากถึงเพียงนี้ ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติที่ทำให้เกิดช่องว่างของผู้ที่ต้องการลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักษาชาติแต่เดิม จึงหันมาเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงข้าม คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพรรคอนาคตใหม่[12] ที่เรียกได้ว่ารับ “ส้มหล่น” จากเหตุการณ์การยุบพรรคดังกล่าว
บรรณานุกรม
“กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (30 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/analysis/572405>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“‘แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?.” The Matter. (21 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“รู้จัก “พรรคไทยรักษาชาติ” ให้มากขึ้น กางยุทธศาสตร์ แก้เกมสู้เลือกตั้ง พรรคพี่พรรคน้อง “พท.-ทษช.” รอลุ้นบัญชี “นายกฯ”.” มติชนสุดสัปดาห์. 7 กุมภาพันธ์ 2562
“เลือกตั้ง 2562 : ที่สุดที่คุณอาจยังไม่รู้ก่อนเข้าคูหา’.” บีบีซี. (18 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46902175>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
“สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย.” iLAW. (4 เมษายน 2559) เข้าถึงจาก <https://www.ilaw.or.th/node/4079>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
สันติชัย อาภรณ์ศรี. “ย้อนรอยดูการออกแบบที่ ‘ทรงพลานุภาพ’ ของรัฐธรรมนูญ 60.” The Momentum,
(6 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/how-constitution-2017-works/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“เสียงเตือน ‘สุเทพ’ ที่ต้องฟังให้ได้ยิน แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ‘แม้ว’ กวาด 300 ที่นั่ง.” มติชนออนไลน์. (13 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1224327>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “เลือกตั้ง 2562 : “ระบอบทักษิณ” กับ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”.” บีบีซี. (16 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46231340>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
“อาฟเตอร์ช็อกการเมือง หลังยุบพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’.” มติชนออนไลน์. (9 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1398079>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
McCargo, Duncan. “Southeast Asia’s Troubling Elections: Democratic Demolition in Thailand.” Journal of Democracy, Vol.30, No.4 (October, 2019), pp.119-133.
อ้างอิง
[1] “รู้จัก “พรรคไทยรักษาชาติ” ให้มากขึ้น กางยุทธศาสตร์ แก้เกมสู้เลือกตั้ง พรรคพี่พรรคน้อง “พท.-ทษช.” รอลุ้นบัญชี “นายกฯ”,” มติชนสุดสัปดาห์, (7 กุมภาพันธ์ 2562)
[2] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย,” iLAW, (4 เมษายน 2559) เข้าถึงจาก <https://www.ilaw.or.th/node/4079>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[3] “เลือกตั้ง 2562 : ที่สุดที่คุณอาจยังไม่รู้ก่อนเข้าคูหา’,” บีบีซี, (18 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://
www.bbc.com/thai/thailand-46902175>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
[4] สันติชัย อาภรณ์ศรี, “ย้อนรอยดูการออกแบบที่ ‘ทรงพลานุภาพ’ ของรัฐธรรมนูญ 60,” The Momentum,
(6 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/how-constitution-2017-works/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[5] “‘แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?,” The Matter, (21 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[6] “กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง,” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (30 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://
www.posttoday.com/politic/analysis/572405>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[7] “เสียงเตือน ‘สุเทพ’ ที่ต้องฟังให้ได้ยิน แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ‘แม้ว’ กวาด 300 ที่นั่ง,” มติชนออนไลน์,
(13 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1224327>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[8] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2562 : “ระบอบทักษิณ” กับ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”,” บีบีซี, (16 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46231340>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[9] “‘แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?,” The Matter, (21 กุมภาพันธ์ 2562) เข้าถึงจาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[10] “เสียงเตือน ‘สุเทพ’ ที่ต้องฟังให้ได้ยิน แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ‘แม้ว’ กวาด 300 ที่นั่ง,” มติชนออนไลน์,
(13 พฤศจิกายน 2561) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/newsroom-analysis/news_1224327>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
[11] “อาฟเตอร์ช็อกการเมือง หลังยุบพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’,” มติชนออนไลน์, (9 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://
www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1398079>. เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2563.
[12] Duncan McCargo, “Southeast Asia’s Troubling Elections: Democratic Demolition in Thailand,” Journal of Democracy, Vol.30, No.4 (October, 2019), p.129.