การเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
การเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
สมาชิกวุฒิสภาถือเป็นตัวแทนของประชาชนในลักษณะเหมือนกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เดิมสมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ในลักษณะของสภาพี่เลี้ยงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2540 ได้พยายามดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่มาของวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาต้องอิงกับระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจึงยึดโยงกับพรรคการเมือง ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้พยายามเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาด้วยการใช้ระบบผสม คือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ มาจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาเดิมและยังเป็นการเพิ่มปัญหาเพราะการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาที่มีคนละประเภทไม่มีความเป็นเอกภาพกัน จึงทำให้การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ปรับเปลี่ยนสถานะของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็น “สภาเติมเต็ม หรือสภาพลเมือง” หรือสภาที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติได้โดยตรง[1]
ที่มาและจำนวนสมาชิกวุฒิสภา
1) จำนวนสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน (มาตรา 107) มาจาการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือ มีสถานะต่าง ๆ แต่ในวาระเริ่มแรกของการใช้รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ (มาตรา 269)
2) ที่มาและการเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญในบทถาวรกำหนดให้ที่มาของวุฒิสภามาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ
ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ (มาตรา 107)
ในขณะที่บทเฉพาะกาลได้กำหนดที่มาของวุฒิสภาในวาระเริ่มแรกมาจากการสรรหา และแต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 จำนวนสองร้อยคนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากำหนดแล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม (ก)
(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จำนวนห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจำนวนห้าสิบคนโดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จำนวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จำนวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268
(2) มิให้นำความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (6) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหาตาม (1) (ข) และมิให้นำความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (2) มาตรา 184 (1) และมาตรา 185 มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
(3) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตาม (1) (ค)จำนวนสองร้อยห้าสิบคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้ 3 กรณี คือ
2.2.1 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ในมาตรา 108 ดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติ
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก
(3) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปีหรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(4) เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทำงาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ข. ลักษณะต้องห้าม
(1) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (15) (16) (17) หรือ (18)
(2) เป็นข้าราชการ
(3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(4) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(6) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(7) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(8) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกันหรือผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระ
(9) เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้
2.2.2 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ไว้ในมาตรา 269 ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาวุฒิสภาเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” จำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ทำหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือก
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 269 วรรคหนึ่ง (2) ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา “มิให้นำความในมาตรา '108 ข. ลักษณะต้องห้าม (6) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหา”
2.2.3 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญมาตรา 269 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 269 วรรคหนึ่ง (2) ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง “มิให้นำความในมาตรา '108 ข. ลักษณะต้องห้าม (2) มาตรา 184 (1) และมาตรา 185 มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง” ดังนั้น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของวุฒิสภาโดยตำแหน่งจึงไม่นำบทบัญญัติในเรื่องดังต่อไปนี้มาเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- เป็นข้าราชการ (มาตรา 108 ข.(2)
- ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 184 (1))
- การใช้สถานะหรือตำแหน่งในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (มาตรา 185)
ความสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา
1) ความสิ้นสุดเมื่อครบอายุของวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดอายุของวุฒิสภามีกำหนดคราวละห้าปีนับแต่วันประกาศผลการเลือก มาตรา 109 วรรคแรก) สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก
(มาตรา 109 วรรคสอง) เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ (มาตรา 109 วรรคสาม)
นอกจากนี้ ในส่วนของบทเฉพาะกาลได้กำหนดอายุของวุฒิสภาให้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตำแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรองตามมาตรา 269 (1) (ค) ขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ (มาตรา 269 (4))
ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา 269 (4) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ ตามมาตรา 269 (5)
เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามมาตรา 269 (4) ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 ต่อไป และให้นำความในมาตรา 109 วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 269 (6)
2) สิ้นสุดเพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ (มาตรา 111)
(1) ถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 (คุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา)
(5) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
(6) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้น จึงควรต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีโดยไม่มีมลทินมัวหมอง ดังนั้น แม้จะเป็นความผิดที่รอการลงโทษจึงไม่สมควรจะดำรงตำแหน่งสมาชิกภาพวุฒิสภาต่อไป
(7) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 113 คือ การกระทำที่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ หรือ กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185 การกระทำในส่วนนี้ถูกกำหนดไว้ในส่วนของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น การไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หรือ กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
(8) พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 กล่าวคือ ในการพิจารณาของวุฒิสภาได้มีการเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือมาตรา 235 วรรคสาม ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าว ในกรณีนี้
คือ สมาชิกวุฒิสภา ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา
เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันและฉบับเดิม
ประเด็น |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 |
1) จำนวนสมาชิกวุฒิสภา |
มาตรา 121 “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคน”
|
มาตรา 111 “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวมหนึ่งร้อยห้าสิบคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง” |
มาตรา 107 “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ” |
2) ที่มาของวุฒิสภา |
จากการเลือกตั้ง |
ระบบผสม คือ จากการเลือกตั้งและจากการสรรหา |
มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทางานหรือเคยทางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทาให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้” |
3) อำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ |
มาตรา 307 “สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” |
มาตรา 274 (ตรงกับมาตรา 307 ของรัฐธรรมนูญ 2540) “สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” |
ไม่มีอำนาจในการถอดถอน |
บรรณานุกรม
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ. คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1. 12 เมษายน 2559. หน้า 23-24.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนที่ 55 ก.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.
อ้างอิง
[1] คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1, 12 เมษายน 2559, หน้า 23-24.