โรคเลื่อนเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:56, 14 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

 “โรคเลื่อนเลือกตั้ง” หรือ “โรคเลื่อน” หรือ “เลื่อนเลือกตั้ง” เป็นการกล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ โดยอ้างถึงความจำเป็นในการเลื่อน หรือ ชะลอการเลือกตั้งออกไป อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ เช่น การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ล่าช้า ทั้งนี้ จากการรัฐประหารของ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก็มีการคาดการณ์ว่า คสช. จะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในปี พ.ศ. 2558 โดยยึดถือแนวทางที่คณะรัฐประหารในยุคก่อนหน้ามีระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ นั่นคือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในช่วงปี พ.ศ. 2534 – 2535 และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2550 ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจึงคาดหมายว่า คสช. จะอยู่ในอำนาจประมาณ 1 ปี แล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งบ่อยครั้ง และอยู่ในอำนาจยาวนานจนถึงปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเดิมมีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังมีเหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกเป็นวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ทำให้หลายฝ่ายทั้งนักการเมือง ภาคประชาสังคม และประชาชนจำนวนหนึ่ง เรียกกรณีนี้ว่า “โรคเลื่อนเลือกตั้ง”

 

การเลื่อนการเลือกตั้งในยุค คสช.

ในยุค คสช. ที่เริ่มอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จนกระทั่งมีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี ในระยะเวลา 5 ปีนี้ คสช. กำหนด Road Map ออกมาเป็น 3 ระยะ[1] ได้แก่ ระยะที่หนึ่ง เป็นช่วงแรกของการควบคุมอำนาจในการปกครอง โดยเน้นการดำเนินการในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาดังกล่าว คสช. จะมีบทบาทนำ โดยมีระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนแรกนับจากวันรัฐประหาร จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สอง เป็นช่วงเวลาของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จ กรอบเวลา 12 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สาม ช่วงของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้เสร็จ และจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้สามารถเสร็จสิ้นและมีการเลือกตั้งได้ภายในปี พ.ศ. 2558 หรือช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 แต่กระนั้น คสช. ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตาม Road Map ที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุผลนานาประการ
ทำให้การเลือกตั้งที่ควรจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ถูกเลื่อนออกไปเป็นปี พ.ศ. 2560 (เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงมติจาก สปช.) และถูกเลื่อนอีกครั้งไปเป็นปี พ.ศ. 2561 (เนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) และมีการเลื่อนอีกหลายครั้ง

หากนับระยะเวลาที่ไม่มีการเลือกตั้งเลย จะเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี เนื่องจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น การเรียกร้องการเลือกตั้งจึงเป็นประเด็นหลักที่หลายฝ่ายมีการเรียกร้องไปยังรัฐบาล คสช. ให้เร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และหัวหน้า คสช. อีกตำแหน่งหนึ่ง มักจะมีการกล่าวในเวทีระหว่างประเทศว่าจะจัดการเลือกตั้งในช่วงต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลทางกระบวนการต่าง ๆ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีของ คสช. ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือคำสัญญาที่ตนเองกำหนดขึ้นมาได้
ซึ่งการเลื่อนการเลือกตั้งในยุค คสช. มีอยู่ทั้งสิ้น 5 ครั้ง[2] ดังนี้

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยระบุว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2558 หรือต้นปี พ.ศ. 2559 ต่อมา นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และได้เสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา ซึ่ง สปช. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 โดยมีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ด้วยมติ 135 เสียง ต่อ 105 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง[3]

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่สอง เป็นการเลื่อนจากปี พ.ศ. 2560 ออกไป เพราะว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี พ.ศ. 2560 ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 แต่เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” กำหนดไว้ในมาตรา 267 ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาของสูตรแนวทาง (Road Map) การเลือกตั้งเป็น 6+4 และ 8+5 กล่าวคือ ระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ระยะเวลาทำประชามติ 4 เดือน จากนั้นเป็นระยะเวลาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 8 เดือน และระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 5 เดือน ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรัฐบาลคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 แต่ก็ไม่มีการเลือกตั้งในช่วงเวลาดังกล่าว[4]

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่สาม เป็นการเลื่อนจากปี พ.ศ. 2561 ออกไป หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ทว่าการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 จากนั้น จะเป็นขั้นตอนของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน และมีการประเมินว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครบ 10 ฉบับ ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561[5]

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่สี่ เป็นการเลื่อนจากปลายปี พ.ศ. 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับแล้ว โดยการประกาศวันเลือกตั้งดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก พลเอกประยุทธ์ มีการหารือร่วมกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งยังมีต่อเป็นระยะว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาจลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งก็ต้องขยับเลื่อนออกไป แต่ในที่สุด ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... มีการปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ดังนั้น ระยะเวลาการเลือกตั้งต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมอีกครั้งจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[6]

