พระยามานวราชเสวี : ประธานสภาฯตอนประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระยามานวราชเสวี : ประธานสภาฯตอนประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร
บทบาททางการเมืองของแต่ละบุคคลมีไม่เหมือนกัน และบทบาทของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติแต่ละคนก็มีความน่าสนใจ ครั้งนี้ขอนำเสนอเรื่องราวและการทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่รัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และทางรัฐบาลไทยได้ยอมตามที่ทางญี่ปุ่นยื่นคำขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ในวันรุ่งขึ้นจึงมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระพิเศษ เพื่อฟังคำชี้แจงของรัฐบาลถึงการที่รัฐบาลต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปพม่า มลายู และสิงคโปร์ มีผู้บันทึกเล่าว่า
"...เป็นการประชุมที่สุดแสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้ว รัฐสภาได้ทราบด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง"
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรในยามยากของบ้านเมืองในครั้งนั้น คือพระยามานวราชเสวี นักกฎหมายฝีมือดีของไทย เจ้าคุณมานฯเป็นประธานสภาฯมาก่อนหน้านั้นหลายปี ท่านเป็นมาตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม ปี 2479 นับเป็นประธานสภาคนที่ 5 ของประเทศ
พระยามานวราชเสวี มีชื่อเดิมว่า ปลอด วิเชียร ณ สงขลา เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ กับนางเชื้อ เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2433 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา แม้จะเกิดที่ต่างจังหวัดทางภาคใต้ แต่ท่านก็ได้มาเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในพระนคร เช่นที่โรงเรียนอัสสัมชัน โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัย พระยามานฯเป็นคนเรียนเก่ง เล่ากันว่าเมื่อท่านอายุได้ 17 ปี ก็สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการให้ไปเรียนวิชาอื่นๆได้ แต่เจ้าคุณมานฯท่านสนใจจะเรียนกฎหมาย จึงขอทำงานที่กระทรวงยุติธรรมและเรียนกฎหมายจนสอบผ่านได้เป็นเนติบัณฑิตทางกฎหมาย จึงเริ่มทำงานเป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษที่กระทรวงยุติธรรม พร้อมกับเตรียมตัวสอบชิงทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนกฎหมาย ซึ่งก็สมใจท่าน เพราะท่านชิงทุนได้ไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษได้ในปี 2456 โดยเข้าเรียนกฎหมายที่สำนัก Inner Temple จนเรียนจบกฎหมาย ฝึกงานเสร็จกลับมาไทยในปี 2459 และเริ่มต้นรับราชการเป็นผู้พิพากษาที่กระทรวงยุติธรรมในปีถัดมา ชีวิตครอบครัวของพระยามานวราชเสวีนั้น ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงศรี สกุลเดิม ลพานุกรม
การทำงานของนายปลอด วิเชียร ณ สงขลา ก้าวหน้าด้วยดี ในปี 2461 ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็น
"พระมานวราชเสวี" และต่อมาก็ได้เป็นพระยาในชื่อเดิมว่า "พระยามานวราชเสวี " ได้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งสุดท้ายของท่านก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็คืออธิบดีกรมอัยการ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพียง 4 วันชื่อของพระยามานวราชเสวีก็ปรากฏให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นว่าจะต้องมีบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยในวาระเริ่มแรกด้วย แม้ท่านจะมิใช่ผู้ก่อการฯ เพราะมิได้รู้เห็นหรือร่วมคิดร่วมทำด้วย แต่ท่านรู้จักผู้ก่อการฯฝ่ายพลเรือนท่านหนึ่งเป็นอย่างดี ผู้ก่อการฯท่านนั้นคือ นาย ตั้ว ลพานุกรม เพราะภริยาของเจ้าคุณมานฯคือท่านผู้หญิงศรีนั้นเป็นพี่สาวของนายตั้ว ลพานุกรม ความรู้ความสามารถทำให้พระยามานฯเป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก จำนวน 70 คนที่ได้รับแต่งตั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 และในวันเดียวกันนั้นท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการของสภาไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศไทยด้วย คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหัวหน้ารัฐบาลชุดแรกตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน และมีอนุกรรมการที่ตั้งครั้งแรก 6 คน และต่อมาตั้งเพิ่มอีก 2 คน รวมประธานเป็น 9 คน คณะอนุกรรมการชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญมากในการนำเสนอกติกาการปกครองตามแบบประชาธิปไตยที่ต้องการให้ถาวรฉบับแรก
