ถือหุ้นสื่อ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:21, 29 เมษายน 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          “ถือหุ้นสื่อ” คำหรือวลีดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยได้มีการพูดถึงหรือรับรู้กันมากนักในทางสังคม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2650 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้พิจารณา โดย กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คุณสมบัติของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในกรณีของการถือครองหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อว่าเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำวินิจฉัยให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอตามมาตรา 82 วรรคสอง[1] ภายหลังจากการมีมติของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ยังผลให้คำว่า “ถือหุ้นสื่อ” กลายมาเป็นที่ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้าง กระทั่งกลายมาเป็นกระแสในการหยิบยกขึ้นมาใช้ต่อสู้ทางการเมือง และมีความพยายามขุดคุ้ยการถือหุ้นสื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่นๆ ตามมา และแน่นอนว่า กรณีของนายธนาธรกระแสสังคมโดยทั่วไปต่างวิเคราะห์ว่านั่นเป็นเกมส์การเมืองที่มีความพยายามจะกำจัดนายธนาธรออกจากวงโคจรของการเมืองไทย

 

วงการสื่อไทยกับการเมือง

          เมื่อพิจารณาถึงกรณีการถือหุ้นสื่อที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการเมืองไทยคงหลีกไม่พ้นกรณีของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในอดีต (พ.ศ. 2538 - 2550) โดยสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งได้รับสัมปทานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการกิจการโทรทัศน์ และในเวลาต่อมามีความพยายามเข้าถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ปของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และถือเป็นตัวเก็งนายกรัฐมนตรี เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2543 ความพยายามเข้าถือหุ้นดังกล่าวก็เป็นผลสำเร็จ

          ท่ามกลางการคัดค้าน และ ต่อต้านอย่างรุนแรงของพนักงานฝ่ายข่าว หรือที่ขนามนามว่า “กบฏไอทีวี” อันเนื่องจากความไม่พอใจที่ถูกผู้บริหารของชินคอร์ป เข้าแทรกแซงห้ามไม่ให้มีการนำเสนอข่าวด้านลบเกี่ยวข้องกับ ดร. ทักษิณ อันจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และ คะแนนนิยมในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2544 อย่างไรก็ตาม การคัดค้านและต่อต้านภายในของพนักงานนั้นได้นำไปสู่การปลดพนักงานออกจำนวนหนึ่งจนเกิดกรณีฟ้องร้องคดีกันขึ้น ทั้งนี้ เมื่อถึงปี 2546 ศาลแรงงานได้มีคำวินิจฉัยให้ฝ่ายโจทย์ หรือ กลุ่ม “กบฏไอทีวี” เป็นฝ่ายชนะคดีในที่สุด[2]

 

ธนาธรและการถือหุ้นสื่อ

          สำหรับกรณีมติของศาลรัฐธรรมนูญให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระงับการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่า นายธนาธร ถือครองหุ้นสื่อในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และมีการโอนหุ้นภายหลังวันที่สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและก่อนหน้านี้[3] โดย กกต. มีมติเอกฉันท์ พร้อมให้ความเห็นว่าบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดเป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อีกทั้ง เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทฯ พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสารให้บริการโฆษณา ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ และไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัท หรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด[4] จึงส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในลำดับต่อไป 

          มติของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ได้อาศัยความตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 98[5] ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อ (3) ระบุว่าผู้สมัคร ส.ส. จะต้องไม่ “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด” ประกอบมาตรา 101 ที่ระบุว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98[6] ซึ่งหมายความว่าสมาชิกสภาพของสภาผู้แทนจะสิ้นสุดลงเมื่อพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านนั้น เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด นอกเหนือไปจากที่เรื่องของการถือหุ้นสื่อจะส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้ว ในส่วนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องวุฒิสภา ยังระบุไว้ในมาตรา 108 ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยอ้างกลับไปถึงมาตรา 98 (3)[7] นั่นย่อมหมายความว่า ส.ว. เองก็ถูกห้ามมิให้ “ถือหุ้นสื่อ” เช่นเดียวกับ ส.ส. ซึ่งหากฝ่าฝืนย่อมมีโทษถึงพ้นจากสมาชิกสภาพในลักษณะเดียวกัน

