หนักแผ่นดิน
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“หนักแผ่นดิน” เป็นชื่อเพลงปลุกใจที่แต่งขึ้นโดยพันเอก บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก บันทึกเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 ขับร้องโดยสิบเอก อุบล คงสิน และศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เพื่อใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก ในปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2518–2523 และในปี พ.ศ. 2520 มีการนำชื่อเพลงนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “หนักแผ่นดิน” กำกับโดยสมบัติ เมทะนี แสดงนำโดยสมบัติ เมทะนี และนัยนา ชีวานันท์ คำว่าหนักแผ่นดินกลายมาเป็นแฮชแท็กที่สำคัญในการเมืองไทยครั้งล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เนื่องจากพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงชื่อเพลงหนักแผ่นดิน เมื่อต้องตอบคำถามในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยมีการประกาศนโยบายการลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ และปฏิรูปการเกณฑ์ทหารโดยให้ใช้ระบบทหารอาชีพที่มีการคัดเลือกตามความรู้ความสามารถด้วยความสมัครใจ ทำให้เกิดกระแส “#หนักแผ่นดิน” ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างแพร่หลาย
'ที่มาของ “หนักแผ่นดิน” ในปี พ.ศ. '2562
คำว่า “หนักแผ่นดิน” กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เมื่อพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) ได้ไปเป็นประธานพิธีวันคล้ายวันสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ครบรอบ 11 ปี ประจำปี 2562 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยมีผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้บังคับบัญชาของกอ.รมน. ข้าราชการ กอ.รมน. และมวลชน กอ.รมน. เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว[1]
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในงานดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์พลเอก อภิรัชต์ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยพลเอก อภิรัชต์ ได้ตอบคำถามกลับว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ก็เพลงหนักแผ่นดินไง” เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามต่อถึงประเด็นที่พรรคเพื่อไทยมีการประกาศนโยบายการลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธของกองทัพลงร้อยละ 10 และปฏิรูปการเกณฑ์ทหารโดยให้ใช้ระบบทหารอาชีพที่มีการคัดเลือกตามความรู้ความสามารถด้วยความสมัครใจ พลเอก อภิรัชต์ กล่าวว่า “ก็ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินไง” [2]
ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีรายงานว่า ณ กองบัญชาการกองทัพบกมีการเปิดเพลงผ่านเสียงตามสายให้กำลังพลได้รับฟัง ใน 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนเวลา 08.00 นาฬิกา และช่วงเวลาพักกลางวัน ซึ่งเพลงที่ใช้ประกอบด้วย เพลงความฝันอันสูงสุด เพลงมาร์ชกองทัพบก และเพลงปลุกใจ ที่เน้นปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ รักแผ่นดิน มีความจงรักภักดี ซึ่งจะสลับการเปิด โดยวันดังกล่าวมีการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในช่วงพักกลางวัน ต่อมาพันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า ตามปกติกองทัพบกจะมีการเปิดเพลงดังกล่าวอยู่เป็นประจำ โดยกรมกิจการพลเรือนทหารบกจะนำเพลงแนวปลุกใจทหาร เช่น มาร์ชกองทัพบก และหนักแผ่นดิน ไปเปิดในสถานีวิทยุกองทัพบกที่มีกว่า 160 สถานีทั่วประเทศ ในทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00 นาฬิกา ในรายการ กองทัพบกเพื่อประชาชน และเวลา 12.00 นาฬิกา ในรายการรู้รักสามัคคี ทำความดีเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความหมายให้ตระหนักและหวงแหนแผ่นดินไทยที่อยู่อาศัย ซึ่งข้าราชการทหารมีหน้าที่สำคัญ คือ การปกป้องรักษาประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาจะพาดพิงหรือหวังกระทบฝ่ายใด[3]
