บัญญัติ เทพหัสดิน
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
บัญญัติ เทพหัสดิน กับการล้มรัฐบาล 2 ครั้ง
นายทหารผู้ที่มีบทบาททางการเมืองมากเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ผู้นี้คนส่วนมากทราบดีว่าท่านเป็นแกนนำคนหนี่งของคณะรัฐประหาร ปี 2490 ที่ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่อีกหลายคนอาจไม่ทราบว่าก่อนหน้านั้น 15 ปี ท่านก็เป็นนายทหารหนุ่มคนหนี่งที่รวมอยู่ในบรรดาทหารที่ชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในตอนเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ฟังนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่ตัวท่านเองได้บันทึกเล่าเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบและพิจารณาบทบาทของท่านในฐานะนายทหารที่เข้ามาพัวพันกับการเมือง เรื่องเล่าอย่างนี้ คนรุ่นหลังน่าจะชื่นชมและหามาอ่านจะได้ทราบที่มาและที่ไปของเหตุการณ์ได้รอบด้าน ข้อเท็จจริงที่นำเสนอจะได้รับการชำระให้เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรจารึกไว้ เหตุการณ์ครั้งแรกในปี 2475 นั้น ท่านยังอายุน้อยบทบาทจึงแทบไม่มีแม้แต่ความตั้งใจที่จะเข้าร่วมยึดอำนาจก็ยังไม่ปรากฏชัดหากแต่เป็นการตกกระไดพลอยโจนมากกว่า ส่วนการร่วมยึดอำนาจครั้งที่ 2 ในปี 2490 นั้น ท่านมีอายุเพิ่มมาอีก 15 ปี ตำแหน่งการบังคับบัญชาทหารก็สูงขึ้นและคุมกำลังในพระนคร จึงเข้าร่วมยึดอำนาจโดยมีเจตจำนงที่แน่นอน ดังนั้นต่อมาหลังการรัฐประหาร ปี 2490 ท่านจึงเจริญรุ่งเรืองทั้งตำแหน่งทางทหารและตำแหน่งทางการเมือง นายทหารท่านนี้คือ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง
บัญญัติ เทพหัสดินฯ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ตรอกบ้านเขมร หลังวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในเขตอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร มีบิดาชื่อนาย บรรยง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และมารดาชื่อนาง อนงค์ (ยมาภัย) หลังการศึกษาเบื้องต้นแล้วท่านได้เข้าเรียนวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยศึกษาจบในปี 2468 และเข้ารับราชการทหารเป็นนายร้อยตรีในปี 2469 รับราชการทหารสืบต่อมา ปรากฏว่าในปี 2475 นั้น บัญญัติ เทพหัสดินฯเป็นนายทหารประจำอยู่ที่กองพันที่ 2 กรมทหารมหาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามวังจันทรเกษม ท่านเล่าว่า
“ เช้าวันที่ '24 มิถุนายน 2475 ตอนเช้ามืดฉันนำทหารมาหัดท่าอาวุธที่สนามหน้าวังจันท์ (หน้ากองพัน) ในสนามมีทหารหน่วยอื่นในกองพันเดียวกันฝึกอยู่ด้วยกัน พอเวลา 07.00 น. มีนายทหารมาตามบอกว่าทางกรมยุทธศึกษามีการฝึกฝนในภูมิประเทศเกี่ยวกับการต่อสู้รถถัง ให้นายทหารนำทหารไปดูการฝึกฝน การเอาทหารไปด้วยต้องการเอาไปเป็นลูกมือ นายทหารที่นำทหารฝึกอยู่ต่างก็พากันนำทหารไปหน้าพระลานสวนดุสิต(พระบรมรูปทรงม้า)กันเป็นแถว ฉันนำทหารไปด้วย ทหารที่อื่นก็ไปเช่นเดียวกัน ฉันจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนมาบอก พอไปถึงหน้าพระลาน นายทหารที่นั่นบอกให้นำทหารไปพักไว้ที่สนามหญ้า ส่วนนายทหารเชิญประชุมเพื่อฟังคำสมมติ ฉันเข้าไปฟังในหมู่ทหารเหล่านั้น มี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนากำลังอ่านอยู่ ท่านเริ่มต้นอ่านประกาศซึ่งท่านบอกว่าเป็นคำสมมติ กล่าวถึงการปกครองปัจจุบันเป็นไปในทางเสื่อมโทรมและอื่นๆ อีกมาก ฉันฟังขณะนั้นไม่เข้าใจ ในตอนท้ายจึงบอกว่า บัดนี้ พวกคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารและพลเรือนได้เข้ายึดอำนาจและยึดพระนครได้แล้วพร้อมกับได้จับเอาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่(หมายถึงองค์อภิรัฐมนตรี)และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเป็นตัวมัดจำไว้แล้ว ให้นายทหารอยู่ในความสงบ...”
