การไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน 2562

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:50, 29 เมษายน 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (voting turnout) นับเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน อันถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเมืองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นเครื่องสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเมืองแต่ช่วงเวลา ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 อยู่ในบริบทที่สังคมการเมืองไทยว่างเว้นการจัดการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เริ่มผ่อนปรนข้อกำหนดต่างๆ ในทางการเมือง และวางแผนกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้ง จึงถูกคาดหมายจากหลายฝ่ายว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะมีประชาชนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก และยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงบรรยากาศทางการเมืองที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

 

กระแสความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน

          แม้ว่าการเลือกตั้งจะมิอาจบ่งบอกถึงคุณภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างรอบด้าน แต่ก็นับเป็นเงื่อนไขอันขาดเสียมิได้ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นช่องทางในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่อิงอ้างอยู่กับเสียงของประชาชน ด้วยเหตุนั้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองเริ่มมีความผ่อนคลายและรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตัดสินใจที่จะเข้าสู่กติกาการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีการผ่อนปรนข้อกำหนดที่เคยใช้ควบคุมพรรคการเมือง ตลอดถึงกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ โดยหลังจากที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการเลื่อนกำหนดจัดการเลือกตั้งมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา[1] ภายใต้กระแสกดดันจากหลายฝ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในที่สุดวันเลือกตั้งก็ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562[2]

          เนื่องจากการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 นั้น ถือได้ว่าห่างจากการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้ามาเป็นระยะเวลายาวนาน กล่าวคือ หากไม่นับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[3] ก็ต้องย้อนไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 โดยระยะเวลากว่า 7 ปีนี้ ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากที่จะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกว่ากลุ่ม First-Time Voter หรือ New Voter ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แสดงตัวเลขจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มดังกล่าวว่ามีอยู่กว่า 7 ล้านคน เมื่อรวมกับจำนวนตัวเลขของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีจำนวนผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนทั้งสิ้นถึงกว่า 51 ล้านคน[4] มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มที่เรียกว่า First-Time Voter นี้จะเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงราว 18 ถึง 25 ปี เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาหรือผู้ที่พึ่งเริ่มต้นวัยทำงาน ช่วงชีวิตของพวกเขาเติบโตผ่านบรรยากาศความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่ดำเนินยืดเยื้อมากว่าทศวรรษ ประกอบกับอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่ขยายตัวและได้กลายมาเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนกลุ่มนี้ จึงทำให้เป็นการยากในการคาดการณ์ว่ากลุ่ม First-Time Voter จะเลือกใครหรือพรรคการเมืองใด แต่ไม่ว่าคนกลุ่มนี้จะมีเหตุผลในการพิจารณาเลือกตั้งอย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าเสียงของพวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้[5]

          เมื่อวันเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นคือในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในหน่วยเลือกตั้งที่กำหนดไว้ โดยมีประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิรวมกว่า 2.6 ล้านคน[6] และออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าคิดเป็นร้อยละ 86.98 ของจำนวนผู้ที่ลงทะเบียน[7] ขณะที่การจัดการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดช่วงเวลาไว้ระหว่างวันที่ 4-16 มีนาคม พ.ศ.2562 มีจำนวนผู้ขอใช้สิทธิเกือบ 1.2 แสนคน จากการแถลงของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ระบุจำนวนผู้ใช้สิทธิที่มีถึงร้อยละ 84.71 ซึ่งถือได้ว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร[8] อันแสดงถึงความตื่นตัวและความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

 

วันเลือกตั้ง และ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

          นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากสื่อมวลชนและประชาชนที่เฝ้าติดตามถึงปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาทิ ปัญหาใบประกาศรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสำหรับผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สร้างความสับสน ด้วยเหตุที่ ชื่อ-นามสกุล ของผู้สมัครอยู่กันคนละหน้ากับรูปภาพของผู้สมัคร[9] ปัญหาการใช้คูหาเสริมที่ทำขึ้นจากลังกระดาษในการลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ประเทศมาเลเซีย[10] หรือแม้กระทั่งปัญหาที่ได้กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในกรณีบัตรเลือกตั้งจำนวน 1,542 ใบ จากการลงคะแนนที่ประเทศนิวซีแลนด์[11] ที่ถูกจัดส่งกลับมาประเทศไทยเพื่อนับคะแนน ทว่าเกิดความล่าช้าทำให้จัดส่งไม่ทันกำหนด และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้กลายเป็นบัตรที่ไม่สามารถนำมานับคะแนนได้[12] ส่งผลสร้างข้อวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง

