องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย/ขบวนการอีสานใหม่
ความนำ
ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้รวมตัวกันขึ้นมาเป็นกลุ่มองค์กรหรือขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจากบางส่วนของกลุ่มการเมืองเดิมอย่าง “องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” และจากการรวมตัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่อย่าง “ขบวนการอีสานใหม่” ทั้งนี้ แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทั้งสองกลุ่มนี้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใด แต่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของหลายๆ กลุ่มที่มีความเห็นต่างไปจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
“...นับแต่บัดนี้ไป ให้ถือว่าองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการต่อสู้ครั้งนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ ก็ต่อเมื่อทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์ร่วมกันต้องลุกขึ้นสู้โดยพร้อมเพรียง...”[1]
คำกล่าวข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในวันเปิดตัว “องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” หรือ “The Organization of Free Thais for Human Rights and Democracy (FT-HD)” ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นเลขาธิการ และนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นเลขานุการบริหาร[2] ซึ่งมีมีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ดังนี้[3]
1. ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารและเครือข่ายอำมาตย์ เพื่อให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
2. ฟื้นฟู เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มีความมั่นคงถาวร
3. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และสันติภาพ
4. ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม
5. ปฏิรูปวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย
6. พัฒนาคุณภาพประชาชนไทยสู่ความเป็นสากล
ความเห็นต่อองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ทัศนะของสังคมที่มีต่อ “องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” แบ่งออกเป็นหลายฝ่ายและหลายความเห็น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาปฏิเสธความไม่เกี่ยวข้องกับตนเองอย่างพรรคเพื่อไทย หรือการไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวขององค์กรนี้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ หรือการเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบจากฝ่ายความมั่นคงเอง กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่ออุดมการณ์ขององค์กรจากหลายๆ ฝ่าย เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรหรือขบวนการเสรีไทยในอดีต เป็นต้น สำหรับฝ่ายพรรคเพื่อไทยเองเห็นว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยก็มีท่าทีปฏิเสธขบวนการเคลื่อนไหวที่ออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจน โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า“...การจัดตั้งองค์กรเสรีไทยฯ เป็นเรื่องส่วนตัวของนายจารุพงศ์ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในกติกาปัจจุบัน จึงจะไม่เคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง เพื่อให้ คสช. ได้ดำเนินการตามโรดแม็พที่วางไว้ จะได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว...”[4]
ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวขององค์กรนี้ โดยให้เหตุผลว่าอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรืออาจกลับกลายเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยไปเสียอีก นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า “...การก่อตัวขององค์กรเสรีไทยฯ ถือว่าการทำสงครามข้อมูลข่าวสารได้เริ่มขึ้นแล้ว คสช. และพวกเราต้องช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจ อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้โกหกอยู่ฝ่ายเดียว...”[5] เช่นเดียวกันนี้ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังกล่าวเพิ่มเติมไปว่า “...ได้ยินข่าวว่า นายจักรภพ เพ็ญแข เตรียมจัดแถลงข่าวต่อต้านรัฐประหาร ตั้งองค์กรเพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย ทำให้สงสัยว่านายจักรภพจะพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายจิตวิญญาณประชาธิปไตยไทย กลุ่มที่นายจักรภพเคยสังกัดอยู่ได้ปู้ยี่ปู้ยำประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนเละเทะ ทำให้คนออกมาประท้วงจนกองทัพต้องทำการรัฐประหาร ถ้านายจักรภพจะถามหาประชาธิปไตย ทำไมจึงไม่ถามในช่วงที่กลุ่มตัวเองมีอำนาจปกครองประเทศ...”[6]
