แห่คืนนกหวีด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:04, 14 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ

 

ความนำ

          ปรากฎการณ์แห่คืนนกหวีด เป็นกระแสทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีต
ผู้ชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในช่วงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มีการเดินคารวะแผ่นดินก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งกระแสดังกล่าวประกอบด้วยหลายเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ที่ชายหนุ่มชาวจังหวัดปราจีนบุรีได้นำนกหวีดมาคืนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเดินคาระแผ่นดินในจังหวัดดังกล่าว[1] เหตุการณ์ที่ทางคณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (ทีมจัดงาน วิ่งไล่ลุง) ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ที่เคยชุมนุมกับ กปปส. ได้นำภาพถ่าย ธงชาติ และนกหวีด มาแลกกับเหรียญปราบกบฎในช่วงที่มีการจัดกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2562[2]  เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องล้วนใช้การคืน “นกหวีด” เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการโจมตีฝ่ายตรงข้ามของตนเอง

 

เมื่อเริ่มเป่านกหวีด การเกิดขึ้นของกปปส.

          คณะกรรมประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...” เข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และบรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้นำชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากความผิดทางการเมือง และสามารถเข้าประเทศได้ ขณะเดียวกัน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ก็แสดงความคัดค้าน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะล้างความผิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้พ้นจากข้อหาสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 กระแสคัดค้านขยายตัวจนมวลชนจำนวนนับล้านคนมารวมตัวชุมนุมกันทั่วกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว จนเกิดปรากฏการณ์ “มวลมหาประชาชน” ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยอมถอย ต่อมาวุฒิสภาได้ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยมติเอกฉันท์[3]

          ภายหลังประสบความสำเร็จในการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยกระดับมาเป็นการต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและขจัดระบอบทักษิณ นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้ประกาศ 4 มาตรการอารยะขัดขืน ได้แก่

1.หยุดงาน หยุดเรียน ระหว่าง 13-15 พฤศจิกายน 2556

2.หยุดชำระภาษี

3.ปักธงชาติตามบ้านเรือนหรือพาหนะ และให้พกนกหวีด

4.ถ้าพบเห็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องพูดด้วย แต่ให้เป่านกหวีดใส่[4] ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณได้ประกาศก่อตั้งคณะกรรมประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ประกอบด้วยกลุ่มนักวิชาการ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มประชาคมธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประธิปไตย กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นเลขาธิการกปปส.[5] นกหวีดและธงชาติจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ กปปส.นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          กระแสกดดันที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่ กปปส. ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากรัฐมนตรีรักษาการ โดย กปปส. ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนแล้วจึงค่อยจัดการเลือกตั้ง ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรจัดการเลือกตั้งก่อนแล้วจึงค่อยดำเนินการปฏิรูปการเมือง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557[6] แม้ว่าเวลาต่อมาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็ตาม แต่ กปปส. ก็ได้มีการรณรงค์คัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส่งผลให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่สามารถเปิดลงคะแนนได้ครบทั่วประเทศ (จากหน่วยเลือกตั้งทั่งประเทศ 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย) หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีผลเป็นโมฆะ[7] การชุมนุมของ กปปส. ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั้ง วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น ได้รัฐประหารและประกาศให้ยุติการชุมชน ทำให้กลุ่ม กปปส. ยุติการชุมนุมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เมื่อต้องเก็บนกหวีด ความเคลื่อนไหวของ กปปส.หลังรัฐประหาร

          หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยได้เข้าสู่กฎอัยการศึก[8] และการรัฐประหาร มีการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน[9] ส่งผลให้ กปปส. ต้องยุติการชุมนุมและบทบาทลง แกนนำหลายคนตกเป็นจำเลยในหลายๆ คดี เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏและก่อการร้ายก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวในเวลาต่อมา[10] สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ ถูกตั้งข้อหาว่าหน่วงเหนี่ยวทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่ศาลจะรอลงอาญาในเวลาต่อมา[11] สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม,สกลธี ภัทธิยกุล,
สมบัติ ธำรงค์ธัญญาวงศ์ และเสรี วงษ์มณฑา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการกบฏ มั่วสุม สร้างความวุ่นวาย
ในบ้านเมือง ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องในเวลาต่อมา[12]

