เผ่า ศรียานนท์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เผ่า ศรียานนท์: “เจ้าพ่อ” ในวงการตำรวจ

          นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา หัวหน้าใหญ่ตำรวจไม่ว่าจะเรียกว่า “อธิบดีกรมตำรวจ” หรือ “ผู้บัญชาการตำรวจ” ก็ตาม ชื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ น่าจะเป็นผู้นำตำรวจที่มีอำนาจมากที่สุดในตัวเอง และท่านผู้นี้เองที่เป็นเจ้าของวลีว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทย ทำไม่ได้” ช่วงที่คุณเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจนั้น คือ ระหว่างปี 2494 จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2500

          ในเวลานั้นตำรวจไทยเป็นหน่วยงานที่มีกำลังตำรวจที่กระจายอยู่ในหน้าที่อันกว้างกว่านี้มาก ทั้งๆ ที่หน้าที่ของตำรวจ คือ รักษาความสงบภายในประเทศ แต่ตำรวจสมัยคุณเผ่ามีทั้งตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม และที่วันนี้ไม่มีแล้วคือ “ตำรวจรถถัง” ที่มีผู้คนสงสัยกันมากว่าจะมีไว้ต่อสู้หรือปราบปรามใครกันแน่ ผู้ร้ายหรือศัตรูคู่แข่งทางการเมืองที่มีกำลังรบ

          แต่ที่รู้กันก็ คือ ตำรวจในสมัยนั้นบางรายได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีสังหารทางการเมืองที่โหดเหี้ยม หรือฆ่าทิ้ง ยิงทิ้งกันกลางเมือง จนมีคดีที่มาฟ้องร้องกันภายหลังเมื่อผู้นำหมดอำนาจทางการเมืองแล้ว ดังปรากฏว่ามีนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามถูกฆ่าตายอย่างทารุณ มารู้จักตำรวจใหญ่ผู้นี้ว่ามีบทบาทการเมืองอย่างไรบ้าง

          เผ่า ศรียานนท์ เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นบุตรของนายตำรวจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 2452 ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร มีบิดาคือ พันตำรวจโท พระพลาพิรักษ์เสนีย์ (พลุ้ย ศรียานนท์) และมารดาคือ นางพงษ์ ศรียานนท์ ทางด้านการศึกษาคุณเผ่าได้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเบญจมบพิตร ก่อนที่จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนในร้อยทหารบก และจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี 2469 ขณะที่มีอายุได้ 17 ปีเศษ ได้รับการฝึกเรียบร้อยแล้วจึงเข้ารับราชการ ได้ตำแหน่งเป็นนายร้อยตรีในปี 2474 ดังนั้นเมื่อตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ท่านจึงเป็นนายทหารแล้ว แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ อย่างไรก็ตามคุณเผ่ามีความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯมาก และมีเพื่อนร่วมรุ่นที่เข้าไปร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เพื่อนที่เป็นผู้ก่อการสายพลเรือนคนหนึ่งจึงนำคุณเผ่าให้ไปรู้จักกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสายพลเรือน ดังที่คุณเผ่า เขียนเล่าว่า

          “... นายหงวน ทองประเสริฐ ได้พา ร.ต. เผ่า ศรียานนท์ ไปพบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และแนะนำให้รู้จัก สิ่งสำคัญที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพอใจในตัว ร.ต.เผ่า ศรียานนท์ ก็คือพอพบก็ได้พูดขึ้นว่าเพื่อนคนนี้ผมได้เล่าเรื่องอาจารย์ให้ฟังเสมอ และชักชวนให้มาเรียนกฎหมาย แต่ทางทหารเขาไม่ยอม ถึงวันจริงเข้าผมไปชวนเขาไม่ทัน จึงไม่ได้ร่วมงานครั้งนี้...”

          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้ว คุณเผ่าได้เลือกที่จะถูกย้ายไปทำงานที่กองทหารจังหวัดพิษณุโลก แต่ในบรรดาผู้ก่อการฯ ที่คุณเผ่าได้มาทำงานใกล้ชิดต่อมากลับกลายเป็นหลวงพิบูลสงคราม เพราะในปี 2481 คือปีที่นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คุณเผ่าได้เข้ามาเป็นนายทหารคนสนิทของรัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย ก็คือ หลวงพิบูลสงครามนั่นเอง และคุณเผ่านี่เองเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถูกคนสวน ชื่อนายลี บุญตา เอาปืนวิ่งไล่ยิงหลวงพิบูลฯ ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ด้วย เพราะนายทหารคนสนิทผู้นี้เป็นผู้โดดเข้าจับตัวนายลี บุญตา ไว้ได้ ดังนั้น คุณเผ่าถึงน่าจะเป็นลูกน้องนายทหารคนหนึ่งที่หลวงพิบูลสงครามไว้วางใจมาก