ภายหลังพระยามานวราชเสวีได้เล่าให้ผู้ที่ไปคุยกับท่านว่าในตอนนั้นท่านเองก็ต้องดูแนวทางการปกครองของต่างประเทศ การปกครองของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นราชอาณาจักร จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นตัวแบบ อันน่าจะเห็นได้ชัดในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ที่จริง ถ้าดูรายชื่อคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ ก็จะเห็นว่ามีนักเรียนอังกฤษหลายคน ตั้งแต่ตัวประธานคือ พระยามโนปกรญ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี พระยานิติศาสตร์ไพศาล และพระยามานวราชเสวีเองด้วย
สยามประเทศมีสภาผู้แทนราษฎรมาได้ 4 ปี และ มีประธานสภาฯมาได้ 4 คนแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2479 เลือกพระยามานวราชเสวี เป็นประธานสภาฯสืบต่อจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านเอง ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีคือพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามานวราชเสวีขึ้นมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไม่นานก็มีเรื่องโด่งดังสนั่นเมืองเกิดขึ้นในสภา เพราะนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาฯจากการเลือกตั้งของจังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายซักถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีลาออกหลังการอภิปราย และนายเลียงถูกสมาชิกสภาฯกลุ่มหนึ่งจับไปโยนน้ำ
ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2480 มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งที่ 2 ของไทยที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่จะได้ออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรด้วยตัวเอง หลังการเลือกตั้งแล้วในวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ก็ได้เลือกพระยามานวราชเสวีเป็นประธานสภาฯอีกครั้ง และสภาฯยังได้เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้กับนายกรัฐมนตรีก็มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน เพราะรัฐบาลเจอปัญหาในสภาฯจากญัตติของนาย ถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดร้อยเอ็ด ในเรื่องข้อบังคับของสภาฯ ที่ทำให้รัฐบาลแพ้เสียงในสภาฯ จนนายกรัฐมนตรีได้ขอลาออก แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคง จึงให้มีการยุบสภาแทน ดังนั้นการเป็นประธานสภาฯของพระยามานฯในวาระนี้จึงสั้น แต่ก็มีวิกฤติการณ์ทางการเมืองทำให้มีการยุบสภาเป็นครั้งแรกในวงการเมือง
หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ในปี 2481 สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ก็ยังมีมติเลือกพระยามานฯเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกวาระหนึ่ง แต่มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี คราวนี้พระยาพหลฯปฏิเสธตำแหน่ง สภาฯจึงเลือกนายทหารที่คุมกำลัง อย่างนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
พระยามานวราชเสวีเป็นประธานสภาฯกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อเนื่องมาด้วยดี ตั้งแต่ปี 2481 จนถึงปี 2486 ที่เป็นได้นาน ก็เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ครั้งที่ 3 อันมีผลให้มีการขยายอายุวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาออกไปสองครั้งรวมเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่ต้องเลือกตั้งกันใหม่
รัฐบาลภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงครามนั้นเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านนี้ก็เป็นนายทหารด้วยกันทั้งคู่ รัฐสภาซึ่งเคยมีบทบาทมากในการตรวจสอบรัฐบาลกลับแสดงบทบาทน้อยลง หลวงพิบูลฯเป็นนายกรัฐมนตรีนำพาประเทศชาติได้ประมาณสองปีกว่า ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่ภาวะสงคราม สงครามแรกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่สงครามอินโดจีน ที่ไทยได้เข้าสู้รบกับอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2484 นับว่าเป็นการต้อนรับการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยเลยทีเดียว เพราะปี 2484 เป็นปีที่ไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม คราวนั้นสภาฯรับรู้เรื่องการที่ไทยเข้าสู่การสู้รบด้วยอารมณ์เริงชัย รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้แถลงต่อสภาฯในวันที่ 9 มิถุนายน ปีเดียวกันว่า
“ชาติของเราได้มีกรณีพิพาทอย่างรุนแรง ถึงกับต้องใช้กองทัพบางส่วนเข้าทำการรบชาติฝรั่งเศส ซึ่งปกครองประเทศอินโดจีนและเขมร”
นายกรัฐมนตรียอมรับว่า ตามวิถีประชาธิปไตย รัฐบาลต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาฯก่อน แต่ไทยถูก
“ทำการรุกรานก่อนโดยไม่รู้ตัว ในคราวนี้ รัฐบาลจึงไม่มีโอกาสจะได้เสนอรับความเห็นร่วมกันเสียก่อน ..”