          ความเคลื่อนไหวของ กปปส. ในช่วงนี้ดูเหมือนจะเป็นไปคนละทิศละทาง บางคนถูกตกเป็นจำเลยในคดีต่างๆ ดังที่กล่าวมาในข้างต้น บางคนได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ ให้กับ คสช. เช่น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[13] บางคนกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนเคยสังกัด เช่น นายถาวร เสนเสียม[14] ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณและแกนนำคนอื่นๆ นั้นได้จัดตั้ง มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หรือ “มูลนิธิ กปปส.” ขึ้นโดยวัตถุประสงค์ของมูลนิธิได้ระบุไว้กว้างๆ เช่น สนับสนุนการประกอบกิจการศึกษา วิจัย สัมมนา ประชุมเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ติดตามศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ตลอดจนรายงานข้อมูลและสถานะของประเทศเป็นระยะๆ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลางโดยไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด ฯลฯ[15] เหตุผลส่วนหนึ่งที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำคนอื่นๆ จัดตั้งมูลนิธิดังกล่าวแทนที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบอื่นเนื่องจากว่า ณ ขณะนั้นประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. ซึ่งต้องการให้กลุ่มการเมืองต่างๆ ลดระดับและชะลอบทบาททางการเมืองลง นอกจากนี้เหตุผลส่วนหนึ่งที่แกนนำ กปปส. มีชะตาชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ กปปส. ประกอบกันขึ้นจากการรวมตัวกันของหลายกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน หากแต่มีจุดร่วมเดียวกันนั่น ก็คือ การต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย[16] ทำให้หน้าที่ บทบาท ผลตอบแทนที่แต่ละคนได้รับหลังรัฐประหารจึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน

 

เดินคารวะแผ่นดินกับการกลับมาของ กปปส.

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคพวกจำนวนหนึ่ง เช่น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, นายประสาร มฤคพิทักษ์, หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล, นายเชน เทือกสุบรรณ, นายธานี เทือกสุบรรณ และนายแพทย์สุวพล เอี่ยมเมธาวี ฯลฯ เปิดตัวพรรค ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เพื่อที่จะลงแข่งขันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น[17] หลังจากที่ คสช.ได้มีการอนุญาติให้ประชุมพรรคการเมืองได้ ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้มีการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารและรับรองข้อบังคับพรรค โดยที่ประชุมมีมติเลือกหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งหม่อมราชวงศ์จัตุมงคลกล่าวในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นครั้งแรกว่า “พรรคเราก็มีฐานของกปปส.เสียตั้งแยะ เขาขอให้ช่วยเราก็ต้องช่วย”[18]

          เมื่อการเลือกตั้งมีท่าทีว่าจะเกิดขึ้น[19] พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณได้จัดกิจกรรม ‘เดินคารวะแผ่นดิน’ โดยมีเป้าหมายเพื่อรับสมัครสมาชิกพรรคและรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อนำมาประมวลเป็นนโยบายของพรรค โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ย้ำว่า กิจกรรมนี้พรรคระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากจะไม่พยายามขัดกับคำสั่งคสช. เช่นเดินฟุตบาทหรือริมถนน ไม่ใช่บนท้องถนน เชิญชวนประชาชนเข้าเป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่รณรงค์หาเสียงกระนั้นก็ตามพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเดินคารวะแผ่นดินเช่นนี้จนครบ 77 จังหวัด[20]

