ประชาธิปไตย 4 วินาที
ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร
ความหมาย
“ประชาธิปไตย 4 วินาที” (หรือ “ประชาธิปไตย 3 วินาที” หรือ “ประชาธิปไตย 2 วินาที สถาปนาเผด็จการ 4 ปี”) เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเมืองไทยเพื่ออธิบายถึงความไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อการเลือกตั้งในฐานะกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง/อำนาจทางการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่าประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสใช้อำนาจอันเป็นสิทธิของตนโดยชอบชั่วขณะที่เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ครั้งเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงประชาชนก็หาได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้อำนาจนั้นได้โดยตรงอีกต่อไป เพราะกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลการให้อำนาจ (authorization) แก่ตัวแทนทางการเมืองให้ใช้อำนาจนั้นแทนตนในสถาบันรัฐสภาหรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ บ่อยครั้งข้อกำหนดตัดสินใจที่เกิดขึ้นโดยตัวแทน (โดยเฉพาะกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) จึงมิได้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ทั้งยังบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนจนก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันการเมืองที่เป็นการทางการ กล่าวได้ว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ก็คือการแสดงออกถึงด้านที่เป็นข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (representative democracy) นั่นเอง
สำหรับ “ประชาธิปไตย 4 วินาที” นี้ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2548 ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำนี้จึงถูกใช้ต่อมาเพื่อแสดงความไว้วางใจระบบเลือกตั้งและกลไกรัฐสภาตามปกติภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งวิกฤตการเมืองปี 2556-2557 ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง เมื่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังจากเผชิญกับแรงกดดันในกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง) และร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
นัยสำคัญทางทฤษฎี
...ประชาชนชาวอังกฤษเชื่อว่าตนมีเสรี ซึ่งผิดมหันต์ พวกเขามีเสรีภาพระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ทันทีที่สมาชิกได้รับเลือก ประชาชนก็ตกเป็นทาสหาใช่อื่นใดไม่ ในชั่วแล่นเดียวของเสรีภาพ ประชาชนชาวอังกฤษก็ทำให้การใช้เสรีภาพนั้นควรค่าแก่การสูญเสียมันไป
Jean-Jacques Rousseau [1]
ถ้อยแถลงของนักปรัชญาการเมืองแห่งยุคภูมิธรรมอย่างฌ็อง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าการเลือกตั้งไม่ได้มีความหมายเทียบเคียงได้กับประชาธิปไตยและผู้แทนที่ถูกเลือกก็ไม่ได้มีสิทธิตัดสินแทนประชาชนผู้เลือกตั้ง เพราะในสังคมเสรีการใช้อำนาจตอบรับหรือปฏิเสธข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ต้องมาจากและกระทำโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น แม้ในตำแหน่งบริหารจะสามารถมีผู้แทนใช้อำนาจบังคับกฎหมายให้เป็นผลในทางปฏิบัติได้ แต่ในด้านอำนาจนิติบัญญัติแล้วการแทนตนไม่เคยมีอยู่และไม่เคยถูกรับรู้ในสังคมก่อนสมัยใหม่ ครั้นเมื่ออำนาจอธิปไตยถูกแทนไม่ได้เช่นเดียวกับที่อำนาจนั้นแบ่งแยกมิได้เช่นกัน ผู้แทนที่ถูกเลือกมีสิทธิเพียงกระทำตามอาณัติสัญญาของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเท่านั้น หากกฎหมายใดมิได้ถูกยอมรับจากประชาชนโดยตรงแล้วก็เท่ากับว่ากฎหมายนั้นไม่มีความเป็นกฎหมายแต่อย่างใด บรรยากาศของเสรีภาพในชั่วขณะที่มีการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นเพียงเพื่อให้ประชาชนได้สูญเสียเสรีภาพนั้นไปอีกครั้งหนึ่ง