          แม้จะมีปัญหา หรือ อุปสรรคในแง่ของการดำเนินการต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา แต่การเลือกตั้งก็สามารถจัดขึ้นตามกำหนดเวลา คือ ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ในการเลือกตั้งครั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังได้มีการขยายเวลาที่ประชาชนสามารถออกมาใช้สิทธิลงคะแนน คือ ตั้งแต่เวลา 8.00 ถึง 17.00 น. จากที่ผ่านมาเคยกำหนดเวลาไว้อยู่ที่ 8.00 ถึง 15.00 น. เพื่อรองรับประชาชนที่มีความตื่นตัวต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รวมผลคะแนนและเปิดเผยต่อประชาชน จากผลสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนอยู่ที่ 38,268,375 คน คิดเป็นร้อยละ 74.69 ของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด[13] ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยที่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2554 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 75.03 ทั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขต[14] ขณะที่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2550 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 74.52 สำหรับแบบบัญชีรายชื่อ และร้อยละ 74.49 สำหรับแบบแบ่งเขต[15] หลังจากนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้นำผลคะแนนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ มาหาสูตรคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี ตามแนวคิด “การจัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งจะนำมาสู่จำนวนตัวเลขของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้รับ

 

ผลสืบเนื่อง และ นัยต่อการเมืองไทย

            จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ.2562 สืบเนื่องมาจนกระทั่งภายหลังการเลือกตั้ง ทั้งปัญหาการนับคะแนนเลือกตั้งที่มีความล่าช้าและสร้างความสับสนให้กับประชาชนและสื่อมวลชนที่ติดตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักก็ดูจะไม่อาจคลายข้อสงสัยของสังคมที่มีต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ขณะที่การขับเคี่ยวและต่อสู้แข่งขันในทางการเมืองระหว่างพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะระหว่างพรรคการเมืองและฝ่ายผู้ที่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี กับฝ่ายที่ต่อต้านซึ่งมองว่ารัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ[16] หากแต่ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง เวทีหรือพื้นที่ทางการเมืองมีการเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับการมีสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาเป็นพื้นที่ซึ่งบรรดาตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มาปรึกษาหารือ ถกเถียงกัน รวมถึงการนำข้อเรียกร้องต้องการของประชาชนมานำเสนอและอภิปราย นับได้ว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ.2562 มีส่วนในการปลุกกระแสความตื่นตัวและเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเมืองระดับชาติอีกครั้ง แม้ว่าในภายหลังจะได้มีรัฐสภา หรือกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ประชาชนจำนวนมากก็ยังคงให้ความสนใจติดตามข่าวคราวและประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด

 

บรรณานุกรม

“กกต.แจงบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ ไม่ใช่บัตรเสีย แต่เป็นบัตรเอามานับไม่ได้.” ข่าวสดออนไลน์. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2350218>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“กกต.สรุปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเกือบครบ 2.6 ล้าน-พบ 3 จังหวัดมีทุจริต.” เวิร์คพอยทนิวส์ออนไลน์. (18 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/03/18/กกต-สรุปใช้สิทธิ์เลือกต/>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“กต.สรุปเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ชี้ใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์.” มติชนออนไลน์. (24 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/foreign/news_1422331>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“คนไทยต่างแดนโวย ใบประกาศผู้สมัครส.ส. เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มึนตึ้บ!.” ข่าวสดออนไลน์. (11 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2296478>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง.”ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 10 ก, 24 มกราคม 2562, น.1.

"มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ." ประชาไท. (21 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://
prachatai.com/journal/2014/03/52379>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

“มติเอกฉันท์! กกต.ให้บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ 1,542 ใบ เป็นบัตรเสียทั้งหมด.” ข่าวสดออนไลน์. (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2349656>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับเรื่องที่ ‘เป็นที่สุด’.” สปริงนิวส์ออนไลน์. (20 มี.ค. 2562). เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/news/465005>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“เลือกตั้ง 2562 : สื่อต่างประเทศตีข่าวผลเลือกตั้งดับฝันนำไทยสู่ความเปลี่ยนแปลง.” บีบีซีไทยออนไลน์. (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47689745>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

“เลือกตั้ง 62 : เสียงวิจารณ์ผู้ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักร “จากคูหากระดาษลังถึงบัตรหาย”.” มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_176704>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

“สรุปคนมาเลือกตั้ง 74.69% คิดเป็นผู้มาใช้สิทธิ 38.26 ล้านคน.” ผู้จัดการออนไลน์. (28 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000031033>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

"ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 5 จะมีใครเป็น “โมฆะบุรุษ”." บีบีซีไทยออนไลน์. (19 มิถุนายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-42770720>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2555). ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.'2554'. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.

_________. (2551). ข้อมูลสถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.

สำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. “กกต. สรุปการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตเลือกตั้ง / นอกราชอาณาจักร.” (22 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <2562.https://www.ect.go.th/dpp/ewt_news.php?nid=5106&ewt=ZGJfMTE5X2VjdF90aA
==&filename=index>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

Anna Lawattanatrakul. "A country for the young: first-time voters in the 2019 general election and how they can change the face of Thai politics." Prachatai (March 23, 2019). Available <https://prachatai.com/english/node/7984>. Accessed August 30, 2019.

อ้างอิง

[1] "ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 5 จะมีใครเป็น “โมฆะบุรุษ”," บีบีซีไทยออนไลน์, (19 มิถุนายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-42770720>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[2] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง,”ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 10 ก, 24 มกราคม 2562, น.1.

[3] "มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ," ประชาไท, (21 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2014/03/52379>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[4] “เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับเรื่องที่ ‘เป็นที่สุด’,” สปริงนิวส์ออนไลน์, (20 มี.ค. 2562). เข้าถึงจาก <https://
www.springnews.co.th/news/465005
>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[5] Anna Lawattanatrakul, "A country for the young: first-time voters in the 2019 general election and how they can change the face of Thai politics," Prachatai (March 23, 2019). Available <https://prachatai.com/
english/node/7984>. Accessed August 30, 2019.

[6] สำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, “กกต. สรุปการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตเลือกตั้ง / นอกราชอาณาจักร,” (22 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <2562.https://www.ect.go.th/dpp/ewt
_news.php?nid=5106&ewt=ZGJfMTE5X2VjdF90aA==&filename=index>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[7] “กกต.สรุปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเกือบครบ 2.6 ล้าน-พบ 3 จังหวัดมีทุจริต,” เวิร์คพอยทนิวส์ออนไลน์, (18 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/03/18/กกต-สรุปใช้สิทธิ์เลือกต/>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[8] “กต.สรุปเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ชี้ใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์,” มติชนออนไลน์, (24 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/foreign/news_1422331>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[9] “คนไทยต่างแดนโวย ใบประกาศผู้สมัครส.ส. เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มึนตึ้บ!,” ข่าวสดออนไลน์, (11 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2296478>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[10] “เลือกตั้ง 62 : เสียงวิจารณ์ผู้ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักร “จากคูหากระดาษลังถึงบัตรหาย”,” มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_176704>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[11] “มติเอกฉันท์! กกต.ให้บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ 1,542 ใบ เป็นบัตรเสียทั้งหมด,” ข่าวสดออนไลน์, (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2349656>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[12] “กกต.แจงบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ ไม่ใช่บัตรเสีย แต่เป็นบัตรเอามานับไม่ได้,” ข่าวสดออนไลน์, (26 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2350218>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[13] “สรุปคนมาเลือกตั้ง 74.69% คิดเป็นผู้มาใช้สิทธิ 38.26 ล้านคน,” ผู้จัดการออนไลน์, (28 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000031033>. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562.

[14] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, (2555), ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง), หน้า 2.

[15] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, (2551), ข้อมูลสถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง), หน้า 42.

[16] “เลือกตั้ง 2562 : สื่อต่างประเทศตีข่าวผลเลือกตั้งดับฝันนำไทยสู่ความเปลี่ยนแปลง,” บีบีซีไทยออนไลน์, (25 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47689745>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.