          การเดินคาระแผ่นดินในครั้งนี้สะท้อนความนิยมของนายนายสุเทพ เทือกสุบรรณได้เป็นอย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่เป็นแกนนำ กปปส. สามารถปิดสถานที่ราชการได้, สามารถทำให้การเลือกตั้งจัดไม่ครบทุกหน่วยได้, มีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวนมากได้ ฯลฯ แต่พอมาถึงช่วงเดินคาระแผ่นดินกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งการเปิดตัวเดินครั้งแรกกลับมีคนเริ่มเดินเพียง 30 คนเท่านั้น[21] ทั้งตลอดเส้นทางการเดินคารวะแผ่นดินนั้นดูจะได้รับเสียงวิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการเดินที่จังหวัดฐานเสียงเพื่อไทยหนาแน่นอย่างกาฬสินธุ์กลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น[22] ขณะเดียวกันก็เปิดปฏิกริยาตรงข้ามที่จังหวัดเชียงใหม่[23] แต่กระนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง กปปส. แล้วกลับต่างกันราวฟ้ากับเหว นอกจากนี้ยังมีปฏิกริยาของประชาชนในระดับปัจเจกที่ไม่สนับสนุนนายสุเทพ เทือกสุบรรณอย่างต่อเนื่อง เช่น การชูป้ายข้อความ "LIAR"[24] , การชูป้ายบอกว่าไม่ชอบ[25], การไม่อนุญาติให้มาทำกิจกรรมในห้าง[26] เหตุการณ์เหล่านี้เองเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระแสหนึ่งที่สะท้อนความนิยมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ณ เวลานั้นได้เป็นอย่างดี นั่นคือ “กระแสแห่คืนนกหวีด”

 

เมื่อแห่คืนนกหวีด ภาพลักษณ์ของกปปส.ที่เปลี่ยนไป

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 ขบวนการทางการเมืองที่มีอิทธิพลที่สุดคงหนีไม่พ้น กปปส. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นแกนนำ ไม่ว่าจะเป็น การมีประชาชน หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยจำนวนมาก การมีสัญลักษณ์นกหวีดและธงชาติแห่งชัยชนะจนเป็นที่จดจำของผู้คน การมีความสามารถที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องสะดุดหยุดลง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ขบวนการเคลื่อนไหวของ กปปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเทือกสุบรรณนั้น ถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนขบวนการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายทางการเมือง อันเนื่องจากโครงสร้างของ กปปส. ถูกแบบมาให้มีลักษณะ “หลวมและรองรับความหลากหลาย”ดังจะเห็นได้จากการกระจายตัวการชุมนุมไปทั่วทุกพื้นที่ โดยให้อิสระแต่ละเวทีสำหรับการกำหนดประเด็นในการปราศรัย นอกจากนี้ รูปแบบลักษณะของการชุมนุมถูกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีคนกรุงเทพฯ และชนชั้นกลางรุ่นใหม่ โดยทำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ดูไม่เป็นเรื่องการเมือง มีการเพิ่มสีสัน ความสนุกของการชุมนุมโดยการเชิญดาราและนักร้องเข้าร่วมกิจกรรม[27]

          แต่กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป นายสุเทพ เทือกสุบรรณและอดีตแกนนำ กปปส. เดิมได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งในครั้งที่จะเกิดขึ้น ประชาชน หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ กลับไม่ได้อุ่นหนาฝาคลั่งเหมือนแต่ก่อน แม้กระทั่งสัญลักษณ์นกหวีดและธงชาติก็กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมถอยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคพวกเสียเอง สิ่งที่อธิบายภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของกปปส.ได้ชัดเจนที่สุดคือความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในเหตุการณ์แห่คืนนกหวีดอันนั่นเอง

          สำหรับส่วนตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั้นมองกระแสดังกล่าวว่า มีคนที่รับงานคืนนกหวีด หรือรับงานก่อกวนในการรณรงค์ของตน ขณะเดียวกันก็ทราบดีว่าการต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนั้นเป็นจุดร่วมของหลายฝ่าย ขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งแต่ละฝ่ายต่างมีท่าทีที่ต่างกัน ทำให้ผู้สนับสนุนตนเองน้อยลง[28]

          สำหรับคนที่รู้จักกันดีอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตก็แสดงความคิดเห็นต่อการเดินคาระแผ่นดิน และกระแสแห่คืนนกหวีดว่า “เฮ้อ! เมืองไทย คุณสุเทพ หม่อมเต่า อาจารย์เอนก อาจารย์สุริยะใส เลิกเถอะ อย่าทำต่อเลย ผมสงสาร คนเขาไม่เชื่อแล้ว”[29]