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่ห้า เป็นการเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ระยะเวลาในการเลือกตั้งตามห้วงที่กำหนด คือ ภายใน 150 วัน หลังจากมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ไม่กระทบกับห้วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีกิจกรรมประมาณ 15 วัน ทั้งก่อนและหลังช่วงวันพระราชพิธี โดยมีโจทย์สำคัญ ก็คือ วันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน และในที่สุดได้ข้อยุติเป็นวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้จริงในวันดังกล่าว ถือเป็นการปิดฉากการเลื่อนเลือกตั้งที่ยาวนานในยุค คสช.[7]

 

“การเลือกตั้ง” การออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่หลังการรัฐประหาร

 หลังจากมีการรัฐประหารแต่ละครั้งจะมีรูปแบบการดำเนินการทางการเมืองต่าง ๆ เช่น การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งในรูปแบบใหม่ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งเป็นผลผลิตปลายทางที่การรัฐประหารแต่ละครั้งต้องการจะบรรลุถึง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ
การเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองบางประการ โดยที่ปัญหาทางการเมืองเหล่านั้นมักถูกอ้างถึงว่ามีที่มาจากนักการเมือง จึงต้องมีการแก้รูปแบบการเลือกตั้งเพื่อให้ได้นักการเมืองที่เหมาะสม หรือ นักการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังที่ผ่านมา ในการเมืองไทยนั้น มักปรากฏการออกแบบการเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานการณ์ โดยมีกรณีที่สำคัญ ได้แก่ การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2511 โดยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2501 ที่มีเป้าหมาย คือ รักษาความมั่นคงปลอดภัยให้ประเทศรอดพ้นการการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์[8] จากนั้นคณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” ใช้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศ และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้งทางตรงแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ (multi-member constituencies) โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้ก่อให้เกิดผลที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองไทย นั่นคือ การมี ส.ส. หน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากการทิ้งช่วงการเลือกตั้งไปอย่างยาวนาน ทำให้ ส.ส. เก่าหลายคน เสียชีวิต หรือหมดบทบาททางการเมืองลงไป[9] นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์การเมืองไทยที่สำคัญ นั่นคือ การต่อสู้ระหว่างพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในช่วงสมัยคณะปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแสดงจุดยืนเรื่องการเป็นขั้วตรงข้ามกับพรรคสหประชาไทยและการรัฐประหาร และยังมีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบสังคมนิยมหลายพรรคได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน[10]

การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2521 โดยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่มีเป้าหมาย คือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศให้รอดพ้นการการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์ และปัญหารัฐสภาที่เกิดความแตกแยก นักการเมืองไม่ยึดถืออุดมคติของพรรค ไม่ปฏิบัติตามอาณัติที่ให้ไว้กับประชาชน พ้นวิสัยของระบอบประชาธิปไตย[11] จากนั้นคณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ตั้งรัฐบาลและมีการรัฐประหารซ้ำในปี พ.ศ. 2520 จึงมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้งทางตรงแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ (multi-member constituencies) จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง จนก่อให้เกิดผลที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองไทย นั่นคือ พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมาก เกิดเป็นระบบหลายพรรค (Multi-party System) และเมื่อไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงได้มีการตั้งรัฐบาลผสม และ เชิญบุคคลภายนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี[12]

การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2534 โดยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่มีเป้าหมายคือรักษาความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจข่มเหงข้าราชการประจำ รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา ทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์[13] จากนั้นได้มีการตั้งรัฐบาลและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประกาศใช้ในปลายปี พ.ศ. 2534 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. รวม 360 คน มีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ (multi-member constituencies) โดย 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 และมีการเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เกิดการต่อต้านจนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้เอง นำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา[14]

การเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2550 โดยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปลายปี พ.ศ. 2550 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่มีเป้าหมาย คือ การรักษาความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลมีการบริหารประเทศที่ทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้นำประเทศขาดจริยธรรม แทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ[15] จากนั้นได้มีการตั้งรัฐบาลและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งได้จัดทำประชามติและประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. รวม 480 คน มีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ (multi-member constituencies) โดย 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 คน จำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยแบ่งเขตประเทศออกเป็น 8 เขต แต่ละเขตมี ส.ส. 10 คน ซึ่งแต่ละพรรคจะคิดจำนวน ส.ส. ตามจำนวนสัดส่วนคะแนนที่ได้ในแต่ละเขต แต่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองเดียวกับพรรคไทยรักไทย ที่เป็นพรรคการเมืองที่บริหารประเทศก่อนมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ได้คะแนนเสียงข้างมาก และสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้อีกครั้ง[16]

 

การเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนในประวัติศาสตร์การเมือง

