สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:39, 18 พฤศจิกายน 2558 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นองค์กรทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต้องสิ้นสภาพลงหลังลงมติเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...” ที่ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีองค์กรทางการเมืองหนึ่งในชื่อ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้แต่งตั้งสมาชิก สปท. ครั้นเมื่อสมาชิกภาพมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว การประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 จึงได้ลงมติเลือก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ร้อยเอก ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. และให้นายอลงกรณ์ พลบุตร และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานคนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับ

ความเป็นมาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

การรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลรักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ เป็นผลล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และนำมาซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้มี 5 องค์กรทางการเมืองสำคัญซึ่งมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศทั้งระบบ ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงเป็นเสมือนต้นธารของ “แม่น้ำ 5 สาย” ของการปฏิรูปประเทศ สำหรับ สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถือได้ว่าเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการปฏิรูปประเทศและการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งยังต้องดำเนินงานปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “แฝดอิน-จัน” กล่าวคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภายหลังจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจาก สปช. สนช. ครม. คสช. ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยว แล้ว) จะต้องได้รับการเห็นชอบจาก สปช. ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่ สปช. มีมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นผลให้ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสภาพลง และให้มีการสรรหาสมาชิก สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (มาตรา 38)

ทั้งนี้ ในสภาพการณ์ที่ความคิดเห็นทางการเมืองจากหลายฝ่าย ทั้งสมาชิก สปช. บางส่วน นักวิชาการ นักการเมือง และภาคสังคม ต่างมุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมิได้มีกลไกที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม จึงเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อกำหนดให้มีกระบวนการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ วันที่ 10 มิถุนายน 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 สนช. มีมติเอกฉันท์ 203 เสียง เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุผลที่ปรากฏเป็นหมายเหตุไว้ตอนท้ายว่า “เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ไม่เพียงแต่จะกำหนดให้มีกระบวนการประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป อันจะเป็นกลไกสะท้อนการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เท่านั้น หากแต่ยังเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมืองอย่าง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย กล่าวคือ กำหนดให้ สปช. สิ้นสุดลงโดยปริยายหลังการลงมติเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้มี “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ขึ้นทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 200 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี (มาตรา 38 วรรคหนึ่งและมาตรา 39/2) หาก สปช. มีมติเห็นชอบ ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติทั่วประเทศ (มาตรา 37) โดยที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นที่สำคัญเสนอต่อ สนช. แต่หาก สปช. ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอันตกไป) ก็จะส่งผลให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสภาพตามไปด้วย (มาตรา 38) และให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่ได้รับแต่งตั้ง (มาตรา 39/1)

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 67/2558 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ผลปรากฏว่าที่ประชุม สปช. มีมติไม่เห็นชอบ 135 เสียง ต่อ 105 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป และต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิกิริยาของ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า

หลังจากนี้พวกผมจะไปทำหน้าที่ประชาชนคนไทยธรรมดา และอาจเจอในสถานที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันว่าจะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ทั้งนี้ผมเสียดายสิ่งที่เขียนไว้ให้ประชาชนให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสที่จะหมดไป ผมเสียดายเรื่องการปฏิรูปที่ดีๆ ที่จะบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวถึงประชาชนโดยตรง...ประชาชนจะเป็นใหญ่หรือให้ความสำคัญหรือไม่ และการปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ต้องจับตามอง

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการลงมติดังกล่าวยังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเมื่อมีข่าวแพร่หลายในหมู่สื่อมวลชนหลายวันก่อนหน้าวันลงมติว่ามีขบวนการ “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” ของสมาชิก สปช. จำนวนหนึ่ง ด้วยถูกมองว่ามีแรงจูงใจที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป


โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

การสิ้นสุดลงของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 กำหนดให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นทำหน้าที่แทนและสืบต่อภารกิจหน้าที่ซึ่ง สปช. ได้ดำเนินการไว้แล้ว ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 200 คน ทั้งนี้ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้แต่งตั้งสมาชิก สปท. โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทางเพื่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ 11 ด้าน (มาตรา 27) ดังนี้ 1. การเมือง 2). การบริหารราชการแผ่นดิน 3). กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4). การปกครองท้องถิ่น 5). การศึกษา 6). เศรษฐกิจ 7). พลังงาน 8). สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9). สื่อสารมวลชน 10). สังคม และ 11). ด้านอื่นๆ โดยประสานงานกับ สนช. ครม. คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ตลอดจนส่วนราชการและประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความสัมฤทธิผลภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ หากเห็นว่ามีความจำเป็นตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ ให้ สปท. จัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณา แต่ในกรณีพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้เสนอต่อ ครม. เพื่อดำเนินการต่อไป (มาตรา 31)