 

แนวคิด กฎหมาย กับกรณีการถือหุ้นสื่อ

          หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงที่มาของคำว่า “ถือหุ้นสื่อ” อาจจะต้องย้อนกลับไปในคราวยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติคำว่า “ถือหุ้นสื่อ” ไว้ในรัฐธรรมนูญตามถ้อยบัญญัติมาตรา 48  อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์เบื้องหลังของมาตราดังกล่าว โดยอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เชื่อว่าปัญหาประการหนึ่งของการเมืองไทยนับตั้งแต่สถานการณ์ความไม่เป็นปกติเมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากสื่อได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกฉวยใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง สร้างความชอบธรรมของบรรดานักการเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นชอบในหลักการไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ[8] เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายหน้า

           เจตนารมณ์ของมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดมิให้นักการเมืองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อนั้น มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้สื่อมี “เสรีภาพ” ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งหวังว่าสื่อจะสามารถทำหน้าที่วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ[9] อย่างไรก็ตาม ถ้อยบัญญัติของมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ความว่า

 

          ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีอื่นไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมที่จะสามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกันกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว[10]

 

           จากมาตราดังกล่าว จะพบว่าการระบุถึงการห้ามถือหุ้นสื่อนั้นเป็นเพียงการระบุเอาไว้โดยกว้าง มิได้มีการกำหนดโทษเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น ไม่ได้กำหนดไว้ในคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. ว่าหากถือหุ้นสื่อต้องพ้นสมาชิกภาพหรือจะต้องได้รับการลงโทษประการใดและสถานใด ทำให้มาตรการดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อันเนื่องจากมาจากการขาดบทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดโทษ

           ครั้นในเวลาต่อมา การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการร่างกฎ กติกาใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่มีเนื้อหาโครงร่างสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คือการกำหนดให้มี การกำหนดกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีคณะกรรมการหนึ่งชุดเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดเงื่อนไขให้ผ่านความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่สองเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีประธานคณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญ คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์  และเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เองที่ได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องของ “การถือหุ้นสื่อ” เสียใหม่ทั้งมาตรา จนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน

           การถือหุ้นสื่อตามที่ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ มีการบัญญัติโทษเพิ่มขึ้น ตลอดจน มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถ้อยความตามมาตรา 42 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในส่วนของ (3) อันมีความว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และใน (3) ความว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”[11]  จะพบว่าการถือหุ้นถือในทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ และผู้ใดถือหุ้นถือแล้วย่อมถูกระงับสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง

           จะเห็นได้ว่าการปรากฎขึ้นของแนวคิดและถ้อยความในเรื่องของการ “ถือหุ้นสื่อ” ที่ปรากฏออกมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะพบว่าแนวความคิดเบื้องหลังของประเด็นการถือหุ้นสื่อคือความปรารถนาต้องการสร้างสังคมและระบบการเมืองให้สามารถถูกตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา และปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง และกลุ่มทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉวยใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของตนและพรรคพวก แต่ทั้งนี้ จากกรณีการสั่งระงับการทำหน้าที่ของนายธนาธร อันเนื่องจากการถือหุ้นสื่อนั้น กลับถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่าแท้จริงแล้วการปรากฎขึ้นของถ้อยความนี้นั้นแท้จริงแล้วเป็นการสร้างความพยายามในการกลั่นแกล้งและกีดกันทางการเมืองหรือไม่อย่างไร และเมื่อประกอบกับกระแสของการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือหุ้นสื่อด้วยนั้น การเรียกร้องดังกล่าวดูจะไม่ได้รับการสนองตอบจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร มากนัก กระแสสังคมจึงตีกลับตั้งคำถามว่า “การถือหุ้นสื่อ” ที่ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การเกิดขึ้นเพื่อความโปร่งใสและป้องกันการครอบงำทางการเมืองผ่านสื่อ หรือเป็นเพียงการเลือกปฏิบัติกับเฉพาะบุคคลที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจเท่านั้น

