การเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:00, 24 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==ความเป็นมาของอินโดจีนฝรั่งเศส== อินโดจีนของฝรั่...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ความเป็นมาของอินโดจีนฝรั่งเศส

อินโดจีนของฝรั่งเศส หรือชื่อที่เป็นทางการ คือสหพันธ์อินโดจีนเป็นดินแดนในคาบสุมทรอินโดจีน ประกอบด้วยพื้นที่ปกครอง ๕ ภูมิภาค คือ

๑. แคว้นตังเกี๋ย (Tonkin) หรือแคว้นญวนเหนือ มีเมืองฮานอยเป็นเมืองหลวง ฝรั่งเศสเข้ายึดครองได้พร้อมกับญวนกลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ มีฐานะเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส

๒. แคว้นอันนัม (Annam) หรือ ญวนกลาง มีเมืองเว้เป็นเมืองหลวง ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ มีฐานะเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส

๓. แคว้นโคชินไชน่า (Cochin China) หรือ ญวนใต้ มีเมืองไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวง อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๒ มีฐานะเป็นอาณานิคม

๔. แคว้นกัมพูชา (Cambodia) มีเมืองพนมเปญเป็นเมืองหลวง ฝรั่งเศสบังคับเอาจากไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ รวมทั้งมณฑลบูรพาของไทย คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ซึ่งไทยต้องยกให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยนกับจังหวัดตราด เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙

๕. แคว้นลาว (Lao) มีเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ฝรั่งเศสบังคับเอาจากไทยไปทีละน้อยระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๑- ๒๔๔๖ จนได้ดินแดนลาวทั้งหมดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในวิกฤตการณ์รศ.๑๑๒ หรือพ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งเป็นปีประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้าฯประชาธิปศักดิเดชน์ฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

ระยะทางของการเสด็จพระราชดำเนิน

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส โดยผ่านผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสในอินโดจีนพร้อมกับเสด็จฯทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทั้งทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ของอินโดจีนฝรั่งเศส การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีนนับเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระประมุขของประเทศสยามเป็นครั้งที่ ๒ ถัดมาจากการเสด็จฯ สิงคโปร์ ชวาและเกาะบาหลีได้ประมาณ ๕ เดือนเศษ (กลับจากประพาสสิงคโปร์ ชวาและบาหลี เมื่อ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒)

กระบวนเสด็จพระราชดำเนินก่อนประพาสสหพันธ์อินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๗๓ระหว่างวันที่ ๖ เมษายน ถึงวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓

วันอาทิตย์ ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ไปยังหัวหิน และประทับแรมก่อนการเสด็จเยือนประเทศอินโดจีน

จากนั้นในวันจันทร์ที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯประทับ ณ สวนไกลกังวล หัวหิน

ต่อมา วันอังคารที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ณ สภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก แล้วประทับแรม ณ สวนไกลกังวล หัวหิน

วันพุธที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จประทับแรม ณ สวนไกลกังวล หัวหิน

วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯประพาสตามชายทะเลถึงบ้านชะอำ ประทับแรม ณ สวนไกลกังวล หัวหิน

วันศุกร์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯลงเรือพระที่นั่งมหาจักรี เวลาเที่ยง เสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือพระที่นั่งจักรีไปยังเมืองไซ่ง่อน

กล่าวได้ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ ๗ –๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีประทับแรม ณ สวนไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้บุคคลต่างๆเข้าเฝ้า และยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯทอดพระเนตรสภาจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตกที่ตั้งสำนักงานอยู่บริเวณหลังสถานีรถไฟหัวหินอีกด้วย

วันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จผ่านเกาะช้าง เกาะปูโลโอบี และอยู่ในระหว่างทางเสด็จฯในทะเล

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับเรือพระที่นั่งแล่นผ่านเกาะปูโลโอบี หรือมีชื่อว่า ปูโลคอนดอร์ (Poulo Condre) และตอนเช้าตรู่ถึงแหลมแซงต์ยาคส์ (Cap St Jacques ปัจจุบันคือ หวุงเตา (Vung Tau) เมืองชายทะเลของจังหวัดบาเรีย-หวุงเตา (Baria-Vung Tau อยู่ในเวียดนามตอนใต้) อยู่ในระวางการทางเสด็จพระราชดำเนินในทะเลห่างจากกรุงไซ่ง่อนประมาณ ๗๗ กิโลเมตร ถึงอำเภอยาเบ ( Nhabè) พันโทมอรีส วิอองต์ (Lt Col Maurice Viant) พร้อมด้วยนายเอลี เจอนีส์ (Elie Genie) กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำไซ่ง่อน พระยาศรีสยามกิจ และนายประแดร์นิเกต์ ซึ่งล่วงหน้ามาคอยรับเสด็จฯ กับนายโรแชร์ กาโร (Roger Garreau) เจ้าพนักงานพลเรือน ขึ้นมาบนเรือพระที่นั่ง ขณะเรือผ่านท้องที่นี้ ร.ล. รัตนโกสินทร์ยิงปืน ๒๑ นัด เป็นการคำนับชาติ ป้อมกองทหารบก ซึ่งอยู่ริมฝั่งด้านซ้ายยิงตอบ ๒๑ นัด โดยปืนใหญ่ ๓ กระบอก เครื่องบินน้ำลำหนึ่งบินมารับเสด็จฯ ส่วนอีกหลายลำร่อนอยู่เหนือน้ำเวียนมาใกล้ๆ เรือพระที่นั่ง เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นผ่านเรือสินค้าที่จอดอยู่หรือแล่นสวนมาก็ดี ต่างก็เปิดหวูดถวายคำนับ เรือพระที่นั่งเปิดหวูดตอบตามธรรมเนียม