สำหรับโครงสร้างการทำงานของ สปท. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิก สปท. ให้เป็นประธาน สปท. คนหนึ่ง และเป็นรองประธานสองคนตามมติของ สปท. (มาตรา 39/2 วรรคสาม) ดังนั้น ในการประชุม สปท. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ประชุมได้มีมติเลือก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ร้อยเอก ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานคนที่ 1 และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานคนที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... พิจารณาจัดทำร่างข้อบังคับการประชุมฯ แล้วเสร็จ ในการประชุม สปท. ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 จึงมีมติเห็นชอบตามร่างข้อบังคับฯ ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 11 คณะ โดยแต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิก 11-19 คน ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาปฏิรูปและข้อเสนอแนะการปฏิรูป อันสอดคล้องกับหน้าที่การปฏิรูปด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน (ข้อ 73) ดังนี้

(๑) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๒) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๓) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๔) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๕) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๖) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง การเกษตร อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๗) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๘) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๙) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๑๐) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ชุมชนเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส การจัดการด้านแรงงาน และการคุ้มครองผู้บริโภคให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

(๑๑) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม

มีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ อาทิ กีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา ระบบค่านิยม คุณธรรม และจริยธรรมให้สัมฤทธิผลรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่สภามอบหมาย

นอกจากนั้นยังกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ข้อ 77, 78) ตลอดจน คณะกรรมการประสานงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อประสานงานกับ สนช. ครม. คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานและองค์กรอื่น รวมถึงส่วนราชการ และประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน (ข้อ 15) ที่สุดแล้วจึงกล่าวได้ว่า ความแตกต่างอันเป็นสาระสำคัญระหว่าง สปช. ซึ่งสิ้นสุดลง กับ สปท. ที่เข้ามาสืบสานงานด้านการปฏิรูปประเทศ นอกจากในด้านจำนวนสมาชิกที่ลดลงจากไม่เกิน 250 คน (สำหรับ สปช.) เป็นไม่เกิน 200 คน (สำหรับ สปท.) และวิธีการสรรหาสมาชิกที่แตกต่างกันแล้ว ยังเป็นการแก้ปมปัญหา "แฝดอิน-จัน" ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดไว้ กล่าวคือ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 สปท. จะไม่มีความผูกพันในเชิงตัดสินการดำรงอยู่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีบทบาทหน้าที่หลักในการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ ตลอดจนดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุสัมฤทธิผลตามความคาดหวังที่รัฐธรรมนูญได้วางกรอบไว้

บรรณานุกรม

“ข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2558.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 279ง. 3 พฤศจิกายน 2558.

“ชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้.” กรุงเทพธุรกิจ. (6 กันยายน 2558), 4.

“นิด้าโพล ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่ 64.91 % เห็นด้วยทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี58.” มติชนออนไลน์. (23 เมษายน 2558). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1429763594>. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558.

“ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 252 ง. 13 ตุลาคม 2558.

“ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 239 ง. 5 ตุลาคม 2558.

“เปรียบกมธ.ฯ-สปช.เป็น’แฝดอิน-จัน’.” เดลินิวส์ออนไลน์. (20 มกราคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/295333>. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558.

“รธน.ชั่วคราว 2557 แม่น้ำ 5 สาย-กู้วิกฤตชาติขัดแย้ง.” บ้านเมือง. (24 กรกฎาคม 2557), 3.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนที่ 64 ก. 15 กรกฎาคม 2558.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนที่ 64 ก. 15 กรกฎาคม 2558.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557).

“ล็อบบี้สำเร็จมติ135 :105 คว่ำร่าง รธน..” ผู้จัดการรายวัน. (7 กันยายน 2558), 11.

“‘วันชัย’ ชี้ 135 เสียงโหวตคว่ำ รธน.เป็นไปตามแผน.” เดลินิวส์ออนไลน์. (6 กันยายน 2558). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/346260>. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558.

“สนช.ส่งนายกฯทูลเกล้าฯ ฉลุย 3 วาระร่างแก้ไข รธน..” คมชัดลึก. (19 มิถุนายน 2558), 15.

“สปช.คว่ำร่างรธน.สายทหาร-จังหวัดเทไม่รับ135ต่อ105บวรศักดิ์ชี้มีใบสั่ง.” เดลินิวส์. (7 กันยายน 2558), 2.

“สัมภาษณ์พิเศษ วิรัตน์ กัลยาศิริ ชูธงประชามติ รธน. ปลดชนวนความขัดแย้ง.” มติชน. (27 เมษายน 2558), 11.

“สายทหาร-จังหวัดเทคะแนนเสียงชี้ขาด 135สปช.คว่ำรธน..” คมชัดลึก. (7 กันยายน 2558), 14.

อ้างอิง