อย่างไรก็ตาม กรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) ได้แจ้งให้ผู้จัดรายการของสถานีวิทยุในเครือกองทัพบกในเวลาต่อมาว่า ให้งดเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เพลงมาร์ชกองทัพบก และเพลงความฝันอันสูงสุดในรายการวิทยุของกองทัพบกทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สังคมนำไปตีความในทางที่ผิด ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของพลเอก อภิรัชต์ ที่ต้องการให้กำลังพลตระหนักในหน้าที่และสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเท่านั้น[4]
'กระแสตอบรับจากรณี '#หนักแผ่นดิน
จากการให้สัมภาษณ์ของพลเอก อภิรัชต์ ในประเด็นเรื่องการปรับลดงบประมาณของกองทัพและการปรับระบบเกณฑ์ทหารให้เป็นรูปแบบสมัครใจ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเกิดเป็น #หนักแผ่นดิน ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งกระแสดังกล่าวมีทั้งกระแสที่เห็นด้วยและกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ของพลเอก อภิรัชต์
กระแสที่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ของพลเอก อภิรัชต์ ซึ่งมีบุคคลสำคัญในทางการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่เห็นด้วยกับพลเอก อภิรัชต์ ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าผู้บัญชาการทหารบกจะไม่ลงมาขัดแย้งกับพรรคการเมือง ขณะเดียวกันขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้ประเทศเกิดความสงบสุขและเดินหน้าเลือกตั้ง พร้อมขอให้พรรคการเมืองช่วยหาเสียงเลือกตั้งในทางที่ดี
ไม่ควรกล่าวโจมตีกัน และไม่ควรประจานประเทศตัวเอง ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยอมรับว่า เคยฟังและชื่นชอบเพลงหนักแผ่นดินมาก เพราะเป็นเพลงที่เตือนสติ ปลุกให้คนรักชาติรักแผ่นดิน เมื่อทำสิ่งใดต้องคิดว่าจะมีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือไม่ หากคิด พูด และประพฤติ ในสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย คนนั้นก็จะเป็นคนหนักแผ่นดิน[5] และยังมีกรณีของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น กล่าวถึงนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในกรณีดังกล่าวว่า “ให้ไปฟังเพลงจากผบ.ทบ.ให้ไปฟังเพลง”[6]
กระแสที่ไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ของพลเอก อภิรัชต์ ซึ่งมีบุคคลสำคัญในทางการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับพลเอก อภิรัชต์ ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จากพรรคไทยรักษาชาติ ได้ออกมาวิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบกว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่แสดงออกไม่เป็นกลางทางการเมือง และให้ร้ายพรรคการเมือง ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและเป็นการส่งสัญญาณความขัดแย้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ผิดระเบียบและกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเข้าใจในกติกาประชาธิปไตย พร้อมทั้งได้มีการแนะนำให้ผู้บัญชาการทหารบกประพฤติตัวใหม่ เป็นทหารควรปกป้องประเทศ ไม่ใช่เปิดเพลงหนักแผ่นดินเพื่อให้คนไทยขัดแย้งกัน[7] ขณะเดียวกัน กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย พร้อมกลุ่มเพื่อนนักศึกษา เดินทางมาที่กองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อยื่นหนังสือขอให้ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก โดยได้อ่านจดหมายเปิดผนึกให้ผู้บัญชาการทหารบกยกเลิกการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เนื่องจากบทเพลงดังกล่าวสร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง และความเจ็บปวดในสังคม พร้อมนำจดหมายเปิดผนึกไปติดที่ป้ายบริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้ากองทัพบก และต่อมานายเอกชัย หงส์หังวาน พร้อมด้วยนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ได้มีการเปิดเพลงประเทศกูมีบริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ขณะที่เจ้าหน้าที่สกัดห้ามการกระทำดังกล่าว พร้อมเปิดเพลงความฝันอันสูงสุดประชันกับกลุ่มผู้ชุมนุม[8]