ขณะที่ ความเห็นของฝ่ายความมั่นคงอย่างฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง ยังเห็นว่า ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศได้ พันเอกวินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า “...หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ให้ข้อมูลกับทีมโฆษก คสช. เกี่ยวกับเรื่องที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งองค์กรเสรีไทย แต่เห็นว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเข้าข่ายในลักษณะทำให้ความไม่สงบเกิดกับประเทศนั้นๆ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นความเข้าใจกันได้ ระหว่างนานาประเทศ ว่ากิจกรรมหรือการดำเนินงานในลักษณะแบบนี้ คงต้องขอความร่วมมือว่า ต่างประเทศไม่น่าจะสนับสนุน...”[7] นอกจากนี้ พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ยังเห็นว่าอยากให้องค์กรดังกล่าวดูเจตนาของ คสช. และกระบวนการที่มุ่งเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยให้ความเห็นไว้ว่า “...ต้องดูว่าการเคลื่อนไหวมีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะการกระทำของ คสช. ต้องการให้ทุกอย่างกลับคืนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นมาตรการสากล ตอนนี้หลายเรื่องในประเทศปลดล็อกและเดินหน้าได้บ้างแล้ว อยากให้ดูที่เจตนาของ คสช. ที่ผ่านมาเปิดช่องทางให้คนที่มีความเห็นต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว...”[8]
นอกจากนี้ แม้องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจะถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันเปิดตัวองค์กร ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และใช้ชื่อองค์กรคล้ายคลึงกับชื่อของ “ขบวนการเสรีไทย” (Free Thai Movement) ก็ตาม[9] แต่กระนั้นยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ต่ออุดมการณ์ขององค์กรนี้ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า “...รัฐบาลพลัดถิ่นมีสิทธิ์ทำได้หากประเทศตกอยู่ใต้การครอบงำของจักรวรรดิต่างชาติ แต่การที่นำเอาชื่อ เสรีไทย ของนายปรีดี พนมยงค์มาใช้นั้น เชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่มีความเชื่อเรื่องเสรีไทย ประชาธิปไตย และทำเพื่อราษฎรอย่างจริงจัง เพราะเสรีไทยของนายปรีดีนั้น อุทิศเพื่อชาติและมนุษยชาติโดยแท้ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ทำตรงข้ามกับนายปรีดีทุกอย่าง...”[10] ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “...การต่อสู้ของนายจารุพงศ์ครั้งนี้ไม่มีวัตถุประสงค์แบบเสรีไทยในอดีต เพราะการบริหารของนายจารุพงศ์ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มีการทุจริต ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ และใช้กำลังทำร้ายประชาชน จึงไม่ใช่การปกครองโดยประชาธิปไตย...” เป็นต้น[11]
ขบวนการอีสานใหม่
ขบวนการอีสานใหม่ หรือ กลุ่มอีสานใหม่ (Neo E-Saan Movement) เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ในเวทีวิชาการ “‘อีสานกลางกรุง’ ลมหายใจผู้คนท่ามกลางการพัฒนา” ณ ห้องโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นการจัดเวทีเพื่อนำเสนอปัญหาในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกตลอดเวลา 10 เดือน (ในขณะนั้น) ภายใต้อำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[12] ซึ่งเป็นการนำเสนอประเด็นในพื้นที่โดยตัวแทนชาวบ้าน 10 พื้นที่ ได้แก่ 1). หนองแซง กาฬสินธุ์ 2). ทรายของ กาฬสินธุ์ 3). นามูล ขอนแก่น 4). น้ำพอง ขอนแก่น 5). เหมืองทอง เลย 6). โปแตช อุดรธานี 7). คอนสาร ชัยภูมิ 8). เครือข่ายแม่น้ำชี ร้อยเอ็ด 9). อุทยานแห่งชาติตาดโตน ชัยภูมิ 10). สวนป่าโนนดินแดงบ้านเก้าบาตร บุรีรัมย์