วันจันทร์ที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เวลา ๑๐.๑๐ น. นายปาสกิเอร์ ( P.A.M. Pasquier) กูแวร์เนอร์ เยเนราล ข้าหลวงใหญ่ หรือ ผู้สำเร็จราชการ แห่งประเทศสหพันธ์อินโดจีนฝรั่งเศส แต่งเครื่องเต็มยศขึ้นมาเฝ้าบนเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยนายชาร์ลส์ อาเสนอังรี (Charles Arsène Henry) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศสยาม กับนายเรือเอกเดอรู (Lt. de Vaisseau Louis Deroo) นายทหารคนสนิทของผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการฝรั่งเศสอื่นๆ ทรงต้อนรับพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี มีพระราชปฎิสันถารด้วยตามสมควร

เวลา๑๖.๓๐ น. เสด็จไปยังเมืองตุ๊ย่าหมก (ญวนเรียก ตุ๊ย่าหมก ฝรั่งเศสเรียก Tudaermot) ที่เมืองนี้มีซุ้มรับเสด็จเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Honneur à Leurs Majestés” จดหมายเหตุเสด็จเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส ระบุว่า เมืองนี้มีขนาด “ไม่สู้ใหญ่โตนัก” มีราษฎร “เฝ้าคอยชมพระบารมี” จำนวนมาก เมื่อเสด็จถึงโรงเรียนเพาะช่าง อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนชื่อ นายตาบุเลต์ (Monsieur Taboulet) นำเสด็จทอดพระเนตรในบริเวณโรงเรียนซึ่งเป็นตึกชั้นเดียว มีนักเรียนชาวญวนไม่มากนักและมีอายุประมาณตั้งแต่ ๑๐ ขวบขึ้นไปเป็นเด็กชายญวนทั้งหมด โรงเรียนนี้เพาะวิชาช่าง เช่น ทำเครื่องเรือน แกะไม้ต่างๆ เขียนรูปและประดับมุก เป็นต้น โรงเรียนนี้ถวายของที่ระลึกคือ รูปสลัก (Statues) ทำด้วยไม้เป็นรูปคนขี่กระบือ และกระบือคู่ กับตู้ประดับมุก เวลา ๑๗.๓๐ น. เสด็จต่อไปเมืองเบี่ยน หัว (Bien Hoa) ซึ่งเป็นระยะทางจากตุ๊ย่าหมก ๓๐ กิโลเมตร ถนนช่วงนี้ทำด้วยศิลาทราย (Granite) และมีซุ้มรับเสด็จเช่นกัน เมื่อเสด็จถึงโรงเรียนเพาะช่างอีกแห่งหนึ่ง อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนชื่อ นายบาลิก (Monsieur Balick) นำเสด็จทอดพระเนตรบริเวณโรงเรียน ซึ่งเป็นตึกชั้นเดียวใหญ่โตกว่าโรงเรียนที่ตุ๊ย่าหมก นักเรียนอายุ ๑๐ขวบขึ้นไป สอนวิชชาหล่อ ปั้น และเคลือบ จดหมายเหตุฯ ระบุว่า เด็กนักเรียนมีฝีมือการปั้นดีมาก เด็กเล็กๆ ยังปั้นตามรูปของจริงได้ใช้ของจริงเป็นแบบ เช่น ใบไม้และกบเป็นๆ มาผูกติดไว้กับโต๊ะ เป็นต้น

วันอังคารที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เวลาเช้า ๐๘.๒๐น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับข้าหลวงใหญ่ไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหาร ฝรั่งเศส และทหารญวนซึ่งสิ้นชีพในสงครามโลกครั้งที่ ๑ อนุสาวรีย์ที่ระลึก (Temple du Souvenir Annamite ) ดังกล่าวสร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายวัดจีน หน้าบันไดวัดมีชาวญวนแต่งตัวคล้ายงิ้วกางร่ม ๖ คนคอยรับเสด็จฯ และเดินเป็นกองเกียรติยศเข้าไปสู่ภายใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงทอดพระเนตรแผ่นศิลาจารึกเป็นตัวทองจากโคลงของ วิกเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo ) มีใจความว่า“ผู้ตายสำหรับชาติควรได้รับความเคารพจากผู้มาเยี่ยม” และรอบๆศิลานี้มีฉากทำด้วยไม้สักจารึกรายนามผู้เสียชีวิตเป็นลายทองแบ่งตามจังหวัด มณฑลและภูมิลำเนาของผู้ตาย หลังจากนั้นเสด็จกลับวังเวลา ๑๐.๓๐น.

ต่อมาในเวลา ๑๑.๐๐น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯพร้อมด้วยกูแวร์เนอร์ เยเนราล ไปยังสโมสรทหารบก มีทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนรับเสด็จ ในการนี้มีนายพันเอก แรงค์ (Colonel Rinck) ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ในอินโดจีน ซึ่งเคยอยู่ในโรงเรียนทหารร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลรับรองในนามของสโมสร ทรงมีพระราชดำรัสตอบเป็นใจความสั้นๆว่า ไม่ทรงลืมความหลังครั้งเมื่อเป็นนักเรียนทหารฝรั่งเศส พระราชดำรัสดังกล่าว สร้างความประทับใจให้แก่นายทหารที่มาเฝ้าเป็นอันมาก หลังจากนั้นประทับเสวยแซนด์วิชและแชมเปญซึ่งสโมสรทหารจัดถวายในการรับรอง ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯมิได้เสด็จด้วย

พระราชดำรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสสร้างความประทับใจแก่บรรดาทหารที่เฝ้าอยู่เป็นอันมาก ดังความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสมีดังนี้

“...ข้าพเจ้ารู้จักประเทศฝรั่งเศสมิใช่ฐานะนักท่องเที่ยวที่เดินไปตามบูลเลอร์วาร์ดสายใหญ่ๆและเป็นลูกค้าของภัตตาคารที่คิดราคา ๑๕๐ ฟรังก์ต่อคน ข้าพเจ้ารู้จักประเทศฝรั่งเศสทั้งที่เป็นต่างจังหวัดและชานเมือง ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณแก่ท่านในเรื่องเหล่านี้เป็นหนี้บุญคุณต่อกองทัพฝรั่งเศส ต่อคณะนายทหารฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างที่ ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นเวลาสองปีข้าพเจ้าไม่เพียงแต่ได้เพิ่มพูนความรู้ทางทหารเท่านั้นแต่ยังได้เรียนรู้โดยเฉพาะวิธีการทำงานอีกด้วย วิธีการดังกล่าวช่วยในการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ของข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สักวันหนึ่งจะถูกเรียกให้มากุมชะตากรรมของประชาชนแล้ว ข้าพเจ้าจะบอกพวกเขาว่า จงไปศึกษาวิธีการอันนี้ จดจำมา และนำเอามาใช้... ” [1]

ช่วงเย็นวันนั้นเวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จฯโดยกระบวนรถยนต์ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์บลองชาร์ด เดอ ลา บอรสส์ (Musée Blanchard de la Brosse ) ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม (Museum of Vitetnamese History) แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติต่างๆในเอเชีย โดยมีนางสาวโนแดง (Melle Naudin) รับเสด็จฯและนำทอดพระเนตรห้องจัดแสดงต่างๆ เช่น ห้องจัดแสดงเครื่องลายครามของจีนและหยก ห้องศิลปะญี่ปุ่น และพระพุทธรูปลัทธิมหายาน เครื่องลายคราม ศิลปะเขมร ศิลปะจาม รวมทั้งยังมีศิลปะไทยเป็นโถลายเทพนมและสมุดภาพเขียนเป็นภาษาไทยเรื่องพระมาลัย กับสมุดข่อยกระดาษดำเขียนตัวบรรจงเรื่องสุวรรณหงส์ จากนั้นเสด็จฯสวนสัตว์ และ โรงพยาบาลเมืองโชลอน (Cholon Hospital) ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าเพื่อที่จะทรงศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

จดหมายเหตุการเสด็จอินโดจีนฝรั่งเศสยังระบุว่า“การสร้างเมืองของฝรั่งเศสน่าชมมากเพราะเมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ก็จะสร้างตลาดและโรงพยาบาลขึ้นด้วย” เนื่องด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นอย่างมาก ดังนั้นในโอกาสที่พระองค์เสด็จประพาสในครั้งนี้ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้เพิ่มเติมในกำหนดการเสด็จด้วย

เวลาค่ำ ๒๐.๓๐น. มีการเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการที่วังของกูแวร์เนอร์ เยเนราล แล้วมีงานสโมสรสันนิบาต ณ ห้องใหญ่มีผู้ร่วมโต๊ะเสวยถึง ๖๐ คน มีการแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท่านกูแวร์เนอร์ เยเนราลอ่านคำกราบบังคมทูล แสดงความชื่นชมยินดีในการเสด็จประพาสอินโดจีน และพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ ในคืนวันนี้มีการแสดงละครกลางแจ้งข้างหลังวังด้วย ซึ่งจัดทำขึ้นในการรับเสด็จฯเป็นพิเศษตกแต่งด้วยโคมไฟฟ้าหรูหรา มีนักแสดงชายหญิงรวมกันประมาณ ๑๕๐ คน เป็นละครแบบที่เรียกว่า ‘Tableaux Vivants` [2] และเรื่องที่แสดงถวายคือ “Images de France” มีทั้งหมด ๗ ฉากด้วยกัน เป็นเรื่องพงศาวดารฝรั่งเศสแต่ครั้งโบราณ แขกผู้รับเชิญประมาณ ๒,๐๐๐ คน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จสู่ที่ประทับทอดพระเนตรละคร ดนตรีก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติฝรั่งเศส

หนังสือพิมพ์หลายฉบับในเวลานั้น อาทิ หนังสือพิมพ์ Saigon , หนังสือพิมพ์ Le Courier Saigonnais ฉบับวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ต่างกล่าวถึงงานเลี้ยงครั้งนี้ว่าเป็นงานเลี้ยงต้อนรับเวลาเย็นอย่างเป็นทางการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญล้วนเป็นตัวแทนที่มีความเพียบพร้อมที่สุดของชาวอินโดจีน [3]

วันพุธที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓

ประทับ ณ เมืองไซ่ง่อน เวลา ๐๙.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี กับท่านกูแวร์เนอร์ เยเนราล เสด็จเป็นกระบวนรถยนต์ไปยังสถานปาสเตอร์ ทอดพระเนตรการทำน้ำปลาและตรวจสอบน้ำปลาญวน ดร.กวินเลิฟ กราบบังคมทูลว่าได้ตรวจน้ำปลาไทยที่ส่งมาจากประเทศสยามแล้วว่าดีเท่ากับน้ำปลาญวน ไม่มีอันตรายเลย แล้วเสด็จทอดพระเนตรห้องทำยาเกี่ยวกับไข้ป่า ห้องทำการอื่นๆ ในสถานปาสเตอร์นี้ไม่มีสวนงู แล้วเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ อาทิ โรงเรียนเปตรุสกี และ โรงเรียนฝรั่งเศส-จีน แห่งโชเล็น