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีบัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ YouTube ที่ใช้ชื่อว่า thailand thailand ซึ่งมีรูปโปรไฟล์เป็นธงชาติไทย ก็ได้เผยแพร่เพลง “ประเทศกูมีคนหนักแผ่นดิน” ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงคนไม่รักชาติ การยุยงปลุกปั่น และความแตกแยกทางการเมือง โดยมีเนื้อเพลงบางท่อนโดยเฉพาะท่อนฮุคที่มีเนื้อร้องใกล้เคียงกับเพลงหนักแผ่นดิน ที่แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 แทบทุกประการ[9]
จุดกำเนิดของ “หนักแผ่นดิน”
เพลงหนักแผ่นดิน เป็นชื่อเพลงปลุกใจที่แต่งขึ้นโดยพันเอก บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก บันทึกเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 ขับร้องโดยสิบเอก อุบล คงสิน และศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เพื่อใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก ในปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงปี พ.ศ. 2518–2523 เนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2518 ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยให้ความสำคัญมาก และในภูมิภาคอินโดจีน เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ได้แก่
1. การสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามไปก่อนหน้านี้ คือในปี พ.ศ. 2516 ทำให้การสู้รบระหว่างเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นฝ่ายโลกเสรี โดยฝ่ายเวียดนามใต้ค่อย ๆ อ่อนกำลังลง และในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่เวียดนามเหนือที่สามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ถือเป็นการรวมชาติเวียดนามได้สำเร็จ และสถาปนา “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ได้สำเร็จ[10]
2. กองทัพเขมรแดงซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 และได้สถาปนา “กัมพูชาประชาธิปไตย” ขึ้นมา และได้มีการต่อสู้และกวาดล้างทางการเมืองอย่างรุนแรงภายในประเทศ[11]
3. ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ สามารถยึด ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ และได้เรียกร้องให้เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาจึงทรงยินยอมสละราชสมบัติ คณะปฏิวัติลาวจึงประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยยังคงแต่ตั้งให้อดีตเจ้ามหาชีวิตเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลระบอบใหม่[12]
จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ในช่วงนี้ว่า หากเวียดนาม กัมพูชา และลาว ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดความกังวลว่าหากปล่อยไว้ต่อไปประเทศไทยก็ถูก พคท. ยึดครองได้ ฉะนั้น ฝ่ายความมั่นคงของไทย อาทิ กองทัพบกที่ต้องเน้นการปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อแย่งชิงมวลชนด้วยการแต่งเพลง เพื่อให้วงดนตรีพลร่มป่าหวายนำไปบรรเลงตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีเพลงที่สำคัญ คือ (1) เราสู้ (2) ดุจบิดามารดร (3) เผ่าไทย (4) หนักแผ่นดิน (5) เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย (6) แผ่นดินสุดท้าย (6) ถามแผ่นดิน (7) คิดดีแล้วหรือ และ (8) สุดแผ่นดิน บทเพลงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านสถานีวิทยุยานเกราะโดยเฉพาะรายการ "บ้านเมืองของเรา" รวมถึงผ่านหน่วยจัดตั้งของกองทัพบกที่นำเพลง "เราสู้" ไปส่งตรงถึงค่ายทหาร โรงเรียน ศาลากลางจังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ[13]
สำหรับ “เพลงหนักแผ่นดิน” ก็ได้กลายมาเป็นบทเพลงทีมีผลอย่างมากต่อการสร้างทัศนคติและความคิดของคนในสังคมไทยต่อกลุ่มชนที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ โดยเฉพาะผู้ที่ยอมรับและเชื่อในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามที่ทางราชการปลูกฝังลงไป และในปี พ.ศ. 2519 เพลงหนักแผ่นดินถูกนำมาใช้ในฝ่ายขวาในสมัยนั้น และใช้ประชาสัมพันธ์โจมตีขบวนการนักศึกษา จนเกิดเป็นเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และหลังจากการปราบปรามขบวนการนักศึกษาครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2519 เสร็จสิ้นแล้ว ก็มีการนำชื่อเพลงนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “หนักแผ่นดิน” กำกับโดยสมบัติ เมทะนี แสดงนำโดยสมบัติ เมทะนี และนัยนา ชีวานันท์ และใช้เพลงดังกล่าวเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์[14]
