เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:25, 14 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

         “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” เป็นแคมเปญการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยมุ่งโจมตีผลงานทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยบริบทการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นที่รับทราบกันว่ากฎเกณฑ์และกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญมีความผิดแปลกไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เช่น ระบบการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยประการหนึ่ง ก็คือ การแบ่งจำนวนสมาชิกจำนวนหนึ่งไปจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ดังที่รู้จักกันในนามกลยุทธ์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” เพื่อหวังให้สอดคล้องกับระบบการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายนั้นได้มุ่งโจมตีกลุ่มผู้ทำรัฐประหารเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้มีแคมเปญ “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” ซึ่งสาระสำคัญ คือ การโจมตีประเด็นการสืบทอดอำนาจและความผิดพลาดทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายมาตลอดระยะเวลาก่อนหน้า

 

บริบทการเลือกตั้งปี 2562

          หลังการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ทิ้งมรดกในทางการเมืองไว้หลายประการ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนประกาศหรือว่าคำสั่งต่างๆ[1] ท้ายที่สุดหลังจากที่เลื่อนการเลือกตั้งมาหลายต่อหลายครั้ง[2] คสช. จึงได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24  มีนาคม 2562[3] ทำให้ประเทศไทยและพรรคการเมืองต่างๆ เข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งหลังว่างเว้นมาเป็นระยะเวลานานกว่า 8 ปี ที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้ง นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554

          ภายใต้กติกาการเลือกตั้งใหม่ส่งผลให้เกิดข้อกำหนดต่างๆ อันกระทบต่อแต่ละพรรคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้แต่ละพรรคการเมืองจะต้องรีบแสวงหาสมาชิกพรรคใหม่ การมีเจ้าหน้าที่องหน่วยงานภาครัฐใต้การกำกับของ คสช. คอยติดตามผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆ อยู่ตลอดเวลา การห้ามพรรคการเมืองหาเสียงในลักษณะของนโยบายประชานิยม[4] การมีใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ในกรณีที่ผู้สมัครทุจริตการเลือกตั้ง การกำหนดให้นโยบายของพรรคต้องสอดคล้องกับนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี[5] ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ค่อนข้างเสียเปรียบจากวิธีการคำนวณคะแนนเสียง เพราะยิ่งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตมากเท่าใด จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น[6] จำนวนเขตเลือกตั้งที่ลดลง จาก 375 เขต ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เหลือเพียง 350 เขตในรัฐธรรมนูญ 2560[7] เป็นผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 25 คนจาก 23 จังหวัดลดลง ซึ่งจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลงนั้นส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น[8] การมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อการไม่ได้ใช้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ[9] การมีบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี แต่ละพรรคการเมืองสามารถเสนอได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยที่คุณสมบัติของผู้ที่อยู่ในบัญชีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้[10] ท้ายที่สุดยังมีบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้การเลือกตั้งในครั้งนี้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย[11]

 

'สำรวจนโยบายหาเสียง '2562

          ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 บรรดาพรรคการเมืองต่างมีกลยุทธ์ในการหาเสียงที่แตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ชูแคมเปญ “พอหรือยัง 5 ปี รวยกระจุก จนกระจาย เราพร้อมแล้ว ได้เวลาคนรุ่นใหม่ แก้ไขประเทศ”  พรรคพลังประชารัฐที่มีรูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาคู่กับผู้สมัครในแต่ละเขต แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเสนอชื่อ พรรคชาติพัฒนา ชูรูปถ่าย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค คู่กับผู้สมัคร พร้อมข้อความ “ชาติพัฒนา ไม่มีปัญหา #NO PROBLEM” พรรคประชาธิปัตย์ออกแคมเปญไม่สนับสนุนคนโกง และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อยู่ตรงกลางเป็นก๊กที่สาม พรรครักษ์ผืนป่าชูประเด็นสิ่งแวดล้อม พรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  ชูประเด็นความหลายหลาย นำคนที่ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมงาน  พรรคชาติไทยพัฒนา ใช้ภาพโทนสีชมพู มีภาพ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค นำเสนอ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นชูนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ ชูเรื่องกัญชาไทย ปลูกได้เสรี พร้อมทั้งแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ พรรคพลังท้องถิ่นไท มีนายชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัด เตาปูน เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม นักแสดงชื่อดัง เป็นรองโฆษกพรรค ใช้แนวคิดมองว่าทุกคนคือฮีโร่อยู่ในตัวคนไทยทุกคน ร่วมกันแสดงพลังออกมาก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน พรรคเสรีรวมไทย มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพรรค ป้ายหาเสียง ใช้รูปคู่ผู้สมัครกับหัวหน้าพรรค ชูข้อความบนแผ่นป้าย “รวมพลังสร้างชาติ” เราพร้อมรับใช้พี่น้องประชาชน พรรคประชาชนปฏิรูป ใช้ป้ายหาเสียงโทนสีเหลือง ชูรูป นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค เสนอนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหา[12] 

         เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างมียุทธศาสตร์การหาเสียงที่แตกต่างกันไป พรรคอนาคตใหม่ที่ชูประเด็นเปลี่ยนแปลงประเทศ ประเด็นคนรุ่นใหม่ รูปแบบเวทีปราศรัยแบบใหม่ ฯลฯ ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจ  พรรคพลังประชารัฐนั้นใช้นโยบายหาเสียงโดยอิงจากนโยบายรัฐบาล เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มารดาประชารัฐ เป็นต้น ใช้นโยบายแบบเศรษฐกิจแบบบนลงล่าง ให้ทุนใหญ่เป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ พรรคชาติพัฒนาที่ชูสโลแกน NO PROBLEM ความสำเร็จสมัยนายกชาติชาย ชุณหวัณ พรรคภูมิใจไทยใช้เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Shearing Economy)  ไม่ว่าจะเป็น กัญชาเสรี ปลดล็อคอูเบอร์ พักหนี้ กยศ. บุรีรัมย์โมเดล ฯลฯ  พรรคชาติไทยพัฒนาชูการก้าวข้ามความขัดแย้ง ความเป็นกลางพรรคการเมืองตนเอง พรรคประชาชนปฏิรูปใช้ศาสนาเป็นตัวนำในการหาเสียง พรรคเสรีรวมไทยและพรรคพลังท้องถิ่นไทชูประเด็นความเข้มแข็งที่มีอยู่ในตัวเองของประชาชน ประชาชนมีความเป็นอิสระของตนเอง

         ในส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น ได้เปิดตัวปราศรัยใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงนั้น ประกอบไปด้วย นโยบายการศึกษาที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ผ่านแอปพลิเคชันให้เด็กนักเรียน  นโยบายเอาใจผู้มีรายได้น้อยที่จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 300 บาทต่อวัน นโยบายด้านเกษตรจะมีการส่งเสริมให้ลดพื้นที่การทำยางพารา นโยบายกับกลุ่มนักศึกษา ผู้จบใหม่ ผู้สนใจ ที่จะส่งเสริมการทำธุรกิจเอสเอ็มอี การค้าออนไลน์ ลดระเบียบข้อบังคับของรัฐลง นโยบายบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค จะมีการเพิ่มให้ผู้ถือบัตรเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ในการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงสามารถเช็กแพทย์ผู้รักษา กำหนดช่วงเวลาที่จะเดินทางมาโรงพยาบาล[13] นโยบายทางด้านคมนาคมที่จะมีการจัดหารถเมล์คันใหม่  การปลูกฝังแนวคิดใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบจราจร[14] เป็นต้น สังเกตได้ว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยมีลักษณะที่กว้างพอสมควร เนื่องจากติดข้อกำกัดของกติการการเลือกตั้ง และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั่นเอง

         สำหรับ ป้ายหาเสียงพรรคเพื่อไทยนั้น ใช้ตัวย่อ พท. โทนสีแดง-น้ำเงิน เป็นหลัก เน้นตัวโลโก้และหมายเลขของผู้สมัคร บางพื้นที่มีการขึ้นป้ายรูปคู่ โดยใช้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี โดยกลยุทธ์หาเสียงพรรคเพื่อไทยนั้น คือการทำป้ายหาเสียงออกมา 2 แบบ คือ (1) พรรคทำขึ้นเอง มี 3 ชุด เน้นข้อความนโยบายพรรค ชูผู้บริหารแบบมืออาชีพที่มีประสบการณ์ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และ (2) ป้ายผู้สมัคร ออกแบบโดยพรรค หรือผู้สมัครก็ได้ มีชื่อ หมายเลขผู้สมัคร ให้น้ำหนักเน้นโลโก้และชื่อพรรค รวมถึงการชูคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัครแต่ละเขต โดยป้ายหาเสียงแต่ละป้านนั้นไม่แบ่งแยกกลุ่มเป้าหมาย เน้นติดตั้งป้ายตามถนนสายหลักที่มีประชาชนสัญจรผ่านตลอดเวลา หรือตามแยกจราจรต่างๆ เพื่อให้รถที่จอดสามารถอ่านป้ายได้ รวมไปถึงจุดสำคัญๆในหมู่บ้านอีกด้วย

         อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพรรคเพื่อไทยกลับพบว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีความโดดเด่นจากพรรคการเมืองอื่นๆ มากนัก ไม่ว่าจะเป็นในด้านของนโยบายซึ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนจดจำได้เมื่อ เปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทย ที่มีนโยบายกัญชา Uber เสรี พักหนี้ กยศ. ด้านการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ทุนผูกขาด และดึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้เทียบเท่าพรรคอนาคตใหม่ที่ชูประเด็นคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน ทั้งพรรคอนาคตใหม่ยังมีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายต่อหลายคนที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประเด็นอื่นๆ เช่น ศาสนา สิ่งแวดล้อม ความหลากหลาย ล้วนเสียเปรียบพรรคประชาชนปฏิรูป พรรครักษ์ผืนป่า พรรคประชาชาติ แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย ที่มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร พรรคเพื่อไทยเมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 สูญเสียความได้เปรียบทางด้านนโยบายการหาเสียงอย่างสิ้นเชิง

 

การสูญเสียความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยต้องปรับปรุงการทำงานของพรรค และกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลจากกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ในระบบการทำงานของพรรค พรรคเพื่อไทยได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคขึ้นมาใหม่ โดยมีพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค[15] ส่วนสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายเฉลิม อยู่บำรุง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ฯลฯ ล้วนไม่มีชื่อในคณะกรรมการบริหารพรรค แต่อยู่ในแบบบัญชีรายชื่อแทน[16] เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ว่า หากพรรคถูกยุบ คณะกรรมการบริหารพรรคนั้นก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย[17] สำหรับบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี หรือ แคนดิเดตนายกฯนั้น พรรคเพื่อไทยได้ส่งชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติศิริ[18]

         นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังแก้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม  โดยการแบ่งพรรคย่อยออกไปเพื่อเก็บคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด มีการตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่มีคนรุ่นใหม่ของพรรคเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหาร อาทิ นายปรีชาพล พงษ์พานิชญ์ บุตรชายนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชญ์ นายมิตติ ติยะไพรัตน์ ลูกชายนายยงยุทธ์ ติยะไพรัตน์ เพื่อหวังเก็บคะแนนกับคนรุ่นใหม่ มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติอีกด้วย[19] โดยทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาตินั้นจะไม่ส่งผู้ลงสมัครลงในเขตเดียวกัน[20] เพื่อไม่ให้คะแนนนั้นตัดกัน ขณะเดียวกันก็มีการตั้งพรรคเพื่อชาติ เพื่อหวังเก็บตกคะแนนจากทั้งสองพรรคอีกด้วย กระนั้นก็ตามการแบ่งออกเพื่อลงหาเสียงนั้น ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดปัญหาการไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็ก ดังกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ออกมาให้ความเห็นถึงนายวัฒนา เมืองสุข ว่าอย่าผลักมิตรเป็นศัตรู เป็นต้น[21]

         ขณะเดียวกันการที่มีกติกาเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่างกันทั่วประเทศ ซึ่งกำหนดให้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่คะแนนของแบบบัญชีรายชื่อนั้นได้จากคำนวนจากคะแนนแบบแบ่งเขต การลดลงของเขตการเลือกตั้งจาก 375 เขต เหลือ 350 เขต การแบ่งเขตการเลือกตั้งแบบใหม่[22] เหล่านี้ล้วนทำให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทยมีความสำคัญมากขึ้น จนทำให้ของบรรดา ผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดต่างๆ ที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทยได้ย้ายพรรค เช่น ร.ต.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากจังหวัดพะเยา นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จากจังหวัดเลย นายอำนวย คลังผา จากจังหวัดลพบุรี  นางสาวปรารีณา ไกยคุปต์ จากจังหวัดราชบุรี[23] เป็นต้น การย้ายพรรคของคนเหล่านี้เองที่พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบทางด้านการครองพื้นที่ไปอย่างมาก

         ความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่มาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็น ความได้เปรียบทางด้านนโยบายการหาเสียง ความได้เปรียบทางด้านความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความได้เปรียบทางด้านการครองพื้นที่ ล้วนถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง แม้ว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกรายการ Good Monday ที่กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานของตนเอง การรับมือกับปัญหาต่างๆ ความหวังของประเทศไทยในอนาคต[24] เพื่อหวังที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายในพรรค เน้นจุดแข็งทางด้านนโยบาย ท้ายที่สุดเมื่อช่วงท้ายของการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็ได้สูญเสียความได้เปรียบอีกประการนั่นก็คือ พันธมิตรทางการเมืองและความนิยมของดร.ทักษิณ ชินวัตรไปในเวลาเดียวกัน  เมื่อเกิดปรากฏการณ์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไปในที่สุด นั่นหมายถึงคะแนนจากฐานเสียงพรรคเพื่อไทยที่คาดหวังว่าจะได้รับจากพรรคไทยรักษาชาตินั้นหายไปด้วย เนื่องจากทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติล้วนส่งผู้สมัครไม่ซ้ำกันในแต่ละเขต[25]  และที่สำคัญที่สุดคือภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย[26]

 

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

          เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ล้วนชูแคมเปญเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชน เพื่อนำมาซึ่งคะแนนในการเลือกตั้ง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกมา ชูนโยบายไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาคนโกง ชูประชาธิปไตยสุจริต ด้วยวลีที่ว่า “ที่แน่ๆ ผมไม่เอาเผด็จการ ผมไม่เอาคนโกง”[27] เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกอีกทางที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ชูประเด็น “โนพรอบเบลม” ยืดหยุ่นสูงกับการเมืองแบ่งขั้ว เพื่อให้เข้าได้ทุกกับฝ่าย การหาเสียงเลือกตั้งเข้มข้นถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 อันเป็นวันสุดท้ายของการหาเสียง  พรรคภูมิใจไทยออกเวทีปราศรัยที่จังหวัดปทุมธานี ชูประเด็นแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ เช่น กัญชาเสรี ปลดล็อค Uber[28] นอกจากนี้นายอนุทิน ชาญวีระยังกล่าวอีกว่า “ถ้าพรรคไหนทำตามที่พูดได้เอานายกไปเลย ถ้าทำไม่ได้กูจะเป็นนายกเอง”[29] ส่วนพรรคอนาคตใหม่เปิดปราศรัยที่ ศูนย์กีฬาไทย ญี่ปุ่นดินแดง ชูประเด็นต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยแคมเปญ “คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก” [30] นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวส่วนหนึ่งในการปราศรัยว่า “ธนาธรไม่ได้กล้าหาญกว่าคนอื่น ปิยบุตรไม่ได้ฉลาดกว่าคนอื่น แต่พวกเราทั้งหมดมีความหลากหลาย มีความฝันเป็นของตนเอง มีความสวยงามเป็นของตัวเอง”[31] พรรคพลังประชารัฐ ออกแคมเปญ “เลือกความสงบ หยุดที่ลุงตู่” ได้มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นเวทีปราศรัยเป็นครั้งแรก พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมจะยอมตายเพื่อแผ่นดินผืนนี้ แผ่นดินที่ให้ผมเกิด[32]

         ส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นได้ออกแคมเปญ “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” เพื่อโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก การเกิดสภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ที่มีหนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น[33] นอกจากนี้ยังโจมตีในประเด็นของการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 8 ปี ด้วยคำพูดที่ว่า “ถ้าประชาชนไม่อยากยอมแพ้ให้เผด็จการและความสิ้นหวัง มีทางเดียวต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ต้องไปเลือกพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้นให้ถล่มทลาย”[34] นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังออกนโยบาย ‘หวยบำเหน็จ’ เมื่อประชาชนซื้อสลากกินแบ่งแล้ว จะนำเงินส่วนนี้มาเป็นบำเหน็จบำนาญให้กับคนที่ซื้อ เสมือนว่าเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง เพื่อที่จะให้นโยบายนี้ดึงความได้เปรียบทางด้านนโยบายกลับคืนมา

         ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น พรรคเพื่อไทยกลับได้ที่นั่งเพียง 137 ที่นั่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยได้ต่ำกว่า 200 ที่นั่ง[35] สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ และสูตรนับคะแนนตามระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงได้ของทุกพรรคการเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต อย่างไรก็ตาม นอกจากนโยบายการหาเสียงในรายละเอียดปลีกย่อยของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอต่อสาธารณะเพื่อหวังชนะการเลือกตั้งแล้ว การประชดประชันทางการเมืองและกล่าวโจมตีความล้มเหลวของการบริหารงานรัฐบาล คสช. รวมทั้งประเด็นการสืบทอดอำนาจจึงเป็นอีกแคมเปญหนึ่งที่มุ่งหวังจะล้มสายอำนาจเก่าลงดังแคมเปญที่ว่า “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา”
แม้สิ่งที่หวังไว้จะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ก็ตาม

 

บรรณานุกรม

การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่.สถาบันพระปกเกล้า. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.kpi-corner.com/content/4564/content071261-2>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“โค้งสุดท้ายพรรคภูมิใจไทย ชูนโยบายผู้สมัครส.ส.หวังตีไข่แตก.” สยามรัฐ. (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก  <https://siamrath.co.th/n/69882>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

ทัพพนัย บุญบัณฑิต. “เทียบนโยบายคมนาคม 5 พรรคในศึกเลือกตั้ง 2562.The Standard. (13 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-transportation-policy/>. เมื่อวันที่ พฤษภามคม 2563.

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์. “กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง.” โพสต์ทูเดย์. (30 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.posttoday.com/politic/analysis/572405>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 10 ก, หน้า 1.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 18 ง. 7 มีนาคม 2562.

“เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส..” ไทยโพสต์. (6 กุมภาพันธ์ 2562). <https://www.thaipost.net/main/detail/28393>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์. “แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?.” The Matter. (21 กุมภาพันธ์ 2562).

          เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560.”. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 105 ก. วันที่ 7 ตุลาคม 2560. หน้า 22.

พลวุฒิ หงสกุล. “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ.” The Standard. (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“‘เพื่อไทย’ แถลงเปิดแคมเปญสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง “เอาลุงคืนไป เอาเงินในประเป๋าคืนมา”.” มติชนออนไลน์. (10 มีนาคม 2562).

          เข้าถึงได้จาก<https://www.matichon.co.th/politics/news_1398951>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“เพื่อไทยเปิดแคมเปญโค้งสุดท้ายหาเสียงเลือกตั้ง #พอแล้วนักการเมืองดัดจริตต่อชีวิตเผด็จการ พร้อมเปิดตัวหวยบำเหน็จ.” The Standard. (17 มีนาคม 2562).

          เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-pheu-thai-party-12/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“เพื่อไทยส่ง 3 แคนดิเดตนายกฯมั่นใจกวาดเรียบ.” The Bangkok Insight. (31 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thebangkokinsight.com/97418/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“มรดก 5 ปี คสช.- ประจักษ์ ก้องกีรติ.” Line Today. (22 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://today.line.me/th/pc/article/มรดก+5+ปี+คสช+ประจักษ์+ก้องกีรติ-9MBppe>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“ยุทธศาสตร์เรียกคะแนน ทำเลทองป้ายหาเสียง.” ไทยรัฐออนไลน์ (25 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1499511>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก. วันที่ 6 เมษายน 2560.

“เลือกตั้ง 2562 : พล.อ. ประยุทธ์ ปรากฏตัวที่เวทีปราศรัยพลังประชารัฐ." บีบีซี. (22 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47666279>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย ส่งผู้สมัคร ไม่ครบทั่วประเทศ ครั้งแรกในรอบ 17 ปี.” บีบีซี. (16 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47106755>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“เลือกตั้ง 62 : ย้อนรอย อนุทิน บอกข้อสอบเป็นนายกฯ ย้ำใครทำไม่ได้ “กูทำเอง”.” Spring News. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.springnews.co.th/politics/469098>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

“เลือกตั้ง 62 : สิบเรื่องต้องรู้ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง.” ilaw. (15 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก  <https://ilaw.or.th/node/5101>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช..” ilaw. (30 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก   <https://ilaw.or.th/node/5046>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“เลือกตั้ง 62: พรรคการเมืองต้องเจอปัญหาอะไรบ้างก่อนการเลือกตั้ง.” ilaw. (9 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก<https://ilaw.or.th/node/5008>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

เลือกตั้ง 62: สมัคร ส.ส. ยุคนี้แสนลำบาก หาเสียงยากข้อจำกัดมากมาย.” ilaw. (18 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงได้จาก <https://ilaw.or.th/node/5157>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“ส่อง 'นโยบาย' เพื่อไทย สู้ศึกเลือกตั้ง.” ไทยโพสต์. (9 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.thaipost.net/main/detail/25885>.เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“สำรวจชัยชนะ ส.ส. พลังดูดพลังประชารัฐ.” ilaw. (17 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://ilaw.or.th/node/5266>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “ผลการเลือกตั้ง 2562: ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาลยึด “ที่นั่งในสภา” หรือ “คะแนนมหาชน”?.” บีบีซี. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707490>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.

