ฝ่ายสัมพันธมิตร
เรียบเรียงโดย : ดร.คัททิยากร ศศิธรามาศ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ฝ่ายสัมพันธมิตร
ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Powers) คือการรวมกลุ่มของประเทศที่ทำการรบต่อต้านกลุ่มมหาอำนาจกลาง (Central Powers) ในสงครามโลกครั้งที่_1 และประเทศที่รวมกลุ่มกันต่อต้านกลุ่มอักษะ (Axis Powers) ในสงครามโลกครั้งที่_2
พัฒนาการของฝ่ายสัมพันธมิตร
ฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมาชิกหลักของกลุ่มสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบด้วย อังกฤษ[1] ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอิตาลี นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเบลเยียม กรีซ โปแลนด์ โรมาเนีย มอนเตรเนโกร โปรตุเกส เชโกสโลวะเกีย สยาม บราซิล และอาร์เมเนีย กลุ่มสัมพันธมิตรถือกำเนิดมาจากกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente) อันประกอบด้วยฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษ ที่ได้รับการลงนามใน พ.ศ. 2450 เพื่อเข้ามาคานอำนาจกับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance) ของเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 การที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปต่างรวมตัวกันเป็นกลุ่มและพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือพันธมิตรของตนเมื่อถูกโจมตี ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 [2]บานปลายยิ่งขึ้นและถึงจุดแตกหักเมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซ์ เฟอร์ดินานต์ (Archduke Franz Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและพระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2457 ขณะเสด็จประพาสซาราเยโว นครหลวงของบอสเนีย
เหตุการณ์ในครั้งนี้ยิ่งกระตุ้นความประสงค์ของออสเตรีย-ฮังการีในการปราบการเคลื่อนไหวของชาวสลาฟภายใต้การนำของเซอร์เบีย ที่ต้องการรวมกลุ่มชนชาติสลาฟ (Pan Slavism) เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อออสเตรีย-ฮังการีเชื่อว่าเซอร์เบียมีส่วนในการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้[3] ไม่นานหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ 23 กรกฎาคม รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีจึงสั่งให้บารอน กีซ ฟอน กีซลิงเงน (Baron Giesl von Gieslingen) ทูตประจำกรุงเบลเกรดมอบสารยื่นคำขาดให้รัฐบาลเซอร์เบียหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษรวมทั้งให้รัฐบาลเซอร์เบียยินยอมให้ออสเตรีย-ฮังการีเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีด้วย[4] เมื่อเซอร์เบียปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าหากยอมให้ออสเตรีย-ฮังการีเข้ามามีส่วนในการตัดสินคดีด้วย ย่อมเปรียบเสมือนการสูญเสียเอกราช ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
ในขณะที่เซอร์เบียเริ่มระดมพล เซอร์เบียได้ขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในฐานะผู้พิทักษ์ชนเผ่าสลาฟ ส่งผลให้รัสเซียเริ่มระดมพลโดยได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส พันธมิตรของตน ในขณะเดียวกัน เยอรมนีได้ประกาศให้การสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีและได้ประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันที่ 1 สิงหาคม และต่อฝรั่งเศสในอีก 2 วันถัดมา ส่งผลให้สงครามขยายวงกว้างขึ้น หลังประกาศสงคราม เยอรมนีบุกฝรั่งเศสโดยเคลื่อนทัพผ่านเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก ซึ่งวางตนเป็นกลาง อังกฤษจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2457 ในขณะที่เบลเยียมพยายามต่อต้านกองทัพเยอรมันโดยร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ลักเซมเบิร์กกลับยินยอมให้กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองประเทศโดยไม่ต่อต้าน จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรมองว่าให้ความร่วมมือกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง สงครามขยายวงกว้างขึ้น เมื่อญี่ปุ่น ซึ่งอ้างว่าต้องการรักษาสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เรียกร้องให้เยอรมนีถอนกองทัพและเรือรบทุกประเภทออกจากน่านน้ำของจีน และให้ยกชิงเต่า ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 ให้กับตนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2457[5] แต่เยอรมนีปฏิเสธ ญี่ปุ่นจึงเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมและกับออสเตรีย-ฮังการีอีก 2 วันต่อมา
