ตั้ว ลพานุกรม
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
“ประชาชาติทั้งหลายที่จะมีอิทธิพลเป็นที่เกรงขาม แก่ประชาชาติอื่น
ต้องเป็นประชาชาติที่เจริญในทางวิทยาศาสตร์
ในเวลาปกติ เรามักจะไม่ทราบว่าวิทยาศาสตร์สำคัญเพียงใด
และก้าวหน้าไปเพียงใด
เพราะนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันหลบหน้าอยู่ตามห้องทดลองของตน”
ดร.ตั้ว ลพานุกรม[1]
“นักวิทยาศาสตร์” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการเมืองไทย ในอดีตที่ผ่านมานั้น นับว่ามีอยู่น้อยมาก กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใด ที่มีภาพของความเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองควบคู่กันไปในเวลาเดียวกัน แต่กระนั้นชื่อของ “ดร.ตั้ว ลพานุกรม” นับว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นทั้ง “นักวิทยาศาสตร์” และ “นักการเมือง” ควบคู่กันไป โดย ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” และเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎรเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ทำงานทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านการเมืองควบคู่กันไป โดยเป็นผู้เสนอแนวคิด “วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และบุกเบิกงานด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ยังได้ดำรงตำแหน่งในราชบัณฑิตยสถาน สำนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย นอกจากนี้ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกงานด้าน “เภสัชกรรม” ในประเทศไทยด้วย ทำให้วงการเภสัชกรรมมีความเป็นสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น สำหรับงานด้านการเมืองนั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีในหลายสมัยด้วยกัน จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2484
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
ดร.ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ที่บ้านตำบลถนนอนุวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนบุตร – ธิดา 5 คน ของนายเจริญ ลพานุกรม กับนางเนียร ลพานุกรม[2]
ดร.ตั้ว ลพานุกรม เริ่มเข้ารับการศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ในปี พ.ศ. 2449 แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2450 ก็ได้ลาออก และเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนราชวิทยาลัย จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2453 ได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ไปยุโรปเพื่อศึกษาวิชาการด้วยทุนของพระองค์ โดยระหว่าง พ.ศ. 2453 – 2460 ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ศึกษาวิชาสามัญในโรงเรียนที่เมืองฟัลเก็นแบร์ก ประเทศเยอรมนี ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ถูกจับเป็นเชลย และถูกส่งตัวไปยังกรุงเบอร์ลิน ก่อนจะถูกส่งไปคุมขังไว้ที่เมือง Celle ระหว่างที่ถูกคุมขังเป็นเชลยอยู่นั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมไปด้วย โดยจ้างครูพิเศษมาสอนในที่คุมขัง โดยได้ศึกษาวิชาภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ วิชาคำนวณ และวิชาฟิสิคส์ ระหว่างนั้นก็ได้ฝึกเป่าขลุ่ยผรั่งไปด้วยในเวลาเดียวกัน[3]
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงได้เข้าศึกษาวิชาเคมีในมหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ. 2465 และได้ย้ายไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา ใน พ.ศ. 2466 ต่อมาใน พ.ศ. 2467 ได้ย้ายกลับไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์นเช่นเดิม และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม (Magna cum laude) ในวิชาเคมี (Dr. Phil. Chem.) ในปี พ.ศ. 2470 หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2471 ได้ศึกษาวิชาเภสัชกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนี และใน พ.ศ. 2472 – 2473 ได้ไปศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงปารีส หลังจากนั้นจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยได้แวะดูงานเกี่ยวกับองค์การทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเดินทางกลับถึงไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473[4]
ดร.ตั้ว ลพานุกรม ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 เวลา 23.00 น. สิริรวมอายุ 43 ปี[5]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
ดร.ตั้ว ลพานุกรม เริ่มรับราชการครั้งแรกใน พ.ศ. 2473 ในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาใน พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ใน พ.ศ. 2475 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแยกธาตุชั้นหนึ่ง ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในปี พ.ศ. 2477 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนักเคมี กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์” ต่อมาใน พ.ศ. 2478 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกรมวิทยาศาสตร์บริการ)[6] กล่าวได้ว่า ดร.ตั้ว ลพานุกรม ถือเป็นผู้บุกเบิกและเป็นอธิบกรมวิทยาศาสตร์คนแรกของประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2482 ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกตำแหน่งหนึ่ง[7]
ในส่วนของงานด้านการเมืองนั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ใน พ.ศ. 2475[8] และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการราษฎร โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดย ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอย ต่อมาใน พ.ศ. 2481 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐการในลำดับต่อมา และใน พ.ศ. 2484 เมื่อกระทรวงเศรษฐการเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการเศรษฐกิจ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการเศรษฐกิจต่อไป[9]
นอกจากนี้ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ยังดำรงตำแหน่งพิเศษอื่น ๆ ซึ่งมักจะเป็นภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ได้แก่ เป็นภาคีสมาชิกในสำนักวิทยาศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน เป็นที่ปรึกษากรมที่ดินและโลหกิจฝ่ายวิชาการ เป็นประธานกรรมการพิจารณางานอุตสาหกรรมของรัฐบาล เป็นประธานกรรมการอำนวยการงานโรงงานเภสัชกรรม เป็นกรรมการสำรวจแร่ เป็นกรรมการสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาเคมีบำบัด เป็นต้น[10]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