หลัง พคท. เริ่มหมดบทบาทไปจากการเมืองไทย ส่งผลให้ควาสำคัญของเพลงหนักแผ่นดินเริ่มลดลงตามไปด้วย เพลงหนักแผ่นดินจึงกลายเป็นเพียงเพลงปลุกใจที่เปิดเฉพาะในแวดวงที่จำกัดเท่านั้น กระนั้นก็ตาม เพลงหนักแผ่นดินก็ยังคงถูกหยิบยกมาเปิดอยู่เรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่ม กปปส. เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง
“หนักแผ่นดิน” กับบทเพลงแห่งการต่อสู้ของอุดมการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในทุก ๆ ช่วงเวลาของประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่า มีการใช้ “บทเพลง” เป็นเครื่องมือส่งผ่านอุดมการณ์ทั้งของรัฐและกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น บทเพลงจึงเปรียบเสมือนการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ที่สามารถเข้าถึงคนทุกฝ่ายได้อย่างรวดเร็วที่สุด และที่ผ่านมามีการใช้บทเพลงในการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ ได้แก่
บทเพลงสร้างสำนึกความเป็นไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงที่ประเทศไทยใช้นโยบาย “รัฐนิยม” สังคมไทยเพิ่งรู้จักกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เพลงปลุกใจในช่วงนี้เน้นเนื้อหาเพื่อมุ่งให้ความสำคัญต่อชาติ การรวมเชื้อชาติ ปลูกฝังให้รักชาติเป็นสำคัญ และพยายามเสริมสร้างการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมให้เป็นรูปแบบสังคมอารยะ[15] ทางด้านบทเพลงที่ผลิตออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว มีการใช้ดนตรีสากลส่วนใหญ่ใช้จังหวะเร็ว และจังหวะเดินแถว เพื่อให้รู้สึกฮึกเหิมมีกำลังใจ และยังมีบางส่วนที่มีทำนองคล้ายเพลงไทยเดิม แต่บทเพลงก็มีการพัฒนาให้เป็นสากลขึ้นโดยบุคคลสำคัญที่เป็นกลไกของรัฐในสมัยนั้น เช่น หลวงวิจิตรวาทการ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งทำให้สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลิตเพลงปลุกใจออกมามากถึงกว่า 70 เพลง เช่น เพลงแหลมทอง เพลงไทยช่วยไทย เพลงศึกบางระจัน เพลงรักเมืองไทย เพลงตื่นเถิดชาวไทย เพลงเลือดสุพรรณ เป็นต้น[16]
บทเพลงปลุกใจและเพลงเพื่อชีวิตในช่วงสงครามเย็น แบ่งฝ่ายของโลกเสรีและสังคมนิยม โลกเสรีเรียกฝ่ายขวา โลกสังคมนิยมเรียกฝ่ายซ้าย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ต่างผลิตเพลงมาต่อสู้กัน โดยฝ่ายซ้ายจะเน้น “เพลงเพื่อชีวิต” เพื่อใช้เรียกร้องเสรีภาพ ขณะที่เพลงฝ่ายขวามีลักษณะเป็นเพลงปลุกใจที่มีเนื้อหาดุเดือด ต่อต้านเพลงฝ่ายซ้ายและโจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์ สำหรับด้านดนตรีมีความแตกต่างจากยุคก่อนอย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่ได้มีแต่จังหวะเร็วเท่านั้น แต่มีท่วงทำนองอ่อนหวานแฝงเนื้อหาเข้มข้นเพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองโดยมีการใช้ทำนองดนตรีสากล และใช้แนวเพลงแบบแจ๊ส บลูส์ และโปรเกรสซีฟร็อค โดยในเพลงของฝ่ายขวาจะมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของแผ่นดินไทย โดยมีเพลงสำคัญ เช่น เพลงรักกันไว้เถิด เพลงหนักแผ่นดิน เพลงเราสู้ เพลงความฝันอันสูงสุด เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายซ้ายจะมุ่งเน้นให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชน โดยมีเพลงสำคัญ เช่น เพลงเพื่อมวลชน เพลงเดือนเพ็ญ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงดอกไม้จะบาน เป็นต้น[17]