สอดคล้องกับข้อสรุปอันโด่งดังของ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ที่ยืนยันว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะมีสิทธิอำนาจในการปกครองแท้จริงตามตัวอักษร เพราะประชาชนมีโอกาสเพียงเลือกรับหรือปฏิเสธผู้ที่จะมาทำหน้าที่ปกครองประเทศผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง อำนาจการตัดสินใจก็ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้ง (elective elites) วิธีการขั้นต่ำที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรี บริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม ในแง่นี้สถานภาพของประชาธิปไตยจึงไม่มีอะไรมากไปกว่ากระบวนการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมือง ขณะที่ปล่อยปละละเลยข้อเรียกร้องของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากไว้เบื้องหลัง/นอกสภาหรือมิได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ จนกล่าวได้ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองของนักการเมือง”[2] อย่างไรก็ตาม สำหรับนักประชาธิปไตยที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนแล้ว แม้การเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น (necessary condition) แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากถาวรในสังคมนั้นๆ ได้ หากเปรียบเทียบกันแล้วระบบตัวแทนจึงเป็นเพียงตัวเลือกระดับรอง (the second best) จากการปกครองตนเองโดยตรงของประชาชน ข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) จึงกลายเป็นทางเลือกต่อเสริมเติมข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน [3]
จริงอยู่การเลือกตั้งไม่ได้มีความหมายเทียบเคียงเท่ากับประชาธิปไตยโดยปริยาย เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในหลายประเทศก็ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จำกัดโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทั้งยังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามอำเภอใจโดยปราศจากกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ (ไม่ว่าจะเป็น อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ประธานาธิบดีเปรู อัสคาร์ อคาเยฟ ประธานาธิบดีคีย์กีซสถาน อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย) แต่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยโดยไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน เพราะการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำของการแสดงออกถึงสารัตถะของประชาธิปไตย กล่าวคือ แม้ความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม สถานภาพของประชาชนในประเทศจะเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคม แต่การเลือกตั้งจะเป็นการประกันสิทธิที่เท่าเทียมกันทางการเมืองผ่านการเคารพหลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” (one-person, one-vote) ของประชาชน เมื่อทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีอิสระในการตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศ จำนวนจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดความชอบธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในแง่นี้รัฐบาลที่ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากจึงวางอยู่บนความยินยอมพร้อมใจของประชาชนผู้ถูกปกครอง ในทางกลับกันก็ถูกควบคุม/ได้รับอิทธิพลจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเมื่อถึงสถานการณ์จำเป็น
ความแพร่หลายของการใช้คำ “ประชาธิปไตย 4 วินาที”
ประชาธิปไตยของเรามันมีแค่ 4 วินาทีเองนะ ช่วงที่กาบัตรเสร็จแล้วเดินไปหย่อนลงหีบ นับ 1..2...3....4..... นั่นก็จบแล้ว สิทธิของเราหมดแล้วนะ เพราะว่าหลังจากนั้นแล้ว เท่าที่เป็นไปในอดีต รัฐบาลส่วนใหญ่จะทำอะไรต่อจากนั้น ถึงเราไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่เคยฟัง...
สนธิ ลิ้มทองกุล [4]
แม้คำว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” (หรือบางครั้ง “ประชาธิปไตย 3 วินาที”) จะถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยกลุ่มต่างๆ ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมไทย ทั้งโดยนักวิชาการ นักปฏิรูป แกนนำมวลชน สื่อมวลชน ไปจนถึงประชาชนโดยทั่วไป แต่ในแง่ความหมายล้วนแสดงให้เห็นความไม่ไว้วางใจที่มีต่อนักการเมือง พรรคการเมือง และกระบวนการเลือกตั้ง เมื่อเริ่มปรากฏการใช้คำนี้ครั้งแรกในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งต่อมากลายเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวด้วยเสียงข้างมากในสภา (377 ที่นั่ง) ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านรวมกันได้เพียง 123 ที่นั่งเท่านั้น [5] ขณะที่นายกรัฐมนตรีอ้างเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ก็ต้องแบกรับแกงกดดันจากสังคมที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำงาน ความโปร่งใสในบริหารราชการแผ่นดิน ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ปิดกั้นการวิจารณ์จากนักวิชาการ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะต้องลงจากอำนาจในเวลาต่อมาด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ แต่คำว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ก็ยังถูกใช้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเข้าใจการใช้คำและความหมายของคำ สามารถพิจารณาได้จากมิติต่างๆ ดังนี้
มติที่หนึ่ง "ประชาธิปไตย 4 วินาที" สื่อแสดงถึงสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยที่แท้จริงในอุดมคติ เมื่อประชาธิปไตยในแบบแรกมีความหมายเพียงการเลือกตั้งจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงได้เป็นครั้งคราวและในชั่วขณะเวลาสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนั้นก็ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นหากระบบตัวแทนสามารถแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง องค์ประกอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ควรจะเป็นไปในสัดส่วนเดียวกันกับองค์ประกอบประชากรตามฐานเศรษฐกิจทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ชี้ให้เห็นว่า "ร้อยละ 90.20 มาจาก ชนชั้นนำในวงการต่าง ๆ มีเพียง ร้อยละ 3.20 เท่านั้นที่มาจาก เกษตรกร และ ร้อยละ 2.80 มาจาก อาชีพรับจ้าง พอจะสรุปได้ไหมว่า ประชาธิปไตย 4 วินาที - ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยากจนและด้อยโอกาส" ดังนั้น "ทำอย่างไรจะให้เกิด ประชาธิปไตยแท้ + รัฐธรรมนูญจริง ไม่ใช่แค่ ประชาธิปไตย 4 วินาที + รัฐธรรมนูญทอนตังค์ระหว่างผู้มีอำนาจ คือเมื่อสังคม เรียกร้องต้องการการเลือกตั้ง ก็ไม่มีปัญหา ได้การเลือกตั้ง – แต่ไม่ได้ประชาธิปไตย สุดท้ายก็ไม่ต่างจาก บทสรุปหลังวิกฤตทุกครั้ง คือได้ประชาธิปไตยแต่เพียง รูปแบบ ส่วน เนื้อหา นั้นแทบไม่ได้" [6]
มิติที่สอง หากยึดถือว่า "ประชาธิปไตย 4 วินาที" ก็คือ "ประชาธิปไตยโดยมีผู้แทน" ซึ่งอาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นหนทางเข้าสู่ตำแหน่ง/อำนาจทางการเมืองอย่างถูกต้องชอบธรรม การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อวางอยู่บนเงื่อนไขอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ 1) การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทั้งในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในอันที่ปราศรัยหาเสียงเพื่อนำเสนอนโยบาย แนะนำตัวผู้สมัคร และแข่งขันกันอย่างเสรีให้ประชาชนผู้เลือกตั้งตัดสินใจพิจารณา 3) ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องไม่ถูกบังคับขัดขวาง รับอามิสสินจ้าง หรือกล่าวได้ว่าผู้เลือกตั้งต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกโดยใช้วิจารณญาณอันเป็นอิสระแห่งตน ขณะที่การเลือกตั้งของไทยเป็นเพียงพิธีการสัญลักษณ์ประชาธิปไตย ดังที่ หนังสือพิมพ์แนวหน้า เน้นย้ำว่า "ในทางความเป็นจริงเป็นระบอบธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ ที่เหล่านักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ทุ่มเงินมหาศาลซื้อพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือ ส.ส.เพื่อให้ได้เสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลคุมอำนาจบริหารประเทศ จากนั้นทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารถอนทุนบวกกำไรมหาศาล ซึ่งนอกจากสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้เจ้าของพรรคธุรกิจการเมืองแล้ว เงินจากการทุจริตส่วนหนึ่งยังถูกใช้ซื้ออำนาจรัฐเพื่อผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด" [7]
