แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เป็นข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาจำนวนมากที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่งผลให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้มีการนำกฎเกณฑ์กติกาใหม่เหล่านี้มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system) หรือ MMA การปรับลดจำนวนบัตรลงคะแนนจากเดิมที่มี 2 ใบ ให้เหลือเพียง 1 ใบ ครอบคลุมทั้งการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ[1] อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่พรรคเห็นสมควรให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ประชาชนได้ทราบรายชื่อบรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น โดยในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นมีพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเข้าร่วมชิงชัยในสนามเลือกตั้งจำนวนมาก ทำให้รายชื่อผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้การรับรองมีจำนวนมากตามไปด้วย แต่ถึงอย่างไร สำหรับรายชื่อบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคงหนีไม่พ้นบรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่ได้เสนอชื่อของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น
พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นข้อกำหนดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคให้ประชาชนได้ทราบก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้แต่ละพรรคเสนอรายชื่อแคนดิเดตได้จำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ทั้งนี้โดยได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ขณะที่บางพรรคการเมืองอาจพิจารณาไม่เสนอชื่อบุคคลก็ย่อมได้ (มาตรา 88 และ มาตรา 89)[2]
แม้ว่าการกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบรายชื่อของบุคคลผู้ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่าในประเด็นดังกล่าวก็มิใช่เรื่องใหม่อย่างสิ้นเชิงทีเดียว โดยเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ อย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2544 ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 นับเป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งประเภทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเป็น 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน และอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือที่เรียกว่าปาร์ตี้ลิสต์ (party-list) จำนวน 100 คน ในแบบบัญชีรายชื่อนี้เองที่ให้พรรคการเมืองได้ส่งรายชื่อผู้สมัครจำนวน 100 คน เข้าร่วมแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่มีประเทศเป็นเสมือนเขตเลือกตั้ง โดยเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วรายชื่อเหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเพื่อแปลงเป็นที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร การส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องจัดเรียงลำดับของรายชื่อที่ถูกเสนออย่างไร แต่เป็นที่ทราบกันว่าแต่ละพรรคการเมืองนิยมที่จะส่งผู้สมัครที่ทางพรรคคาดหมายให้ชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ในลำดับที่ 1 ของบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นแล้ว ประชาชนก็จะได้ทราบโดยอนุโลมว่าแต่ละพรรคการเมืองได้เสนอรายชื่อของบุคคลใดเพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังปรากฎตามผลการเลือกตั้งทั้งในปี พ.ศ.2544 และในปี พ.ศ.2548 ที่พรรคไทยรักไทยสามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ความสำคัญของรายชื่อลำดับแรกในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองยังคงอยู่มา แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาเป็นฉบับ พ.ศ.2550 พร้อมกับปรับเปลี่ยนจำนวนสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบ
แบ่งเขตและแบบบัญชีก็ตาม การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2550
และ พ.ศ.2554 ก็ยังคงเป็นการชิงชัยกันระหว่างสองพรรคใหญ่ในขณะนั้น คือพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายหนึ่งกับพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ต่างก็พยายามสนับสนุนให้บุคคลผู้ที่อยู่ในรายชื่อลำดับแรกของพรรคตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์จึงเป็นเสมือนกับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถึงแม้จะมิได้มีลักษณะบังคับเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ก็ตาม
ทว่าข้อแตกต่างประการสำคัญที่ทำให้การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มีลักษณะเฉพาะและกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ คือการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สมัครหรือสมาชิกของพรรคซึ่งแตกต่างจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ที่นายกรัฐมนตรีต้องมีที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง อีกทั้งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ยังได้เปิดช่องไว้ในกรณีที่รัฐสภาไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ โดยให้สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ (มาตรา 272)[3] อันเป็นการเปิดทางให้ “คนนอก” สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้[4]
แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกับข้อต่อรองทางการเมือง
จากกระแสความตื่นตัวทางการเมือง ประกอบกับกลไกการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่พยายามสกัดมิให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่สามารถผูกขาดคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรดังเช่นที่ผ่านมา ทำให้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 มีพรรคการเมืองจำนวนมากถึง 81 พรรคที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง[5] ส่งผลทำให้มีรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมากตามไปด้วย รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรับรองมีถึง 68 รายชื่อ จากที่เสนอทั้งสิ้น 44 พรรคการเมือง[6] โดยรายชื่อที่ประชาชนให้ความสนใจและถูกกล่าวถึงผ่านสื่อมวลชนต่างๆ คงหนีไม่พ้นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางซึ่งหลายคนมองว่ามีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน อาทิ พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ และ นายชัยเกษม นิติศิริ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอชื่อ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา เป็นต้น[7] ขณะที่ทางฝั่งพรรคไทยรักษาชาติซึ่งได้เสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคซึ่งสร้างความสนใจและกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนั้น สุดท้ายแล้วได้นำมาสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำส่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ[8] ทำให้พระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มิได้ปรากฎอยู่ในจำนวนรายชื่อชุดสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองแต่อย่างใด ภายหลังการเลือกตั้ง รายชื่อของผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะถูกคัดกรองเหลือเพียงเฉพาะรายชื่อจากบัญชีของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และต้องได้รับเสียงรับรองจากสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159)[9]