คำบอกเล่าของบัญญัติ เทพหัสดินฯ นั้นแสดงว่าทหารที่ชุมนุมกันฟังพระยาพหลฯอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจนั้นเป็น “ นายทหาร ” เท่านั้น ทหารใต้บังคับบัญชาได้ให้ไปพักที่สนามหญ้า และท่านยังเล่าต่อว่า
“ ต่อมาจนเวลา 08.00 น.เศษ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิตถูกเชิญพระองค์มาที่พระที่นั่งอนันต์ เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนถูกคุมตัวกันมาเรื่อยพลโท พระยาสีหราชเดโช(สวาสดิ์ บุนนาค)นั่งมาหน้ารถทหาร นุ่งผ้าขาวม้าไม่มีเสื้อใน
ทูลกระหม่อมนครสวรรค์ เมื่อลงจากรถยนต์เข้ามาในพระที่นั่งอนันต์ เห็นพวกเราทหารมหาดเล็กเข้า รับสั่งว่าเอากับเขาเหมือนกันหรือ เราทุกคนต่างนิ่ง ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร ”
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้ประมาณเดือนกว่าๆ ท่านก็ถูกย้ายไปประจำกองพันทหารราบที่ 2 ไม่ได้รุ่งเรืองหรือตกต่ำแต่อย่างใด เวลาผ่านมา 14 ปี ไม่ปรากฏบทบาทอะไรที่เด่นชัด จนถึงปี 2489 ขณะที่มียศพันโท เป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ที่มี พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับการกรม ปรากฏว่าตอนบ่ายของวันหนึ่ง พ.อ.สฤษดิ์ ได้เรียกไปพบที่บ้าน
“ เรียกฉันไปที่บ้าน และชวนฉันทำการรัฐประหารโดยบอกให้ทราบว่าทหารในกรุงเทพฯ ทุกหน่วยพร้อมแล้ว คืนนี้อาจมีการประชุมหรือพบปะกันเป็นครั้งสุดท้ายและเป็นการแน่นอนที่ร้านอาหารเกียกกายหลังกระทรวงกลาโหม ฉันตกลงรับร่วมด้วยและพร้อมเสมอ ตอนหัวค่ำเราไปชิมลางกันที่ร้านค้าเกียกกาย ...”
การรัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 บัญญัติได้เข้าร่วมอย่างเต็มใจ ท่านเล่าว่า “ รุ่งขึ้น '7 พ.ย. 90 ผบ.ร.1 (คือ สฤษดิ์-ผู้เขียน) สั่งทหารจ่ายกระสุนจริงและลูกระเบิดทั้งหมดเตรียมขึ้นรถโดยบอกว่าเราจะรบกับเจ๊ก วันนั้นมีการประชุมนายทหารชั้นหัวหน้าหน่วยทั้งหมด (ร.พัน.1,2,3) และสั่งเตรียมพร้อมเต็มที่ ฉันกับผู้บังคับการติดต่อกันตลอดเวลา เรามีแผนการที่จะออก การคืนนี้เวลา 02.00 น. โดยมีแผนยึดสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญของรัฐบาล และจับบุคคลสำคัญของรัฐบาล แต่พอ 23.00 น. ได้รับข่าวว่าแผนของเรารั่วรู้ถึงฝ่ายรัฐบาลเสียแล้ว ทางตำรวจ พล.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัส สั่งเตรียมจับพวกเราหมด เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ร่นเวลาออกปฏิบัติงานเวลา 23.30 น. พร้อมกันทุกหน่วย ”
ที่จริง พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ขณะนั้นย้ายมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้วและผู้รักษาการอธิบดีกรมตำรวจคือ พล ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ วันนั้นมีผู้ระบุว่าท่านทราบแล้วและได้เรียกนายตำรวจมาประชุมที่บ้านถึง 40 คน สั่งให้เตรียมพร้อมรออยู่ที่บ้านตั้งแต่เย็นวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2490 แต่ให้รอเวลาก่อน จะรอเพื่ออะไรยังไม่มีใครอธิบาย ตอนนี้พลโทบัญญัติ ได้บันทึกเล่าต่อไปว่า
คณะรัฐประหารทำท่าจะแพ้
“ ...รู้สึกทั้งหน้าเขียวเหลืองซีดทุกอย่าง บางคนยืนคอตกพิงต้นมะพร้าว หมดสปิริตเอาทีเดียว พ.อ.สฤษดิ์ จิตใจดีมาก สามารถแก้ปัญหาได้เด็ดขาดและถูกต้องสั่งหน่วยทหารต่างๆ เข้ากระทรวงกลาโหมทันที สั่งยึดกระทรวงกลาโหมเป็นที่บัญชาการ และเป็นจุดต่อต้านขั้นต้นและขั้นสุดท้าย เรายอมตายด้วยกัน พ.ท.ละม้าย ซึ่งมอบให้ไปจับตัวนายปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ได้ตัว หนีไปอยู่กับทหารเรือ เราคงไม่ได้ใครมาที่เป็นตัวโตๆ สำหรับเป็นหลักประกันเลย แต่ในที่สุดจนตี 5 เราก็สามารถยึดสถานที่ราชการทุกแห่งได้หมด และตอนเช้าก็สามารถโฆษณาการรัฐประหารของเราได้แต่เหตุการณ์ในวันนั้นยังหาเรียบร้อยไม่ ”
นี่เป็นมุมมองของผู้ปฏิบัติการที่ต้องพิจารณา อย่างไรก็ตามคณะรัฐประหารก็เป็นฝ่ายชนะ เมื่อสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญของฝ่ายตนได้ในเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีนั้น
ยึดอำนาจได้ 7 วัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน พ.ท.บัญญัติก็ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้รักษาการผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 แทน พ.อ.สฤษดิ์ ที่ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 และข้ามมาอีกปีก็ได้ ยศเป็นพันเอก ในเดือนตุลาคมมีการจับกุมกลุ่ม “ กบฏเสนาธิการ ” และปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2492 มีกบฏวังหลวงเกิดขึ้นฝ่ายคณะรัฐประหารต้องต่อสู้ปราบปราม หลังปราบได้เรียบร้อย
ท่านได้ตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2492 เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเดือนมกราคมของปีถัดมา ท่านก็ได้ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเมื่อถึงเดือนตุลาคมของปีเดียวกันท่านก็ได้รับการเลื่อนยศทางทหารเป็นพลตรี สำหรับชีวิตครอบครัวนั้นท่านได้สมรสกับคุณหญิงเลื่อน นามสกุลเดิมคือ สาคริก
