โชติ คุณะเกษม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:04, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


โชติ คุณะเกษม : ขุนคลังของจอมพล สฤษดิ์ฯ

          ขุนคลังของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ดูจะดังกว่าใครนั้นชื่อ โชติ คุณะเกษม เพราะหลังการยึดอำนาจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 แล้ว จอมพล สฤษดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมาเนื่องจากรอให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเสียก่อน ในรัฐบาลของท่านมีผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญการเฉพาะด้านที่เรียกกันว่า “ เทคโนแครต ” เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ อยู่หลายคน กระทรวงที่สำคัญเกี่ยวกับเงินทองของแผ่นดินนั้นท่านได้ โชติ คุณะเกษม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยยังคงเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสืบต่อมา นั่นก็คือควบตำแหน่งสำคัญด้านการเงินและการคลังของชาติคู่กันไป ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า โชติ คุณะเกษม ต้องเป็นนักการเงินและการคลังที่จอมพล สฤษดิ์ ไว้วางใจมาก แต่รัฐมนตรีโชติ คุณะเกษม ก็ครองตำแหน่งทั้งสองต่อมาเพียงระยะเวลาที่สั้นมากเพราะท่านต้องพ้นจากทั้งสองตำแหน่งในตอนต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2502 นั่นเอง โดยมีคดีถูกธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับเรื่องการจ้างพิมพ์ธนบัตร

          นาย โชติ คุณะเกษม เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2446 ที่บ้านในจังหวัด  พระนคร บิดาและมารดาคือ หลวงรักษโชติยาน กับนางรักษโชติยาน ในการศึกษาเบื้องต้นได้เรียนอยู่ในโรงเรียนที่ประเทศไทยแต่ระดับอุดมศึกษาได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษโดยเรียนทางด้านพาณิชยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม จนจบปริญญาตรีทางการพาณิชย์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี 2471 ขณะที่มีอายุได้ 25 ปี แล้วจึงเดินทางกลับไทยในบันทึกการทำงานของท่านระบุว่าท่านได้ทำงานที่กรมรถไฟซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ถือว่าทันสมัยและดี ในปี 2473 โชติ คุณะเกษม ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกในกองเดินรถหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แล้ว โชติก็ยังคงทำงานที่กรมรถไฟต่อมาโดยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาที่ตัวของท่าน สำหรับชีวิตสมรสนั้นท่านได้แต่งงานกับคุณ วารุณี คุณะเกษม

           ชีวิตการทำงานของโชติ คุณะเกษม ได้เปลี่ยนแปลงก็เมื่อย้ายออกจากกรมรถไฟมาเป็นพนักงานของธนาคารที่สำคัญของไทย คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี 2479 สมัยรัฐบาลของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา โชติทำงานอยู่ต่อมาที่ธนาคารนี้อีก 7 ปี ท่านก็ได้ขึ้นเป็นสมุหบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ในปี 2487 ตอนนั้นเป็นช่วงปลายสมัยนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคง ได้มีการรัฐประหารของฝ่ายทหารบก แกนนำสำคัญสองคนของคณะรัฐประหารคือ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่โชติ คุณะเกษม ได้รู้จักและได้ร่วมงาน

          ในปี 2494 สมัยรัฐบาลของหลวงพิบูลฯที่มีคณะรัฐประหารหนุนหลัง โชติ คุณะเกษม ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งของรัฐบาล ซึ่งถือกันว่าเป็นถุงเงินของรัฐบาลที่มีความคล่องตัวในการใช้เงินมาก และจอมพล สฤษดิ์ ก็เคยเป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยจึงน่าจะคุ้นเคยกันมากขึ้น อีกหนึ่งปีต่อมา โชติ คุณะเกษม ก็ได้โดดเข้าเล่นการเมืองเต็มตัวโดยลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ที่สมัยนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเรียงหมายเลขทั้งจังหวัด เรียกกันว่า “ เขตเดียวเรียงเบอร์ ” การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2495 เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารซ้ำของคณะทหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2494 และหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 คุณโชติ ลงแข่งขันในคณะผู้สมัครกลุ่มที่เรียกว่า “ หกแรงแข็งขัน ” อันเป็นผู้สมัครที่มีแนวทางสนับสนุนรัฐบาล คราวนั้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านสำคัญประชดการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคลงเลือกตั้ง กลุ่มของคุณโชติ ชนะเลือกตั้ง ท่านจึงได้เป็นผู้แทนราษฎร ในปี 2495 และในปีถัดมาท่านยังได้ร่วมกับพลโท ประยูร และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ตั้งบริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินกิจการโรงแรมเอราวัณ

          เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 แล้วนั้น ต่อมาอีกไม่ทันครบสามเดือน จอมพล สฤษดิ์ ก็ได้ตั้งธนาคารทหารไทยขึ้นมาตอนต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และให้คุณ โชติ คุณะเกษม มาเป็นผู้จัดการธนาคารทหารไทยคนแรกเลยทีเดียว แสดงว่าคุณ โชติ ต้องสนิทกับจอมพล สฤษดิ์ มากกว่าพลตำรวจเอก เผ่า ครั้นถึงวันที่ 24 กรกฎาคม  ปี 2501 คุณโชติ ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของ พลโท ถนอม กิตติขจร ที่มีนายเสริม วินิจฉัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นที่รู้กันทั้วไปว่ารัฐบาลนี้ถูกกำกับดูแลโดยจอมพล สฤษดิ์ ที่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯเองจึงให้โชติเป็นรัฐมนตรีคลัง

           แต่เมื่อเมื่อโชติ คุณะเกษม ถูกเล่นงานเรื่องการจ้างพิมพ์ธนบัตร จอมพล สฤษดิ์ ก็ให้โชติ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตอนนั้นไม่มีใครทราบว่าทั้งสองท่านมีความขัดแย้งหรือเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีแทนคือนาย สุนทร หงส์ลดารมย์ และผู้ที่เป็นผู้ว่าการธนาคารฯคือ นาย ป๋วย อี้งภากรณ์ โชติ คุณะเกษม ได้ต่อสู้คดีอยู่ถึงสามศาลเป็นเวลาหลายปีโดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินว่าท่านมิได้กระทำผิดกฎหมายและศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็พิพากษายืนท่านจึงพ้นคดีไม่ผิด

          โชติ คุณะเกษม พ้นคดีแล้วก็ไม่ได้เข้ามาเล่นการเมืองอีกเลยเพราะกว่าสนามการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งและการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2511 จะเสร็จ ท่านได้ถึงแก่กรรมไปก่อนเมื่อ
วันที่ 3 มกราคม ปี 2510