พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:06, 24 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==การเรียนรู้จากการอ่าน== [[พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

การเรียนรู้จากการอ่าน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิตหลากหลาย วิธีที่สำคัญ คือ การเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ

วิธีที่รู้ภาษาดีนั้น จะเรียนแต่เวลาเรียนจริงๆ เท่านั้นไม่พอ ต้องพยายามอ่านหนังสือ ถ้าคำใดไม่เข้าใจ ควรถามใครดูหรือดูใน dictionary ควรลองเทียบสำนวนที่แปลกๆ ดูกับภาษาไทย ลองแปลดูบ้าง ดังนี้ก็จะรู้ภาษาดีได้เร็ว [1]

วิธีการเรียนภาษาจากการอ่านหนังสือนี้ ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ทรงพระอุตสาหะวิริยะในการทรงพระอักษร คืออ่านเขียนเพื่อฝึกการใช้ภาษาและในการแสวงหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โปรดการอ่านหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศ แม้เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้วก็ยังทรงหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับเพื่อให้ทราบข่าวต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย ความสนพระทัยในการอ่าน ยังผลให้ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ศาสตร์หลายสาขาและทรงวิเคราะห์เรื่องราวสำคัญหลายเรื่องได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับพระคติที่ว่าการอ่าน เป็นหนทางเพิ่มความรู้และสติปัญญา

นอกจากจะโปรดการทรงพระอักษรแล้ว ยังทรงสนับสนุนให้ประชาชนแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือโดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดหนังสือที่แต่งดี และหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ทรงพระราชนิพนธ์คำนำด้วยพระองค์เอง นับเป็นการเผยแพร่สารสนเทศอันทรงคุณค่าให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งหอพระสมุดวชิราวุธ

เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและหนังสือใหม่ และให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณมาอยู่บริเวณวังหน้า จัดเป็นที่รวบรวมหนังสือสมุดไทย ใบลาน จารึก และสมุดภาพเขียนเก่า หอพระสมุดทั้งสองแห่งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า หอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน

การเรียนรู้จากประสบการณ์

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดการทรงพระอักษร แต่ก็ยังทรงเห็นว่าหนังสือไม่ใช่แหล่งเรียนรู้เพียงแหล่งเดียว แต่ยังมีแหล่งความรู้อื่นอีก เช่น การได้เห็นจริงทำจริง จึงโปรดการทดลองค้นคว้า ทอดพระเนตรภาพยนตร์ ฟังวิทยุ และเสด็จประพาสที่ต่างๆ ด้วยพระอุปนิสัยช่างสังเกต โปรดที่จะทรงฟังผู้รู้และให้บุคคลต่างๆ การแสดงความคิดเห็นแล้วทรงวิเคราะห์ด้วยพระวิจารณญาณ จึงนับว่าทรงใช้หลักวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาที่สอนให้ใคร่ครวญหาเหตุผลก่อนจึงตัดสินใจ เป็นแนวทางในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ

การเรียนรู้เนื่องด้วยกีฬา

สังคมไทยแบ่งประเภทของการเรียนรู้ออกเป็นด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา การฝึกฝนกีฬานับเป็นการเรียนรู้ด้านพลศึกษาโดยตรงแต่ไม่ใช่เพียงในด้านนั้น ด้วยเหตุที่พระพลานามัยไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงใส่พระทัยกับการทรงกีฬา เมื่อทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน สหราชอาณาจักร ทรงกีฬา เช่น คริกเก็ต สคว้อช ซึ่งเป็นกีฬาที่รับสั่งว่า เล่นไม่นานก็เหงื่อออก อีกทั้งทรงกรรเชียงเรือและทรงม้า วิทยาลัยอีตัน โรงเรียนราษฎร์แบบพับลิกสกูล (public school)ซึ่งชนชั้นนำอังกฤษนิยมส่งบุตรหลานเข้าเป็นนักเรียนแห่งนี้ ส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬา โดยยึดหลักการที่ว่าต้องเล่นกีฬาอย่างถูกต้อง รักและช่วยเหลือเพื่อนของตนและตามกติกาของกีฬานั้นๆ ดุ๊ค ออฟ เวลลิงตัน แม่ทัพอังกฤษผู้ชนะพระเจ้านโปเลียนที่ ๑ ในสงครามที่วอเตอร์ลู กล่าวว่าชัยชนะในครั้งนั้นเกิดจากสนามกีฬาของอีตัน หมายความว่ามีความอดทนและการทำงานเป็นทีมที่ฝึกมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนเป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อทรงครองราชสมบัติแล้ว ทรงเทนนิส แบดมินตันและกอล์ฟโดยทรงศึกษาจากคู่มือ ทรงซักถามเพิ่มเติมจากผู้รู้และทรงฝึกกับนักกีฬาที่มีความสามารถ ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ ก็ทรงว่ายน้ำหรือพายเรือร่วมกับเด็กๆ ในพระราชอุปการะ โปรดทอดพระเนตรกีฬาและทรงรับสมาคมกีฬาบางประเภทไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สมาคมกอล์ฟ และลอนเทนนิสสมาคม เป็นต้น

ในช่วงหลังของพระชนม์ชีพ พระพลานามัยอ่อนแอลง แต่ก็ยังทรงพระดำเนินตามป่าละเมาะ ทรงจักรยานไปตามถนนในหมู่บ้านที่ประทับเพื่อออกกำลังพระวรกายและสำราญพระทัยท่ามกลางธรรมชาติอย่างสงบ ปราศจากพระราชภาระทั้งปวงเกี่ยวกับการแผ่นดิน

การเรียนรู้เรื่องการปกครอง

"ในโรงเรียนปับลิกสกูลของอังกฤษนั้น มีการปกครองอย่างเข้มงวดมากเป็นลำดับชั้นกันไป คือ ครู เด็กชั้นใหญ่ เด็กชั้นเล็ก การปกครองกันเป็นลำดับและมีวินัยอย่างเคร่งครัด ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีเสรีภาพและอะไรต่ออะไรภาพบริบูรณ์ทุกอย่าง การปกครองในโรงเรียนนั้น เราน่าจะนึกว่าเขามิปล่อยให้เด็กฟรี ทำตามชอบใจหรือ เปล่าเลย การปกครองของโรงเรียนอังกฤษมีวินัยเคร่งที่สุด และให้เด็กปกครองกันเองเพื่อฝึกหัดให้รู้จักปกครองกันตามลำดับชั้น....และเด็กชั้นผู้ใหญ่ลงโทษเด็กเล็กได้ด้วย ทั้งนี้เป็นการฝึกฝนให้คนเรารู้จักว่า การปกครองตามลำดับชั้นผู้ใหญ่น้อย ต้องมีอยู่เสมอ ไม่มีย่อมปกครองกันไม่ได้ และประเทศก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ดังนี้อังกฤษจึงฝึกสอนเด็กแต่เล็กๆให้รู้จักเคารพต่อผู้นำของตน เมื่อโตขึ้นเป็นนักเรียนชั้นใหญ่แล้วก็ให้รู้จักปกครองเด็กเล็กโดยยุตติธรรม ให้รู้จักรับผิดชอบในการปกครอง…ถ้าจะให้ประเทศสยามดีงามต่อไป เราต้องฝึกหัดเด็กของเราให้รู้จักเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ และให้รู้จักรับผิดชอบที่จะปกครองผู้น้อยต่อไปอย่างยุตติธรรม ดังนี้การปกครองประเทศสยามจึงจะได้ผลดีที่สุด” [2]

จากข้อความในพระบรมราโชวาทนี้ แสดงว่าวิทยาลัยอีตันซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษา ใช้วิธีปกครองเด็กโดยฝึกฝนให้นักเรียนรุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง การปกครองดูแลกันเองนี้ต้องอาศัยความมีระเบียบวินัย น้ำใจนักกีฬา และความสามัคคี นับเป็นวิธีให้นักเรียนเรียนรู้การปกครองจากประสบการณ์ และเมื่อทรงรับพระราชภารกิจองค์รัชทายาท ก็ทรงฝึกฝนการบริหารราชการแผ่นดินโดยทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงวิเคราะห์ข้อราชการทุกแง่ทุกมุมอย่างลึกซึ้ง โปรดการซักถามและแสดงความคิดเห็นในการประชุมเสนาบดีสภาและองคมนตรีสภา ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การเรียนรู้จากการถ่ายภาพ การถ่ายและชมภาพยนตร์ และจากการฟังวิทยุ