มิติที่สาม ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง นักการเมืองและพรรคการเมืองมักอ้างความชอบธรรมจากเสียงข้างมากในการใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยปราศจากความพร้อมรับผิด (accountability) กล่าวคือ ผู้ได้รับเลือกตั้งมักเข้าใจ “การเมือง” ในความหมายแคบซึ่งจำกัดขอบเขตอยู่เพียงสถาบันการเมืองที่เป็นทางการอย่างรัฐสภาและพรรคการเมืองเท่านั้น องค์กรที่เป็นทางการเหล่านี้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการความเป็นไปของประเทศ โดยประชาชนไม่อาจเสนอข้อเรียกร้องใดๆ ส่วนเสียงของประชาชนจึงถูกละเลยมองข้ามอยู่เสนอ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่างกฎหมาย การยื่นตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น และข้อร้องเรียนอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้นนักการเมืองยังใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องจนทำให้ปัญหาสำคัญของประเทศอีกหลายด้านไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างจริงจัง ทัศนะเช่นนี้มีผลอย่างยิ่งต่อความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง ดังที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แสดงจุดยืนทางการเมืองไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2554 ว่า “เมื่อก่อนเขาเข้าคูหาไปใช้สิทธิในการหย่อนบัตร 4 วินาทีก็หมด แต่ครั้งนี้เขาจะใช้ 4 วินาทีด้วยความสะใจบ้างที่จะไม่เลือกใครเลย พันธมิตรฯ และประชาชนที่โหวตโน มีจิตใจบริสุทธิ์...ยึดถือความถูกต้อง ยึดถือว่าในสภาวันนี้...เข้าไปปู้ยี่ปู้ยำชาติบ้านเมือง คนที่โหวตโนเขาไม่ยอมให้สิทธิของตัวเองไปแปดเปื้อนมีราคีกับสิ่งสกปรกโสมมของการเมืองไทย” [8]
มิติที่สี่ จากทัศนะทั้ง 3 ประการข้างต้นได้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อผู้คนในสังคมในด้านความเข้าใจและความคาดหวังที่มีต่อการเลือกตั้งในฐานะวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย มิพักต้องกล่าวว่าการเลือกตั้งในสังคมไทยไม่ได้เป็นวิธีการเดียวที่ได้รับการยอมรับว่ามีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง เมื่อเทียบเคียงกับวิธีการได้อำนาจรัฐในแบบอื่นๆ แล้ว ดูเหมือนการเลือกตั้งจะเปราะบางต่อการตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์สม่ำเสมอตลอดมา ทัศนะที่มีต่อ "ประชาธิปไตย 4 วินาที" ในด้านหนึ่งจึงเป็นการปฏิเสธความชอบธรรมของการเลือกตั้งและผลพวงของการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งยังเบียดขับส่วนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นไม่มีความหมายไร้ค่าศูนย์เปล่า เพราะไม่เคารพเชื่อมั่นการตัดสินใจของผู้อื่นในฐานะปัจเจกบุคคลที่เท่าเทียมกันกับตน ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการแผ้วถางทางให้กับการใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอย่างการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธ หรือรัฐประหารเงียบยึดอำนาจรัฐบาลที่ได้อำนาจมาอย่างถูกต้องชอบธรรมในเวลาต่อมา จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์การเมืองไทยไม่จบสิ้นหลายช่วงทศวรรษ ผลที่สุดก็คือ ประชาธิปไตยของไทยไม่อาขวางหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงลงตัว เพราะอย่างน้อยที่สุดคนจำนวนหนึ่งก็พร้อมยอมรับวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง
ข้อถกเถียงสำคัญทางวิชาการ
ในบริบทของสังคมไทย "ประชาธิปไตย 4 วินาที" ถูกนำไปใช้รณรงค์ทางการเมืองเพื่อลดทอนความสำคัญจำเป็นของการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง แต่ขณะเดียวกันปัญญาชนนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็ยังเห็นว่าแม้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (electoral democracy) จะมีข้อบกพร่องมากมายซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดไม่เพียงแต่ในประเทศไทย หากรวมถึงความเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แล้ว การเลือกตั้งไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการกำหนดตัดสินใจว่าใครควรจะเป็นผู้ถืออำนาจรัฐ อันถือเป็นวิวัฒนาการก้าวสำคัญของรูปแบบการปกครองของมนุษย์ที่เปลี่ยนจากการใช้กำลังอำนาจ/ศักยภาพในการใช้กำลังวัดเทียบเปรียบค่าเพื่อจะกำหนดตัวผู้ปกครองมาสู่การใช้บัตรเลือกตั้งเป็นเครื่องมือประชันขันแข่งเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ปกครองอย่างสันติ หากแต่ “เวลาคนเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้งที่มักเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที”...