          สำหรับนักวิชาการ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การเดินคาราวะแผ่นดินครั้งนี้ของนายสุเทพ ต่างจากสมัยเป็นแกนนำ กปปส. เนื่องจาก ไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก อันเป็นผลมาจากความไม่อยู่กับร่องกับรอยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งผลให้คนเริ่มไม่แน่ใจในบทบาทของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลังประกาศวางมือทางการเมืองหลังจบเวที กปปส. แต่กลับมาทำงานทางการเมืองอีกครั้ง เพราะคำพูดของนายสุเทพกลับไปกลับมาจนเป็นผลร้ายที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย[30]

          สำหรับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นช่วงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณเดินคารวะแผ่นดินในภาคใต้ว่า การที่ออกไปพบประชาชนนั้นดูเหมือนจะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดคำถามตามมา ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำลง ทั้งๆ ที่เคยกล่าวกับชาวบ้านว่าไม่ต้องไปประท้วงรัฐบาล เพราะเป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวขณะที่บวชเป็นพระว่าจะไม่ลงเล่นการเมือง ฯลฯ ถ้าหากชาวปักษ์ใต้แห่คืนนกหวีดเหมือนที่อื่นๆ ก็ไม่รู้ว่านายสุเทพจะทำการเมืองต่ออย่างไร นอกจากนี้ยังกล่าวถึงนกหวีดว่า แต่ก่อนตอนประท้วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหาได้ง่าย เป็นเรื่องเท่ เป็นของโชว์ แต่ ณ ขณะนี้ดูจะเป็นของแสลง บางคนยอมรับว่าการเป่านกหวีดในครั้งนั้นถือเป็นความผิดพลาดในชีวิต[31]

          ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ ได้จัดกิจกรรม นำนกหวีด มาแลกเหรียญปรากบฏดังที่กล่าวมาแล้วในบทนำนั้น โดยประชาชนที่เคยเข้าร่วมกับ กปปส. แล้วคืนนกหวีดให้แก่นายสุเทพ เทือกสุบรรณก็ได้ให้เหตุผลต่างๆ เช่น  การเป่านกหวีดในวันนั้นทำให้ตนไม่มีกินในวันนี้ จึงขอคืนนกหวีดให้แก่นายสุเทพ[32] ตนอยากให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง จึงเอาไปคืน คนไทยควรที่จะเลือกทะเลาะเพราะเรื่องนี้ได้แล้ว[33]
ตนมีทั้งนกหวีด ธงชาติ ผ้าพันคอขอเข้าร่วมงานด้วย[34]

 

บทสรุป

          การแห่คืนนกหวีดเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองหนึ่งที่สะท้อนการ สถานะของปรากฎการณ์คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557

          โดยการเกิดขึ้นของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...” เข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และบรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้นำชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ ‘มวลมหาประชาชน’ จากคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กลายเป็น การล้มล้างระบอบทักษิณ การอารยะขัดขืน  การหยุดเรียนหยุดทำงาน การไม่จ่ายภาษี การคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ใช้ ‘นกหวีดและธงชาติ’ เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง นกหวีดและธงชาติจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ กลุ่มมวลมหาประชาชนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั้งเปิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำคนอื่นๆถูกจับกุมลำดำเนินคดี การประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จึงยุติในที่สุด

          เมื่อมีท่าทีว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณและแกนนำ กปปส. คนอื่นๆ ได้มีการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยเพื่อสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายในปีเดียวกันนั้น พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้มีการจัดกิจกรรม ‘เดินคารวะแผ่นดิน’ เพื่อรับสมัครสมาชิกพรรค ตลอดจนรับฟังปัญหาจากประชาชนเพื่อนำมาทำเป็นนโยบายของพรรค การเดินคารวะแผ่นดินนี้เองที่สะท้อนสถานะของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่ม กปปส. ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการมีป้ายประท้วงระหว่างการเดิน จำนวนของผู้ที่ร่วมเดินด้วย การไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำกิจกรรมในบางสถานที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมการแห่คืนนกหวีด

