การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี
ผู้เรียบเรียง : นางสาววรรณวนัช สว่างแจ้ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมายของการถวายสัตย์ปฏิญาณ
คำว่า “สัตย์ปฏิญาณ” ประกอบไปด้วยคำสองคำ คือ “สัตย์” เป็นคำนาม สะกดแบบสันสกฤต แปลว่า ความจริง ซึ่งตรงกับคำว่า “สัจ” หรือ”สัจจ” ซึ่งเป็นการสะกดแบบบาลี
“ปฏิญาณ” เป็นคำศรัทธา สะกดแบบบาลี แปลว่าให้คำมั่นสัญญา
“ถวายสัตย์ปฏิญาณ” จึงแปลได้ว่า ถวาย (ให้) คำมั่นสัญญาอันเป็นความจริง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
บุคคลใดเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี แม้จะมีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว บุคคลนั้นยังไม่ควรเริ่มปฏิบัติงานจนกว่าจะได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเสียก่อนแล้วจึงจะเข้ารับหน้าที่และเริ่มปฏิบัติงานได้ การที่มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีแล้วแต่รัฐมนตรีใหม่ผู้ใดยังไม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในทางกฎหมายถือว่าผู้นั้นยังเป็นรัฐมนตรีที่ไม่สมบูรณ์ ยังใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีไม่ได้
ที่มาของการถวายสัตย์ปฏิญาณ
การถวายสัตย์ปฏิญาณ กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณสืบทอดมาจากพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (พระราชพิธีศิริสัจจปานกาลหรือพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจา) เนื่องจากประชาชนสมัยโบราณมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งพระบาทสมเด็จเป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุด และเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร เพื่อให้ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบานประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฏิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอา คมศาสตราวุธต่างๆ มาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำ ถือว่าเป็นพิธีระงับยุคเขนของบ้านเมือง พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นที่แพร่หลายในดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานจารึกที่กรอบประตูศิลาของโบราณสถานพิมานอากาศในเมืองนครธมว่า เป็นคำสาบานของพวกข้าราชการที่เรียกว่า พระตำรวจ ถวายสัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีสูริยวรมันที่ 1
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นมีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาส ต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีถือน้ำเมื่ออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปี ปีละสองครั้ง ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่วิหารพระมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน หากผู้ใดไม่สามารถเข้ามาถือน้ำในกรุงศรีอยุธยาได้ จะประกอบพระราชพิธีถือน้ำที่วัดอารามใหญ่ๆ ในท้องที่นั้น
การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแต่เดิมนั้น กระทำหลายครั้งในช่วงปี จากหลักฐานที่พบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งการถือน้ำออกเป็น 2 แบบใหญ่ คือ การถือน้ำประจำ และการถือน้ำจร ดังนี้
1. การถือน้ำประจำ สามารถแยกย่อยออกได้ตามฐานะทางสังคมคือ
1.1 การถือน้ำของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหารและพลเรือนทุกคน รวมทั้งภรรยา บุตร ธิดา และข้ารับใช้ของพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระราชวงศ์ต่างๆ ที่มีศักดินา 400 ขึ้นไป กำหนดให้ถือน้ำในพิธีตรุษ เดือน 5 และพิธีสารทเดือน 10 ปีละ 2 ครั้ง
1.2 การถือน้ำของทหารที่เข้าเวรประจำเดือนที่ผลัดเปลี่ยนเวรประจำการกันไปทุกเดือน กำหนดให้ถือน้ำทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เพราะขณะนั้นมีระบบการเกณฑ์ราษฎรเข้ารับราชการทหารที่เรียกว่า เข้าเดือน-ออกเดือน จึงมีการสลับสับเปลี่ยนตัวคนกันตลอดทุกเดือน
2. การถือน้ำจร เป็นการถือน้ำในกรณีพิเศษที่ไม่กำหนดเวลาตายตัว ขึ้นกับสภาวะเหตุการณ์แวดล้อมเป็นหลัก แยกย่อยออกได้ คือ
2.1 การถือน้ำเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน จะต้องมีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ในทันทีที่ทรงรับราชสมบัติ
2.2 การถือน้ำเมื่อมีผู้ที่มาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
2.3 การถือน้ำเมื่อมีการถวายตัวของบุคคลที่เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาข้อราชการต่างๆ ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ในปัจจุบันสำหรับข้อนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “การถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ต่อเฉพาะพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทนการดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
การถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากการถวายสัตย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้ง 19 ฉบับ พบว่า มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ดังปรากฏถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ดังนี้
1) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (27 มิถุนายน 2475)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
2) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (10 ธันวาคม 2475)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
3) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (9 พฤษภาคม 2489)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
4) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 (9 พฤศจิกายน 2490)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
5) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 (23 มีนาคม 2492)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 141
ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย)
และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
6) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 (8 มีนาคม 2495)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
7) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (28 มกราคม 2502)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
8) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 (20 มิถุนายน 2511)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 138
ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
9) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 (15 ธันวาคม 2515)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
10) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (4 ตุลาคม 2517)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 178 ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริต
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
11) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 (23 ตุลาคม 2519)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
12) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 (9 พฤศจิกายน 2520)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
13) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 (22 ธันวาคม 2521)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 147 ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริต
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
14) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 (1 มีนาคม 2534)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
15) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 (9 ธันวาคม 2534)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 160 ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริต
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
16) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (11 ตุลาคม 2540)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 205 ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริต
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
17) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 (1 ตุลาคม 2549)
ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ
18) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 (24 สิงหาคม 2550)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 175 ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
19) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 (22 กรกฎาคม 2557)
มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 19 วรรคสอง
ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่พระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ โดยเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 รวมมีบทบัญญัติดังกล่าวปรากฏในรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 ฉบับ จนถึงฉบับปัจจุบัน ซึ่งถ้อยคำของคำปฏิญาณทุกถ้อยคำเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เพียงเล็กน้อย
ลำดับขั้นตอนของการถวายสัตย์ปฏิญาณ
การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ 4.1 การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หมายถึงการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลนั้นเดินทางไปเฝ้าตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด ที่หมายถึงต้องมีการนัดหมายก่อน ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณต้องแต่งกายตามระเบียบ ในกรณีนี้คือแต่งชุดปกติขาว (สุภาพบุรุษ เสื้อนอกราชปะแตนคอปิดสีขาว กลัดกระดุม 5 เม็ด ประดับแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กางเกงขายาวสีขาว รองเท้าสีดำ ส่วนสุภาพสตรีแต่งชุดปกติขาว ตามระเบียบเครื่องแต่งกายสตรี) และต้องเดินทางไปปรากฏตัวเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อเปล่งวาจาตามถ้อยคำที่กฎหมายกำหนด 4.2 การถวายสัตย์ปฏิญาณ หมายถึง การเปล่งวาจากล่าวคำพูด แสดงความตั้งใจ แต่การจะปล่อยให้กล่าวออกมา จากใจตามธรรมชาตินั้น อาจจะเกิดความสับสนแก่ผู้กล่าวได้ จึงมีการเอาหลักกฎหมายมาจับ โดยการกำหนดถ้อยคำที่เป็นระเบียบแบบแผนขึ้น ในการถวายสัตย์ปฏิญาณ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้านายกรัฐมนตรีจะเป็นโต๊ะตั้งธูปเทียนแพ เมื่อได้เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเข้ามา และประทับยืนอยู่หน้าพระราชอาสน์ นายกรัฐมนตรีจะถวายคำนับ เปิดกรวยดอกไม้ ถวายคำนับ แล้วกราบบังคมทูลเปิดตัวขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายสัตย์ปฏิญาณ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเริ่มกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ โดยเว้นจังหวะให้รัฐมนตรีกล่าวตามเป็นวรรคๆ จนจบประโยค แล้วถวายคำนับรออยู่ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชทานพร แล้วเสด็จขึ้น เป็นอันเสร็จพิธี
สรุป
กล่าวได้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีโดยการเปล่งวาจาก่อนเข้ารับหน้าที่ทางราชการนั้นๆ และถือเอาวันนั้นเป็นการเริ่มปฏิบัติหน้าที่งานเป็นวันแรก อย่างไร ก็ตาม ยังมีการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่อีกหลายกรณีที่มิใช่เพียงแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นต้นมา ได้บัญญัติให้องคมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้พิพากษา ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนเข้ารับหน้าที่ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้เพิ่มเติมให้บุคคลดังนี้ ได้แก่องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนเข้ารับหน้าที่ อีกด้วย
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชพิธีสิบสองเดือน.พระนคร, องค์การค้าของคุรุสภา. 2506.
พัฒน์ นีลวัฒนานนท์. “การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 4, 25 (มิถุนายน 2499).
มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 17, 9 (สิงหาคม 2512).
วิษณุ เครืองาม, เรื่องเล่าจากเนติบริกร, วิษณุ เครืองาม, ชุดที่ 3, หลังม่านการเมือง, มติชน, พิมพ์ ครั้งแรก.กรุงเทพฯ. 2556.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. 2548.
เผ่าทอง ทองเจือ. น้ำพระพิพัฒน์สัตยา (ตอนที่ 1). สืบค้นจาก http://www.thairath.co.th/content/268039 (สืบค้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2557).
พัฒน์ นีลวัฒนานนท์. “การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 4, 25 (มิถุนายน 2499).
มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 17, 9 (สิงหาคม 2512).
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ : บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน). 2556.
ลิขิต ธีรเวคิน. “คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์”. ผู้จัดการรายวัน. 10 กรกฎาคม 2551.
วิษณุ เครืองาม. เรื่องเล่าจากเนติบริกร. ชุดที่ 3. หลังม่านการเมือง. พิมพ์ครั้งแรก.กรุงเทพฯ : 2556.
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รวมรัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก http://www.parliament.go.th/elaw/ (สืบค้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2557).