เวลา ๑๑.๐๐น. เสด็จสู่เรือรบฝรั่งเศสชื่อ วัลเดค รูส์โส (Waldeck Rousseau) ทหารเรือกองเกียรติยศรับเสด็จพร้อมด้วยนายพลเรือเอกบูเยต์ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและสรรเสริญชาติฝรั่งเศส ทหารเรือเข้าแถวเฝ้า นายพลเรือเอกมูเยต์ นำนายเรือเอกเฟรเยต์ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บังคับการเรือและนายทหารผู้ใหญ่แห่งเรือรบฝรั่งเศสเฝ้ามีพระราชปฏิสันถาร มีการยิงปืนถวายคำนับ ๒๑ นัด

เวลาเย็น ๑๗.๐๐ น. เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล ระหว่างคณะไทยซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ กับพวกไซ่ง่อน ณ สนามซึ่งอยู่ใกล้กับสปอร์ตคลับ คณะนักกีฬาฟุตบอลไทยเล่นได้ดีมาก สามารถชนะ ๔ ประตูต่อศูนย์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๗๓

เวลา ๐๙.๒๐ น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี กับกูแวร์เนอร์ เยเนราล และข้าราชบริพารเสด็จเป็นกระบวนรถยนต์ไปลงเรือ ณ แหลมแซงต์ยาคส์ ระยะทางจากไซ่ง่อนถึงแหลมแซงต์ยาคส์ ๑๒๕ กิโลเมตร แต่เนื่องจากเรือพระที่นั่งถูกพายุคลื่นลมอย่างรุนแรงจนเรือพระที่นั่งโคลงมากจนทำให้ต้องเสด็จกลับไปแหลมแซงค์ยาคส์ในคืนนั้น และวันรุ่งขึ้นแล่นเรือกลับไปยังเมืองไซ่ง่อนเพราะมีคลื่นลมแรงอยู่ ๒-๓ วัน

วันศุกร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๗๓

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จกลับขึ้นเมืองไซ่ง่อน แล้ว เสด็จประพาสตลาดและทอดพระเนตรภาพยนตร์

วันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๗๓

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปยังร้านถ่ายรูปญวน และทรงซื้อของต่างๆตามร้านค้า เวลา ๒๑.๔๐น.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงประทับรถไฟขบวนพิเศษจากไซ่ง่อนไปเมืองเนี้ยตรัง (Nhatrang) ข้าหลวงใหญ่ชาวฝรั่งเศสและชาวเวียดนามจำนวนมาก รวมทั้งคณะนักฟุตบอลชาวสยามส่งเสด็จ นอกจากนี้ทรงทราบข่าวว่าได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับข้าราชบริพารที่โดยเสด็จ คือ พระศรีสยามกิจซึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนนั้น ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะความประมาทของคนขับที่ขับรถไว และไม่มีความชำนาญพอ จึงทำให้รถเลี้ยวขึ้นสะพานชนราวสะพานตกลงไปเบื้องล่างสูง ๖วา [4] แต่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายมากนัก

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๓

ขบวนรถไฟที่ประทับแล่นผ่านอ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh Bay) เสด็จฯถึงสถานี Tour Cham และสถานี Ba-Rau ถึงสถานีเนี้ยตรัง ห่างจากไซ่ง่อน ๔๑๐ กิโลเมตร พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรหมู่บ้านที่เนี้ยตรังและเสด็จประทับรถยนต์ไปประพาสเมืองตุยฮั้ว (Tuy Hoa) เรสิดังต์และภรรยากับข้าราชการชาวเวียดนามรับเสด็จ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประทับแรมซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านพัก (rest house)

วันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๗๓

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯเสด็จฯถึงเมืองคินอน (Qui Nhon) ก่อนถึงตัวเมืองทั้งสองพระองค์และเมืองกวางหงาย (Quang Ngai)

วันอังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๗๓

รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯถึงเมืองตุราน และเสด็จประทับรถไฟพิเศษไปเมืองเว้

วันพุธที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๗๓

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรวังที่ประทับของอดีตพระเจ้ากรุงญวนที่เมืองเว้

ในจดหมายเหตุรายวันยังได้เล่าไว้ว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงแยกไปเยี่ยมพระแม่เจ้า (Queen Mother) พระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ์กรุงญวณองค์ก่อนผู้ทรงเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระเจ้าจักรพรรดิ์เบาได๋ พร้อมกับหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา นางสนองพระโอษฐ์ คุณวรันดับ บุนนาค (ฉัตรกุล ณ อยุธยา) นางพระกำนัลและพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์

“พระแม่เจ้านี้เสวยหมากเสียจนฟันดำ ไว้เล็บยาวตั้งคืบ ทรงกางเกงแพรขาวมีดอก ถุงเท้าแพรขาว รองเท้าปักลายทองบนกำมะหยี่ดำ เสื้อแพรสีแสดลายทองบนสีดำ โพกพระเศียรด้วยแพรสีแสด ทรงประดับไข่มุกและเครื่องประดับแบบญวน เวลารับสั่งเสียงเบามาก รู้สึกว่าค่อนข้างจะทรงอายเพราะไม่เคยรับแขก” [5]

ในที่พระแม่เจ้าประทับ มีหญิงญวนนั่งพัดอยู่ ๒ คน พัดนั้นใช้พัดขนนกใหญ่ทำอย่างแบบไทย และมีข้าหลวงสาวและแก่ยืนอยู่ข้างซ้าย ซึ่งญวนนับเป็นเกียรติยศ ไม่ใช่ข้างขวา ข้าหลวงแก่แต่งสีดำหรือน้ำเงินแก่ ส่วนพวกสาวๆ แต่งสีเหลืองโดยมาก บางคนหน้าตาหมดจดดีพอใช้ นอกจากผู้หญิงที่ติดต่อฝ่ายในแล้ว ยังมีขันทีเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง แต่ค่อนข้างแก่ เมื่อได้มีพระราชปฏิสันถารพอสมควรแล้ว พระแม่เจ้าเชิญให้เสด็จฯทอดพระเนตรพระราชวังทั่วไป