          คุณเผ่าเองได้อยู่ทำงานกับหลวงพิบูลสงครามต่อมา จนหลวงพิบูลสงครามลาออกจากนายกรัฐมนตรีในปี 2487 โดยที่คุณเผ่าก็ยังไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอื่นใด แต่ได้ตำแหน่งสำคัญในราชการ คือในปี 2485 ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อีกปีถัดมาคือปี 2486 ก็ได้เป็นเจ้ากรมเสมียน ตรากระทรวงกลาโหม และในปีเดียวกันนี้ท่านก็ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอก ความเจริญก้าวหน้าของท่านในทางทหารนั้นต้องถือว่าดี รัฐมนตรีกลาโหมผู้เป็นนายไว้วางใจให้ขึ้นเป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงในปี 2487

          คุณเผ่าได้ลาออกจากราชการทหารเมื่อหลวงพิบูลสงครามออกจากกองทัพด้วย สำหรับชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับนางสาวอุดมลักษณ์ ชุณหะวัณ ธิดาคนโตของพลโท ผิน ชุณหะวัณ การได้เป็นบุตรเขยคนโตของพลโท ผิน ชุณหะวัณ นั้นมีผลต่อบทบาทและความสัมพันธ์ทางการเมืองต่อมาค่อนข้างมากทีเดียว

          ในการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ที่นำโดยนายทหารนอกราชการ พลโท ผิน ชุณหะวัณ นั้นเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้ คณะรัฐประหารติดต่อและจูงใจให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ถูกดันออกไปนอกวงการเมืองได้กลับมาร่วมมือและสนับสนุนคณะรัฐประหาร คือ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ ผู้เป็นบุตรเขย พลโทผิน ชุณหะวัณ ในการรัฐประหารครั้งนั้นของพลโท ผิน มีบุตรเขยเข้าร่วมสองคน คือ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ กับพันตรี ประมาณ อดิเรกสาร และบุตรชายคนเดียวคือ ร้อยเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คุณเผ่าก็ได้กลับเข้ารับราชการการอีกครั้ง และได้โอนไปอยู่ตำรวจ เพราะที่กรมตำรวจในขณะนั้นคณะรัฐประหารยังไม่มีนายตำรวจระดับสูงที่จะวางใจว่าเป็นฝ่ายของตนได้อย่างชัดเจน จึงเลือกที่จะส่งนายทหารฝ่ายของตนไปทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาตำรวจเสียเอง

          ในปี 2491 คุณเผ่าได้รับพระราชทานยศเป็น พันตำรวจเอกและได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาก็ได้เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม โดยมีหลวงชาติตระการโกศลเป็นอธิบดีกรมตำรวจ แต่ก็เป็นที่กล่าวกันว่าคนที่มีอำนาจมากในกรมตำรวจในเวลานั้น คือ คุณเผ่า ศรียานนท์ นั่นเอง เพราะท่านเป็นบุตรเขยหัวหน้าคณะรัฐประหาร

          การที่คุณเผ่าได้เข้ามาคุมกรมตำรวจในปี 2491 นั่นก็คือภายหลังที่รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ถูกคณะรัฐประหารบีบให้ลาออกไปแล้ว เพราะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นคือ หลวงสินาดโยธารักษ์ ไม่ยอมตั้งคุณเผ่าให้เป็นตำรวจ การที่คนของคณะรัฐประหารมาคุมตำรวจได้ จึงเป็นประโยชน์แก่คณะรัฐประหารมาก เนื่องจากหลังการรัฐประหารแล้ว ยังเชื่อกันว่ามีคนที่สนับสนุนฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ อยู่ทั้งในกองทัพเรือ กองทัพบก และนักการเมืองด้วย จะเห็นได้ว่าในเดือนตุลาคม ปี 2491 ได้มีความพยายามของนายทหารระดับสูงในกองทัพบก ที่จะนำกำลังเข้าจู่โจมจับตัวผู้นำสำคัญในกองทัพ และรัฐบาล แต่ฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวก่อน จึงได้จับกุมคณะผู้ก่อการได้ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อจับกุมคณะนายพลทหารบกนี้ ซึ่งมีพลตรี หลวงสรานุชิตและพลตรี เนตร เขมะโยธิน ร่วมอยู่ด้วย คุณเผ่าก็เป็นผู้มาสอบสวนด้วยตัวเอง กล่าวกันว่าได้มีการข่มขู่นายทหารเหล่านี้อย่างไม่ไว้หน้า ถึงตอนนี้ผู้คนจึงเห็นว่านายตำรวจใหญ่ ที่ชื่อเผ่า ศรียานนท์ นี้เป็นผู้มีอำนาจจริงคนหนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้จะยังไม่มีตำแหน่ง
ทางการเมืองก็ตาม