          กล่าวได้ว่า การแห่คืนนกหวีดนั้น เป็นตัวชี้วัดสถานะความนิยมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณได้เป็นอย่างดี เมื่อต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนั้น มีผู้เข้าร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำนวนมาก เช่น กลุ่มนักวิชาการ ดารานักแสดง หน่วยงานต่างๆ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างใช้นกหวีดและธงชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม กปปส. แทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมเดินคารวะแผ่นดิน กลุ่มคนเหล่านี้เองที่ได้นำนกหวีดและธงชาติมาคืนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การกระทำเหล่านี้แสดงออกถึงคะแนนนิยมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม กระแสแห่คืนนกหวีดนี้ มีจุดที่น่าสนใจคือ การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงที่ประชาชนทั่วไปกล้าที่จะบอกกล่าวต่อสาธารณะว่าความนิยมทางการเมืองของตนเองได้เปลี่ยนแปลงไป ก่อนหน้านี้มีเพียงผู้มีอิทธิพลทางการเมือง หรือผลของการเลือกตั้งเท่านั้นที่บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของความนิยมทางการเมืองของประชาชน นอกจากนี้กระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเกิดขึ้นจากการริเริ่มของประชาชนทั่วไป หาใช่กลุ่มการเมืองไม่ เช่น กลุ่มวิ่งไล่ลุง ชายชาวจังหวัดปราจีณบุรีที่ไปคืนนกหวีด เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแล้ว

 

บรรณานุกรม

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2562) “พลวัตการเปลี่ยนแปลง การถดถอย และการฟื้นตัว ของขบวนการต่อต้านทักษิณ.” วารสารสังคมศาสตร์. ปีที่ 49, ฉบับที่ 1: 7-33.

“แกนนำ กปปส.เคลียร์ 'อภิสิทธิ์' ยันไม่มีใครลาออกจากพรรค พร้อมเลือกตั้งตามโรดแมป.” ประชาไท. (30 พฤษภาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/05/71707>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ครม.ตั้ง 'พุทธิพงษ์' อดีตแกนนำ กปปส. นั่งรองเลขานายกฯฝ่ายการเมือง.” ประชาไท. (11 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/09/78656>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“จากเดินคารวะแผ่นดิน ถึงปฏิบัติการ “คืนนกหวีด” มวลชน กปปส.เปลี่ยน แต่ “ลุงกำนัน” ไม่เปลี่ยน.”

มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2561.

เข้าถึงได้จาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_146822 > เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

ฐิติกร สังข์แก้ว. “มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ.” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย#_ftn4>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

““เทือก” ตั้ง กปปส. เผด็จศึก “ระบอบแม้ว” 1 ธ.ค.วันแห่งชัย-ยึดศูนย์ราชการเบ็ดเสร็จตั้งแต่คืนนี้ ก่อนรุกคืบยึดทำเนียบ-สตช..” ผู้จัดการออนไลน์ (29 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงได้จาก <https://mgronline.com/politics/detail/9560000148378>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“นักวิชาการ จี้ กกต.สอบ “คารวะแผ่นดิน” เชื่อเดิน 2 วัน ไร้คนสนใจ ส่งผลลบ รปช.” Newsringside. (29 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.newsringside.com/6630/>.  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนพิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

“ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง, 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

“ประชาชนแห่คืนนกหวีด แลกเหรียญปราบกบฎ เปิดความในใจ หลังหลงผิด ร่วมม็อบ กปปส.” บ้านและสวน. (17 ธันวาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.baansuann.com/คืนนกหวีด-แลกเหรียญ>.  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

“ประมวลภาพบรรยายผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย.” ACT PARTRY. (7 สิงหาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.youtube.com/watch?v=Kd3x-lKOGy0>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ประยุทธ์'ออกตัวต่อหน้า'ทรัมป์' ย้ำเลือกตั้งปี61.” เดลินิวส์ออนไลน์. (3 ตุลาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/602105>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ปลุกคืนนกหวีด!‘เต้น’เย้ยเทพเทือก จาก‘ของเท่’กลายเป็น‘ของแสลง’” แนวหน้า. (10 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.naewna.com/politic/376047>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

“พรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดตัวคึกคัก! รอขอ คสช. เดินสายทั่วประเทศ.” ไทยรัฐออนไลน์. (3 มิถุนายน 2561). เข้าถึงจาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1298091>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“มติชุมนุมต่อ - สุเทพลาออก ส.ส. - ประกาศอารยะขัดขืนหยุดงานทั่วประเทศ 13-15 พ.ย..” ประชาไท (11 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงได้จาก <https://prachatai.com/journal/2013/11/49731>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“รปช.คิกออฟ 'เดินคารวะแผ่นดิน'!! สุเทพ ลั่นขอเดินครบ 77 จว..” ไทยรัฐออนไลน์. (25 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1403284>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“รปช.เริ่ม ‘เดินคารวะแผ่นดิน’ พรุ่งนี้ ‘หม่อมเต่า-สุเทพ’ นำรับสมัครสมาชิก-ฟังปัญหาปชช..” มติชนออนไลน์. (24 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก  <https://www.matichon.co.th/politics/news_1193405>  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“รอลงอาญา 1 ปี พุทธอิสระ คดีการ์ด กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะทำร้ายตำรวจสันติบาลสาหัส.” ประชาไท. (29 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79354>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ศาลยกฟ้อง '4ส.' แกนนำกปปส. คดีกบฏ ชี้การชุมนุมเป็นสิทธิของจําเลยตามรัฐธรรมนูญ.” ประชาไท. (25 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/07/83566>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ศาลให้ประกัน 'สุเทพ-8กปปส.' จำเลยคดีกบฏ คนละ 6 แสน.” ประชาไท. (24 มกราคม 2561). เข้าถึงจาก<https://prachatai.com/journal/2018/01/75086>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจหนุ่มคืนนกหวีด สุเทพ เทือกสุวรรณ.” BRIGHT TV. (9 พฤษจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก  <https://www.youtube.com/watch?v=_gm73xk89Cs>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ. (2557) “ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชนกับจุดเปลี่ยนประเทศไทย.” สุขภาพคนไทย 2557 : ชุุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง...สู่การปฏิรูปประเทศจากฐานราก. นครปฐม: สภาวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล      , หน้า 36-41.

“สุเทพ เดินคารวะแผ่นดินที่กาฬสินธุ์ สุดแฮปปี้ ชาวบ้านต้อนรับดีเกินคาด.” ไทยรัฐออนไลน์. (31 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1484473>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“สุเทพ บุกแดนบั้งไฟยโสธร คารวะแผ่นดิน เจอหนุ่มหน้านิ่งชูป้าย "บ่มัก".” ไทยรัฐออนไลน์. (1 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1485373>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

““สุเทพ”เจอดีคนขอคืนนกหวีดบอกเป่าแล้วไม่มีจะกิน” Independent News Network. (8 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก<https://www.innnews.co.th/politics/news_236094/>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

“สุเทพเชื่อ มีคนจ้าง อดีตกปปส.มาคืนนกหวีด.” Voice Online. (9 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://voicetv.co.th/read/H1mj2jG67>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 .

“สุเทพบุกถิ่นเสื้อแดงเชียงใหม่ เดินคารวะแผ่นดิน เจอคนหน้าบึ้งไม่คุยด้วย.” ไทยรัฐออนไลน์. (10 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/local/north/1466181>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน.

“สุเทพยุติการเดินคาระแผ่นดินในกรุงเทพฯ จุดหมายต่อไปอยู่ที่ภาคตะวันออก.” Voice Online. (31 ตุลาคม 2561) เข้าถึงได้จาก<https://voicetv.co.th/read/r1-TLgvn7>. 25 เมษายน 2563.