จากข้อกำหนดในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้รายชื่อผู้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิถูกเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภามีจำนวนทั้งสิ้น 7 รายชื่อ โดยมาจากพรรคการเมืองที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 25 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ และ นายชัยเกษม นิติศิริ) พรรคพลังประชารัฐ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) พรรคอนาคตใหม่ (นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) พรรคประชาธิปัตย์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และพรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)[10] ทว่าท่ามกลางบรรยากาศการจับขั้วแข่งขันกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้กลายเป็นข้อต่อรองทางการเมืองที่สำคัญที่แต่ละฝ่ายนำมาใช้ โดยมีข่าวคราวมากมายถึงการยื่นข้อเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บางพรรคการเมืองพร้อมเทคะแนนสนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น หากได้คะแนนเสียงของพรรคนั้นมาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล[11] ในท้ายที่สุดแล้วการแข่งขันในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา รายชื่อผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอจากแต่ละฝ่ายจึงเหลือเพียงจำนวน 2 รายชื่อ คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่ การออกเสียงลงคะแนนรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย และผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159)[12] อนึ่ง ตามบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ในช่วงเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก การลงคะแนนเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (มาตรา 272)[13] ผลการลงคะแนนปรากฎว่าชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาชนะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ 244 เสียง[14] ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง
บรรณานุกรม
“กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครสส.-แคนดิเดตนายกฯแล้ว.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (15 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/580478>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคไทยรักษาชาติ. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนพิเศษ 80 ง หน้า 25, 1 เมษายน 2562
“เปิดคะแนน “บิ๊กตู่” ชนะ “ธนาธร” ฉลุยนายกฯ สมัยที่ 2.” มติชนออนไลน์. (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1525910>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“เปิดแคนดิเดตนายกฯ เลือกตั้ง 24 มี.ค.62.” มติชนออนไลน์. (8 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1354883>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“เปิดชื่อแคนดิเดต พรรคไหน ใครมีสิทธิ ชิงเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี!.” ข่าวสดออนไลน์. (31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2571194>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“เพื่อไทยวางแผน-ชิงธง เชิดอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี.” ไทยรัฐออนไลน์. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1529426>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.”. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
“เลือกตั้ง 62 : กาบัตรครั้งเดียวได้ ส.ส. เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฯ.” iLAW. (13 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5070>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“เลือกตั้ง 62: 81 พรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง เกินครึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่.” iLAW. (27 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5181>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
“สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: เปิดทาง "นายกฯ คนนอก" เฉพาะคนแรกหลังเลือกตั้ง.” iLAW. (29 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/4068>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
อ้างอิง
[1] “เลือกตั้ง 62 : กาบัตรครั้งเดียวได้ ส.ส. เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฯ,” iLAW, (13 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5070>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[2] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[3] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[4] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: เปิดทาง "นายกฯ คนนอก" เฉพาะคนแรกหลังเลือกตั้ง,” iLAW, (29 มีนาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/4068>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[5] “เลือกตั้ง 62: 81 พรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง เกินครึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่,” iLAW, (27 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5181>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[6] “กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครสส.-แคนดิเดตนายกฯแล้ว,” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (15 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/580478>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[7] “เปิดแคนดิเดตนายกฯ เลือกตั้ง 24 มี.ค.62,” มติชนออนไลน์, (8 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1354883>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[8] ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคไทยรักษาชาติ. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนพิเศษ 80 ง หน้า 25, 1 เมษายน 2562
[9] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[10] “เปิดชื่อแคนดิเดต พรรคไหน ใครมีสิทธิ ชิงเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี!,” ข่าวสดออนไลน์, (31 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2571194>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[11] “เพื่อไทยวางแผน-ชิงธง เชิดอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี,” ไทยรัฐออนไลน์, (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1529426>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.
[12] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[13] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[14] “เปิดคะแนน “บิ๊กตู่” ชนะ “ธนาธร” ฉลุยนายกฯ สมัยที่ 2,” มติชนออนไลน์, (5 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1525910>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.