“พระราชวังนี้ได้ทราบว่าไม่มีใครได้มีโอกาสเข้ามาชมได้ตลอดอย่างนี้เลย ครั้งนี้เป็นพิเศษแท้” [6]

นับว่าทั้งสองพระองค์ทรงเจริญพระราชไมตรีทั้งกับเจ้านายพื้นเมืองเดิมและทอดพระเนตรสถานที่และพระตำหนักต่างๆ และทรงฉายพระรูปร่วมกับนายเลอ โฟล ผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศสผู้มีอำนาจเต็มของประเทศอินโดจีน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายเวียดนามไว้เป็นที่ระลึก

วันอังคารที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีและข้าราชบริพารทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จไปยังเมืองดาลัต (Dalat) ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบชั้นสูงของหมู่เขาชื่อ ปันดารัง (Pandarang Range) ซึ่งมิใช่แนวเขาธรรมดาแต่เป็นภูเขาคล้ายขั้นบันได คือเป็นพื้นราบเป็นชั้นๆ เมืองดาลัตนี้อยู่ในพื้นที่ราบชั้นสูงมีระดับสูงถึง ๑,๕๐๐ เมตร อยู่ในจังหวัดลังเบียง (Lang Biang) ระหว่างทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพวกม้อย ( Mois ) ตามภาษาญวน แปลว่า ชาวป่าไม่มีที่พำนักเป็นหลักแหล่งแต่อาศัยอยู่ในอินโดจีนมีจำนวนราว ๔๐๐,๐๐๐ คน แบ่งเป็นพวกๆคือ พวกลัต อยู่ทางทิศใต้ของดาลัต คำว่า ดา แปลว่า น้ำ ลัตหมายถึง พวกลัต พวกสรึลองอยู่ทางทิศตะวันตกแห่งดาลัต พวกม้าอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นพวกที่มีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง บางคนรับจ้างทำถนน ทำนา และตามธรรมดานั้นชอบอาศัยอยู่ตามป่า ไม่ดุร้าย ผู้หญิงชอบใช้เครื่องประดับทำด้วยลูกปัด พูดคล้ายสำเนียงมอญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทานรางวัลแก่พวกม้อย (ชาวป่า) ที่เฝ้ารับเสด็จฯที่เมืองดาลัต ตามสมควร

เมื่อค.ศ. ๑๙๑๗ ผู้สำเร็จราชการรัฐบาลอินโดจีนตั้งแต่ครั้งมองซิเออร์รูม (Monsieur Roumme) ได้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นเมืองที่เจริญขึ้น และต่อมา มองซิเออร์ปาสกิเอร์ผู้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งความประสงค์ว่าจะบำรุงเมืองดาลัตนี้ให้เป็นสถานที่ทำการกลางแห่งรัฐบาลประเทศอินโดจีน โดยจะรวมสถานที่ทำการจากฮานอยและไซ่ง่อนมาไว้ที่ดาลัตเพียงแห่งเดียว เมืองนี้มีอากาศเย็นสบายเทียบได้กับอากาศต้นเดือนเมษายนในยุโรปหรือเย็นกว่าฤดูหนาวของประเทศสยามเล็กน้อย ต้นไม้โดยมากเป็นป่าสนชนิดสนญี่ปุ่น มีพืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ฝรั่งปลูกได้อย่างในยุโรป เช่น แกลดดิโอลัส (Gladiolus) คาร์เนชั่น (Carnation) เยอร์เบอรา (Gerberra ) ฟล๊อกซ์ (Phlox ) และต้นกุหลาบทุกชนิดซึ่งมีดอกโตและงามไม่แพ้ในประเทศยุโรป และเป็นสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในเมืองที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ ภูมิประเทศงดงามมาก เพราะฝรั่งเศสเป็นผู้วางแผนผังเมือง ภายในมีทะเลสาบ สนามเทนนิส และกำลังจะสร้างสนามกอล์ฟ ถ้าไม่เห็นพลเมืองญวนแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในยุโรป รัฐบาลอินโดจีนได้จัดบ้านพักสำหรับผู้สำเร็จราชการ ๑ หลัง และให้กูแวร์เนอร์แห่งโคชินจีนหนึ่งหลังเป็นที่สำหรับมาเปลี่ยนอากาศ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ บ้านพักกูแวร์เนอร์แห่งโคชินจีน (Pavillon de Cochinchine) พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กรมหมื่นอนุวัตน์ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ หม่อมเจ้าหญิงสีดา และหม่อมเจ้าอัชฌา ส่วนข้าราชบริพารคนอื่นๆพักที่ปาลาซโฮเตล (Palace Hotel) ที่อยู่ไม่ห่างกันนัก

ระหว่างวันที่ ๒๙ และ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ประพาสเมืองดาลัด และยังเสด็จประพาสน้ำตกปองโกในวันที่ ๑ พฤษภาคม พร้อมทั้งให้ชาวม้อยเข้าเฝ้าถวายของที่ระลึก

