ASEAN+3

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:52, 5 เมษายน 2559 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข


ความเป็นมาของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three : APT)

ท่ามกลางช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย กรอบความร่วมมือ ASEAN+3 ได้เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปี ค.ศ.1997 โดยผู้นำของจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้รับเชิญให้มาร่วมการประชุมวิสามัญของบรรดาผู้นำอาเซียน [1] ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามขึ้น และได้จัดตั้งขึ้นเป็นเวทีประชุมประจำปีอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1999 ในการประชุมอาเซียนบวกสามครั้งที่สาม ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ [2] อันเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และอีก 3 ประเทศนอกกลุ่มคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครอบคลุมทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านการเงินและเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา

ความร่วมมือด้านในด้านที่สำคัญ

กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้มีการจัดทำแผนงานดำเนินการในการร่วมมือระหว่างกัน (ASEAN+3 Cooperation Work Plan (2007 – 2017 ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1999 โดยได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออกรุ่นแรก (East Asia Vision Group I-EAVG I) [3] ขึ้น ซึ่ง EAVG ได้มีข้อเสนอการรวมตัวระหว่างประเทศในระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ประชาคมเอเชียตะวันออกนั่นเอง ซึ่งจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้มีความร่วมมือในด้านที่สำคัญดังนี้

2.1ด้านการเงินและเศรษฐกิจ

ความร่วมมือในด้านการเงินและเศรษฐกิจนั้น เกิดจากความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative - CMI) เมื่อปี ค.ศ.2000 ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลัง อาเซียนบวกสาม ที่ตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนเงินสำรองระหว่างกัน ในกรณีเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากนั้นมีการพัฒนาต่อมา ได้แก่ การจัดตั้งหน่วยวิจัยหรือ AMRO ขึ้นที่สิงคโปร์

(1) ยกระดับขึ้นเป็น CMI Multilateralisation (CMIM) อันเป็นกลไกเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของรัฐสมาชิกในระดับพหุภาคี ต่อจากเดิมที่เป็นการแลกเปลี่ยนเงินสำรองในระดับทวิภาคี

(2) จัดตั้งสำนักวิจัยเศรษฐกิจประเทศสมาชิกในเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic) เพื่อประเมินและติดตามสภาวะเศรษฐกิจของกลุ่ม

(3) จัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเพื่อกิจการและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility - CGIF) โดยอยู่ภายใต้ความดูแลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB)

ในปี ค.ศ. 2014 การติดต่อค้าขายกันระหว่างสมาชิก ASEAN+ 3 นั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นมูลค่า 727.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 28.8 สำหรับการติดต่อการค้าทั้งหมดของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุน (FDI) จากกลุ่มประเทศบวกสามรวมเป็นจำนวนถึง 26.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] อาเซียนยังส่งออกให้แก่กลุ่มสามประเทศดังกล่าวๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเฉลี่ยปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ [5]

2.2 ด้านการท่องเที่ยว กรอบความร่วมมือ ASEAN+3 ได้มีการวางแผนงานโครงการการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวร่วมกัน สิทธิพิเศษต่างๆที่จะให้แก่การท่องเที่ยวภายในประเทศสมาชิก และมีแนวโน้มที่จะมีความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติในประเทศสมาชิกด้วย นอกจากนี้ตามแผนโครงการยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มคณะทำงาน e-tourism [6]

2.3 ด้านอาหาร กรอบความร่วมมือ ASEAN+3 มีการพัฒนาโครงการต่างๆ มากมายภายใต้แผนการความร่วมมือของอาเซียนบวกสาม [7] (APT Cooperation Strategy (APTCS) อาทิ

2.3.1 ว่าด้วยการสำรองข้าวยามฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม (APT Emergency Rice Reserve Agreement (APTERR)) อันเป็นข้อตกลง กรณีเกิดภัยพิบัติ และภัยแล้ง เป็นต้น อีกทั้งช่วยเหลือประเทศสมาชิกเมื่อประสบปัญหาการขาดแคลนธัญญาหาร ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติและภัยแล้ง เป็นต้น

2.3.2 ระบบข้อมูลความมั่นคงทางอาหารอาเซียน (ASEAN Food Security Information System (AFSIS))[8] เป็นข้อตกลงที่เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศภาคี โดยประเทศสมาชิกจะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ระบบข้อมูลนี้จะช่วยให้การวางแผนและการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น [9]