 “เลือกตั้ง 2562 : “ระบอบทักษิณ” กับ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”.” บีบีซี. (16 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46231340>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ หญิง เพื่อไทย โต้ภาพลักษณ์พรรคใต้เงานายใหญ่-ประชานิยมพ่นพิษ.” บีบีซี. (12 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.bbc.com/thai/thailand-47206975>เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“อนาคตสับสน! ไม่กล้าแตะ ทษช.ขัดจุดยืนนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส..” ผู้จัดการออนไลน์. (8 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก< >เมื่อ https://mgronline.com/politics/detail/9620000013928> เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“อนาคตใหม่ปราศรัยโค้งสุดท้าย แห่ฟังพรึ่บ! ‘ธนาธร’ ชี้บิ๊กตู่ขึ้นเวทีเป็นเรื่องดี คนไทยจะได้รู้เลือกใคร.” ประชาชาติธุรกิจ. (22 มีนาคม 2562).

          เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-305800>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“อนาคตใหม่ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย ผู้เข้าฟังร่วมหมื่น ยอดวิวหลักล้าน ย้ำจุดยืนหยุดสืบทอดอำนาจคสช. พร้อมพาประเทศเดินหน้า.” Line Today. (23 มีนาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://today.line.me/th/pc/article/อนาคตใหม่ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย+ผู้เข้าฟังร่วมหมื่น+ยอดวิวหลักล้าน+ย้ำจุดยืนหยุดสืบทอดอำนาจ+คสช+พร้อมพาประเทศเดินหน้า-ELw0Zm>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

“‘อภิสิทธิ์' ประกาศไม่ตั้งรัฐบาลร่วมเผด็จการ-คนโกง.” Voice TV. (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.voicetv.co.th/read/A8FwKSRfW>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

 

อ้างอิง


[1] “มรดก 5 ปี คสช.- ประจักษ์ ก้องกีรติ,” Line Today. (22 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://today.line.me/th/pc/article/มรดก+5+ปี+คสช+ประจักษ์+ก้องกีรติ-9MBppe>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[2] พลวุฒิ หงสกุล, “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard. (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[3] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนที่ 10 ก, หน้า 1.

[4] “เลือกตั้ง 62: พรรคการเมืองต้องเจอปัญหาอะไรบ้างก่อนการเลือกตั้ง,” ilaw. (9 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก<https://ilaw.or.th/node/5008>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[5] “เลือกตั้ง 62: สมัคร ส.ส. ยุคนี้แสนลำบาก หาเสียงยากข้อจำกัดมากมาย,” ilaw. (18 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงได้จาก <https://ilaw.or.th/node/5157>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[6] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” มาตรา 85 และ 91, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก. วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 22 และ 24-25.

[7] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” มาตรา มาตรา 83 มาตรา 86, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก. วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 22 และ 22-23.

[8] “การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่,” สถาบันพระปกเกล้า. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.kpi-corner.com/content/4564/content071261-2>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[9] “เลือกตั้ง 62 : สิบเรื่องต้องรู้ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง,” ilaw. (15 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก  <https://ilaw.or.th/node/5101>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[10] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” มาตรา 88, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก. วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 22 และ 23.

[11] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” มาตรา 272, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก. วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 88.

[12] “ยุทธศาสตร์เรียกคะแนน ทำเลทองป้ายหาเสียง,” ไทยรัฐออนไลน์ (25 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1499511>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.

[13] “ส่อง 'นโยบาย' เพื่อไทย สู้ศึกเลือกตั้ง,” ไทยโพสต์, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.thaipost.net/main/detail/25885>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[14] ทัพพนัย บุญบัณฑิต, “เทียบนโยบายคมนาคม 5 พรรคในศึกเลือกตั้ง 2562,” The Standard. (13 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-transportation-policy/>. เมื่อวันที่ พฤษภามคม 2563.

[15] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนที่ 18 ง. 7 มีนาคม 2562.