ในปี 2494 มีเหตุการณ์สำคัญคือทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย น.ต.มนัส จารุภา ได้จี้จับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงเรือไปคุมตัวไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยา จนเกิดการยิงกันสนั่นเมืองระหว่างทหารบก ทหารอากาศ และทหารเรือ ที่สิ้นสุดลงโดยทหารบกและทหารอากาศที่เป็นฝ่ายรัฐบาลชนะ จอมพล ป. กลับมาเป็นนายกฯ ต่อมาจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน จึงได้มีการยึดอำนาจโดยการประกาศของคณะนายทหาร 9 นาย จากกองทัพทั้ง 3 ของไทยที่มีผลในการยกเลิกรัฐธรรมนูญและล้มรัฐบาลจอมพล ป. ไปด้วย แต่ในวันเดียวกันคณะทหารก็ตั้งจอมพล ป. กลับเข้ามาเป็นนายกฯ ในรัฐบาลชุดนี้พลตรี บัญญัติ ได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่สมัยนั้นมีอำนาจคุมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และอัยการทั่วประเทศ ถึงปี 2495 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 แล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังเลือกตั้ง จอมพล ป. ยังได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และพลตรี บัญญัติ ก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาล และยังได้เลื่อนยศทางทหารขึ้นเป็นพลโทในวันที 4 พฤษภาคม ปี 2496 อันเป็นยศสูงสุดของทางทหารของท่าน ครั้นถึงวันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน บทบาททางการเมืองของท่านก็ลดลงมาบ้าง เพราะต้องย้ายออกจากกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญมากไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีสำคัญน้อยกว่า และในเดือนเมษายน ปี 2499 ก็ได้พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลื่อนขึ้นไปเป็น รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ดูแลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเลยแต่ท่านไม่มีกระทรวงให้สั่งราชการอยู่เพียง 5 เดือน ท่านก็ได้ย้ายกลับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง ในวันที่ 22 กันยายน ปี 2499 การย้ายกลับมาครั้งนี้ เชื่อกันว่าเป็นเพราะนายกฯจอมพล ป. ได้ตัดสินใจเลือกท่านเข้าร่วมทีมลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดพระนคร ในสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ดังนั้นการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ย่อมมีอำนาจหน้าที่และงานที่เด่นชัด ที่จะอ้างเพื่อหาความนิยมจากประชาชนผู้เลือกตั้งได้
แต่การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ที่จอมพลป. นำรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีก 8 นาย ลงสมัครเข้าแข่งขันที่จังหวัดพระนคร แข่งขันกับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนาย ควง อภัยวงศ์ ที่เคยเป็นนายกฯมาก่อน จึงเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดมากแม้ทางพรรคเสรีมนังคศิลา จะชนะ จอมพล ป. และพลโท บัญญัติ จะได้เป็นผู้แทนราษฎร และจอมพล ป. ได้กลับมาเป็นนายกฯ พลโท บัญญัติ ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิมก็ตาม แต่ก็ถูกประท้วงจากประชาชนและนิสิตนักศึกษา ที่เห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก ไม่สุจริตและยุติธรรม มีการใช้บัตรเลือกตั้งปลอมที่เรียกว่า “ ไพ่ไฟ ” และมีผู้ออกเสียงที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิที่เรียกกันว่า “ พลร่ม ” การประท้วงของประชาชนได้นำไปสู่การยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ และคณะทหาร ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 นั่นเอง พลโท บัญญัติ จึงพ้นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีในวันเดียวกันนั้น โดยยังคงตำแหน่งทหารอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ด้วยความที่เคยเป็นนายทหารในคณะรัฐประหารและเคยเป็นลูกน้องใกล้ชิดจอมพล สฤษดิ์ มาก่อน มาใกล้ชิดกับจอมพล ป. ในภายหลัง ดังนั้นเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจซ้ำในปี 2501 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ท่านจึงได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และในปี 2503 ก็ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึก อยู่จนถึง ปี 2507 พลโท บัญญัติ เทพหัสดินฯ เกษียณอายุราชการทหาร ในปี 2508 และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2519