“แห่คืนนกหวีด แลกเหรีญปราบกบฎ เปิดความในใจ สารภาพหลงผิด ร่วมม็อบ กปปส..” ข่าวสดออนไลน์. (17 ธันวาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_3203676>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

“ไหนว่าไม่เล่นการเมือง สุเทพเจอประชาชนถามระหว่างเดินคาระแผ่นดิน.” มติชน 'TV'. (30 ตุลาคม 2561) เข้าถึงได้จาก <https://www.youtube.com/watch?v=5qMbtCqJDY8>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

 

อ้างอิง


[1] “สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจหนุ่มคืนนกหวีด สุเทพ เทือกสุวรรณ,” BRIGHT TV. (9 พฤษจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก  <https://www.youtube.com/watch?v=_gm73xk89Cs>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[2] “แห่คืนนกหวีด แลกเหรีญปราบกบฏ เปิดความในใจ สารภาพหลงผิด ร่วมม็อบ กปปส.,” ข่าวสดออนไลน์. (17 ธันวาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_3203676>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[3] สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ, “ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชนกับจุดเปลี่ยนประเทศไทย,” สุขภาพคนไทย 2557 : ชุุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง...สู่การปฏิรูปประเทศจากฐานราก (นครปฐม: สภาวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557), หน้า 37-38.

[4] “มติชุมนุมต่อ - สุเทพลาออก ส.ส. - ประกาศอารยะขัดขืนหยุดงานทั่วประเทศ 13-15 พ.ย.,” ประชาไท (11 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงได้จาก <https://prachatai.com/journal/2013/11/49731>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[5] ““เทือก” ตั้ง กปปส. เผด็จศึก “ระบอบแม้ว” 1 ธ.ค.วันแห่งชัย-ยึดศูนย์ราชการเบ็ดเสร็จตั้งแต่คืนนี้ ก่อนรุกคืบยึดทำเนียบ-สตช.,” ผู้จัดการออนไลน์ (29 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงได้จาก <https://mgronline.com/politics/detail/9560000148378>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[6] สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ, “ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชนกับจุดเปลี่ยนประเทศไทย,” หน้า 39.

[7] สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ, “ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชนกับจุดเปลี่ยนประเทศไทย,” หน้า 39-40.

[8]  "ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1.

[9] “ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

[10] “ศาลให้ประกัน 'สุเทพ-8กปปส.' จำเลยคดีกบฏ คนละ 6 แสน,” ประชาไท. (24 มกราคม 2561). เข้าถึงจาก<https://prachatai.com/journal/2018/01/75086>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[11] “รอลงอาญา 1 ปี พุทธอิสระ คดีการ์ด กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะทำร้ายตำรวจสันติบาลสาหัส,” ประชาไท. (29 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79354>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[12] “ศาลยกฟ้อง '4ส.' แกนนำกปปส. คดีกบฏ ชี้การชุมนุมเป็นสิทธิของจําเลยตามรัฐธรรมนูญ,” ประชาไท. (25 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/07/83566>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[13] “ครม.ตั้ง 'พุทธิพงษ์' อดีตแกนนำ กปปส. นั่งรองเลขานายกฯฝ่ายการเมือง,” ประชาไท. (11 กันยายน 2561). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/09/78656> เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[14] “แกนนำ กปปส.เคลียร์ 'อภิสิทธิ์' ยันไม่มีใครลาออกจากพรรค พร้อมเลือกตั้งตามโรดแมป,” ประชาไท. (30 พฤษภาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2017/05/71707>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[15] "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง, 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

[16] ฐิติกร สังข์แก้ว, “มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ,” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย#_ftn4>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