บทเพลงในช่วงการเมืองสีเสื้อ ในช่วงเวลานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2557 ความสำคัญของเพลงปลุกใจในยุคนี้เกิดขึ้นจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่าฝ่ายรัฐ โดยเพลงที่สำคัญในยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงในอดีตที่อาจจะเป็นเพลงของฝ่ายซ้าย แต่ถูกนำมาใช้ในการอธิบายความหมายในรูปแบบใหม่ เช่น เพลงสู้ไม่ถอย ที่ภายหลังปรากฏชัดว่ามีการนำไปใช้ในกลุ่ม กปปส. หรือเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
และเพลงเพื่อมวลชน ที่มีการนำไปใช้ทั้งในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส.[18] นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเพลงเพื่อใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละกลุ่มเป็นการเฉพาะ อาทิ
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีเพลงไอ้หน้าเหลี่ยม เพื่อโจมตีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และกลุ่ม นปช. มีเพลงรักคนเสื้อแดง เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของขบวนการ
บทสรุป
หนักแผ่นดินเป็นชื่อเพลงที่แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ที่กลายมาเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างอีกครั้งเมื่อพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แนะนำเพลงดังกล่าว เมื่อต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการหาเสียงของพรรคการเมืองที่มีการเสนอลดงบประมาณของกองทัพลง เมื่อพลเอก อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวออกไป ก็เกิดกระแสทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าเป็นเพลงที่ใช้เตือนสติคนไทยได้ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลับมองว่า ปฏิกิริยาของพลเอก อภิรัชต์ สะท้อนถึงความไม่เป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่สร้างความแตกแยกขึ้นได้ในสังคม เนื่องจากเพลงดังกล่าวมีที่มาจากยุคสงครามเย็นที่ทั้งฝ่ายโลกเสรีและฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่างต่อสู้กันอย่างเข้มข้นผ่านกลไกทางอุดมการณ์ เช่น บทเพลง สินค้า องค์ความรู้ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงของฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายขวานั้น มีการผลิตออกมาในลักษณะที่ใช้ภาษาอย่างดุเดือดเพื่อโจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งถือว่าเป็นพวกทำลายชาติ ซึ่งเพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงปลุกใจเพลงหนึ่งที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
นฤมล ทับจุมพล. (2531). “การใช้สื่อในการสร้างอุดมการณ์ทางการเมือง : ศึกษาจากบทเพลงของทางราชการ (พ.ศ. 2475 - 2530).” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณทิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บรรณานุกรม
“ก่อน ‘หนักแผ่นดิน’ ถึง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เพลงปลุกใจไทยเป็นมาอย่างไร?.” The Momentum. (15 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/timeline-thai-patriotic-music/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
“ดวลเพลง! หน้ากองทัพ "ความฝันอันสูงสูด-ประเทศกูมี"." ThaiPBS. (20 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/277851>. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
““บิ๊กแดง” ไล่ “สุดารัตน์”ฟังเพลง”หนักแผ่นดิน” หลังชูนโยบายตัดงบฯกลาโหม-เลิกเกณฑ์ทหาร.” ประชาชาติธุรกิจ. (18 กุมภาพันธ์ 2562).
เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-291372>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
“พล.อ.อภิรัชต์ สั่ง 160 สถานีวิทยุกองทัพบก เปิดเพลงหนักแผ่นดิน-ความฝันอันสูงสุด." ประชาไท. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/81093>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
“มารู้จักเพลง “หนักแผ่นดิน” อดีตใช้ปราบคอมมิวนิสต์ มาถึงยุคที่ “บิ๊กแดง” แนะนำให้ “หญิงหน่อย” ฟัง." ผู้จัดการออนไลน์. (18 กุมภาพันธ์ 2562).
เข้าถึงจาก < https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000017014>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563..