สำหรับการเลือกตั้งที่ถือว่ามีความสำคัญของประเทศและระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมามักจะถูกเลื่อนให้เกิดได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ความไม่ปกติของสถานการณ์ทางการเมือง กล่าวคือ ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น มีการประท้วง คณะรัฐประหารบริหารประเทศอยู่
เป็นต้น ซึ่งผู้นำประเทศจะถือเอาเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการเลื่อนการเลือกตั้งที่เคยกำหนดไว้แต่เดิม หรือทอดระยะเวลาในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญให้นานขึ้น ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น
มีกรณีที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปด้วยเหตุผลสำคัญ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญและกติกาอื่น ๆ
ไม่แล้วเสร็จ

การจัดทำรัฐธรรมนูญและกติกาอื่น ๆ ไม่แล้วเสร็จ เป็นปัจจัยสำคัญที่คณะรัฐประหารมักใช้เป็นเหตุผลในเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการรัฐประหารและกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีการใช้ระยะเวลาที่เนิ่นนาน ที่ผ่านมาพบกรณีเช่นนี้ 2 ครั้งที่สำคัญ นั่นคือ หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งมีระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 9 ปี นั่นคือ นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปีเดียวกัน แต่มีระยะเวลายาวนานจนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากกระบวนการยกร่างที่ใช้ระยะเวลาในการยกร่างรวม 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 – 2508 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ใน 3 วาระ รวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 – 2511[17]

นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งมีระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญยาวนาน 3 ปี ตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ ไปจนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จากนั้นมีขั้นตอนของการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีระยะเวลารวมตั้งแต่การจัดทำรัฐธรรมนูญจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 5 ปี แต่ในช่วงของการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้จัดการเลือกตั้งที่ยาวนาน ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลก็มักจะมีการขยายกรอบเวลาในการเลือกตั้งออกไปบ่อยครั้งเช่นกัน

 

บทสรุป

โรคเลื่อนเลือกตั้งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งถูกจับตามองว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปี พ.ศ. 2558 แต่มีเหตุให้ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดจากการจัดทำรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ ได้แก่ เลื่อนจากปี พ.ศ. 2558 ไปเป็นปี พ.ศ. 2560 ไปเป็นปี พ.ศ. 2561 และปี พ.ศ. 2562 จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ทั้งนี้ การเลื่อนการเลือกตั้งนั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่ปกติทางการเมือง เช่น มีการรัฐประหาร มีการชุมนุมประท้วง เป็นต้น เพราะการเลือกตั้งถือเป็นการกำหนดอนาคตที่สำคัญของประเทศ ทำให้ในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองที่มีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นของแต่ละฝ่าย จึงมักจะไม่มีการเลือกตั้งและใช้มาตรการอื่นเข้ามาแทนที่ นั่นคือ การรัฐประหารและออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวในบางกรณีก็สามารถแก้ปัญหาและสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเมืองได้ รวมทั้งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในทางการเมือง แต่ในบางกรณีก็อาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมาเช่นกัน

 

บรรณานุกรม

คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557).  ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มติชน.

“แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 123 ตอนที่ 95 ก, วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549.

“แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน.”ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 93 ตอนที่ 120, วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519.

“แถลงการณ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1.”ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 108 ตอนที่ 32, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534.

นรนิติ  เศรษฐบุตร. (2554). เกิดมาเป็นนายก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นรนิติ เศรษฐบุตร. (2558). รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

“ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 75 ตอนที่ 81, วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501.

“ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ.” The Standard. (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2559). รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปีที่ 2 (12 กันยายน 2558 - 12 กันยายน 2559). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.

เสน่ห์ จามริก. (2549). การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

อดินันท์  พรหมพันธ์ใจ. (2563). เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ : Illumination Editions. 2563.

อนุชา  ดีสวัสดิ์. (มปป.). สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

อ้างอิง

[1] สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี,'รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปีที่ '2 (12 กันยายน 2558 - 12 กันยายน 2559). (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2559).

[2] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[3] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[4] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[5] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[6] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[7] “ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ,” The Standard, (9 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/postpone-election-5-times/>. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563.

[8] “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 75 ตอนที่ 81, วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501.

[9] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549), หน้า 243 – 261.

[10] นรนิติ  เศรษฐบุตร, เกิดมาเป็นนายก, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554). หน้า 143 – 171.

[11] “แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน,”ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 93 ตอนที่ 120, วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519.

[12] อดินันท์  พรหมพันธ์ใจ, เปรมาธิปไตย: การเมืองไทยระบอบไฮบริด, (กรุงเทพฯ : Illumination Editions, 2563), หน้า 74 -82.

[13] “แถลงการณ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1,”ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 108 ตอนที่ 32, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534.

[14] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 330 – 334.

[15] “แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 123 ตอนที่ 95 ก, วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549.

[16] นรนิติ  เศรษฐบุตร, รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), หน้า 358 – 363.

[17] อนุชา  ดีสวัสดิ์, สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มปป.), หน้า 30 – 48.