พัฒนาการคมนาคม : หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:02, 11 กุมภาพันธ์ 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

นับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มกิจการรถไฟในสยาม กิจการรถไฟได้มีความก้าวหน้าขึ้นตามเป็นลำดับ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกิจการรถไฟหลวงได้รับการพัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ทำให้การคมนาคมสัญจรระหว่างเมืองต่างๆมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยในปี ๒๔๗๔ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงนำหัวรถจักรดีเซลคันแรกเข้ามาใช้ในกิจการรถไฟไทย นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการนำรถจักรดีเซลมาใช้

จากนั้นมากรมรถไฟได้นำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้ โดยนำรถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด ๙๐๐ แรงม้ามาใช้ลากจูงขบวนรถด่วนสายใต้จากกรุงเทพไปปีนัง แต่เดิมการเดินทางจากกรุงเทพถึงปีนัง และจากปีนังถึงกรุงเทพจะใช้เวลาราว ๓๑ ชั่วโมง แต่เมื่อมีรถดีเซลไฟฟ้าทำให้การเดินทางในเส้นทางนี้ใช้เวลาเพียง ๒๖ ชั่วโมงกว่าเท่านั้น นับเป็นความก้าวหน้าของวงการรถไฟไทยอีกขั้นหนึ่ง

การใช้หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าอำนวยประโยชน์ดีกว่ารถจักรไอน้ำในหลายด้าน เพราะประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย ขจัดปัญหาความสกปรกที่เกิดจากเถ้าถ่านและการใช้ฟืน ผู้โดยสายจึงได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วย จากนั้นมาก็มีการนำหัวรถจักรดีเซลรุ่นใหม่ๆเข้ามาใช้ในประเทศไทยตามเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามสมัย

อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาคมนาคมด้านการรถไฟในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอีกยุคหนึ่งที่ทำให้การสัญจรไปมาของราษฎรมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ที่ห่างไกลได้ไปมาหาสู่กันได้ง่ายและสะดวกขึ้นจนกระทั่งทุกวันนี้

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