ดร.ตั้ว ลพานุกรม มีผลงานที่ประจักษ์ชัดถึงความสำคัญต่อการเมืองไทย ตั้งแต่สมัยที่ศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินไปจนกระทั่งยุติลง ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ดร.ตั้ว ลพานุกรม ก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยได้เดินทางออกจากประเทศเยอรมนีไปยังประเทศฝรั่งเศส และได้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันเพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้รับยศเป็นจ่านายสิบในกองรถยนต์ไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส[11]
ดร.ตั้ว ลพานุกรม ยังมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเป็นผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ กรุงปารีส[12] และเป็นผู้ก่อการคนสำคัญในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยเป็นบุคคลสำคัญของคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน ที่สามารถชักนำกลุ่มของบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมให้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น นายประจวบ บุนนาค หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ เป็นต้น[13] นอกจากนี้ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ยังเป็นบุคคลที่อยู่ในฝ่ายวางแผนเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 ร่วมกับแกนนำคณะราษฎรคนอื่น ๆ อีกด้วย[14]
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วนั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ร่วมในคณะกรรมการราษฎร และมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงองค์การวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมืองที่มีสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชกรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยผลักดันให้มีการจัดสร้างอาคารสถานปฏิบัติงานมาเป็นกรมวิทยาศาสตร์ที่ ตำบลทุ่งพญาไท (เขตราชเทวีในปัจจุบันนี้) และก่อตั้งกองอุตสาหกรรมเคมี (มีแผนกฟิสิกส์ แผนกเครื่องปั้นดินเผา แผนกเส้นใย แผนกอาหาร แผนกสุราเมรัย แผนกแร่และหิน) ก่อตั้งกองเกษตรศาสตร์ กองเภสัชกรรม และสำนักงานเลขานุการกรม[15]
ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ก่อตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ เพื่อผลิตบุคลากรผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์ทดสอบทางเคมีในระดับประกาศนียบัตรและอนุปริญญาบัติ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 และก่อตั้งหอสมุดวิทยาศาสตร์ (สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน) โดยมีความประสงค์ขยายเป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และมีการออกหนังสือพิมพ์ Thai Science Bulletin เพื่อพิมพ์ผลการสืบสวนค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ออกเป็นประจำราย 3 เดือน เผยแพร่ไปทั่วโลก และยังออกหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ภาษาไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และกิจการของกรมวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป โดยดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการด้วยตนเอง 2 ปีต่อเนื่องกัน[16]
นอกจากนี้ ดร.ตั้ว ลพานุกรมยังได้ก่อตั้งกองเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรม (องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ในปัจจุบัน) และยังได้ริเริ่มให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรม เพื่อผลิตยาใช้ภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันคือองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย[17] ด้วยเหตุดังกล่าว ส่งผลให้ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าเป็น “รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย” และ “เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่”[18]
บรรณานุกรม
บุคคลสำคัญ, ตั้ว ลพานุกรม “เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย”, ในวารสารเภสัชกรไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 2, กรกฎาคม-ธันวาคม 2554).
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).
หนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, (กรุงเทพฯ : บริษัท การพิมพ์ไทย จำกัด, 2484).
เว็บไซต์
กรมวิทยาศาสตร์บริการ,
เข้าถึงจาก <http://www.most.go.th/main/index.php/org/1504-dss.html> เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
ชีวประวัติ ดร. ตั้ว ลพานุกรม, เข้าถึงจาก <http://www.dr-toa.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1198&Itemid=579> เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
[1] ดร.ตั้ว ลพานุกรม, วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479, ที่มา หนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, (กรุงเทพฯ : บริษัทการพิมพ์ไทย จำกัด, 2484), น. 60-61.
[2] หนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, (กรุงเทพฯ : บริษัทการพิมพ์ไทย จำกัด, 2484), น. 1.
[3] เพิ่งอ้าง, น. 2.
[4] เพิ่งอ้าง, น. 3-4.
[5] เพิ่งอ้าง, น. 20.
[6] กรมวิทยาศาสตร์บริการ, เข้าถึงจาก http://www.most.go.th/main/index.php/org/1504-dss.html เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
[7] ชีวประวัติ ดร. ตั้ว ลพานุกรม, เข้าถึงจาก http://www.dr-toa.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1198&Itemid=579 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
[8] เพิ่งอ้าง.
[9] หนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, น. 6.
[10] เพิ่งอ้าง, น. 7-8.
[11] เพิ่งอ้าง, น. 2-3.
[12] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 23.
[13] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553), น. 298.
[14] เพิ่งอ้าง, น. 302.
[15] ชีวประวัติ ดร. ตั้ว ลพานุกรม, เข้าถึงจาก http://www.dr-toa.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1198&Itemid=579 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559.
[16] เพิ่งอ้าง.
[17] เพิ่งอ้าง.
[18] บุคคลสำคัญ, ตั้ว ลพานุกรม “เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย”, ใน วารสารเภสัชกรไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 2, กรกฎาคม-ธันวาคม 2554), น. 33-34.