2.4ด้านพลังงาน ในกรอบความร่วมมือ ASEAN+3 นั้น ได้มีความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยมีการประชุมระหว่างบรรดารัฐสมาชิก ยกตัวอย่างเช่น การประชุมเกี่ยวกับตลาดน้ำมันในกรอบ ASEAN+3 (Regular APT Forum on Oil Market) หรือ การประชุมเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียนบวกสาม (APT Forum on Energy Security) เป็นต้น

2.5ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานประจำปีของเหล่าผู้นำ เช่น เรื่องการมีระบบเศรษฐกิจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม (green economy) นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโครงการใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เช่น การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (Integrated Water Resource Management หรือ IWRM)

2.6ด้านสังคมและวัฒนธรรม ในกรอบความร่วมมือ ASEAN+3 ได้มีการประชุมระหว่างกันในด้านทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีความร่วมมือและการประชุมที่สำคัญคือ

2.6.1 การประชุมเพื่อจัดการการบริการสังคม (APT Conference on Civil Service Matters (ACCSM+3) Luang Prabang, Lao PDR,2010)

2.6.2 การประชุมความร่วมมือทางด้านแรงงาน เพื่อการพัฒนาตลาดแรงงาน พัฒนาการฝึกวิชาชีพต่างๆ และมาตรฐานการแข่งขันทางแรงงานระหว่างประเทศสมาชิก (APT Labour Ministers Meeting (ALMM+3) Nay Pyi Taw, Myanmar 2014)

2.6.3 การประชุมเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแบ่งปันนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมทั้งในระดับเล็กและระดับกลาง (APT Ministers Responsible for Culture and Arts (AMCA+3))

2.6.4. ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและสื่อ APT Ministers Responsible for Information (AMRI+3)

2.6.5. ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการจัดค่ายแก่อาจารย์และนักเรียนในอาเซียน (Committee on Science and Technology Plus Three : ASEAN COST+3)

2.7ด้านการแพทย์ กรอบความร่วมมือ ASEAN+3 นั้น ได้มีความร่วมมือทางด้านแพทย์โดยเฉพาะในเรื่อง แพทย์แผนโบราณ การจัดการสุขอนามัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ สุขภาพอนามัยของแม่และเด็ก โรคระบาด โรคที่ไม่ติดต่อและโรคติดต่อหรือติดเชื้อ รวมถึงมีการร่วมทุนโครงการศึกษาพัฒนาโรคเฉพาะบางอย่าง เช่นโรคมาลาเรีย พิษสุนัขบ้า และโรคไข้เลือดออก โดยในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2014 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมในการป้องกันและยับยั้งโรคอีโบลา โดยได้มีการพูดคุยและติดตามผลที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก

2.8 ความร่วมมือที่สำคัญ [10]

2.8.1.การจัดประชุมความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีคมนาคมของอาเซียนและญี่ปุ่นในปี 2003 เมืองบาหลี ในส่วนของการคมนาคมและระบบขนส่ง ซึ่งยังผลให้เกิด 16 โครงการร่วมระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนในช่วงปีค.ศ.2003-2004 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง อ้างอิงที่ไม่มีชื่อต้องมีเนื้อหา

2.8.2.ความตกลงระหว่างอาเซียนและจีนในส่วนของการคมนาคม โดยได้มีการจัดประชุมความตกลงระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย ขึ้นที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในปี ค.ศ.2004 นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านสื่อสารสนเทศ (Memorandum of Understanding (MOU) on Cooperation in ICT) โดยได้จัดขึ้นในเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปีค.ศ 2003

2.8.3.เกาหลีใต้ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการวางแผนทำหนังสือทางหลวงอาเซียน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทำทางหลวงสายอาเซียน

การประชุมที่สำคัญ

การประชุมสุดยอด ASEAN+3 จะจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับมีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี โดยเจ้าภาพจัดประชุมในแต่ละครั้ง จะเรียงตามชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนตามลำดับ [11]

ตารางการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม

การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 วันเวลาที่จัดประชุม สถานที่ที่จัดประชุม
ครั้งที่ 1 18 มีนาคม ค.ศ. 1999 ฮานอย (เวียดนาม)
ครั้งที่ 2 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 เชียงใหม่ (ไทย)
ครั้งที่ 3 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 มะนิลา (ฟิลิปปินส์)
ครั้งที่ 4 7 ตุลาคม ค.ศ. 2000 เชียงใหม่ (ไทย)
ครั้งที่ 5 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 บันดาร์เสรีเบกาวัน (บรูไน)
ครั้งที่ 6 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 พนมเปญ (กัมพูชา)
ครั้งที่ 7 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003 บาหลี (อินโดนีเซีย)
ครั้งที่ 8 29 พฤศจิกายน คศ. 2004 เวียงจันทน์ (ลาว)
ครั้งที่ 9 12 ธันวาคม คศ. 2005 กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)
ครั้งที่ 10 14 มกราคม คศ. 2007 เซบู (ฟิลิปปินส์)
ครั้งที่ 11 20 พฤศจิกายน คศ. 2007 สิงคโปร์
ครั้งที่ 12 24 ตุลาคม คศ. 2009 ชะอำ-หัวหิน (ไทย)
ครั้งที่ 13 29 ตุลาคม คศ. 2010 ฮานอย (เวียดนาม)
ครั้งที่ 14 18 พฤศจิกายน คศ. 2011 บาหลี (อินโดนีเซีย)
ครั้งที่ 15 19 พฤศจิกายน คศ. 2012 พนมเปญ (กัมพูชา)
ครั้งที่ 16 10 ตุลาคม คศ 2013 บันดาร์เสรีเบกาวัน (บรูไน)
ครั้งที่ 17 13 พฤศจิกายน คศ 2014 เนปิดอว์ (พม่า)

บรรณานุกรม

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2555.กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี). <http://www.led.go.th/asean/pdf/4/4-1.pdf> (accessed March 22,2015)

วิทยาลัยอาชีวะศึกษาลำปาง .2014.“อาเซียน+3.” <www.lampangvc.ac.th/lvcasean/page_asean+3.htm> (accessed มีนาคม 22,2015)

ASEAN Food Security Information System.2014.“Background”. <www.afsisnc.org/aboutus> (accessed March 21,2015)

ASEAN Secretariat. 2014. “ASEAN+3.” <http://www.asean.org/asean/external-relations/asean-3> (accessed March 25,2015)

Asia Regional Integration Center.2014. “Association of Southeast Asian Nations Plus Three (ASEAN+3) cooperation on energy, transport, and information & communications technology.” <http://www.aric.adb.org/initiative/association-of-southeast-asian-nations-plus-three-cooperation-on-energy-transport-and-information-communications-technology?communications_technology=> (accessed March22,2015)

Masahiro kawai and Ganeshan wignajia.2007. “ASEAN+3 or ASEAN+6 Which way forward”. www.wto.org/english/tratop_e/region_e/con_sep07_e/kawai_wignaraja_e.pdf (accessed March 22,2015)


อ้างอิง

  1. Masahiro kawai and Ganeshan wignajia.2007. “ASEAN+3 or ASEAN+6 Which way forward”. <www.wto.org/english/tratop_e/region_e/con_sep07_e/kawai_wignaraja_e.pdf> (accessed March 22,2015)
  2. Asia Regional Integration Center.2014. “Association of Southeast Asian Nations Plus Three (ASEAN+3) cooperation on energy, transport, and information & communications technology.” <http://www.aric.adb.org/initiative/association-of-southeast-asian-nations-plus-three-cooperation-on-energy-transport-and-information-communications-technology?communications_technology=> (accessed March22,2015)
  3. <http://www.led.go.th/asean/pdf/4/4-1.pdf> (accessed March 22,2015)
  4. ASEAN Secretariat. 2015. “Chairman’s Statement of the 18th ASEAN Plus Three Summit Kuala Lumpur, 21 November 2015” < http://www.asean.org/images/2015/November/27th-summit/statement/Chairman-Statement-APT-FINAL.pdf> (accessed November 27, 2015).
  5. ASEAN Secretariat. 2014. “ASEAN+3.” <http://www.asean.org/asean/external-relations/asean-3> (accessed March 25,2015)
  6. Ibid.
  7. Ibid.
  8. ASEAN Food Security Information System.2014.“Background”. <www.afsisnc.org/aboutus> (accessed March 21,2015)
  9. Ibid.
  10. Asia Regional Integration Center.2014. “Association of Southeast Asian Nations Plus Three (ASEAN+3) cooperation on energy, transport, and information & communications technology.” <http://www.aric.adb.org/initiative/association-of-southeast-asian-nations-plus-three-cooperation-on-energy-transport-and-information-communications-technology?communications_technology=> (accessed March25,2015)
  11. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน สำนักประชาสัมพันธ์ เขต6.”การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน”<http://region6.prd.go.th/main.php?filename=asean_meeting>