[16] เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.,” ไทยโพสต์. (6 กุมภาพันธ์ 2562). <https://www.thaipost.net/main/detail/28393>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[17] “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560,” มาตรา 72, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 105 ก. วันที่ 7 ตุลาคม 2560. หน้า 22.

[18] “เพื่อไทยส่ง 3 แคนดิเดตนายกฯมั่นใจกวาดเรียบ,” The Bangkok Insight. (31 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thebangkokinsight.com/97418/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[19] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2562 : “ระบอบทักษิณ” กับ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”,” บีบีซี. (16 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46231340>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[20] “เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย ส่งผู้สมัคร ไม่ครบทั่วประเทศ ครั้งแรกในรอบ 17 ปี,” บีบีซี. (16 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47106755>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[21] ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์, “กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง,” โพสต์ทูเดย์. (30 พฤศจิกยายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.posttoday.com/politic/analysis/572405>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[22] “เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.,” ilaw. (30 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://ilaw.or.th/node/5046>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[23] “สำรวจชัยชนะ ส.ส. พลังดูดพลังประชารัฐ,” ilaw. (17 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://ilaw.or.th/node/5266>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภามคม 2563.

[24] “อนาคตสับสน! ไม่กล้าแตะ ทษช.ขัดจุดยืนนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.,” ผู้จัดการออนไลน์. (8 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก< >เมื่อ https://mgronline.com/politics/detail/9620000013928>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[25] พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, “แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย’ หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง?,” The Matter. (21 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thematter.co/social/thairaksachart-party-destiny/71265>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[26] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2562 : สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ หญิง เพื่อไทย โต้ภาพลักษณ์พรรคใต้เงานายใหญ่-ประชานิยมพ่นพิษ,” บีบีซี. (12 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.bbc.com/thai/thailand-47206975>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[27]'อภิสิทธิ์' ประกาศไม่ตั้งรัฐบาลร่วมเผด็จการ-คนโกง,” Voice TV. (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.voicetv.co.th/read/A8FwKSRfW>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[28] “โค้งสุดท้ายพรรคภูมิใจไทย ชูนโยบายผู้สมัครส.ส.หวังตีไข่แตก,” สยามรัฐ. (16 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก  <https://siamrath.co.th/n/69882>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[29] “เลือกตั้ง 62 : ย้อนรอย อนุทิน บอกข้อสอบเป็นนายกฯ ย้ำใครทำไม่ได้ “กูทำเอง”,” Spring News. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.springnews.co.th/politics/469098>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[30] “อนาคตใหม่ปราศรัยโค้งสุดท้าย แห่ฟังพรึ่บ! ‘ธนาธร’ ชี้บิ๊กตู่ขึ้นเวทีเป็นเรื่องดี คนไทยจะได้รู้เลือกใคร,” ประชาชาติธุรกิจ. (22 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-305800>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[31] “อนาคตใหม่ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย ผู้เข้าฟังร่วมหมื่น ยอดวิวหลักล้าน ย้ำจุดยืนหยุดสืบทอดอำนาจคสช. พร้อมพาประเทศเดินหน้า,” Line Today. (23 มีนาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://today.line.me/th/pc/article/อนาคตใหม่ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย+ผู้เข้าฟังร่วมหมื่น+ยอดวิวหลักล้าน+ย้ำจุดยืนหยุดสืบทอดอำนาจ+คสช+พร้อมพาประเทศเดินหน้า-ELw0Zm>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[32] "เลือกตั้ง 2562 : พล.อ. ประยุทธ์ ปรากฏตัวที่เวทีปราศรัยพลังประชารัฐ," บีบีซี, (22 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47666279>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[33] “‘เพื่อไทย’ แถลงเปิดแคมเปญสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง “เอาลุงคืนไป เอาเงินในประเป๋าคืนมา”,” มติชนออนไลน์. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.matichon.co.th/politics/news_1398951>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[34] “เพื่อไทยเปิดแคมเปญโค้งสุดท้ายหาเสียงเลือกตั้ง #พอแล้วนักการเมืองดัดจริตต่อชีวิตเผด็จการ พร้อมเปิดตัวหวยบำเหน็จ,” The Standard. (17 มีนาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-pheu-thai-party-12/>. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563.

[35] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “ผลการเลือกตั้ง 2562: ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาลยึด “ที่นั่งในสภา” หรือ “คะแนนมหาชน”?,” บีบีซี. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47707490>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563.