ในปีถัดมาฝ่ายสัมพันธมิตรขยายวงกว้างขึ้นเมื่ออิตาลี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ที่กลับประกาศนโยบายความเป็นกลางของตนเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน ตัดสินใจประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรให้สัญญาว่าจะยกพื้นที่บางส่วนของออสเตรีย-ฮังการีให้ หากอิตาลีเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายตน[6] ใน พ.ศ. 2459 สมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเยอรมนีประกาศสงครามกับโปรตุเกสเมื่อวันที่ 9 มีนาคม หลังจากที่โปรตุเกสช่วยอังกฤษทำลายเรือสัญชาติเยอรมันในน่านน้ำของตน ส่วนโรมาเนียต้องการครอบครองทรานซิลวาเนีย จึงประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ 27 สิงหาคม ส่งผลให้เยอรมนีประกาศสงครามกับโรมาเนียในวันถัดมา
ใน พ.ศ. 2460 สงครามโลกครั้งที่ 1 ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเยอรมนีตัดสินใจใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปอังกฤษ[7] ทำให้สหรัฐอเมริกาเกรงว่าเรือโดยสารและเรือสินค้าของตนจะได้รับอันตรายดังเช่นกรณีเรือลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) ที่ถูกเรือดำน้ำเยอรมันยิงอับปางในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังล่วงรู้ถึงข้อเสนอของเยอรมนีที่เสนอจะช่วยเม็กซิโกยึดมลรัฐเท็กซัสคืนมาหากเม็กซิโกยอมเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง[8] สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 6 เมษายน ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบขึ้นมากในการสงคราม ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม สยาม ที่ประกาศความเป็นกลางหลังสงครามเริ่มต้นขึ้น กลับประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี[9] โดยให้เหตุผลว่าการทำสงครามโดยใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าและเรือโดยสารของประเทศที่เป็นกลางของเยอรมนีทำให้สยามวิตก จึงจำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและประกาศสงคราม[10] หลังประกาศสงคราม ชายชาวเยอรมันและออสเตรียทั้งหมดราว 190 คนที่อาศัยอยู่ในสยามในขณะนั้นถูกควบคุมตัว ร้านค้าของชาวเยอรมันและออสเตรียทั้งหมดถูกสั่งปิด ส่วนเรือสินค้าสัญชาติเยอรมันจำนวน 9 ลำถูกสั่งยึด เช่นเดียวกับบัญชีธนาคารของชาวเยอรมันและออสเตรียก็ถูกสั่งอายัด[11] ในขณะที่ชาวเยอรมันและออสเตรียที่อาศัยอยู่ในสยามถูกควบคุมตัว นักเรียนและนักศึกษาสยามจำนวน 9 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในเยอรมนีก็ถูกควบคุมตัวเช่นกัน โดยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ปราสาทเซลเลอ (Celle) พวกนักศึกษามีความเป็นอยู่ที่ไม่ลำบาก ได้รับอนุญาตให้เขียนจดหมายติดต่อกับครอบครัวในสยาม และทำกิจกรรมสันทนาการได้ตามสมควรด้วย[12] อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายดังกล่าวคงเป็นของนักเรียนและนักศึกษาไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 เชลยศึกฝ่ายมหาอำนาจกลางในสยามกลับถูกอังกฤษส่งตัวต่อไปยังค่ายควบคุมเชลยในอินเดีย[13] และต้องอยู่ที่นั่นจนกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 จะสิ้นสุดลงจึงได้เดินทางกลับเมืองเกิด
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2460 สยามเริ่มรับสมัครอาสาสมัครเพื่อเดินทางไปรบในยุโรป ต่อมาในช่วงต้นปีถัดไป การรับสมัครได้สิ้นสุดลง และสยามได้ส่งทหารทั้งสิ้นราว 1,200 คน ประกอบด้วยทหารขนส่ง หน่วยแพทย์และหน่วยการบินไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ฝรั่งเศส[14] ในขณะที่หน่วยการบินยังไม่ได้เข้าทำการรบเมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม หน่วยทหารขนส่งและหน่วยแพทย์ได้ร่วมทำการรบกับทหารสัมพันธมิตรชาติอื่นในการรบที่ป่าอาร์กอน (Battle of the Argonne Forest)[15] ระหว่างวันที่ 26 กันยายน- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 และยังได้ร่วมเข้ายึดเมืองนอยชตั้ดท์ อัน แดร์ ฮาร์ด (Neustadt an der Haardt) ในเขตไรน์แลนด์ของเยอรมนี[16] ทำให้หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร สยามจึงมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมสันติภาพในกรุงปารีส ที่ดำเนินไปตลอด พ.ศ. 2462 และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของสันนิบาตชาติ (League of Nations) อีกด้วย
ฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (The National Socialist German Worker’s Party) ขึ้นสู่อำนาจและมีนโยบายขยายพื้นที่ของประเทศไปยังยุโรปตะวันออก (Lebensraum im Osten) บุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรองจะช่วยเหลือโปแลนด์ หากโปแลนด์ถูกรุกราน[17]ได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อต่อต้านฝ่ายอักษะและประกาศสงครามโลก กับเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งทำให้ประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และแอฟริกาใต้ต่างพากันประกาศสงครามกับเยอรมนีในช่วงเดือนกันยายนนั้น หลังเยอรมนีเข้ารุกรานโปแลนด์แล้ว สหภาพโซเวียตได้เข้ารุกรานโปแลนด์ทางด้านตะวันออก ทำให้โปแลนด์จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่กรุงลอนดอนและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมา ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2483 เยอรมนีใช้แผนปฏิบัติการเวเซอร์อือบุง (Operation Weseruebung) บุกเดนมาร์กและนอร์เวย์สำเร็จภายในเวลา 1 เดือน ส่งผลให้รัฐบาลนอร์เวย์จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่กรุงลอนดอนและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร ในขณะที่พระเจ้าคริสเตียนที่ 10 แห่งเดนมาร์ก (Christian X) ยังคงประทับที่เดนมาร์ก หลังบุกเดนมาร์กและนอร์เวย์สำเร็จ เยอรมนีรุกเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสต่อทันทีในวันที่ 10 พฤษภาคม การรุกในครั้งนี้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เนเธอร์แลนด์ เบลเยียมและฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่กรุงลอนดอน ในขณะที่ลักเซมเบิร์กถูกผนวกเข้ากับเยอรมนีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2485[18]
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 เยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตถึงแม้ว่าเยอรมนีจะได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างกัน (Non-Aggressive Pact) กับสหภาพโซเวียตในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ก็ตามทำให้สหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตร ในซีกเอเชีย ญี่ปุ่น หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มอักษะที่ต้องการขยายอำนาจของตนเข้าครอบครองทวีปเอเซีย เข้ารุกรานจีนอย่างเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2480 จนเกิดเป็นเหตุการณ์ยุทธการรบที่เซี่ยงไฮ้ (Battle of Shanghai) ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนและเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองนานกิง (Nanking Massacre) ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480-เดือนมกราคม พ.ศ. 2481ต่อมา ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นบุกฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาในอ่าวเพิร์ล ส่งผลให้สหรัฐอเมริกา ที่ประกาศนโยบายรักษาความเป็นกลางตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น[19] เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 8 ธันวาคม และอีก 3 วันถัดมา สหรัฐอเมริกาก็ประกาศสงครามกับเยอรมนี ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีสมาชิกสำคัญเพิ่มมากขึ้น
จากการรุกรานของฝ่ายอักษะและการตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 เมื่อสมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกันลงนามในคำแถลงการณ์ของสหประชาชาติ (United Nations) สมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตรมีทั้งหมด 26 ประเทศ ได้แก่อังกฤษ สหภาพโซเวียต จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา คอสตาริก้า คิวบา เชโกสโลวะเกีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอล ซัลวาดอร์ กรีซ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส อินเดีย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นิคารากัว นอร์เวย์ ปานามา โปแลนด์ แอฟริกาใต้และยูโกสลาเวีย
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 ส่งผลให้เยอรมนีประกาศยอมแพ้ในวันที่ 7 พฤษภาคม ส่วนในด้านเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังสหรัฐอเมริกาตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagazaki) ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมตามลำดับ
บรรณานุกรม
สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
Hart, Keith, A Note on the Military Participation of Siam in the First World War, Siamese-Heritage, (1982), retrieved from file:///C:/Users/USER/Downloads/Documents/JSS_070_0n_Hart_MilitaryParticipationOfSiamInWW1.pdf on 2 September 2016.
Primary Documents, Austrian Ultimatum to Serbia, 23 July 1914, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/austrianultimatum.htm on 1 September 2016.
Primary Documents, Count Okuma on the Japanese Capture of Tsingtao, 15 August 1914, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/tsingtau_okuma.htm on 1 September 2016.
Primary Documents, Treaty of London, 26 April 1915, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/london1915.htm on 1 September 2016.
Steffen, Dirk, Notes on the memorandum by Admiral von Holtzendorff of 22 December 1916 regarding unrestricted U-boat warfare, WWI Decuments Archive, (2003), retrieved from http://www.gwpda.org/naval/holtzendorffmemo.htm on 2 September 2016.
Stoffer, Andreas. (1995). Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehung zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962. Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e. V.