ผลสืบเนื่องจากกรณีธนาธร และการถือหุ้นสื่อ

           จากกรณีของนายธนาธร ส่งผลให้เกิดกระแสในเรื่องของการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกระแสการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยการเข้าชื่อกันของส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ เจาะจงให้วินิจฉัยคุณสมบัติของสมาชิกภาพของ ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 41 คน เนื่องจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (3) นอกจากนี้ทางพรรคพลังประชารัฐเอง ก็ได้มีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ในฐานความผิดเดียวกัน ขณะที่ความเห็นต่อกรณีการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากฝ่ายของรัฐบาลเองและจากฝ่ายค้านได้มีการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวเอาไว้อย่างหลากหลาย สำหรับฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐแล้ว มองว่าการนำเอากรณีของการถือหุ้นสื่อมาใช้ในการยื่นเรื่องเพื่อตรวจสอบ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าเป็นความพยายามในการกลั่นแกล้ง ส.ส. ของฝ่ายตน[12] ในส่วนของความเห็นจากพรรคฝ่ายค้าน ก็มองว่าการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ  ส.ส. ไม่เป็นไปอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นว่ามีความจงใจในการใช้กรณีการถือหุ้นสื่อขัดขวาง และ กลั่นแกลง ส.ส. ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล[13]

 

บรรณานุกรม

“32 ส.ส. โดยคดีถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญอุ้มไม่ต้องยุติทำหน้าที่.” ไทยรัฐออนไลน์ (27 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1601020>. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

“ทำไม..ห้าม'นักการเมือง'ถือหุ้นสื่อ.” คมชัดลึกออนไลน์ (4 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/378129>. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561. 

พัทธนันท์ วิเศษสมวงศ์. (2551). “พัฒนาการและการจัดตั้งทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560. 

“ศาล รธน.คืบหน้า! คดี 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ.” ไทยโพสต์ออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/40632>. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

“ห้ามถือหุ้นสื่อ" กฎเหล็กในศาลรัฐธรรมนูญ – กฎหมายลูก.” คมชัดลึกออนไลน์ (29 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/hotclip/370129>. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

อ้างอิง

            [1] “ทำไม..ห้าม'นักการเมือง'ถือหุ้นสื่อ,” คมชัดลึกออนไลน์ (4 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/378129>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[2] ดูกรณีการเข้าถือหุ้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จาก พัทธนันท์ วิเศษสมวงศ์, “พัฒนาการและการจัดตั้งทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2551), หน้า 70-80.

[3]  “ทำไม..ห้าม'นักการเมือง'ถือหุ้นสื่อ,” คมชัดลึกออนไลน์ (4 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/scoop/378129>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[4] “ศาล รธน.คืบหน้า! คดี 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/40632>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[5] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 26 – 27.  

[6] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 27– 28.  

[7] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 30– 31.  

[8] “ศาล รธน.คืบหน้า! คดี 'ธนาธร' ถือหุ้นสื่อ,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/40632>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[9] “"ห้ามถือหุ้นสื่อ" กฎเหล็กในศาลรัฐธรรมนูญ – กฎหมายลูก,” คมชัดลึกออนไลน์ (29 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.komchadluek.net/news/hotclip/370129>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[10] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550, หน้า 14.  

[11] “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 58.  

[12] “32 ส.ส. โดยคดีถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญอุ้มไม่ต้องยุติทำหน้าที่,” ไทยรัฐออนไลน์ (27 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1601020>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.

[13] “32 ส.ส. โดยคดีถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญอุ้มไม่ต้องยุติทำหน้าที่,” ไทยรัฐออนไลน์ (27 มิถุนายน 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1601020>, สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562.