          ครั้นข้ามปีมาถึงพ.ศ. 2492 ในตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามานำผู้สนับสนุนที่ประกอบด้วยนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง บุกเข้ายึดกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2492 ที่เรียกว่า “ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์” เพื่อล้มรัฐบาลของจอมพล ป.ในการปฏิบัติการครั้งนั้นได้รับการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลที่มีกำลังทหารบกในกรุงเทพฯเป็นกำลังหลัก ส่วนฝ่ายทหารเรือรวม ทั้งผู้บัญชาการทหารเรือที่มีคนเข้าใจว่าจะเข้าร่วมการยึดอำนาจล้มรัฐบาลด้วยก็วางตัวเฉย รัฐบาลจึงปราบ ผู้ที่จะล้มรัฐบาลได้ ฝ่ายก่อการฯ จึงต้องหลบหนีไป ดังนั้นต่อมาจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “กบฏวังหลวง” เพราะกระทรวงการคลังที่ถูกยึดในสมัยนั้นตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

          หลังเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แล้ว ทางตำรวจภายใต้การควบคุมของคุณเผ่าได้จัดการกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกบฏวังหลวงอย่างรุนแรง ดังที่มีการจับตาย พันโท โผน อินทรทัต ที่พระนคร และ ดร.ทวี ตะเวทิกุล อดีตเสรีไทย อดีตรัฐมนตรี โดยรายหลังนี้ถูกยิงเสียชีวิต ณ ที่หลบซ่อน ในจังหวัดสมุทรสงคราม และยังฆ่าทิ้งอดีดรัฐมนตรีอีก 4 คน คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ทั้งสี่คนถูกตำรวจจับกุมเป็นผู้ต้องหาได้ไม่กี่วัน ก็ถูกนำออกจากห้องขังในเวลาวิกาลเพื่อย้ายไปคุมขังในที่ใหม่ และทั้งสี่คนได้ถูกกลุ่มคนที่อ้างว่าเข้ามาชิงตัว ยิงทิ้งบนถนนพหลโยธิน ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองที่ถูกฆ่าโดยจับใครไม่ได้อีก เช่น กรณีนายเตียง ศิริขันธ์ อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร ที่ถูกฆ่าทิ้งในป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี เวลานั้นจึงเป็นยุคแห่งความกลัว นักการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ หลายคนต้องหลบภัยไปอยู่ต่างประเทศ

          แต่ถึงแม้ว่าจะปราบกบฏวังหลวงได้ ก็เพียงทำให้ความพยายามที่จะล้มรัฐบาลของคณะรัฐประหารหยุดไปได้ชั่วคราวเท่านั้น ถึงวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 ได้เกิดการจี้จับตัวนายกรัฐมนตรี ขณะเป็นประธาน รับเรือขุด ที่ท่าราชวรดิษฐ์ โดยกลุ่มทหารเรือที่นำโดย น.ต.มนัส จารุภา พานายกฯ ไปกักตัวไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา เพื่อบังคับให้รัฐบาลลาออก แต่กองกำลังฝ่ายรัฐบาล คือ กองทัพบกและกองทัพอากาศได้ร่วมกันโจมตีฝ่ายทหารเรือจนสามารถเอาชนะได้ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้คุณเผ่า ศรียานนท์ ได้ขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจแทนหลวงชาติตระการโกศล และ ได้รับยศเป็นพลตำรวจโท เพื่อรัฐบาลจะให้จัดการกับนายทหารเรือระดับสูงตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ถูกจับกุมและปลดออกจากตำแหน่งเพื่อเอามาดำเนินคดี

          ความรุ่งเรืองก้าวหน้าของ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ได้แสดงให้ปรากฏหลังจากที่คณะทหารที่นำโดย พลเอก ผิน ชุณหวัณ ได้ยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 เพื่อล้มรัฐธรรมนูญปี 2492 ในครั้งนี้คุณเผ่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาความสงบในพระนคร ต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คุณเผ่าได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจมาก คุมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจและอัยการ ตลอดจนคุกทั่วประเทศ และในปี 2496 หลังจากนายกฯ จอมพล ป. ไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คุณเผ่าก็ได้เข้าไปมีตำแหน่งในมหาวิทยาลัย เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย โดยเป็นรองอธิการบดีอันดับหนึ่ง อีกปีถัดมาคุณเผ่าก็มีตำแหน่งสำคัญเพิ่มขึ้นคือได้เป็นอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดิน นั่นคือคุมงานสืบราชการลับ ต่อมาท่านพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในปี 2497 แม้จะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการก็ตาม แต่ก็ได้รับมอบหมายให้ดูงานสำคัญของกระทรวงการคลัง

          ต่อมาเมื่อจอมพล ป. คิดเล่นการเมืองผ่านการเลือกตั้ง คุณเผ่าที่เป็นคนของนายกฯ หรือที่จริง ของกลุ่มราชครูซึ่งเป็นกลุ่มญาติของท่านได้ไปติดต่อกับนักการเมือง ดูแลและสนับสนุนผู้แทนราษฎร ท้ายที่สุดก็ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขึ้นในปี 2498 และเป็นเลขาธิการพรรค นำพรรคนี้ลงเลือกตั้ง ที่ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แม้จะชนะเลือกตั้งก็ถูกประชาชน นิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ในเมืองหลวง ประท้วงและกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก และถึงแม้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ก็ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจล้มรัฐบาลในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 ตัวคุณเผ่านั้น ถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ จนถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 2503