หนุมานอาสา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:48, 14 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

           “หนุมานอาสา” เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ต่อมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ภายใต้สโลแกนที่ว่า “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” โดยการใช้รูปสัญลักษณ์หนุมานอาสานั้น เนื่องจากปี พ.ศ. 2559 เป็นนักษัตรปีวอก และเมื่อนึกถึงลิงที่เป็นตัวเอกของโขน และเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “หนุมาน” ซึ่งเปรียบเสมือนเทพแห่งลิง ซึ่งปีลิง พ.ศ. 2559 เป็นปีพิเศษที่คนไทยทั้งประเทศจะได้ร่วมมือร่วมใจไปออกเสียงประชามติดังหนุมานอาสา
           อีกทั้งหนุมานเป็นลิงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดีต่อบ้านเมืองช่วยพระรามปราบปรามทศกัณฑ์จนบ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจใดก็ตั้งใจทำอย่างเต็มความสามารถ เสียสละตนเองจนภารกิจประสบความสำเร็จ สร้างคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ สัญลักษณ์ดังกล่าวออกแบบโดย ศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2558

 

'การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2560

           ในปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2562 ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย  ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ดำเนินการยกร่างแล้วเสร็จ และในการลงประชามติครั้งนั้น มีการกำหนดประเด็นคำถาม 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก กำหนดว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....” และประเด็นคำถามที่ที่สอง กำหนดว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”[1] ซึ่งจากกรณีมีกลุ่มขบวนการ 2 กลุ่มสำคัญ นั่นคือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีการรณรงค์ที่สำคัญ ดังนี้

           “การรณรงค์ของฝ่ายสนับสนุน” ในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในช่วงปี 2559 นั้น ฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มนักการเมืองจากพรรคการเมืองขนาดกลาง และกลุ่มผู้สนับสนุน คสช. ซึ่งแต่ละกลุ่มมีแสดงออกถึงการสนับสนุนในลักษณะที่ต่างกัน ดังนี้

           กลุ่มนักการเมืองจากพรรคการเมืองขนาดกลาง มีทั้งการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนหรือไม่ อาทิ นายบรรหาร  ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีการประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีข้อดี ส่วนที่มีความเห็นว่ายังมีข้อขัดแย้งนั้นก็พอรับได้ ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2560[2] ขณะที่นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนหรือไม่ แต่ได้แสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันแบบมิตรภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรจะเปิดใจกว้าง แสดงความคิดเห็น และรับฟังกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะที่สุดแล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในการทำประชามติ จึงอยากให้รักษาบรรยากาศดี ๆ เอาไว้[3]

           กลุ่มผู้สนับสนุน คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อาทิ นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ มีการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊คแฟนเพจว่าจะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน และเพื่อไม่ให้เลือดเนื้อวีรชนต้องสูญเปล่า[4]
           ซึ่งนายสุเทพได้มีการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊คแฟนเพจอีกหลายครั้ง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเน้นย้ำเรื่องเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.[5] ขณะเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมในเวทีดีเบตการรณรงค์ประชามติหลายครั้ง โดยนายคำนูญกล่าวถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการบัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้เป็นการเฉพาะ และยังมียุทธศาสตร์ชาติไว้กำกับการดำเนินงานของรัฐบาล จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ปราศจากการรัฐประหาร[6]

           “การรณรงค์ของฝ่ายต่อต้าน” โดยกลุ่มที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีหลายกลุ่ม อาทิ
กลุ่ม นปช. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มพรรคเพื่อไทย กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

           กลุ่มแรก เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โดยกลุ่มดังกล่าวมีเหตุผลสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ (1) อำนาจของ คสช. ยังอยู่เหมือนเดิม (2) การคิดคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้งเดียวกัน ทำให้บางครั้งคนที่เลือกคน แต่อาจจะได้พรรคการเมืองที่ไม่ต้องการตามมาด้วย (3) องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเหนือประชาชน (4) ข้าราชการจะกลับมามีอำนาจเพิ่มขึ้น (5) ทำลายหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ (6) มี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และ (7) จะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนำเสนอสโลแกนว่า “VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก”[7]

           กลุ่มที่สอง เป็นพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยตรง เนื่องจากเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น ซึ่งกุ่มดังกล่าวมีการตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” เพื่อจัดตั้งอาสาสมัคร ซึ่งไม่ใช่คนสีใดสีหนึ่งลงพื้นที่สังเกตการณ์ และมีทีมกฎหมายคอยดำเนินการในกรณีที่พบว่ามีการทุจริต[8] ซึ่งต่อมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่ม นปช. ได้แต่งเพลงแหล่ต้านโกงประชามติ เพื่อรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น จะต้องมีการเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี รวมถึงมีการตั้งคำถามต่อการทุจริตนั้น เกิดขึ้นเฉพาะนักการเมืองเท่านั้นหรือไม่[9]