ต่อมาในวันที่ ๒ พฤษภาคม เสด็จฯไปทอดพระเนตรฟาร์มปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวที่เมืองดาลัด และทอดพระเนตรน้ำตกคูกา หลังจากนั้นเสด็จฯกลับทางรถไฟถึงเมืองไซ่ง่อนในวันที่ ๓ พฤษภาคม ทางการของฝรั่งเศสจัดให้สมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ แล้วเสด็จไปยังสำนักนางชี และทรงฟังดนตรีญวน อนึ่งทรงพระราชทานเงินอุดหนุนการสาธารณกุศลที่ประเทศอินโดจีนเป็นเงิน ๒๐๐๐ ปีอาสต์ [7] . หลังจากการเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศสบนดินแดนเวียดนามแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ประเทศกัมพูชาซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ทรงมีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรโบราณสถานสำคัญในเมืองเสียมเรียบ ได้แก่ “ปราสาทนครวัด” ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ สถานที่แรกที่เสด็จไปทอดพระเนตร คือ “ปราสาทหินนครธม”โดยมีโปรเพสเซอร์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ และมองซิเออร์มาร์ชาล ผู้จัดการรักษาโบราณสถานในเมืองเสียมเรียบเป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตร และตอนเย็นจึงเสด็จทอดพระเนตรปราสาทนครวัดอันมีภาพสลักตลอดผนังรอบมหาปราสาทเกี่ยวกับพิธีกรรม ความเชื่อทางศาสนาและประวัติ ก่อนเสด็จกลับประเทศสยามในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน

การเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการทอดพระเนตรกิจการสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบ้านเมือง ด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การเกษตร การอุตสาหกรรม การสาธารณสุข และด้านศิลปวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงใช้เวลาประพาสอินโดจีนมากกว่าหนึ่งเดือน กล่าวคือ เสด็จประพาสเวียดนามเป็นเวลา ๒๕ วัน และกัมพูชา ๘ วัน ทั้งสองพระองค์ทรงตรัสภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอินโดจีนครั้งนี้ จึงนับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระชับสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในอินโดจีน และการทอดพระเนตรสถานที่ทางธรรมชาติและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการทอดพระเนตรความเจริญต่างๆของอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติโดยใช้ภาษาฝรั่งเศสที่สร้างความประทับใจทั้งผู้ปกครองฝ่ายฝรั่งเศส และ เจ้าผู้ครองพื้นเมืองเดิม ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างมาก [8]

นอกจากนี้ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองไซ่ง่อนนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่และการทำมาหากินของชาวเมืองในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการทอดพระเนตรฟาร์ม สวนดอกไม้ สวนสัตว์และน้ำตก แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และกิจการของโรงเรียนเพาะช่างถึงสองแห่ง แสดงให้เห็นความสนพระราชหฤทัยในการนำมาปรับปรุงโรงเรียนฝึกอาชีพในประเทศสยาม เช่น เครื่องเรือน แกะไม้ต่างๆเขียนรูปและประดับมุก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ทอดพระเนตรการทำน้ำปลาญวน ซึ่งทางฝ่ายญวนได้กราบบังคมทูลว่าได้ตรวจน้ำปลาไทยที่ส่งมาจากประเทศสยามแล้วดีเท่ากับน้ำปลาญวนไม่มีอันตราย แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของรัฐบาลในการเปรียบเทียบคุณภาพของผลผลิตเชิงอุตสาหกรรมของสยามกับต่างประเทศอย่างจริงจัง เท่าที่จะสามารถทำได้ในระดับเทคโนโลยีสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จไปเรียนรู้วัฒนธรรมด้านอาหารต่างๆของญวนด้วย เช่น แกงเกาเหลา ขนมจีนของญวน แห้กิ้นญวน ป้อเปียะ แหนมหมู เป็นต้น

หลังจากการเสด็จประพาสเมืองไซ่ง่อนแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้เสด็จต่อไปยังเมืองเว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของญวนกลาง ได้เสด็จไปฯยังพระราชวังของจักรพรรดิเบ๋าได๋ ซึ่งในเวลานั้นพระชนมายุ ๑๖ พรรษา และกำลังศึกษาวิชาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และทรงเยี่ยมพระราชวงศ์ชั้นสูงฝ่ายในของญวน ( คือ พระราชวงศ์ผู้ทรงดำรงพระยศเป็นพระแม่เจ้าญวน) นับเป็นการสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับเจ้านายพระราชวงศ์เดิมของญวนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ระหว่างการเสด็จฯเมืองเว้นั้น มีการแสดงดนตรีพื้นเมืองถวายหลายแห่ง และรัชกาลที่ ๗ ทรงซอด้วงเพลงญวนไล่กวางตอนต้น ที่สโมสรเพื่อนชาวเว้ ทำให้พวกญวนพึงพอใจมากว่าพระองค์ทรงเป็นนักดนตรี สิ่งของต่างๆที่ได้รับการทูลเกล้าฯถวายในการเสด็จอินโดจีน เป็นเครื่องสำคัญโดดเด่นของการเจริญพระราชไมตรี เช่น โรงเรียนเพาะช่างของญวนได้ถวายของที่ระลึก คือ รูปปั้น ( statues) เล็กๆ ทำด้วยไม้เป็นรูปคนขี่กระบือและกระบือคู่ กับตู้ประดับมุก ส่วนโรงเรียนเพาะช่างอีกแห่งหนึ่งถวาย แจกันเคลือบ ๓ อัน กับตุ๊กตารูปคล้ายเทวดาทำด้วยทองเหลืองสำหรับเผาธูป และกูแวร์เนอร์ เยเนราล ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก คือจานโบราณ ๑ คู่ กับถวายและแจกแก่บรรดาผู้โดยเสด็จฯทุกคนมีโถชามลายครามฯ บรรจุกล่องไม้ เป็นต้น

