รัฐบาลพลเรือน
เรียบเรียงโดย : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
รัฐบาลพลเรือน
รัฐบาลพลเรือนมีความหมายอย่างกว้างว่าเป็นรัฐบาลที่คณะบุคคลภายในรัฐบาลได้มาซึ่งอำนาจการบริหารประเทศด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ และไม่ได้มาซึ่งอำนาจการบริหารประเทศโดยใช้กำลังของกองทัพ อย่างไรก็ดีรัฐบาลพลเรือนไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นประชาธิปไตยเสมอไป
รัฐบาลพลเรือนเป็นหน่วยการปกครองแบบสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นในช่วงยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ในยุโรป โดยเป็นผลพวงจากแนวคิดการปฏิรูปศาสนาในยุโรปและการพัฒนาทางการเมืองในรัฐยุโรปจากรัฐศักดินาจารีต รัฐศาสนา มาสู่รัฐสมัยใหม่ที่รวบอำนาจที่กระจัดกระจายอยู่ในมือขุนนาง บาทหลวง ในท้องที่ต่าง ๆ มารวมไว้อยู่ที่มีกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว และสถาปนาอำนาจอันล้นพ้นนั้นไว้ในมือ ก่อนที่รัฐสมัยใหม่ในยุโรปจะพัฒนารูปแบบรัฐบาลของตนเองให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นทั้งรัฐบาลกษัตริย์ รัฐบาลทหาร และรัฐบาลพลเรือน
กำเนิดรัฐสมัยใหม่
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปหลังยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) รัฐต่าง ๆ ในยุโรป และภายหลังสงครามศาสนาในยุโรป[1] รัฐในยุโรปได้มีรูปแบบการปกครองที่อำนาจการปกครองของรัฐถูกรวบอยู่ภายใต้กลุ่มผู้ปกครองกลุ่มเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครองรัฐ รัฐสมัยใหม่จึงเป็นรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จดูแลจัดการกิจการทั้งหมดภายในรัฐตั้งแต่เรื่องเกิด แก่ เจ็บ และตายของประชาชนในรัฐ โดยไม่ยินยอมให้มีอำนาจหรือองค์กรการเมืองรูปแบบคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นมาท้าทายอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ
ในอังกฤษสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ได้มีการรวบอำนาจของคริสตจักรในอังกฤษให้มาอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของรัฐ และตัดขาดความสัมพันธ์กับคริสตจักรที่โรมที่มีอำนาจศาสนาเหนือรัฐต่าง ๆ ในยุโรป[2] การปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่ไม่ยอมให้มีระบอบการเมืองอื่น ๆ ดำรงอยู่เพื่อท้าทายอำนาจรวมศูนย์ของรัฐสมัยใหม่ หรือในฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้มีการรวบอำนาจจากบรรดาขุนนางท้องถิ่นทั้งหลายให้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว โดยที่กษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครอง[3]
การกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ได้ทำให้รัฐพัฒนาตัวเองขึ้นมีอำนาจเป็นเอกเทศ และทำให้รัฐหรือองค์กรทางการเมืองรูปแบบอื่น ๆ จะสถาปนาตัวเองขึ้นเหนือกว่ารัฐสมัยใหม่มีได้ พัฒนาการของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงได้สร้างความเป็นเนื้อเดียวกันของรัฐทั้งรัฐ[4] และรัฐได้มีอำนาจผูกขาดในการดูแลการจัดการชีวิตประจำวันของผู้คนภายในรัฐอย่างชัดเจน รัฐและประชาชนจึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแนบแน่นขึ้น
ในระยะแรกที่รัฐสมัยใหม่เพิ่งถือกำเนิด รูปแบบของรัฐบาลยังคงมีแค่รูปแบบของรัฐบาลกษัตริย์ ที่กษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสืบทอดอำนาจผ่านทางสายเลือดเท่านั้น แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้กำเนิดรัฐบาลพลเรือนขึ้นนั้นมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจการปกครองที่กดขี่ของกษัตริย์ ซึ่งสืบทอดอำนาจภายในกลุ่มคนกลุ่มเดียว
กำเนิดรัฐบาลพลเรือน
ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชาวยุโรปที่ดำรงอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจ ได้เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐที่มีอำนาจบริหาร ออกกฎหมาย และตัดสินคดีความ ว่าได้มีความยุติธรรมเที่ยงแท้ต่อประชาชนภายในรัฐหรือไม่ กระแสความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่เด่นชัดที่สุดได้เกิดขึ้นในฝรั่งเศสที่เป็นรัฐสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจได้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จมากที่สุด ไล่ลงมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 , 15 และ 16 รัฐสมัยใหม่ภายใต้รัฐบาลกษัตริย์ซึ่งสืบทอดอำนาจผ่านทางสายเลือดหรือภายในคนกลุ่มเดียวได้ถูกตั้งคำถามจากนักคิดอย่าง มงเตสกิเยอ ไว้ว่า