           กลุ่มที่สาม เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการออกมาแถลงจุดยืนของสมาชิกพรรคบางส่วนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีข้อเสนอให้ใช้รัฐรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แทน แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ได้ออกมาแถลงจุดยืนในนามพรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560[10]

 

หนุมานอาสา “ใน” และ “นอก” บริบททางการเมือง

           แม้ว่าในปี พ.ศ. 2559 จะมีการใช้สัญลักษณ์หนุมานเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วนั้น “หนุมาน” ยังถูกนำไปใช้ทั้งในและนอกบริบทการเมือง โดยในทางการเมืองนั้น แน่นอนว่าสัญลักษณ์ “หนุมานอาสา” ถูกนำมาใช้ในการเมืองเรื่องประชามติ โดยเฉพาะการรณรงค์ของ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการลงประชามติ โดย กกต. มีการใช้สัญลักษณ์ “หนุมานอาสา” และการใช้บทเพลง "7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” เพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระให้ประชาชนออกไปลงประชามติ แต่ต่อมาเพลงดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาที่ดูถูกคนอีสาน จึงได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของเพลงใหม่[11] อย่างไรก็ตาม การจัดการลงประชามติของ กกต. ยังเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสในการจัดการลงประชามติตามมาอีกด้วย เนื่องจากในช่วงที่มีการรณรงค์ประชามติยังมีการการจับกุมผู้ที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังล่าว โดยระบุว่ากระทำผิดใช้มาตรา 61 ของพระราชบัญญัติการออกสียงประชามติ พ.ศ. 2559 จึงทำให้เกิดข้อวิพากษ์ว่าการลงประชามติดังกล่าวไม่ได้มีหลักเรื่องการลงมติโดยเสรีและการจัดประชามติที่เป็นธรรม ทำให้ประชามติดังกล่าวเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นกระบวนการทางการเมืองแต่อย่างใด

          สำหรับการนำสัญลักษณ์หนุมานอาสาไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ นอกบริบททางการเมือง นั่นคือ กรณีการใช้สัญลักษณ์หนุมานอาสาในงานเข้าพรรษา ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครรราชสีมา โดยนายวัชระ นาดี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 และเป็นช่างแกะสลักเทียนพรรษาชาวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้แกะสลักเทียนพรรษารูปหนุมานเพื่อต้องการร่วมรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม โดยแกะสลักเทียนเป็นหุ่นรูปหนุมานมีความสูง 120 เซนติเมตร ใช้เนื้อเทียนสีขาว และเทียนสีเหลืองในการแกะสลัก โดยเทียนหนุมานกำลังทำท่าทางยกเท้าขวาขึ้นหนึ่งข้าง และชูมือขึ้นทั้งสองข้าง ซึ่งในมือซ้ายของหนุมานได้ถือกระดาษที่ใช้ลงเสียงประชามติด้วย ซึ่งหนุมานเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์การออกเสียงประชามติครั้งนี้[12]

 

หนุมาน: แนวคิด ความสำคัญ และนัยทางประวัติศาสตร์การเมือง

           หนุมานถือเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองบ่อยครั้ง เนื่องจากบุคลิกของหนุมานที่มีความซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดี มีความกล้าหาญ และสามารถปฏิบัติภารกิจสำคัญต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ดังนั้น หนุมานจึงมีความสัมพันธ์กับการเมืองเชิงคุณธรรมที่สะท้อนถึงความซื่อสัตย์และความกล้าหาญในทางการเมือง ซึ่งมีการใช้สัญลักษณ์หนุมานในทางการเมืองที่สำคัญ ดังนี้

           “หนุมาน” กับ “จอมพลสฤษดิ์” ถือได้ว่าสัญลักษณ์หนุมานถูกนำมาใช้ในทางการเมืองครั้งแรกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการนำสัญลักษณ์ “หนุมานหาวเป็นดาวเดือน” มาใช้เป็นตราประจำตัว เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์นั้นเกิดปีวอก และหนุมานเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งต้องการจะสะท้อนถึงตัวตนของจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้กล้าหาญและจงรักภักดีนั่นเอง[13] นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังใช้สัญลักษณ์รูปหนุมานในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของด้วย อาทิ เบียร์ตราหนุมาน หรือทิพยประกันภัยที่มีการใช้สัญลักษณ์เป็นรูปหนุมานมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็จะใช้ข้อความว่า “ลิง” เมื่อต้องวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งฉายาในเชิงลบในแก่จอมพลสฤษดิ์ เช่น ลิงบ้ากาม ลิงม้ามแตก เป็นต้น[14]

