ม.ล.ขาบ กุญชร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:51, 3 ธันวาคม 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ม.ล.ขาบ กุญชรฯ : โฆษกนายกฯพิบูลฯ

          ชื่อเสียงของนายทหารที่ชื่อ “ ม.ล.ขาบ กุญชร ” นั้นปรากฏในตำนานเสรีไทยค่อนข้างมาก ในฐานะผู้ประสานงานสำคัญของอาสาสมัครเสรีไทยที่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นดังนี้ก็เพราะใน ปี 2485 หลังไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อันเป็นเหตุให้ทูต และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยไม่ยอมรับคำสั่งของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะนั้นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน คือ พันโท ม.ล.ขาบ กุญชรฯ และก็เป็นนายทหารคนเดียวกันที่เดินทางออกจากกรุงวอชิงตันไปที่เมืองจุงกิงของจีนในปี 2486 และเป็นผู้ที่ได้พบกับทั้งนาย จำกัด พลางกูร และ นายสงวน ตุลารักษ์ สองผู้แทนของขบวนการเสรีภายในประเทศไทยที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์  บทบาทของพันโท ม.ล.ขาบ ในการติดต่อกับนายทหารของรัฐบาลจีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายทหารเสรีไทยเดินทางเข้าประเทศไทยที่ต้องผ่านดินแดนจีนนับว่าสำคัญ ท่านจึงเสมือนเป็นผู้นำทหารเสรีไทยนอกประเทศ ซึ่งออกมาฝึกทั้งที่ในอินเดีย ศรีลังกา และจีน ดังนั้นจึงแสดงว่าท่านเป็นเสรีไทยที่ทำงานคนละฝ่ายกับหลวงพิบูลสงครามที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในตอนนั้น แต่หลังจากสงครามผ่านไป และการเมืองเปลี่ยนไปในเวลาประมาณ 10 ปี นายกรัฐมนตรีคนเดียวกันที่ชื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เอานายทหารที่ชื่อ ขาบ กุญชร ณ อยุธยา มาเป็นทั้งโฆษกของรัฐบาล และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

          ม.ล.ขาบ นั้นมีชื่อแต่แรกว่า “ ขาบมงคล ” เกิดในสกุล กุญชร ณ อยุธยา ท่านเป็นคนเมืองหลวง เกิดที่ “ วังบ้านหม้อ ” เมื่อวันที่10 ตุลาคม ปี 2448 มีบิดาคือพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชรฯ) มารดาคือหม่อมจันทร์ ด้านการศึกษาตามประวัติระบุว่าเคยเรียนที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ในปี 2456 เรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกยังไม่ทันจบการศึกษา ท่านก็ได้ทุนของกระทรวงกลาโหมให้ไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ที่ประเทศอังกฤษจนจบการศึกษาวิชาทหารในปี 2471 อายุได้ 23 ปี จึงเดินทางกลับไทย และเข้ารับราชการเป็นทหารในปี 2472 ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯปี 2475 ท่านไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด แต่การทำงานก็ได้รับความเจริญ ผ่านมา 5 ปีถึงปี 2480 ท่านก็ได้เป็นเสนาธิการกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นทหารปืนใหญ่เหล่าเดียวกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม ชีวิตสมรสนั้นท่านได้แต่งงานกับ
นางสาวเทียบ ฤทธาคนี