ทั้งนี้ สุทธิเกียรติ คชโส[13] โฆษกกลุ่มอีสานใหม่ ได้กล่าวถึงการก่อตัว จุดมุ่งหมาย และที่มาที่ไปของ ‘อีสานใหม่’ ว่าไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองโดยตรง แต่เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประชาชนในพื้นที่อีสานต้องประสบพบเจอจากผลกระทบของอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ แล้วไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และที่ทำกิน เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมก็มีการเคลื่อนไหวลักษณะนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง หากแต่เป็นการต่อสู้รายประเด็นที่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่จึงไม่มีพลังเพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของขบวนการ การจัดตั้งกลุ่มอีสานใหม่จึงเกิดจากการรวมตัวกันดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายจาก 10 พื้นที่เพื่อผลักดันประเด็นปัญหาที่มีร่วมกันให้การทำงานมีเอกภาพมากขึ้น จึงเป็นการเมืองทางอ้อมที่ประจวบเหมาะกับการได้รับผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึกของรัฐบาล และมีจุดมุ่งหมายการดำเนินงานที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. การสื่อสารกับสังคมให้ทราบถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการเปรียบเทียบผลกระทบต่างๆ ระหว่างสถานการณ์หลังรัฐประหารที่มีการใช้กฎอัยการศึกกับสถานการณ์ปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
2. การแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความรุนแรง มีคนเจ็บ มีการถูกทำร้าย
3. พยายามกระตุ้นให้ชาวบ้านทุกภูมิภาคตื่นตัวกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นจะต้องแก้ไข
4. การมุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับนักการเมือง หรือผูกขาดอยู่กับประเด็นเพียงประเด็นเดียว
5. การมุ่งไปสู่โครงสร้างการเมืองในฝัน ที่นักการเมืองต้องมาจากสามัญชนคนธรรมดา
คำประกาศอีสานใหม่
กล่าวได้ว่า ‘อีสานใหม่’ เป็นการรวมตัวคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหา ประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีอยู่ในสังคม และเมื่อจบการศึกษาก็เข้ามาทำงานที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคม โดยส่วนหนึ่งคือนักศึกษาที่มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมที่ดีกว่า โดยเรียกตัวเองว่า “นักกิจกรรม” ซึ่งประกอบด้วยคนรุ่นใหม่จากหลายพื้นที่ และได้มีการเผยแพร่ “คำประกาศอีสานใหม่” อันถือเป็นถ้อยแถลงจากกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวที่มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงการถูกช่วงชิงสิทธิทางเศรษฐกิจและทรัพยากร รวมทั้งถูกลดทอนคุณค่าทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม ด้วยวาทกรรมรูปแบบต่างๆ จากส่วนกลาง ไม่ว่ามาจากผู้มีอำนาจ จากระบบราชการ จากกลุ่มทุน หรือจากชาวเมืองก็ตาม ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวในอดีตที่ผ่านมาก็เปรียบเสมือนเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่ก็ยังคงเป็นบทเรียนสำคัญต่อการพัฒนาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มาจากสามัญชน อย่างไรก็ตาม “กลุ่มอีสานใหม่” มุ่งที่จะไม่ยึดโยงหรือถูกผูกขาดภายใต้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความความวุ่นวายหรือความรุนแรง และไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนในภูมิภาคไหนหรือกลุ่มใด เพียงแต่มุ่งที่จะเรียกร้อง “ความยุติธรรมและความเท่าเทียม” เท่านั้น ดังถ้อยแถลงฉบับเต็มต่อไปนี้[14]
คำประกาศอีสานใหม่ “ไผน้อสิมาส่าง มาถางทางไห่เฮาอยู่ ปากบ่กัดตีนบ่สู้ ไผนั้นสิซอยแปง”
เราคือคนอีสาน...เราถูกเรียกว่าคนอีสานเพราะเกิดบนผืนดินที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งประเทศไทย เราคือคน...เราคือผลิตผลของผืนดินที่ถูกขนานนามว่าอีสาน บนดินแดนที่ในความทรงจำของผู้คนในประเทศนี้เห็นเพียงความแห้งแล้งกันดาร ผู้คนยากจนล้าหลังและโง่เขลา ดินแดนอันอุดม เมื่ออยู่ในมือของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง อำนาจในการจัดการตนเองหลุดจากมือเราไปทีละน้อย อีสานเป็นได้เพียงดินแดนที่ผลิตแรงงานรับจ้างราคาถูก เกษตรกรยากจนที่คอยเสนอผลผลิตราคาถูกสนองนโยบาย ผืนป่าและแหล่งน้ำแหล่งแร่เพื่ออุตสาหกรรมทั้งของไทยและต่างชาติ ไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจที่สูงส่งที่เข้ามาครอบครองอีสาน แต่ยังมีผู้หวังดีอีกมากมายที่บ้างก็มาในนามของผู้ให้ความช่วยเหลือ บ้างมาในนามของผู้พัฒนา พร่ำกล่าวคำแนะนำให้ขยัน อดทน ประหยัด รู้จักประมาณตน หรืออื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายก็กล่อมเกลาเราให้สยบยอมต่อชะตากรรมที่ถูกหยิบยื่นให้อย่างเชื่องเชื่อ อีสานได้ลุกขึ้นสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ที่ผ่านมาก็ราวกับเป็นได้เพียงโศกนาฏกรรมหรือไม่ก็จำอวดของคณะหมอลำทำนอง ขมขื่นไปเปิดวงแสดงที่ศูนย์กลางอำนาจอย่างกรุงเทพฯ หลงไปว่าชนชั้นนำจะเป็นกรรมการชี้ขาดบนเวทีแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้อย่างยุติธรรม หวังว่าการเจรจาลอบบี้อ้อนวอนจะทำให้เหล่าผู้ปล้นชิงใจอ่อนสงสาร สุดท้ายก็มิวายม้วนเสื่อกลับบ้านไปหลบเลียแผลใจและเตรียมรับมือสะสางปัญหา ที่เกิดขึ้นรอบใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เฝ้ารอการเรียกประชุมกรรมการคณะต่างๆ ตามแต่เขาจะกรุณา เราเคยหลงทิศทางในการลุกขึ้นสู้ บ้างก็หวนรำลึกถึงอดีตอันรุ่งเรือง จนกระทั่งหลงลืมตนจนไม่อาจเคลื่อนไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่าง เท่าทัน บ้างก็หันไปพึ่งพาอำนาจนอกระบบจนเผลอไผลไปร่วมมือกับกลุ่มที่ทำลายกติกา ประชาธิปไตยอย่างน่าละอาย การต่อสู้ที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของอีสานและโลก การไม่ฟังและเคารพความต้องการและการตัดสินใจของพี่น้อง การไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การไปฝากความหวังไว้กับกลุ่มผู้กุมอำนาจ เป็นต้น วันนี้ เรามาเพื่อประกาศถึงอีสานใหม่ อีสานที่ไม่สยบยอมต่อเหล่าผู้ปล้นสดมภ์ที่หยิบฉวยเอาความอุดมสมบูรณ์ของเราไป และหยิบยื่นความขมขื่นตอบแทนกลับมา ก่อนอื่น เราปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะลดทอนความชอบธรรมของเรา โดยการกล่าวหาว่า เราเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่หวังเพียงผลทางการเมืองแบบน้ำเน่า เป็นกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มนอกกฎหมายที่หวังก่อความวุ่นวาย หรือข้อกล่าวหาใดๆ ที่อาจจะอ้างโดยผู้กุมอำนาจใดๆ การลุกขึ้นของเรานั้นคือสิทธิอันชอบธรรมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียม และแม้เราจะใช้ชื่ออีสานใหม่ แต่เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งมวลไม่ว่าจะภาคไหนกลุ่มใด เราเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจที่แย่งชิงสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไปเท่านั้น เราคืออีสานใหม่ เราผุดขึ้นมาจากความแห้งแล้งในหัวใจของผู้ปล้นชิง เติบโตจากหยาดน้ำของความเคารพกันและกันของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เราขอประกาศว่า การลุกขึ้นมาของเราก็เพียงเพื่อเรื่องพื้นๆ ที่ไม่ยิ่งใหญ่อะไรนัก เราเพียงต้องการที่ดินทำกิน งานที่ยุติธรรม ที่อยู่อาศัยที่พึงมี อาหารที่เพียงพอ สุขอนามัย การศึกษา สภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิในการจัดการตนเองและชุมชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ เราจะยืนยันสิทธิของเราด้วยความจริงเพื่อสู้กับคำลวงและการบิดเบือน เราจะสร้างอีสานใหม่ด้วยมือประชาชนคนอีสานผู้ทุกข์ยากลำบากมานาน การพัฒนาต้องมาจากประชาชน และประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย!
ประกาศ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2558 อีสานใหม่ |
นัยสำคัญต่อการเมืองไทย
การปรากฏตัวขึ้นขององค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และขบวนการอีสานใหม่ ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ไม่เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า "การเมือง" นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ที่จะดูดดึงพลังทางสังคมให้เข้ามามีส่วนเสียง ถกเถียงอภิปรายประเด็นสาธารณะอันสัมพันธ์กับประชาชนอย่างหลากหลาย หากยังสะท้อนประสิทธิภาพของรัฐรวมศูนย์ของไทยที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แม้องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นในต่างประเทศจะถูกบอกปัดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องจากองค์กรและกลุ่มบุคคลการเมืองในประเทศไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ได้ขยับขยายพื้นที่สาธารณะให้กว้างขวางขึ้น ทั้งในแง่ช่องทางการสื่อสารและการตระหนักรู้ของประชาชนภายในประเทศถึงการต่อต้านอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ขณะที่ขบวนการอีสานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานข้อเรียกร้องอันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นสำคัญ ก็เปิดพื้นที่การรับรู้และเปิดประเด็นคำถามอย่างถึงรากฐานว่ารัฐรวมศูนย์ของไทยเท่าที่ผ่านมามุ่งสนอบตอบต่อประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกันมากน้อยเพียงใด และเหตุใดความเหลื่อมล้ำในโอกาสแห่งชีวิต ตลอดจนความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ ยังคงดำรงอยู่อย่างกว้างขวางเช่นนี้
บรรณานุกรม
“กฎอัยการศึก กดทับ อีสาน ชาวบ้านสุดระทม.” โพสต์ทูเดย์. (23 มีนาคม 2558), A6.