           “หนุมาน” บน “เวทีพันธมิตร” ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2549 โดยใช้ธงเป็นรูปหนุมานสี่กร หรือที่เรียกว่า “พญาชิงชัย” ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้[15] ทั้งนี้ ธงพญาชิงชัยนี้เป็นสัญลักษณ์ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือเป็นธงนำในการเดินขบวนเพื่อต่อต้านรัฐบาล กรณีพญาชิงชัยนี้สอดคล้องกับคติความนิยมในการบูชาจตุคามรามเทพ ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2551 ซึ่งกำลังแพร่หลายในช่วงเวลานั้น[16]

           “หนุมานอาสา” เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... (ต่อมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ภายใต้สโลแกนที่ว่า “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวถือเป็นการรณรงค์ทางการเมืองที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้และออกไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ปี พ.ศ. 2559 เป็นปีวอก และหนุมานเปรียบเสมือนเทพแห่งลิงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดีต่อบ้านเมือง การใช้สัญลักษณ์หนุมานจึงเป็นไปภายใต้ความเชื่อว่าการดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติจะประสบความสำเร็จในที่สุด[17]

 

บทสรุป

           หนุมานอาสาเป็นการรณรงค์ทางการเมือง (Political Campaign) ที่สำคัญในการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...  ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ภายใต้สโลแกนที่ว่า “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นมี กกต. เป็นผู้จัดการลงประชามติ ซึ่งมีการใช้การรณรงค์หลากหลายช่องทาง ทั้งการจัดทำบทเพลงรณรงค์ การทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ทำสัญลักษณ์หนุมานอาสา แต่ก็มีหลายฝ่ายวิจารณ์การรณรงค์ของ กกต. นั้น ยังไม่เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้มีพื้นที่ในการนำเสนอหรือรณรงค์ด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องมีการรณรงค์ผ่านช่องทางที่แต่ละภาคส่วนมีอยู่ เช่น การแต่งเพลง การจัดทำเอกสารเผยแพร่ เป็นต้น นอกจานี้ ฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ใช้การรณรงค์ผ่านช่อทางของตนเช่นกัน โดยมีเหตุผลสำคัญในการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือ รัฐธรรมนูญนี้จะสร้างระบบการเมืองแห่งคุณธรรมขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับความหมายโดยนัยของสัญลักษณ์หนุมานดังกล่าว

บรรณานุกรม

“7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่เข้าข่ายปลุกระดม ศาลยกฟ้อง ‘ไผ่-ปาล์ม’ ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ."
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (30 มีนาคม 2561).

เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=6742>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

““กกต." เตรียมปรับเนื้อหาเพลงรณรงค์ประชามติเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่." สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (14 มิถุนายน 2559).

เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_news.php?nid=48&filename=index>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563.

คำนูณ สิทธิสมาน. (2549). ปรากฏการณ์สนธิ: จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.

“‘คำนูณ’ ลั่นร่างรธน.นี้พิเศษ ใส่กระบวนการปฏิรูป ย้ำรปห.ครั้งสุดท้ายทำเพื่อประเทศไม่ได้แสวงอำนาจ." มติชนออนไลน์ (26 มิถุนายน 2559).

เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_189634>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

“‘เต้น’ แต่งเพลงแหล่ประชามติ จ่อแจก 19 มิ.ย.นี้." เดลินิวส์ออนไลน์ (9 มิถุนายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/501580>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

ทักษ์  เฉลิมเตียรณ. (2561). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

“เทียนรูปหนุมานรณรงค์ออกเสียงลงประชามติ." คมชัดลึกออนไลน์ (11 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/regional/233229>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563.

“นปช.เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ-คสช.บอกยังไม่ใช่เวลานี้กลไกภาครัฐยังทำงานได้ดี." สำนักข่าวไทยทริบูน (8 มิถุนายน 2559).เข้าถึงจาก

<http://www.thaitribune.org/contents/detail/302?content_id=20539&rand=1465143251>.
เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

“นับถอยหลังประชามติ รธน.: ใครมี “สิทธิ” ออกเสียงประชามติ และ “คะแนน” ของใครจะถูกนับ." Thai Publica (3 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2016/07/referendum-9/>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

““บรรหาร"ชี้ร่างรธน.พอรับได้ หวังให้เลือกตั้งปี60." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (14 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/426538>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

“มาร์คโหวตโน." ไทยรัฐออนไลน์ (28 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/674946>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

“ย้อนประวัติศาสตร์: เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเป็น “หัวหน้าพรรค และนักการเมือง”." ประชาไท (11 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79114>. เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563.