[17] “พรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดตัวคึกคัก! รอขอ คสช. เดินสายทั่วประเทศ,” ไทยรัฐออนไลน์. (3 มิถุนายน 2561). เข้าถึงจาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1298091>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[18] “ประมวลภาพบรรยายผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย,” ACT PARTRY. (7 สิงหาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.youtube.com/watch?v=Kd3x-lKOGy0>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[19] 'ประยุทธ์'ออกตัวต่อหน้า'ทรัมป์' ย้ำเลือกตั้งปี61,” เดลินิวส์ออนไลน์. (3 ตุลาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.dailynews.co.th/politics/602105>  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[20] “รปช.เริ่ม ‘เดินคารวะแผ่นดิน’ พรุ่งนี้ ‘หม่อมเต่า-สุเทพ’ นำรับสมัครสมาชิก-ฟังปัญหาปชช.,” มติชนออนไลน์. (24 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก  <https://www.matichon.co.th/politics/news_1193405>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[21] “รปช.คิกออฟ 'เดินคารวะแผ่นดิน'!! สุเทพ ลั่นขอเดินครบ 77 จว.,” ไทยรัฐออนไลน์. (25 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1403284>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[22] “สุเทพ เดินคารวะแผ่นดินที่กาฬสินธุ์ สุดแฮปปี้ ชาวบ้านต้อนรับดีเกินคาด,” ไทยรัฐออนไลน์. (31 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1484473>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[23] “สุเทพบุกถิ่นเสื้อแดงเชียงใหม่ เดินคารวะแผ่นดิน เจอคนหน้าบึ้งไม่คุยด้วย,” ไทยรัฐออนไลน์. (10 มกราคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/local/north/1466181>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[24] “สุเทพยุติการเดินคาระแผ่นดินในกรุงเทพฯ จุดหมายต่อไปอยู่ที่ภาคตะวันออก,” Voice Online. (31 ตุลาคม 2561) เข้าถึงได้จาก<https://voicetv.co.th/read/r1-TLgvn7>. 25 เมษายน 2563.

[25]  “สุเทพ บุกแดนบั้งไฟยโสธร คารวะแผ่นดิน เจอหนุ่มหน้านิ่งชูป้าย "บ่มัก",” ไทยรัฐออนไลน์. (1 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงได้จาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1485373>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[26] “ไหนว่าไม่เล่นการเมือง สุเทพเจอประชาชนถามระหว่างเดินคาระแผ่นดิน,” มติชน 'TV'. (30 ตุลาคม 2561) เข้าถึงได้จาก <https://www.youtube.com/watch?v=5qMbtCqJDY8>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[27] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, “พลวัตการเปลี่ยนแปลง การถดถอย และการฟื้นตัว ของขบวนการต่อต้านทักษิณ,” วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 49, ฉบับที่ 1 (2562): 7-33.

[28] “สุเทพเชื่อ มีคนจ้าง อดีตกปปส.มาคืนนกหวีด,” Voice Online. (9 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://voicetv.co.th/read/H1mj2jG67>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 .

[29] “จากเดินคารวะแผ่นดิน ถึงปฏิบัติการ “คืนนกหวีด” มวลชน กปปส.เปลี่ยน แต่ “ลุงกำนัน” ไม่เปลี่ยน,” มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึงได้จาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_146822>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[30] “นักวิชาการ จี้ กกต.สอบ “คารวะแผ่นดิน” เชื่อเดิน 2 วัน ไร้คนสนใจ ส่งผลลบ รปช.” Newsringside. (29 ตุลาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.newsringside.com/6630/>.  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[31] “ปลุกคืนนกหวีด!‘เต้น’เย้ยเทพเทือก จาก‘ของเท่’กลายเป็น‘ของแสลง’,” แนวหน้า. (10 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.naewna.com/politic/376047>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

[32] ““สุเทพ”เจอดีคนขอคืนนกหวีดบอกเป่าแล้วไม่มีจะกิน,” Independent News Network. (8 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก<https://www.innnews.co.th/politics/news_236094/>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

[33] “สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจหนุ่มคืนนกหวีด สุเทพ เทือกสุวรรณ,” BRIGHT TV. (9 พฤษจิกายน 2561). เข้าถึงได้จาก  <https://www.youtube.com/watch?v=_gm73xk89Cs>. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563.

[34] “ประชาชนแห่คืนนกหวีด แลกเหรียญปราบกบฎ เปิดความในใจ หลังหลงผิด ร่วมม็อบ กปปส.,” บ้านและสวน. (17 ธันวาคม 2561). เข้าถึงได้จาก <https://www.baansuann.com/คืนนกหวีด-แลกเหรียญ>.  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563