          ส่วนการที่ท่านมีบทบาทในกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกานั้นก็เป็นเพราะตอนต้นปี 2484 นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลฯได้ส่งท่านไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารที่กรุงวอชิงตัน เล่ากันว่านายกฯส่งไปเฝ้าดูทูต คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้นรัฐบาลหลวงพิบูลฯประกาศสงครามกับสหรัฐฯ ม.ล.ขาบ กับม.ร.ว.เสนีย์ ก็มีความเห็นคัดค้านหลวงพิบูลฯ จนนำไปสู่การรวมกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปได้ 10 ปี หลวงพิบูลฯกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่ง ในปี 2495 พลตรี ม.ล.ขาบ จึงได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ อธิบดีกรมนี้ก็คือโฆษกของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีนั่นเอง จึงเป็นที่แปลกใจกันบ้าง แต่เรื่องนี้มีที่มาที่ไปว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 ตอนที่เกิดกบฏแมนแฮตตัน จอมพลป.นายกรัฐมนตรีได้ถูกทหารเรือกลุ่มหนึ่งจี้จับตัวจากท่าราชวรดิษฐ์ ลงเรือเปิดหัวนำไปกักขังไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา จนเกิดการรบพุ่งกันถึงขนาดเรือรบหลวงศรีอยุธยาถูกระเบิดจมลง จอมพล ป.ต้องว่ายน้ำหนีไปอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ และนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่เดินทางไปเจรจาจนรับตัวจอมพล ป.กลับมาได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานครั้งนั้นคือ พันเอก ม.ล. ขาบ นี่เอง ท่านเป็นคนรับตัวจอมพล ป.จากกองทัพเรือมาที่กองบัญชาการฝ่ายรัฐบาล เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะทำให้จอมพล ป.มีความไว้วางใจ พันเอก ม.ล.ขาบ มาก และทำให้ ม.ล.ขาบเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการนาน ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการได้ 2 ปี ในปี 2497 นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.ก็ยังตั้ง ม.ล.ขาบ ให้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง สมัยก่อนนายกฯ จอมพล ป.เป็นนายกฯ ได้เคยเลือกเอาเพื่อนนายทหารที่เคยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯมาดำรงตำแหน่งนี้ คราวนี้มาเลือก ม.ล.ขาบ ย่อมแสดงว่า ม.ล.ขาบ เป็นเสมือนขุนพลคู่ใจที่จอมพล ป. ไว้วางใจมาก เพราะต้องติดตามดูแลนายกฯอย่างใกล้ชิด ม.ล.ขาบ ได้เป็นเลขาธิการนายกฯต่อมาเป็นเวลาปีกว่า จึงได้เปิดทางให้นักการเมืองพลเรือนชื่อ นาย ฉาย วิโรจน์ศิริ เข้ามารับหน้าที่แทน ในตอนกลางปี 2498 ทั้งนี้เพราะจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีเตรียมตัวจะเล่นการเมืองแบบลงเลือกตั้งที่ต้องหาฐานประชาชนมาสนับสนุน

          สำหรับตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการนั้น ม.ล.ขาบได้เป็นอยู่นาน 5 ปี จนถึงวันที่ 20 กันยายน ปี 2500 ที่พ้นตำแหน่ง ก็เพราะจอมพล ป.พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 ออกมาจากกรมโฆษณาการแล้วท่านก็ยังรับราชการทหารสืบมา ปรากฏว่าในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ กลับมายึดอำนาจซ้ำ และขี้นเป็นนายกฯเอง เป็นนายกฯยังไม่ถึง 7 วัน ก็แต่งตั้งพลโท ม.ล.ขาบ กุญชรฯ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2502 ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ ที่บอกหน้าที่ว่าเป็นผู้แถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ที่ ม.ล.ขาบ ไม่อาจกลับไปเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ แม้จะยังไม่ได้เกษียณอายุราชการ ก็เพราะพอท่านพ้นตำแหน่งออกมาจากกรม คณะทหารของจอมพล สฤษดิ์ ได้ตั้งพลเอก สุรจิต จารุเศรณี ไปเป็นแทนที่แล้ว ม.ล.ขาบ ได้เป็นโฆษกอยู่คู่ใจจอมพล สฤษดิ์ สืบต่อมาจนสิ้นสุดสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2506 อันเป็นวันที่จอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมนั่นเอง

          พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาถึงวันที่ 19 กันยายน ปี 2529 จึงถึงแก่กรรม