ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
ผู้เรียบเรียง : นายชนาทร จิตติเดโช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ในการประชุมสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติ ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ ในการประชุม นับแต่ผู้เข้าร่วมประชุม หัวข้อเรื่องที่ประชุม และการอภิปรายระหว่างสมาชิกที่อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของการประชุมสภาเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการอธิบายเหตุผลในทำนองปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบในญัตติที่มีผู้เสนอ หลังจากนั้นจะหาข้อยุติของการอภิปรายโดยการลงมติในเรื่องที่ประชุมซึ่งเป็นการขอความเห็นชอบจากที่ประชุม เป็นการแสดงออกทางความเห็นชอบผ่านระบบรัฐสภาที่จะต้องลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาดโดยการออกเสียงลงคะแนน
ออกเสียงลงคะแนน จึงหมายถึง วิธีการลงมติของสมาชิกในที่ประชุม หลังจากที่ประธานถามมติต่อที่ประชุม โดยการออกเสียงลงคะแนนจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ การออกเสียงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ โดยปกติแล้ว การออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย แต่ถ้าหากจำเป็นจริงๆ จะขอให้ลงคะแนนลับก็ได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของสภา[1]
การออกเสียงลงคะแนนลับในอดีต
ในการประชุมสภาแต่ละครั้ง เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาใดยุติลงโดยไม่มีผู้อภิปรายก็ดี ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปรายก็ดี ถ้าเป็นกรณีที่จะต้องมีมติ ประธานจะขอให้ที่ประชุมชี้ขาดปัญหานั้นโดยการออกเสียงลงมติ การออกเสียงลงมติมี 2 วิธี คือ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ โดยปกติการออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกร้องขอให้ลงคะแนนลับ[2] จึงให้ลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับการประชุมที่ได้บัญญัติไว้คล้ายๆกันทุกฉบับ จะมีข้อแตกต่างกันเฉพาะจำนวนสมาชิกที่ร้องขอให้ลงคะแนนลับ เช่น ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรับรองสี่คนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2495 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2504 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทน พ.ศ. 2513 และข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสามสิบสามคนร้องขอ และข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2528 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติไม่น้อยกว่ายี่สิบคนร้องขอ เป็นต้น
วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จนถึงข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ. 2539 มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(2) ลงเบี้ยในตู้ทึบ โดยผู้เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้ลงเบี้ยสีขาว
(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การที่จะให้ออกเสียงลงคะแนนตามข้อ (1) หรือ (2) และวิธีการให้เป็นไปตามอำนาจของประธานที่จะพิจารณากำหนดตามเห็นสมควร
การออกเสียงลงคะแนนลับในปัจจุบัน
ในปัจจุบันการออกเสียงลงคะแนนโดยลับจะมีกำหนดไว้ในข้อคับการประชุมสภาของทุกสภาซึ่งสาระสำคัญมีความคล้ายคลึงกันแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยดังต่อไปดังนี้
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติถึงการออกเสียงลงคะแนนลับว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกในที่ประชุมให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย[3] และกรณีการออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามมาตรา 126 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ[4] ให้กระทำเป็นการลับ[5]
วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้[6]
(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(2) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
สมาชิกที่เข้ามาในที่ประชุมระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน[7]
เมื่อได้นับคะแนนเสียงแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่[8]
ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับกำหนดให้ที่ประชุมวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [9]
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย[10]
การประชุมวุฒิสภา
ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติถึงการออกเสียงลงคะแนนลับว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองมากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมวุฒิสภาก็ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย[11]
วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมวุฒิสภามีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้[12]
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด
(2) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การออกเสียงลงคะแนนลับตาม (1) ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานของที่ประชุมจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน
เมื่อจะมีการออกเสียงลงคะแนนลับตาม (2) ให้สมาชิกนั่งลงในที่ที่จัดไว้ และให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่แจกกระดาษและซองให้แก่สมาชิกทุกคน และเมื่อสมาชิกเขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับมา เพื่อส่งให้แก่กรรมการตรวจนับคะแนนดำเนินการต่อไป และในการตรวจนับคะแนนให้ประธานของที่ประชุมเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นกรรมการตรวจนับคะแนน
ก่อนออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ประธานของที่ประชุมให้สัญญาณแจ้งสมาชิกทราบเพื่อพร้อมที่จะออกเสียงลงคะแนนลับ[13]
สมาชิกที่เข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนนลับตามข้อ (1) อาจลงคะแนนได้ก่อนประธานของที่ประชุมสั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน หรือในกรณีออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีอื่นอาจลงคะแนนได้ก่อนประธานของที่ประชุมสั่งให้นับคะแนนเสียง[14]
เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาทันที ในกรณีเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ ในกรณีที่ได้ประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาจากผลการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีตามข้อ (2) แล้ว ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนนั้นด้วย [15]
ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานของที่ประชุมถามที่ประชุมวุฒิสภาว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบด้วยกับญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ที่ประชุมวุฒิสภาวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [16]
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการวุฒิสภาไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการลงมติการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย[17]
การประชุมรัฐสภา
ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ได้กำหนดว่ารัฐสภาจะการออกเสียงลงคะแนนลับได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกรัฐสภาในที่ประชุมรัฐสภาให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย [18]
วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมรัฐสภามีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ [19]
(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(2) เขียนเครื่องหมายหรือวิธีอื่นใด ตามที่ประธานกำหนดลงบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้
สมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ามาในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน [20]
เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมรัฐสภาทันที ถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่า มติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ [21]
ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมรัฐสภาว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [22]
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการรัฐสภาไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนไว้ ณ บริเวณรัฐสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย [23]
สรุป
ในการอภิปรายของสภาจนกระทั่งหาข้อยุติของการอภิปรายโดยการลงมตินั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์จากข้อบังคับการประชุมในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา จากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการออกเสียงลงคะแนนลับที่คล้ายคลึงกัน ข้อที่แตกต่างกันคือจำนวนสมาชิกที่เสนอญัตติร้องขอลงคะแนนลับเท่านั้น ส่วนวิธีปฏิบัติในการออกเสียงลงคะแนนลับจากอดีตถึงปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้บริหารจัดการเพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อการลงคะแนนเสียงและนับคะแนนเสียง
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียน สโตร์, 2525. หน้า 315
- ↑ เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป., หน้า 108/1
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 72
- ↑ บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด”
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 73
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 76
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 78
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 79
- ↑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 80
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 81
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 66
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 68
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 69
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 72
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 73
- ↑ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 75
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 76
- ↑ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 53
- ↑ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 55
- ↑ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 57
- ↑ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 58
- ↑ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 59
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 60
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียน สโตร์, 2525.
เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551, ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553, ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551, ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2556.
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงาน. รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2475-2549). กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.