บันทึกลับจากทุ่งใหญ่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:58, 18 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.โดม ไกรปกรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


บันทึกลับจากทุ่งใหญ่

          หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” เป็นหนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเปิดเผยเรื่องการลักลอบล่าสัตว์ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเดือนเมษายน พ.ศ. 2516[1]  คำนูณ สิทธิสมาน ปัญญาชนนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในช่วงพ.ศ. 2516-2519 ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นผลงานของนิสิตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานจนเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาคือ สวัสดิ์ มิตรานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2] ขณะที่ ธัญญา ชุนชฎาธาร(1 ใน 13 ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 โดยอ้างว่ากลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน) ได้กล่าวถึงหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ต่างจาก คำนูณ สิทธิสมาน เล็กน้อยคือกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้จัดทำโดยชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาจาก 4 สถาบัน[3] แต่สิ่งที่ธัญญาและคำนูณ กล่าวไว้สอดคล้องกันคือ หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากจนตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนมากกว่าแสนเล่ม[4]

          เนื้อหาของหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” นี้ปัญญาชนนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในช่วงพ.ศ. 2516-2519 กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า หนังสือเล่มนี้ได้เปิดโปงเรื่องราวของนายทหารและตำรวจจำนวนหนึ่งที่ใช้เฮลิคอปเตอร์และอาวุธปืนของทางราชการไปล่าสัตว์ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งนำดาราและนักร้องไปขับกล่อมเพื่อความบันเทิง แต่เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิตและในซากเฮลิคอปเตอร์พบซากสัตว์ป่าหลายชิ้น เมื่อสื่อหนังสือพิมพ์รายงานข่าวดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่พอใจต่อการกระทำของนายทหารและตำรวจกลุ่มนี้ ขณะที่คณะนายทหารและตำรวจกลุ่มนี้อ้างว่าไปราชการลับที่ทุ่งใหญ่นเรศวร และจอมพลถนอม กิตติขจร รวมทั้งพันเอกณรงค์ กิตติขจร ออกมาแก้ต่างให้ลูกน้องว่า คณะนายทหารและตำรวจกลุ่มนี้ไปราชการลับ ไม่ได้ไปล่าสัตว์ ซากสัตว์ป่าที่พบในซากเฮลิคอปเตอร์อาจมีคนอื่นฝากกลับมาด้วย ส่วนองค์กรนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกมาเคลื่อนไหวประณามพฤติกรรมของนายทหารและตำรวจที่ลักลอบล่าสัตว์ป่า[5]

          กรณี “การล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร” เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และอยู่ในความสนใจของประชาชนอยู่นานนับเดือน ขณะที่ข่าวกำลังจะจางหายไปก็เกิดกระแสต่อต้านที่พลเอกประภาส จารุเสถียร ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลและจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ต่ออายุราชการอีก 1 ปี  ชมรม “คนรุ่นใหม่-รามคำแหง” ได้พิมพ์หนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ” โดยข้อความหนึ่งในหนังสือได้พูดพาดพิงถึงเหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรและพาดพิงไปถึงการที่จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ต่ออายุราชการ ทำให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้นเห็นว่า นักศึกษาหมิ่นประมาทผู้นำประเทศจึงให้ลบชื่อนักศึกษา 9 คนให้พ้นจากสถานภาพนักศึกษา นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาที่ถูกลบชื่อและการเคลื่อนไหวขับอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงออกจากตำแหน่ง โดยมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวนับแสนคน ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชนนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวคัดค้านการเลือกตั้งสกปรกในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อพ.ศ. 2500 [6]

          นอกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์กรณีการล่าสัตว์ที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่ง “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” มีส่วนในการปลุกให้เป็นกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมทั้งโดยตรง (การเคลื่อนไหวเรื่องกรณีล่าสัตว์ที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร) และโดยอ้อม (การเคลื่อนไหวของชมรมคนรุ่นใหม่-รามคำแหง) แล้วตัวนักศึกษาที่ริเริ่มเคลื่อนไหวกรณี “การล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร” ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบโตขึ้นด้วย เนื่องจากผู้นำในการเคลื่อนไหวกรณีนี้เป็นแกนนำของนักศึกษาและคณาจารย์ในการหยิบยกประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่ประชาชนรับได้และเห็นด้วยมาพูดถึงทำให้ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา[7]

 

บรรณานุกรม

คำนูณ สิทธิสมาน. 14 ตุลา ฉบับสามัญชน คือความทรงจำจาก ‘ผู้รู้จริง’. กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2541.

จรัล ดิษฐาอภิชัย. ก่อนจะถึง 14 ตุลา บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษายุคถนอม-ประภาส. กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2546.

ธัญญา ชุนชฎาธาร. บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, 2546.

ศิลา โคมฉาย (เรียบเรียง). เล่าความจริง ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2539

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2551

 

อ้างอิง

[1] จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษายุคถนอม-ประภาส, กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2546, หน้า 144.

[2] คำนูณ สิทธิสมาน, 14 ตุลา ฉบับสามัญชน คือความทรงจำจาก ‘ผู้รู้จริง’, กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2541, หน้า 44.

[3] ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16,  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, 2546, หน้า 120.

[4] เรื่องเดียวกัน; คำนูณ สิทธิสมาน, 14 ตุลา ฉบับสามัญชน คือความทรงจำจาก ‘ผู้รู้จริง’, หน้า 44.

[5] จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษายุคถนอม-ประภาส, หน้า 144-145; ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16,   หน้า 119-120; ศิลา โคมฉาย (เรียบเรียง), เล่าความจริง ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2539, หน้า 37.

[6] เรียบเรียงจาก  ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16,   หน้า 120-121; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2551, หน้า  123-124.

[7] จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษายุคถนอม-ประภาส, หน้า 145-146.