รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:48, 18 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "<div> = รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

         รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา คือ รูปแบบการปกครองซึ่งยินยอมให้มีองค์กรที่เท่าเทียมกันสองฝ่าย คือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยทั้งสององค์กรต่างมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด การปกครองแบบรัฐสภาเป็นการปกครองโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน สำหรับประเทศไทยใช้ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด และยินยอมให้ฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภาภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา ในขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน[1]

          สำหรับประเทศไทยเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนของสมาชิกรัฐสภาไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ด้วยการนำแนวคิดในเรื่องการให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อยมาใช้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากความเป็นมาดังกล่าวบทความนี้จะได้นำเสนอเนื้อหาของ “รัฐสภา” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โครงสร้างและองค์ประกอบของรัฐสภาไทย

          รัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับรัฐสภาไว้ในหมวด 7 ตั้งแต่มาตรา 79-157 แบ่งออกเป็น 5 ส่วน โดยในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบของรัฐสภาถูกบัญญัติไว้ในส่วนที่ 1 ดังนี้

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (มาตรา 79 วรรคแรก) รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 79 วรรคสอง) บุคคลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้ (มาตรา 79 วรรคสาม) ทั้งนี้ โครงสร้างของรัฐสภาจึงประกอบด้วย

          1.1 สภาผู้แทนราษฎร

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนรวม 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ดังนี้ (มาตรา 83)

            (1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน

(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน

          1.2 สมาชิกวุฒิสภา

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน (มาตรา 107) มาจาการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือ มีสถานะต่าง ๆ แต่ในวาระเริ่มแรกของการใช้รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน (มาตรา 269) โดยวุฒิสภาในวาระเริ่มแรกมาจากการสรรหาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และ โดยตำแหน่ง

ประธานรัฐสภา

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 80 วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน (มาตรา 80 วรรคสอง) หากในกรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนแต่ไม่มีประธานวุฒิสภา และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและให้ดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาโดยเร็ว (มาตรา 80 วรรคสาม)

          อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาถูกกำหนดไว้ในมาตรา 80 วรรคสี่ โดยเป็นหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และดำเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ นอกจากนี้จะต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 80 วรรคห้า) โดยรองประธานฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย (มาตรา 80 วรรคท้าย)

การตรากฎหมาย (ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ)

          รัฐธรรมนูญ มาตรา 81 บัญญัติให้ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ
จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
”         

          ขั้นตอนในการร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 145 ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ (มาตรา 81 วรรคสอง)

สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกสภาสิ้นสุดลง

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้สิทธิแก่ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา” จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ (มาตรา 82 วรรคแรก)

          เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 82 วรรคสอง)

          การตรวจสอบการสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าวนี้จะมีผลต่อการนับองค์ประชุมในการประชุม ดังนี้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดมิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (มาตรา 82 วรรคสาม)

          นอกจากสิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในการร้องขอให้ประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ตรวจสอบเหตุแห่งการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพแล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเหตุแห่งการสิ้นสุดดังกล่าวได้อีกด้วย (มาตรา 82 วรรคสี่)

บทเฉพาะกาล

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่อไป และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 263 วรรคแรก)

          ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามวรรคหนึ่ง ให้อำนาจของประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายเป็นอำนาจของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 263 วรรคห้า)

บรรณานุกรม

เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์. หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน. กรุงเทพ : วิญญูชน, 2561. หน้า 276.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

หนังสือแนะนำ

เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, กรุงเทพ : วิญญูชน, 2561.

บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.

มานิตย์ จุมปา, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2550), กรุงเทพ : บริษัทแอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด. 2553.

 

อ้างอิง

[1] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, กรุงเทพ : วิญญูชน, 2561, หน้า 276.