ผลประโยชน์ทับซ้อน (รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:33, 3 สิงหาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผลประโยชน์ขัดกัน คือ สถานการณ์ที่บุคคล เช่น ทนายความ นักการเมือง หรือผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการของบริษัท มีผลประโยชน์ทางวิชาชีพหรือส่วนตัวแข่งกับตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจ

การมีผลประโยชน์แข่งกันเช่นว่า ทำให้การทำหน้าที่โดยไม่ลำเอียงทำได้ยาก แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานการกระทำที่ไม่เหมาะสม การมีผลประโยชน์ทับซ้อนอาจทำให้เกิดภาพของความไม่เหมาะสมที่อาจบ่อนทำลายความไว้วางใจในความสามารถของบุคคลที่จะกระทำอย่างเหมาะสม

ในวิชาชีพกฎหมาย ความซื่อสัตย์ต่อลูกความ ทนายหรือสำนักกฎหมายที่มีผลประโยชน์ได้เสียอยู่กับลูกความจะถูกกันไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกความ เช่น สำนักกฎหมายเดียวกันจะต้องไม่ทำหน้าที่ว่าความในคดีหย่า ให้กับทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

ยิ่งกว่านี้ ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจหมายถึง สถานการณ์ที่ปัจเจกบุคคลหรือบริษัทอยู่ในฐานะที่จะแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งวิชาชีพ หรือตำแหน่งราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบริษัท

กรณีผลประโยชน์ขัดกัน โดยสภาพไม่ได้หมายความมีการกระทำผิดเกิดขึ้น แต่ในทางวิชาชีพหลายแขนงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดกรณีการขัดกันทางผลประโยชน์เป็นครั้งเป็นคราว สภาพการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอาจเป็นปัญหาทางกฎหมาย ถ้าบุคคลพยายามที่จะใช้อิทธิพลโน้มน้าวการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนเช่น เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในกรณีที่ตัวเองมีผลประโยชน์ได้เสียอยู่กับเรื่องดังกล่าว การทำงานภายนอกโดยงานนั้นมีผลประโยชน์ขัดกับงานปกติที่ทำอยู่ หรือการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทที่เป็นญาติโยมหรือตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