สภาผู้แทนราษฎร รับฟังโดยดุษณีย์ นอกจากนั้น นายสุวิชช พันธุเศรษฐ ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรขอบคุณรัฐบาลด้วย ดังคำกล่าวตอนหนึ่งว่า
“'..ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการในยามคับขันเป็นอย่างดีตลอดมา .."
ในปี 2484 นี้ไทยได้เริ่มต้นปีด้วยการมีสงครามอินโดจีน และมีอารมณ์เริงชัย และสิ้นสุดปีด้วยการถูกบีบให้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านไทยด้วยความเศร้าใจ พระยามานฯดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติผ่านปีที่ยุ่งยากนี้สืบต่อมาจนผ่านปี 2485 อันเป็นปีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร
สถานการณ์ ทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2484 เริ่มยุ่งยากขึ้น ความเห็นแย้งในรัฐบาลมีมาตั้งแต่การยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศและการให้ญี่ปุ่นกู้เงิน รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร มีการรวมตัวของคนไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นเป็นขบวนการเสรีไทย นักการเมืองไทยเองที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายหลวงพิบูลฯก็ได้รวมตัวกันและหาทางที่บีบให้หลวงพิบูลฯลาออกจากนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ จึงหาทางที่จะบีบผ่านทางรัฐสภา ตำแหน่งประธานสภาฯของพระยามานฯจึงกระเทือนไปด้วย ดังปรากฏว่าในเดือนกรกฎาคม ปี 2486 สภาฯได้มีมติเลือกผู้ก่อการฯ คือนายทวี บุณยเกต ให้เป็นประธานสภาฯคนใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ยอมทำเรื่องเสนอแต่งตั้ง ยื้อเรื่องไว้จนสภาฯต้องยอมเลือกคนที่หลวงพิบูลฯเห็นชอบคือพระยาศรยุทธเสนีให้เป็นประธานสภา นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอแต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2486 พระยามานฯจึงวางมือจากตำแหน่งประธานสภาฯ
เวลาผ่านไปเพียง 11 เดือน ในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2487 สมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลฯคนเดิม สภาฯก็กลับมาเลือกพระยามานฯให้เป็นประธานสภาฯอีกครั้ง มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภาฯ กลับมาเป็นประธานสภาฯคราวนี้แม้จะเป็นสภาชุดเดียวกัน แต่กลับเป็นสภาฯที่เข้มแข็ง แสดงฤทธิ์ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนด 2 ฉบับของรัฐบาล
จนสามารถบีบให้รัฐบาลของหลวงพิบูลฯยอมลาออก นายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือนายควง อภัยวงศ์ และพระยามานฯก็เป็นประมุขของสภาฯสืบต่อมาจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2489 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่ท่านเองเป็นประธานร่างในช่วงหลัง ดังนั้นท่านจึงเป็นประธานสภาฯช่วยกันจัดการบ้านเมืองร่วมกับนายกรัฐมนตรีต่อมาอีก 3 คน คือนายทวี บุณยเกต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายปรีดี พนมยงค์
พระยามานฯยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นและมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปี 2527จึงถึงอสัญกรรมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์