“ฉันเฝ้าค้นหาอยู่บ่อย ๆ ว่ารัฐบาลแบบไหนที่สอดคล้องกับเหตุผลมากที่สุด ฉันรู้สึกว่ารัฐบาลที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือรัฐบาลที่บริหารงานบรรลุเป้าหมายโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ผลก็คือรัฐบาลที่นำประชาชนด้วยวิธีการที่สอดคล้องที่สุดกับความต้องการและลักษณ์นิสัยของเขาเหล่านั้นคือรัฐบาลที่สมบูรณ์แบบที่สุด”[5]
กล่าวคือประชาชนไม่พอใจกับระบอบการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจและจำกัดอำนาจการเมืองอยู่ภายในคนกลุ่มเดียว ประชาชนต้องการระบอบการเมืองที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นรัฐบาลที่พลเรือนเป็นคนเลือก และไม่สืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่องโดยใช้ความชอบธรรมทางศาสนาหรือทางสายตระกูล
ชาวอาณานิคมอังกฤษในอเมริกาในศตวรรษที่ 18 ได้ทำสงครามปฏิวัติสำเร็จและได้สถาปนารัฐขึ้นใหม่ที่ปฏิเสธอำนาจของกษัตริย์ และสร้างระบอบการเมืองที่เป็นของประชาชน โดยได้รับอิทธิพลความคิดทางการเมืองจากนักคิดฝรั่งเศสอย่างมงเตสกิเยอ ทั้งนี้ภายใต้ระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาได้สร้างรูปแบบรัฐบาลของตนเองขึ้นมา คือรัฐบาลพลเรือนซึ่งคือตัวแทนอำนาจของรัฐที่มาจากการเลือกของประชาชน และตัวแทนเหล่านี้มาจากสามัญชนคนธรรมดา โดยรูปแบบรัฐบาลพลเรือนที่สร้างขึ้นนี้ไม่มีกลไกการสืบทอดอำนาจผ่านความชอบธรรมทางศาสนาหรือผ่านทางสายตระกูล
ชัยชนะของสงครามปฏิวัติในอเมริกาได้ส่งผลสะเทือนถึงฝรั่งเศสที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกษัตริย์ที่สืบทอดอำนาจผ่านทางสายเลือด ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสขึ้นเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสาธารณรัฐที่รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยตัวแทนอำนาจมาจากสามัญชน
รัฐบาลพลเรือนจึงเป็นองค์กรทางการเมืองที่ไปด้วยกันได้กับระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลพลเรือนไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเป็นประชาธิปไตย เสมอไปทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่ารัฐบางรัฐที่มีรัฐบาลพลเรือนในบางครั้งก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งหรือการทำหน้าที่เฉพาะกาล อย่างเช่นรัฐบาลเวียดนามใต้ที่เป็นหุ่นเชิดให้กับสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น หรือในรัฐไทยบ่อยครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองรัฐบาลพลเรือนก็มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์
บรรณานุกรม
สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). กำเนิดรัฐสมัยใหม่. ใน สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. 34(1): 161-174.
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492 – 1815. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.
อัลเฟรด บอนแนงก์. (2525). ฝรั่งเศส วิวัฒนการของความคิดในสิบศตวรรษจากยุคแรกเริ่มถึง ค.ศ.1800. แปลโดย สุดา ภักษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
Cheyney, Edward P. (1945). A Short History of England. 7th ed. Boston: Ginn and Company.
[1] สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). กำเนิดรัฐสมัยใหม่. ใน สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. 34(1): 161 -174.
[2] Edward P. Cheyney. (1945). A Short History of England. p. 298 - 299
[3] อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492 – 1815. หน้า 162 – 165.
[4] สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). กำเนิดรัฐสมัยใหม่. ใน สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. 34(1): 162.
[5] อัลเฟรด บอนแนงก์. (2525). ฝรั่งเศส วิวัฒนการของความคิดในสิบศตวรรษจากยุคแรกเริ่มถึง ค.ศ.1800. แปลโดย สุดา ภักษา. หน้า 98.