เมื่อทรงว่างจากพระราชกิจ นอกจากจะทรงดนตรีและกีฬาแล้ว ยังสนพระทัยเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกจากหนังสือ ผู้ชำนาญ และการทรงทดลองใช้เอง กล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราชอัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดง คือ เรื่องแหวนวิเศษ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็ก เนื้อหากล่าวถึงพ่อเลี้ยงใจร้ายซึ่งพาลูกเลี้ยงห้าคนไปปล่อยในป่าบนเกาะ ต่อมาลูกๆ ได้รับแหวนวิเศษซึ่งใช้อธิษฐานขอสิ่งต่างๆ ได้ตามความพอใจจากนางพรายน้ำ และตามหาพ่อเลี้ยงจนพบ เมื่อทราบเรื่องราวของแหวนวิเศษ พ่อเลี้ยงจึงพยายามขโมยแหวนแต่ถูกจับได้และถูกสาบให้เป็นสุนัข ในที่สุดพ่อเลี้ยงก็สำนึกตัวและกลับกลายเป็นคนดี ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้เด็กๆ ให้รู้จักธรรมชาติที่แวดล้อม การดูแลปกป้องภัยให้แก่กัน รวมทั้งเกี่ยวกับเมตตาธรรม การทำดีได้ดีและมิให้ลุ่มหลงอำนาจเวทมนตร์

ในระยะนั้น ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อความรู้ความบันเทิงของประชาชนที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งและทรงอุปถัมภ์สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ และพระราชทานโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเพื่อเป็นแหล่งความรู้และบันเทิงของประชาชนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากภาพยนตร์แล้ว ยังสนพระทัยวิทยุอีกด้วย โปรดสดับ (ฟัง) วิทยุเป็นประจำ กิจการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการขยายโอกาสทางการเรียนรู้ของคนในสังคม งานไปรษณีย์และโทรศัพท์ได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วทันสมัยมากขึ้น เริ่มบริการส่งพัสดุและหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์ และเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศ คือ สถานีวิทยุกรุงเทพฯที่พญาไทซึ่งตั้งอยู่ที่วังพญาไท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเปิดการ ส่งวิทยุกระจายเสียงในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่า

การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป

สรุป

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงเรียนรู้จากการทรงพระอักษร (อ่านหนังสือ) การสังเกต การทดลอง การสอบถามจากผู้รู้ การฝึกฝนให้รู้จริง การทอดพระเนตรภาพยนตร์ และการสดับวิทยุ อีกทั้งได้ทรงส่งเสริมการจัดพิมพ์หนังสือและห้องสมุด การกีฬาเพื่อฝึกกายและใจ ภาพยนตร์และวิทยุในฐานะแหล่งการเรียนรู้ เป็นต้น ทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่ เท่ากับว่าทรงเรียนรู้ตลอดพระชนมชีพ และทรงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อ้างอิง

  1. คุณหญิงมณี สิริวรสาร. (๒๕๔๒). ม.ป.ท.: ม.ป.พ. หน้า ๕๙.
  2. พระบรมราโชวาทพระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕, ๒๕๓๖. น. ๒๕๘–๒๕๙.

บรรณานุกรม

คุณหญิงมณี สิริวรสาร. (๒๕๔๒). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (บ.ก.). (๒๕๓๖). พระบรมราโชวาทพระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕. ใน ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก (น. ๒๕๘–๒๕๙). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (บ.ก.). (๒๕๓๖). พระราชดำรัสเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียง วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓. ใน ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก (น. ๑๙๗). คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.