ไมเคิล ลีเฟอร์. (2548). พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. จุฬาพร เอื้อรักสกุล (แปล). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
“เลือกตั้ง 2562 : การกลับมาของเพลง “หนักแผ่นดิน” จาก 2519 ถึง 2562." บีบีซี. (19 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47294007>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2544). "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518 – 2519." ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลา รำลึก
“หนักแผ่นดิน : ประเทศกูมีคนหนักแผ่นดิน เพลงจากช่องยูทิวบ์ที่เพิ่งเปิดได้สองวัน." บีบีซี. (24 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47347739>. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
“หลากปฏิกิริยาต่อเพลง “หนักแผ่นดิน”." ThaiPBS. (19 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/277840>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[1] ““บิ๊กแดง” ไล่ “สุดารัตน์”ฟังเพลง”หนักแผ่นดิน” หลังชูนโยบายตัดงบฯกลาโหม-เลิกเกณฑ์ทหาร,” ประชาชาติธุรกิจ, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-291372>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[2] ““บิ๊กแดง” ไล่ “สุดารัตน์”ฟังเพลง”หนักแผ่นดิน” หลังชูนโยบายตัดงบฯกลาโหม-เลิกเกณฑ์ทหาร,” ประชาชาติธุรกิจ, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-291372>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[3] "พล.อ.อภิรัชต์ สั่ง 160 สถานีวิทยุกองทัพบก เปิดเพลงหนักแผ่นดิน-ความฝันอันสูงสุด," ประชาไท, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/81093>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[4] "พล.อ.อภิรัชต์ สั่ง 160 สถานีวิทยุกองทัพบก เปิดเพลงหนักแผ่นดิน-ความฝันอันสูงสุด," ประชาไท, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/81093>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[5] "หลากปฏิกิริยาต่อเพลง “หนักแผ่นดิน”," ThaiPBS, (19 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/277840>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[6] "พล.อ.อภิรัชต์ สั่ง 160 สถานีวิทยุกองทัพบก เปิดเพลงหนักแผ่นดิน-ความฝันอันสูงสุด," ประชาไท, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/81093>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[7] "หลากปฏิกิริยาต่อเพลง “หนักแผ่นดิน”," ThaiPBS, (19 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/277840>. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[8] "ดวลเพลง! หน้ากองทัพ "ความฝันอันสูงสูด-ประเทศกูมี"," ThaiPBS, (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/277851>. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[9] "หนักแผ่นดิน : ประเทศกูมีคนหนักแผ่นดิน เพลงจากช่องยูทิวบ์ที่เพิ่งเปิดได้สองวัน," บีบีซี, (24 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47347739>. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[10] ไมเคิล ลีเฟอร์, พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จุฬาพร เอื้อรักสกุล (แปล), (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 488-495.
[11] ไมเคิล ลีเฟอร์, พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, หน้า 102-103.
[12] ไมเคิล ลีเฟอร์, พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, หน้า 363-364.
[13] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518 – 2519," ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลา รำลึก, 2544), หน้า 115-148.
[14] "มารู้จักเพลง “หนักแผ่นดิน” อดีตใช้ปราบคอมมิวนิสต์ มาถึงยุคที่ “บิ๊กแดง” แนะนำให้ “หญิงหน่อย” ฟัง," ผู้จัดการออนไลน์, (18 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก < https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000017014>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[15] "เลือกตั้ง 2562 : การกลับมาของเพลง “หนักแผ่นดิน” จาก 2519 ถึง 2562," บีบีซี, (19 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47294007>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[16] “ก่อน ‘หนักแผ่นดิน’ ถึง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เพลงปลุกใจไทยเป็นมาอย่างไร?,” The Momentum, (15 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/timeline-thai-patriotic-music/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[17] “ก่อน ‘หนักแผ่นดิน’ ถึง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เพลงปลุกใจไทยเป็นมาอย่างไร?,” The Momentum, (15 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/timeline-thai-patriotic-music/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.
[18] “ก่อน ‘หนักแผ่นดิน’ ถึง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เพลงปลุกใจไทยเป็นมาอย่างไร?,” The Momentum, (15 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://themomentum.co/timeline-thai-patriotic-music/>. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563.