ที่มาของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
ที่มาของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
บทนำ
การแบ่งแยกอำนาจ ส่งผลให้มีองค์กรที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 องค์กร ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ในส่วนของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดถึงหลักกฎหมายต่าง ๆ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญต่อการบริหารประเทศ เท่าที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้กำหนดที่มาและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไว้ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540) บัญญัติไว้ในมาตรา 201 วรรคสอง ให้ “นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) บัญญัติไว้ในมาตรา 171 วรรคสอง บัญญัติให้ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๗๒” จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้คล้ายกัน กล่าวคือ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้นต้องเป็นสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจ้อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มิได้กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง[1] จนกระทั่ง เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ตามมาตรา 158 วรรคสอง “นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙” บทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงมีนัยยะในทางกฎหมายที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ดังจะได้พิจารณาต่อไป
การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทนำในส่วนของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสอง “นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙” ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าว มิได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเหมือนเช่นบทบัญญัติแห่งรับธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น ส่งผลให้คุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นอีกต่อไป ดังนั้น ในส่วนนี้ นายกรัฐมนตรีจึงเป็น “บุคคลภายนอกสภาผู้แทนราษฎร” ได้
ในส่วนของการเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงมีองค์ประกอบอยู่ 5 เงื่อนไข คือ
1) สภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 160 (มาตรา 159 วรรคแรก)
2) ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ในบัญชีตามมาตรา 88 (มาตรา 159 วรรคแรก) กล่าวคือ ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
3) บุคคลที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองนั้นต้องมี ภายใต้เงื่อนไขสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159 วรรคแรก)
4) การเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159 วรรคสอง)
5) มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159 วรรคท้าย)
แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดประเด็นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1) ในกรณีที่มีมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 272 วรรคแรก) กำหนดให้การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้หมายความว่า ในวาระแรกให้สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน รวมสมาชิกทั้งสองสภาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 750 คน ดังนั้น ในส่วนของมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงต้องได้มติจำนวน 376 เสียงขึ้นไป
เพื่อแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2) ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ (มาตรา 272 วรรคสอง)
ในกรณีดังกล่าวนี้สามารถแยกอธิบายได้เป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ
2.1 การเสนอชื่อต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีกรณีตามมาตรา 88 นั้น จะต้องมีจำนวนสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด กล่าวคือ ต้องได้จำนวนไม่น้อยกว่า 375 เสียง และ
2.2 เมื่อขอเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้แล้วจะต้องได้มติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด กล่าวคือ ต้องได้มติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 500 เสียง
ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” สาเหตุที่กำหนดห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเกินแปดปี เพื่อมิให้เกิดการสร้างอิทธิพลหรือเข้าครอบงำการบริหารประเทศโดยไม่ชอบได้ หลักการดังกล่าวนี้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[2]
การนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยหลักการ ดังนี้
1) ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 158 วรรคสาม) จนถึงวันที่มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (มาตรา 161 วรรคท้าย ประกอบ มาตรา 170)
2) การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกินแปดปีไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
3) ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสองครั้ง กล่าวคือ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 99) ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งหากอายุของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ 4 ปี นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระเมื่อนับรวมกันแล้วจึงครบแปดปี นายกรัฐมนตรีผู้นั้นจึงสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การนับระยะเวลาดังกล่าวนี้นับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งทั้งหมด ดังนั้น หากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งใด ๆ แล้วมิได้แต่งตั้งบุคคลผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน แต่เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็จะต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเข้าไปด้วย
4) ไม่ให้นับระยะเวลาก่อนเข้ารับหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการไปพลางก่อน เช่น กรณีตามมาตรา 162 วรรคสอง และ ไม่นับระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง เช่น กรณีตามมาตรา 169
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน (มาตรา 158 วรรคแรก) ดังนี้ เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 160 คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจึงคงต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับรัฐมนตรี กล่าวคือ
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ทั่วไปครั้งแรก
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
เปรียบเทียบประเด็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประเด็นเปรียบเทียบ |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 |
1) การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร |
(มาตรา 201 วรรคสอง) นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้ง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกสภาพ ตามมาตรา 118 (7) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน |
(มาตรา 171 วรรคสอง) นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 172 |
(มาตรา 158 วรรคสอง) นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 |
2) การพิจารณาแต่งตั้งผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี |
(มาตรา 202 วรรคแรก) ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามมาตรา 159 |
(มาตรา 172 วรรคแรก) ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี |
(มาตรา 159 วรรคแรก) ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร |
3) คะแนนเสียงรับรองการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี |
(มาตรา 202 วรรคสอง) ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง |
(มาตรา 172 วรรคสอง) สมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง |
(มาตรา 159 วรรคสอง) ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร |
4) การลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี |
(มาตรา 202 วรรคท้าย) - การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย |
(มาตรา 172 วรรคสาม) - ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร - การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย |
(มาตรา 159 วรรคท้าย) ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร |
5) ระยะเวลาในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี |
(มาตรา 203) - ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว |
(มาตรา 173 วรรคแรก) - ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี |
- (ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงการไว้) |
6) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง |
- (ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้) |
(มาตรา 171 วรรคสี่) นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้ |
(มาตรา 158 วรรคท้าย) นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง |
บรรณานุกรม
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ. สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมตารางเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 ฉบับรับฟังความคิดเห็น.
มานิตย์ จุมปา. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2553.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนที่ 55 ก.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.
มานิตย์ จุมปา. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2553.
[1] มานิตย์ จุมปา, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550), กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553, หน้า 355.
[2] คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมตารางเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 ฉบับรับฟังความคิดเห็น, หน้า 128.