สอ เสถบุตร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:30, 21 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สอ เสถบุตร : นักโทษการเมืองผู้สร้างปทานุกรม

ผู้คนรู้จักชื่อ “สอ เสถบุตร” ดีว่าท่านเป็นคนไทยผู้สร้างปทานุกรมอังกฤษไทยรายแรกที่มีมีคุณค่าทางวิชาการมากมาย และเป็นประโยชน์ที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนไทยผู้ใฝ่รู้ภาษาอังกฤษ แต่น้อยคนที่จะทราบว่างานสร้างปทานุกรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังชิ้นนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในห้องสมุดหรือห้องเขียนหนังสือที่สุขสบาย หากแต่สร้างขึ้นในคุก ดินแดนอันมีทุกข์ของไทย สอ เสถบุตร ต้องโทษทางการเมืองในคดีกบฏบวรเดช แต่คุกก็ไม่สามารถขังงานวิชาการของเขาได้ งานของเขาจึงได้ออกมาเผยแพร่แก่สายตามหาชนนอกคุก และสร้างชื่อเสียงให้ท่าน รวมทั้งเชื่อกันว่าชื่อเสียงที่ว่านี้มีส่วนส่งให้ท่านชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรเข้าสภา หลังจากออกมาจากคุกในคดีการเมืองแล้ว มารู้จักชีวิตของนักการเมืองผู้สร้างปทานุกรมอันโด่งดังกันต่อไป

สอ เสถบุตร เป็นคนกรุงธนบุรี เมืองแฝดของกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2446 มีบิดาชื่อสวัสดิ์ มารดาชื่อเกษร ที่ต่อมาใช้นามสกุลว่า "เศรษฐบุตร" ตอนแรกชีวิตในครอบครัวก็ไม่ลำบาก เพราะหัวหน้าครอบครัวคือพ่อสวัสดิ์นั้นเป็นคนทำมาหากิน และบุกเบิกงานใหม่ๆ แต่ท่านเดินทางไปทำมาค้าขายไกลทางภาคอีสานและเสียชีวิตไกลบ้าน ฐานะทางบ้านจึงลำบาก ตัวคุณสอ เสถบุตร เองเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจบชั้นมัธยม 8 ความที่เป็นคนเรียนหนังสือเก่งจึงได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างเรียนหนังสือที่เมืองฝรั่ง ท่านเองมีทุนเรียนแล้วแต่ก็ได้ทำงานพิเศษเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฝรั่ง “แมนเชสเตอร์ การ์เดี้ยน” ส่งเงินมาให้ทางบ้านใช้ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านธรณีวิทยา ได้เกียรตินิยม สมกับการเป็นนักเรียนเก่งจริง จากนั้นจึงเดินทางกลับไทยมารับราชการ และมีงานเสริมเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร และได้รับราชการที่กรมราชเลขาธิการ ชีวิตครอบครัวนั้นท่านสมรสครั้งแรกกับ คุณนิจที่เป็นญาติห่างๆในสกุลเศรษฐบุตร ต่อมาเลิกกัน ท่านมีภรรยาคนที่สอง คือคุณสมพงษ์ และคนสุดท้ายคือคุณพิมพวัลด์

กล่าวกันว่า สอ เสถบุตร นั้นไม่ได้เล่นการเมืองแต่ถูกการเมืองเล่นงานก่อนและหนักเสียด้วย เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้ลาออกจากราชการ ทำให้ดูเหมือนไม่อยากทำงานกับรัฐบาลใหม่ ครั้นเมื่อเกิดกบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคม ปี 2476 ที่รัฐบาลปราบได้สำเร็จ รัฐบาลจึงตามเล่นงานผู้ที่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้อง หลวงมหาสิทธิโวหารหรือ นายสอ เศรษฐบุตร จึงเจอข้อหากบฏด้วยคนหนึ่ง คุณสอเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร มีเรื่องเล่ากันว่าในวันที่ 11ตุลาคม พ.ศ.2476 อันเป็นวันที่กองกำลังของฝ่ายกบฏยกพลบุกเข้ามาจะล้มรัฐบาล คุณสอไม่ได้ไปรู้เห็นอะไรด้วยมาก่อนเลย แต่ถูกนายหลุย คีรีวัตโทรศัพท์มาตามตัวไปช่วยฝ่ายก่อการฯแปลแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ ดังมีคำบอกเล่าที่น่าสนใจว่า

“เมื่อร่างและแปลแถลงการณ์เรียบร้อยแล้ว นายหลุย คีรีวัต หลวงมหาสิทธิโวหาร และพระยาศราภัยพิพัฒน์ ก็พากันไปพิมพ์ใบปลิวแถลงการณ์ในเรือแมคอินทอช อันเป็นเรือลากจูงเรือบรรทุกไม้ ซึ่งลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ”

การร่วมมือเท่านี้ที่ท่านมีส่วนกับการก่อการกบฏบวรเดช ทำให้ท่านต้องได้รับโทษทั้งถูกถอดบรรดาศักดิ์และถูกตัดสินจำคุกและที่ทารุณมากก็คือถูกส่งไปจองจำที่เกาะตะรูเตา ซึ่งวันนั้นไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวอย่างวันนี้ การติดคุกในคดีการเมืองคราวนั้นทำให้คุณสอ ได้ใช้เวลาเขียนปทานุกรมอังกฤษ-ไทย แล้วซ่อนเอาออกมาพิมพ์นอกคุก สอติดคุกอยู่หลายปี จนการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่เคยมีอำนาจเต็มเมืองถูกแรงบีบทางการเมืองจนต้องลาออก นายควง อภัยวงศ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ปี 2487 ตามมาด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ นักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช ในวันที่ 20 กันยายน ปี 2487 ซึ่งมีผลทำให้คุณสอได้รับการอภัยโทษด้วย

พ้นโทษจากคดีการเมืองมาก็เป็นเวลาที่การเมืองเปิด ผู้คนที่สนใจจะเล่นการเมืองต่างก็พากันรวมกลุ่มชุมนุมคนกันเป็นพวกบ้างพรรคบ้างเตรียมลงสู่สนามการเมือง สอ เศรษฐบุตร ซึ่งโดนการเมืองเล่นงานได้เข้าร่วมพรรคก้าวหน้าที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้า และเมื่อรัฐบาลยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 สอ เศรษฐบุตร จึงลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร ที่เขต 1 จังหวัดธนบุรี และท่านก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรสมใจ ต่อมาเมื่อมีการรวมพรรคก้าวหน้าเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ท่านจึงมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ด้วย และอยู่ต่อมาจนรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490

หลังการรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และในรัฐบาลของนายควงชุดนี้ที่ คุณสอได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพิ่มเติมในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2490 รัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ คุณสอจึงเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งไม่นานนัก และหลังการเลือกตั้งแล้วคณะรัฐประหารได้บีบให้นายควงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณสอก็วางมือจากการเมืองไปทำงานหนังสือพิมพ์ที่ตนรักและจัดพิมพ์ปทานุกรม กับงานเขียนเกี่ยวภาษาอังกฤษออกเผยแพร่ มีคนเชื่อกันว่าคุณสอ ตัดขาดจากการเมืองได้จริง เพราะท่านไม่ได้หวนกลับมาเล่นการเมืองอีกเลย

สอ เสถบุตร ผู้สร้างปทานุกรม อังกฤษเป็นไทย ที่มีชื่อเสียง ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 กันยายน ปี 2513