เวลานั้นเป็นช่วงขณะที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมนุษย์ในคูหาเลือกตั้งกลายเป็น Autonomous being เป็นปัจเจกชนที่มีอำนาจเต็มตัว”[9] เวลาชั่วขณะของการเลือกตั้งจึงเป็นการยืนยันในความเป็นมนุษย์ที่มีอิสระในการกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของประเทศด้วยตนเอง อันถือเป็นคุณสมบัติโดดเด่นของหนึ่งของอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ในทำนองเดียวกันกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่มองว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” สะท้อนถึงข้อจำกัดของกลไกประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง เพราะหากมีแต่การเลือกตั้งโดยปราศจากสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการแสดงความเห็น การรวมตัวสมาคมของพลเมือง การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในมิติอื่นๆ และหลักนิติรัฐ นิติธรรม ก็ไม่อาจเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ในทางกลับกันหากสิทธิด้านอื่นๆ ทั้งหมดได้รับการรับรองอย่างกว้างขวางแต่ปราศจากการเลือกตั้งแล้ว เราก็ไม่อาจมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้เช่นกัน เพราะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องของนักการเมือง-นักเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่สามัญชนคนธรรมดาได้มีพื้นที่ มีโอกาส มีอำนาจในการกำหนดชีวิตทางการเมืองของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น หากแม้ “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ยังไม่สามารถเกิดมีขึ้นได้ ก็เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะมีประชาธิปไตยที่มีสุขภาวะสมบูรณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ จึงเสนอให้พิจารณาว่า "สำหรับประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบก็คือเนื้อหา เราแยกออกจากกันไม่ได้ เราจะสร้างประชาธิปไตยไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ยอมรับหลักการความเสมอภาคเท่าเทียมทางการเมืองและสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน (เนื้อหา) ซึ่งสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง (รูปแบบ)" [10]
ขณะที่ ยุกติ มุกดาวิจิตร มองว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นพิธีกรรมไร้แก่นความหมาย “3 วินาที” แต่เป็นวัจนกรรม (speech act) ที่ผูกพันประชาชนในรัฐทั้งมวลไว้ ในแง่ที่ว่าการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งต้องกระทำผ่านการไตร่ตรอง ครุ่นคิด เก็บข้อมูล ประมวลข้อมูล พินิจพิจารณา กำหนดความเสี่ยง และการต่อรองมากมาย ไม่ต่างจากการทำพันธะสัญญาอื่นๆ อย่าง สัญญาใจ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาสังคม แต่การเลือกตั้งสำคัญกว่าพันธะสัญญาอื่นๆ ข้างต้น ตรงที่เป็นพันธะสัญญาที่ประชาชน (แม้จะแตกต่างเหลื่อมล้ำด้านสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ชาติกำเนิด และการศึกษา ฯลฯ) ก็มีอำนาจเสมอหน้ากันในการกระทำต่อผู้ปกครองเป็นการชั่วคราว ทั้งยังสามารถเรียกยึดอำนาจคืนได้หากผู้ปกครองฉ้อฉล เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างชาวเมืองกับชาวชนบทแล้ว การเลือกตั้งอาจไม่ได้มีความหมายสำคัญในการยกระดับการกินดีอยู่ของฝ่ายแรก เพราะต่อให้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รัฐบาลก็ยินดีตอบสนองต่อความต้องการในทุกๆ ด้าน ขณะที่ฝ่ายหลัง การเลือกตั้งมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมหาศาล ชาวชนบทจึงหวงแหนการเลือกตั้งมากกว่าชาวเมืองอย่างเห็นได้ชัด [11]
บรรณานุกรม
คำนูณ สิทธิสมาน. “ประชาธิปไตย 4 วินาที.” ผู้จัดการออนไลน์. (14 กุมภาพันธ์ 2548). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000022522>. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558.
เซี่ยงเส้าหลง. ผู้จัดการรายวัน. (25 ธันวาคม 2549), 16.
““ดร.ชัยวัฒน์” เตือน อย่าดูถูก “ประชาธิปไตย4วินาที” ทำอย่างไรไม่ให้การรณรงค์หาเสียงเป็นที่ผลิตความเกลียดชัง.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (7 พฤษภาคม 2554). เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1304756307>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2553). “ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ.” October, 9, 7-53.
“ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง.” แนวหน้า. (23 ธันวาคม 2556), 3.