“รำลึก 1 ปี 4 ก.พ.กู้ชาติ “สนธิ”เผยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนุนนำชัย." ผู้จัดการออนไลน์ (4 กุมภาพันธ์ 2550). เข้าถึงจาก  <https://mgronline.com/onlinesection/detail/9500000013849>. เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2559). แบบมาสคอตรณรงค์การออกเสียงประชามติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.

““สุเทพ"เฟซบุ๊กไลฟ์ไปลงประชามติ7สิงหารับร่างรธน.." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (30 ก.ค. 2559). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/445763>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

“‘สุเทพ'ชวนปชช. ลงประชามติ7ส.ค.." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (7 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/706175>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

““สุวัจน์” โยน ปชช.คำตอบสุดท้ายรับหรือไม่รับร่าง รธน. แนะทุกฝ่ายยอมรับกติกา." ผู้จัดการออนไลน์ (10 กุมภาพันธ์ 2559). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9590000014582>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

 

 

อ้างอิง

[1] "นับถอยหลังประชามติ รธน.: ใครมี “สิทธิ” ออกเสียงประชามติ และ “คะแนน” ของใครจะถูกนับ," Thai Publica (3 กรกฎาคม 2559), เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2016/07/referendum-9/>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[2] ""บรรหาร"ชี้ร่างรธน.พอรับได้ หวังให้เลือกตั้งปี60," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (14 เมษายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/426538>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[3] "“สุวัจน์” โยน ปชช.คำตอบสุดท้ายรับหรือไม่รับร่าง รธน. แนะทุกฝ่ายยอมรับกติกา," ผู้จัดการออนไลน์ (10 กุมภาพันธ์ 2559), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9590000014582>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[4] ""สุเทพ"เฟซบุ๊กไลฟ์ไปลงประชามติ7สิงหารับร่างรธน.," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (30 ก.ค. 2559), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/445763>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[5] "'สุเทพ'ชวนปชช. ลงประชามติ7ส.ค.," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (7 กรกฎาคม 2559), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/706175>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[6] "‘คำนูณ’ ลั่นร่างรธน.นี้พิเศษ ใส่กระบวนการปฏิรูป ย้ำรปห.ครั้งสุดท้ายทำเพื่อประเทศไม่ได้แสวงอำนาจ," มติชนออนไลน์ (26 มิถุนายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_189634>. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563.

[7] "“7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่เข้าข่ายปลุกระดม ศาลยกฟ้อง ‘ไผ่-ปาล์ม’ ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ," ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (30 มีนาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.tlhr2014.com/?p=6742>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

[8] "นปช.เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ-คสช.บอกยังไม่ใช่เวลานี้กลไกภาครัฐยังทำงานได้ดี," สำนักข่าวไทยทริบูน (8 มิถุนายน 2559), เข้าถึงจาก <http://www.thaitribune.org/contents/detail/302?content_id=20539&rand=1465143251>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

[9] "‘เต้น’ แต่งเพลงแหล่ประชามติ จ่อแจก 19 มิ.ย.นี้," เดลินิวส์ออนไลน์ (9 มิถุนายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/501580>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

[10] "มาร์คโหวตโน," ไทยรัฐออนไลน์ (28 กรกฎาคม 2559), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/674946>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563.

[11] ""กกต." เตรียมปรับเนื้อหาเพลงรณรงค์ประชามติเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่," สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (14 มิถุนายน 2559), เข้าถึงจาก <https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_news.php?nid=48&filename=index>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563.

[12] "เทียนรูปหนุมานรณรงค์ออกเสียงลงประชามติ," คมชัดลึกออนไลน์ (11 กรกฎาคม 2559), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/regional/233229>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563.

[13] ทักษ์  เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561), หน้า 355-365.

[14] "ย้อนประวัติศาสตร์: เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเป็น “หัวหน้าพรรค และนักการเมือง”," ประชาไท (11 กันยายน 2561), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79114>. เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563.

[15] ดูเพิ่มใน คำนูณ สิทธิสมาน, ปรากฏการณ์สนธิ: จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2549).

[16] "รำลึก 1 ปี 4 ก.พ.กู้ชาติ “สนธิ”เผยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนุนนำชัย," ผู้จัดการออนไลน์ (4 กุมภาพันธ์ 2550), เข้าถึงจาก  <https://mgronline.com/onlinesection/detail/9500000013849>. เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563.

[17] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, แบบมาสคอตรณรงค์การออกเสียงประชามติ (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2559).