“บิ๊กตู่ ไม่สนอียู.” คมชัดลึก. (25 มิถุนายน 2557), 13.
“เปิดความคิด ‘กลุ่มอีสานใหม่’ กลุ่มคนผู้ก่อตัวจากความแห้งแล้งในหัวใจของผู้ปล้นชิง." ประชาไท. (23 มีนาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58551>. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559.
“เปิดคำแถลงการณ์ "องค์กรเสรีไทย" ฉ.1 "จารุพงศ์" ปลุกคนไทยต้าน คสช..” สำนักข่าวอิศรา. (24 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-article/item/30674-pwwqa.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“เปิดตัว 'อีสานใหม่' อีสานที่จะไม่สยบยอม." ประชาไท. (20 มีนาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://prachatai.org/journal/2015/03/58493>. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559
“โผล่ตั้งองค์กร เสรีไทย จารุพงศ์สู้ อ้างต้านทหาร-ฟื้นปชต..” แนวหน้า. (25 มิถุนายน 2557), 7.
“เพื่อไทยชิ่งหนี จารุพงศ์ ยันไม่เกี่ยวองค์กรเสรีไทย.” โลกวันนี้. (25 มิถุนายน 2557), 1-2.
“ไม่โกง-ไม่บ้าอำนาจ เพื่อส่วนรวมรับรองไปโลด.” ผู้จัดการรายวัน. (25 มิถุนายน 2557), 2.
สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. (2557). ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย: เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
“เสียงวิพากษ์ องค์กรเสรีไทย ปราม จารุพงศ์ อย่าปลุกปั่นจุดแตกแยก.” สยามรัฐ. (25 มิถุนายน 2557), 3.
[1] “เปิดคำแถลงการณ์ "องค์กรเสรีไทย" ฉ.1 "จารุพงศ์" ปลุกคนไทยต้าน คสช.,” สำนักข่าวอิศรา, (24 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-article/item/30674-pwwqa.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
[2] “ไม่โกง-ไม่บ้าอำนาจ เพื่อส่วนรวมรับรองไปโลด,” ผู้จัดการรายวัน',' (25 มิถุนายน 2557), 2.
[3] “เพื่อไทยชิ่งหนี จารุพงศ์ ยันไม่เกี่ยวองค์กรเสรีไทย,” โลกวันนี้',' (25 มิถุนายน 2557), 1-2.
[4] “เพื่อไทยชิ่งหนี จารุพงศ์ ยันไม่เกี่ยวองค์กรเสรีไทย,” โลกวันนี้',' (25 มิถุนายน 2557), 1-2.
[5] “เพื่อไทยชิ่งหนี จารุพงศ์ ยันไม่เกี่ยวองค์กรเสรีไทย,” โลกวันนี้',' (25 มิถุนายน 2557), 1-2.
[6] “โผล่ตั้งองค์กร เสรีไทย จารุพงศ์สู้ อ้างต้านทหาร-ฟื้นปชต.,” แนวหน้า',' (25 มิถุนายน 2557), 7.
[7] “โผล่ตั้งองค์กร เสรีไทย จารุพงศ์สู้ อ้างต้านทหาร-ฟื้นปชต.,” แนวหน้า',' (25 มิถุนายน 2557), 7.
[8] “เสียงวิพากษ์ องค์กรเสรีไทย ปราม จารุพงศ์ อย่าปลุกปั่นจุดแตกแยก,” สยามรัฐ, (25 มิถุนายน 2557), 3.
[9] สำหรับรายละเอียดการต่อสู้ของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรดดู สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย: เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557).
[10] “บิ๊กตู่ ไม่สนอียู,” คมชัดลึก, (25 มิถุนายน 2557), 13.
[11] “เสียงวิพากษ์ องค์กรเสรีไทย ปราม จารุพงศ์ อย่าปลุกปั่นจุดแตกแยก,” สยามรัฐ, (25 มิถุนายน 2557), 3.
[12] “กฎอัยการศึก กดทับ อีสาน ชาวบ้านสุดระทม,” โพสต์ทูเดย์, (23 มีนาคม 2558), A6.
[13] "เปิดความคิด ‘กลุ่มอีสานใหม่’ กลุ่มคนผู้ก่อตัวจากความแห้งแล้งในหัวใจของผู้ปล้นชิง," ประชาไท, (23 มีนาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58551>. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559.
[14] "เปิดตัว 'อีสานใหม่' อีสานที่จะไม่สยบยอม," ประชาไท, (20 มีนาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://prachatai.org/journal/2015/03/58493>. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559