จินตนา ยสสุนทร
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
จินตนา ยสสุนทร : เสรีไทยหญิง
อาจมีคนหลายคนลืมไปบ้างก็ได้ว่า อาจารย์จินตนา ยสสุนทร บุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทางด้านวรรณกรรมและการสอนหนังสือนั้น เคยอาสาทำงานให้บ้านเมืองเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในวันเวลาที่กองทัพญี่ปุ่น
ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 งานนี้รู้จักชื่อกันในนามเสรีไทย ขณะนั้นอาจารย์จินตนาเป็นนักเรียนไทยอยู่ที่แคนาดา เมื่อคนไทยรวมตัวกันเป็นเสรีไทยสายอเมริกา
อาจารย์จินตนาก็ได้เข้าร่วมงานด้วยแม้จะไม่ได้ออกปฏิบัติการทางทหารเหมือนเพื่อนผู้ชายที่เป็นเสรีไทยก็ตาม แต่อาจารย์จินตนา ก็ทำงานอยู่แนวหลังช่วยงานทางด้านเอกสารอย่างเต็มที่ ดังที่ท่านเคยเล่าเอาไว้ว่า
“ทำหน้าที่เป็นเลขาจอมปลอมอยู่สักพักหลังจากนั้นก็ทำงานเสรีไทยอย่างที่ใครๆรู้กัน ผู้หญิงไม่ได้ทำอะไรมาก ทำแผนที่ เขียนบทความ อะไรต่ออะไรส่งทางวิทยุ เรื่องราวมันก็มาอย่างนั้น”
การทำแผนที่นั้นขยายความให้ชัดเจนว่าคือเป็นผู้แปลและเขียนภาษาไทยให้หน่วยงานขอสหรัฐอเมริกาการตัดสินใจเข้าร่วมงานเสรีไทยนั้นมีความหมายมากทีเดียว ดังที่อาจารย์จินตนาได้ว่าไว้
“เพราะการตัดสินใจปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลในครั้งนี้นั้น หมายถึงการสูญเสียสัญชาติไทย ถูกตัดความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลทุกอย่าง และถูกริบสมบัติส่วนตัวทั้งสิ้นที่มีอยู่ภายในประเทศ”
ดังนั้นเราลองมารู้จักชีวิตและงานของศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร กันบ้าง
จินตนา เกิดในตระกูล นาควัชระ ที่กรุงเทพฯในละแวกหลังวัดเทพศิรินทร์ โดยเป็นธิดาคนแรก
ของขุนชำนิขบวนสาส์น (ถนอม นาควัชระ) มีแม่ชื่อจิ้มลิ้ม การศึกษาเบื้องต้นของท่านจึงเริ่มเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากนั้นจึงไปต่อที่โรงเรียนสายปัญญา และขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสายปัญญานั่นเอง
ท่านก็ชอบทำหนังสือพิมพ์ หรือวารสารแบบที่เขียนเองคัดเองออกเผยแพร่ให้เพื่อนอ่าน เรียกว่าท่านมีแววทางด้านอักษรศาสตร์มาแล้วแต่ต้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปีที่แปดแล้ว ท่านจึงเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็เรียนไม่ทันจบ เพราะหลังจากพยายามสอบชิงทุนหลวงเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศได้สองครั้ง ท่านก็สอบได้ทุนหลวง ไปเรียนต่อที่ ฝรั่งเศสโดยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกรอนอบล์ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา ทางรัฐบาลไทยได้ย้ายนักเรียนไทยที่เรียนอยู่ในภาคพื้นยุโรปไปเรียนในภาคพื้นอเมริกา ท่านเองถูกย้ายไปเรียนที่มหาลัยลาวาล ประเทศแคนาดา
และตอนนี้ที่ท่านได้ตัดสินใจเข้าร่วมงานเสรีไทยเดินทางไปช่วยงานของฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นที่กรุงวอชิงตัน
และในช่วงสงครามที่กรุงวอชิงตัน ท่านได้รู้จักกับนักศึกษาชายไทยที่เข้าร่วมเป็นเสรีไทยท่านหนึ่ง จึงได้รัก
และแต่งงานกันกับนาย สมจิตร ยศสุนทร เมื่อเสร็จสงครามแล้วท่านจึงได้กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาปัจจุบัน และต่อมา ได้เรียนต่อระดับมหาบัณฑิตสาขาวิชาภาษาปัจจุบันและวิชาหนังสือพิมพ์
ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เมื่อเรียนจบจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย
ชีวิตการทำงานของจินตนา ยศสุนทร ในเมืองไทยนั้นได้เริ่มขึ้น ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในปี 2491 การทำงานของอาจารย์จินตนา ยศสุนทร ได้ก้าวหน้ามาด้วยดี ขณะที่มีอายุได้เพียง 32 ปี ก็ได้ดำรงตำแหน่งวิชาการสูงสุด คือได้เป็นศาสตราจารย์ในปี 2505
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งกรรมการคณะต่างๆ ทั้งในมหาลัยและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายนอกมหาวิทยาลัยนั้น ท่านได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นอย่างมาก จึงมีคนมาเชิญ มีคำสั่งแต่งตั้งให้ไปทำงานภายนอกที่ไม่ประจำหลายตำแหน่ง
สำหรับงานด้านการเขียนหนังสือของท่านที่ได้เคยริเริ่มมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนของโรงเรียนอยู่นั้น
ก็ไม่ได้ทิ้งหายไปไหน เมื่อมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านก็ยังเขียนบทความ ไปลงในหนังสือมหาวิทยาลัยและข้อเขียนของท่านก็เป็นที่กล่าวถึงกันมาก เพราะได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์
ในเรื่องต่างๆอย่างตรงไปตรงมา ต่อมาเมื่อหยุดงานเขียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านยังได้รับเชิญให้ไปเขียนหนังสือในสื่อมวลชนข้างนอกมหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่แก่มหาชนทั่วไป ทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันและวารสารรายสัปดาห์ ช่วงสุดท้ายที่เขียนนั้นมีทั้งเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษกับเพลง และการตอบปัญหาต่างๆ
ที่ใช้นามปากกาว่า จ.ย.ส.และ “จินตนา 2” ใน หนังสือรายสัปดาห์ชื่อ “สตรีสาร” อีกด้านหนึ่งก็คือท่าน
เป็นผู้ได้รับเชิญไปร่วมอภิปรายในประเด็นปัญหาต่างๆในสังคมเป็นประจำ มีผู้ฟังที่นิยมชมชอบมาก นับว่าเป็นสตรีที่มีชื่อเสียงมีผู้ฟังอยากฟังการอภิปรายในเวทีร่วมกันกับนักอภิปรายผู้ชายที่เด่นที่ดังในสมัยนั้นหลายคน
อาจารย์ จินตนา ยศสุนทร ได้ทำงานที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงก่อนมหาวิทยาลัย อยู่จนถึงปี 2516 ท่านจึงได้ย้ายไปช่วยงานที่มหาวิทยาลัยเปิดใหม่ในตอนนั้น คือมหาวิทยาลัยรามคำแหงและก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญจนถึงเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอยู่เป็นเวลาพอสมควร ท่านได้ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจนเกษียณอายุราชการ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสิ้นสุดการทำงานของท่าน เพราะท่านยังทำงานนอกวงการมหาวิทยาลัยอีกมาก รวมทั้งท่านเคยได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่การเมืองในประเทศไทยกำลังสับสนและวุ่นวายมาก และต่อมา
ในปี 2536 ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย ดังนั้น ท่านจึงเคยมีบทบาททางการเมือง แม้จะเป็นตำแหน่งการเมืองเฉพาะกิจเป็นการชั่วคราวก็ตาม
ศาสตราจารย์ คุณหญิง จินตนา ยศสุนทร ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544