[1] หมายรวมถึงประเทศอาณานิคมต่างๆ ของอังกฤษทั่วโลกด้วย
[2] ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีมากมาย เช่น วิกฤติการณ์โมรอคโค (Moroccan Crisis) ใน พ.ศ. 2448 และ พ.ศ. 2454 วิกฤติการณ์บอสเนีย (Bosnia Crisis) ใน พ.ศ. 2451 หรือวิกฤติการณ์บอลข่าน (Balkan Crisis) ใน พ.ศ. 2455 และ 2456
[3] สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19, (พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการ พิมพ์, 2554) , หน้า 324.
[4]Primary Documents, Austrian Ultimatum to Serbia, 23 July 1914, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/austrianultimatum.htm on 1 September 2016.
[5] Primary Documents, Count Okuma on the Japanese Capture of Tsingtao, 15 August 1914, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/tsingtau_okuma.htm on 1 September 2016.
[6] Primary Documents, Treaty of London, 26 April 1915, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/london1915.htm on 1 September 2016.
[7] Dirk Steffen, Notes on the memorandum by Admiral von Holtzendorff of 22 December 1916 regarding unrestricted U-boat warfare, WWI Decuments Archive, (2003), retrieved from http://www.gwpda.org/naval/holtzendorffmemo.htm on 2 September 2016.
[8] ข้อเสนอนี้เป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ Zimmermann Telegram ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Primary Documents, Zimmermann Telegram, 19 January 1917, Primary Documents, (2009), retrieved from http://www.firstworldwar.com/source/zimmermann.htm on 2 September 2016.
[9] Andreas Stoffers นักวิชาการชาวเยอรมันเสนอไว้ในหนังสือ Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehung zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962. (ในดินแดนแห่งช้างเผือก ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและไทยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง ค.ศ. 1962) ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่ความสัมพันธ์ความนิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่ออังกฤษ รวมถึงเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมของพระองค์อย่างชัดเจน ได้แก่ การย้ายนักเรียนทุนทหารไทย ที่ศึกษาอยู่ในประเทศมหาอำนาจกลาง มาเรียนในประเทศสัมพันธมิตรในช่วง พ.ศ.2457 นอกจากนั้น ในปีถัดมา พระองค์ยังทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นนายพลพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษอีกด้วย
[10] Andreas Stoffers, Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehung zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962. (Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e. V., 1995), p. 157.
[11] Ibid. p. 157.
[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร. 6ต/24, รายงานของพระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ จากวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2460. ถูกอ้างถึงใน Catthiyakorn Sasitharamas, Die deutsch-thailaendischen Beziehungen in der Zeit der Weimarer Republik bis zum Ende des Zweiten Weltkriegs. (Hamburg: Verlag Dr. Kovac, 2012), p. 28-29.
[13] Andreas Stoffers, Im Lande des weissen Elefanten. Die Beziehung zwischen Deutschland und Thailand von den Anfaengen bis 1962. (Bonn: Deutsch-Thailaendische Gesellschaft e. V., 1995), p. 158.
[14] Keith Hart, A Note on the Military Participation of Siam in the First World War, Siamese-Heritage, (1982), retrieved from [file:///C:\Users\USER\Downloads\Documents\JSS_070_0n_Hart_MilitaryParticipationOfSiamInWW1.pdf file:///C:/Users/USER/Downloads/Documents/JSS_070_0n_Hart_MilitaryParticipationOfSiamInWW1.pdf] on 2 September 2016.
[15] Ibid.
[16] Ibid.
[17] อังกฤษกับโปแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหาร (Anglo-Polish Military Alliance) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2482 ในสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษ ซึ่งลงนามในนามของฝรั่งเศสด้วย ได้รับปากกับโปแลนด์ว่าจะช่วยเหลือหากโปแลนด์ถูกรุราน อ่านสนธิสัญญาฉบับเต็มได้ที่ http://avalon.law.yale.edu/wwii/blbk17.asp
[18] หลังจากยึดครองลักเซมเบิร์ก เยอรมนีได้ดำเนินนโยบาย “ปรับให้เป็นเยอรมัน” (Germanisation) ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างในหมู่ประชาชนชาวลักเซมเบิร์ก และมีทหารบางส่วนเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย
[19] ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะประกาศนโยบายรักษาความเป็นกลาง แต่กลับสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในหลายโอกาส เช่น การออกรัฐบัญญัติให้ยืมและเช่า (Lend-Lease Act) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยืมและเช่าอาวุธจากสหรัฐอเมริกาได้ ดูรัฐบัญญัติฉบับเต็มได้ที่ https://www.ourdocuments.gov/doc.php?flash=true&doc=71