ครั้งนั้นมีการเสด็จฯ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์บลอง ชาร์ด เดอ ลาบรอสส์ ซึ่งมีเครื่องเบญจรงค์ของไทย พระพิมพ์ ตลอดจนมีสมุดภาพพระมาลัยเรื่องสุวรรณหงส์ด้วย

กีฬาฟุตบอลก็เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนทางวัฒนธรรมในการเจริญพระราชไมตรียุคใหม่ จะเห็นได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้มีคณะฟุตบอลไทยจากกรุงเทพฯไปร่วมทำการแข่งขันกับกับคณะฟุตบอลไซ่ง่อนด้วย ผลปรากฏว่าไทยเป็นฝ่ายชนะ ๔ ประตูต่อศูนย์

เนื่องจากอินโดจีนฝรั่งเศสมีสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างทุรกันดาร ขบวนเสด็จพระราชดำเนินอินโดจีนฝรั่งเศสจึงมีปัญหาและความไม่สะดวกเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ปัญหาเรือพระที่นั่งประสบคลื่นลม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงพระราชพาหนะอยู่หลายครั้ง และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของข้าราชบริพาร ๒ ครั้ง ครั้งแรกรถยนต์ตกสะพาน ครั้งที่ ๒ รถยนต์ชนเสาโทรเลขส่งผลให้คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (นิตย หุตสิงห์) นางสนองพระโอษฐ์เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ระหว่างทางอีกประมาณ ๗ กิโลเมตรจะถึงเมืองกัมพงจาม (เส้นทางไซ่ง่อน-กัมพงจาม) โดยความเลินเล่อของคนขับรถชาติญวนที่แล่นไปบนกองหินแล้วตรงไปชนเสาโทรเลข ตามหมายกำหนดการเดิมจะเสด็จถึงกรุงเทพฯวันที่ ๑๑ พฤษภาคม แต่เมื่อมีเหตุเศร้าสลดใจเกิดขึ้น กำหนดการต่างๆ เช่น การทอดพระเนตรละครที่นครวัด การเลี้ยงอาหารที่บ้านเรสิดังต์ สุเปริเออร์ กับการรับรองและทอดพระเนตรละครที่วังพระเจ้ามณีวงศ์จึงถูกงดหมดทุกอย่าง และเปลี่ยนเวลาเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯเลื่อนเป็นวันที่ ๘ พฤษภาคม จึงเป็นแต่เสด็จฯทอดพระเนตรนครวัดแล้วเสด็จฯต่อไปยังเมืองพนมเปญ

เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองพนมเปญนั้น สมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์ และเรสิดังต์ สุเปริเออร์ กับออกญาจวนอัครมหาเสนาบดี ได้ออกมารับเสด็จฯณ พระที่นั่งบรรยงค์รัตนา และพระเจ้ามณีวงศ์ทูลเกล้าฯถวายเครื่องดนตรีมีน้ำเต้า ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย กระจับปี่ ซึ่งทำขึ้นในพระราชวังเป็นเครื่องหมายแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองคำมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อฝังเพชรแก่สมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์ แล้วเสด็จฯยังวัดพระแก้ว แล้วเสด็จต่อไปยังพระตะบอง วันรุ่งขึ้น วันที่ ๘ พฤษภาคม เสด็จฯโดยกระบวนรถยนต์จากพระตะบองสู่อรัญประเทศแล้วเสด็จกลับโดยประทับรถไฟขบวนพิเศษสู่กรุงเทพฯ

ผลของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอินโดจีน

การเสด็จประพาสอินโดจีนครั้งนี้นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระชับสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในอินโดจีน และการทอดพระเนตรสถานที่ทางธรรมชาติและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการทอดพระเนตรความเจริญต่างๆด้วย และยังมีผลที่ตามมาจากการเสด็จเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส เช่น

การพระราชทานประติมากรรมรูปช้างหล่อสำริด

เมื่อเสด็จฯกลับประเทศสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้กรมศิลปากรหล่อรูปช้างสำริดพระราชทานเป็นที่ระลึกและเพื่อเป็นการขอบใจแก่ฝ่ายฝรั่งเศสและเวียดนามที่จัดการรับเสด็จฯ ทรงกระทำเหมือนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดเกล้าฯ พระราชทานรูปช้างหล่อสำริดแก่เมืองสิงคโปร์และปัตตาเวีย

ประติมากรรมรูปช้างหล่อสำริดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่อินโดจีนครั้งนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่สวนสัตว์นครโฮจิมินท์ (ไซ่ง่อน) ใกล้ๆกับพิพิธภัณฑ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ฐานมีจารึกภาษาถึง ๔ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย เวียดนาม ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส โดยมีข้อความที่ฐานมีความหมายเหมือนกันว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม พระราชทานไว้เป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศอินโดจีนเป็นครั้งแรก เสด็จพระราชดำเนินถึง ไซ่ง่อน เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓”

สรุปได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส(เวียดนาม และกัมพูชา) ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งอินโดจีนขณะนั้นอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส เป็นการขจัดความขุ่นข้องหมองใจของระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับตัวแทนอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีนยุคใหม่ และเพื่อเสด็จเยี่ยมเยือนหัวเมืองต่างๆและพบปะผู้คนในเวียดนามและกัมพูชา โดยเสด็จทางเรือจากกรุงเทพฯไปยังเมืองไซ่ง่อนทางเรือ และเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองตุราน (ดานัง) และเสด็จประพาสเมืองเว้เพื่อเยี่ยมชมพระราชวังจักรพรรดิญวน และเสด็จเยี่ยมขากลับเสด็จฯทางรถยนต์กลับมาเมืองไซ่ง่อน แล้วยังเสด็จพระราชดำเนินไปกัมพูชา เพื่อชมปราสาทนครวัด นครธม ณ เมืองเสียมราฐ ในกรุงพนมเปญ จากนั้นเสด็จไปทอดพระเนตรวัดพระแก้ว หอพระสมุด และพิพิธภัณฑ์ที่มีศิลปะเขมรก่อนเสด็จกลับประเทศสยามโดยเส้นทางปอยเปต-อรัญประเทศทางรถยนต์ แล้วประทับรถไฟพระที่นั่งกลับสู่กรุงเทพมหานคร