พรรณพร สินสวัสดิ์. (รวบรวม). (2548). ประวัติการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาไทย (กรุงเทพฯ: กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ยุกติ มุกดาวิจิตร. “ศรัทธาต่อการเลือกตั้ง.” ข่าวสดออนไลน์. (27 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE9ERTFNakl5TlE9PQ==>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558.
““สนธิ” ลั่นโหวตโนลูกเดียว จะเกิดอะไรขึ้นเราไม่สน.” ประชาไท. (16 พฤษภาคม 2554). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/node/34561/talk>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558.
Baber, Benjamin. (1984). Strong Democracy: Participatory Politics for a New Age. Berkley: University of California Press.
Elster, Jon. (ed.). (1998). Deliberative Democracy. Cambridge University Press.
Gutmann, Amy and, Dennis Thompson. (1996). Democracy and Disagreement. Massachusetts: Harvard University Press.
Pateman, Carole. (1995). Participatory and Democratic Theory. Cambridge: Cambridge University Press.
Rousseau, Jean-Jacques. (1968). The Social Contract. Translated and Introduced by Maurice Cranston. Hammonworth: Penguin Books.
Schumpeter, Joseph A. (2006). Capitalism, Socialism and Democracy. 6th edition. New York: Routledge.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2551). “นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท: มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย.” ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 6, ฉบับที่ 4, 140-155.
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. (2553). การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
อ้างอิง
- ↑ Jean-Jacques Rousseau, The Social Contract, translated and introduced by Maurice Cranston (Hammonworth: Penguin Books, 1968), Book II, Chap. 15, p. 141.
- ↑ Joseph A. Schumpeter, Capitalism, Socialism and Democracy, 6th edition (New York: Routledge, 2006), pp. 284-285.
- ↑ โปรดดูงานกลุ่มนี้ใน Carole Pateman, Participatory and Democratic Theory (Cambridge: Cambridge University Press, 1995); Benjamin Baber, Strong Democracy: Participatory Politics for a New Age (Berkley: University of California Press, 1984). Amy Gutmann and Dennis Thompson, Democracy and Disagreement (Massachusetts: Harvard University Press, 1996). Jon Elster (ed.), Deliberative Democracy (Cambridge University Press, 1998).
- ↑ คำนูณ สิทธิสมาน, “ประชาธิปไตย 4 วินาที,” ผู้จัดการออนไลน์, (14 กุมภาพันธ์ 2548). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000022522>. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558.
- ↑ ทั้งนี้พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. เขต 310 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 67 ที่นั่ง พรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง (ส.ส.เขต 70 และบัญชีรายชื่อ 26) พรรคชาติไทย 25 ที่นั่ง (ส.ส.เขต 18 และบัญชีรายชื่อ 7) และพรรคมหาชน 2 ที่นั่ง (ส.ส.เขต 2 และไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ) โปรดดูข้อมูลจาก พรรณพร สินสวัสดิ์ (รวบรวม), ประวัติการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาไทย (กรุงเทพฯ: กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2548), หน้า 71.
- ↑ เซี่ยงเส้าหลง, ผู้จัดการรายวัน, (25 ธันวาคม 2549), 16.
- ↑ “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง,” แนวหน้า, (23 ธันวาคม 2556), 3.
- ↑ ““สนธิ" ลั่นโหวตโนลูกเดียว จะเกิดอะไรขึ้นเราไม่สน,” ประชาไท, (16 พฤษภาคม 2554). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/node/34561/talk>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558.
- ↑ “ดร.ชัยวัฒน์” เตือน อย่าดูถูก “ประชาธิปไตย4วินาที” ทำอย่างไรไม่ให้การรณรงค์หาเสียงเป็นที่ผลิตความเกลียดชัง," ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, (7 พฤษภาคม 2554). เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_ detail.php?newsid=1304756307>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558.
- ↑ ประจักษ์ ก้องกีรติ, “ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ,” October, 9 (ตุลาคม, 2553), 34.
- ↑ ยุกติ มุกดาวิจิตร, “ศรัทธาต่อการเลือกตั้ง,” ข่าวสดออนไลน์, (27 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE9ERTFNakl5TlE9PQ==>. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558.