อนึ่ง ระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินอินโดจีนครั้งนั้นมีกลุ่มชาตินิยมญวนดำเนินการใต้ดินและก่อการวินาศกรรมต่อต้านฝรั่งเศสอยู่ในเวลานั้นด้วย เกิดกรณีการก่อวินาศกรรมเส้นทางรถไฟโดยถอดตะปูควงบังคับรางจนรถไฟตกรางในคืนวันที่ ๒๕ เมษายน และ ในเช้าวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่าน พระองค์ทรงหยุดเพื่อถ่ายภาพยนตร์หัวรถจักรและรถพ่วง ๒ คันที่คว่ำตะแคงอยู่ด้วย ภายหลังไต่สวนได้ความว่าพวกคอมมิวนิสต์คาดว่าพระองค์จะเสด็จตุรานทางรถไฟ กล่าวได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ มีปัญหาและอุปสรรคอยู่พอสมควร ในเรื่องของเส้นทางในการเสด็จที่ต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลา และพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือเป็นทางรถยนต์เพราะมีคลื่นลมพายุแรง และเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงสองครั้ง ครั้งแรกวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เกิดขึ้นกับ พระศรีสยามกิจซึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนประสบปัญหาเพราะคนขับไวและไม่ชำนาญพอจนชนสะพานตกลงไปเบื้องล่างแต่ไม่ถึงกับชีวิต แต่ครั้งที่สองวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดานางสนองพระโอษฐ์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงแก่กรรม จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯให้ร่นระยะการเดินทางให้น้อยลง จากวันที่ ๑๑ พฤษภาคมตามที่กำหนดไว้แต่แรก ก็ทรงเปลี่ยนเป็นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๘ พฤษภาคม ส่วนกำหนดการรื่นเริงต่างๆ เช่น การทอดพระเนตรละครที่นครวัด และที่วังของสมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์เป็นอันให้งดจนหมดสิ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่เสด็จเยือนปราสาทนครวัด-นครธม เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกษัตริย์กัมพูชา และทรงพบกับสมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์แห่งกัมพูชาด้วยบรรยากาศแห่งมิตรไมตรี โดยฝรั่งเศสจัดการเกี่ยวกับพิธีทางการทูตทำให้กษัตริย์ทั้งสองพบกันอย่างราบรื่นนับว่าเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติโดยใช้ภาษาของต่างชาติที่สร้างความประทับใจทั้งผู้ปกครองฝ่ายฝรั่งเศส เจ้าผู้ครองพื้นเมืองเดิม และประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างมากทีเดียว และผลที่ตามมานอกจากความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังนำความเจริญทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การอุตสาหกรรม และแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมและการดนตรี นับว่าการเสด็จทรงเยือนอินโดจีนฝรั่งเศส ครั้งนี้เป็นการวางพื้นฐานด้านสัมพันธไมตรีกับเพื่อนบ้านในยุคสมัยใหม่ การที่พระองค์ทรงบันทึกภาพถ่ายและภาพยนตร์เหตุการณ์สำคัญและสถานที่สำคัญต่างๆไว้ตลอดการเจริญพระราชไมตรีนั้นมีคุณค่าควรยกย่องสำหรับมรดกความทรงจำของประเทศใน“อาเซียน”อีกด้วย

อ้างอิง

  1. อ้างจาก ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,ได้รับทุนสนับสนุนจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๙๘.
  2. เป็นรูปแบบการแสดงแต่ละฉากที่ผู้แสดงจะมีการแต่งกายสวยงาม แล้วออกมายืนเป็นหุ่นนิ่งบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง สลับกันไป ตามการบรรยายเหตุการณ์ในท้องเรื่องบทละคร
  3. อ้างในเอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสฯ หน้า ๙๙.
  4. หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล, จดหมายเหตุรายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓, กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓, หน้า ๖๑.
  5. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล, หม่อมเจ้า, จดหมายเหตุรายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓, กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓, หน้า ๘๒.
  6. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล, หม่อมเจ้า, จดหมายเหตุรายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓, กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓, หน้า ๘๒-๘๓.
  7. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล, หม่อมเจ้า, จดหมายเหตุรายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓, หน้า ๑๒๒.
  8. ประหยัด นิชลานนท์. “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๗๓” บทความเสนอในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๖ อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

บรรณานุกรม

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง และคณะ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย ๒๕๓๗กรุงเทพฯ :วัชรินทร์การพิมพ์ จำกัด (คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี)

ประหยัด นิชลานนท์. “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๗๓” บทความเสนอในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๖ อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล.หม่อมเจ้า. จดหมายเหตุรายวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระนคร :โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. ๒๔๗๓.

สุด จอนเจิดสิน. ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมถึงปัจจุบัน (พิมพ์ครั้งที่ ๓) , ๒๕๕๐, กรุงเทพฯ:โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ศิลปากร.

กรม. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๒๔, กรุงเทพฯ รัฐสภาจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวณ รัฐสภา วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๓.

ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,ได้รับทุนสนับสนุนจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๕๔