นิรโทษกรรมเหมาเข่ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:25, 10 พฤศจิกายน 2558 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

“นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” โดย “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เป็นจุดพลิกผันสำคัญอันนำไปสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้าน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ. ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับเดิมของนายวรชัย เหมะ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลได้แก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัดของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง “ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช.” ที่สำคัญยังรวมถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “ผู้ทุจริตคอร์รัปชั่น” ด้วย  

ความเป็นมาของการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

ในการประชุมพรรคเพื่อไทยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ได้กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเห็นว่าควรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ความว่า

...ผม ได้คุย และขอบคุณท่านเฉลิมแล้ว เห็นด้วย จะทำอะไรควรทำอะไรให้มันสุดซอย ร่างของวรชัย เหมือนเดินไปครึ่งๆ กลางๆ มันไม่สุดซอย เมื่อจะทำแล้วก็ทำให้มันสุดซอย แต่ถ้าจะเร่งเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญ 3 วาระรวด ไม่เห็นด้วย จะถูกฝ่ายค้านโจมตีอีก ขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงเหตุผล รายละเอียดทั้งหมด อยากให้เอาเข้าสมัยประชุมหน้า ไม่เป็นอะไร ผมรอได้...

พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มีสาระสำคัญในมาตรา 3 ความว่า

“...มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวในระหว่าง พ.ศ. 2549... ...ถ้าอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลงจนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ...”

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จำนวน 163 คน เข้าชื่อเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 มีการแถลงมติจากพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยขอสนับสนุน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. ...” ของนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และชี้แจงว่า พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติซึ่งนำโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั้น เป็นการใช้เอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเสนอกฎหมาย ไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

แต่กระนั้น “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. ...” ก็ต้องเผชิญกับกระแสการต่อต้านกรณีการ “เหมายกเข่ง” หรือ “สุดซอย” ทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ ในที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ได้ลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวที่เสนอแก้ไขโดย นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ รองประธานกรรมาธิการ ด้วยคะแนน 18 เสียง ซึ่งเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ยกเว้น นายสามารถ แก้วมีชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังนี้

1). มาตรา 3 มีสาระสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง และรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในมาตรานี้ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ได้ยกมือสนับสนุนร่างมาตรา 3 ด้วย แต่กระนั้น กรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า การยกร่างในมาตรานี้เป็นการทำตามใบสั่งและจงใจล้างความผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร และหากเป็นไปตามถ้อยคำดังกล่าวแล้วจะเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ โดยเป็นการสอบถามจาก นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการ

2). มาตรา 4 มีสาระสำคัญคือ ให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษาให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และหากอยู่ในระหว่างการรับโทษให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด ในมาตรานี้ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ เสนอปรับถ้อยคำโดยกำหนดให้ “องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด” ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากก็เห็นชอบตามถ้อยคำที่เสนอ

3). มาตรา 5 มีสาระสำคัญว่าด้วยการระงับสิทธิ์ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม จะดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใด ๆ ในมาตรานี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ เสนอให้เพิ่มเติมถ้อยคำที่ว่า “อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง” ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากก็เห็นชอบตามถ้อยคำที่เสนอ

4). มาตรา 6 มีสาระสำคัญว่าด้วยการตัดสิทธิ์ที่หน่วยงานรัฐจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรม เว้นแต่เอกชน

ในมาตรานี้ท้ายที่สุดกรรมาธิการเสียงข้างมากให้คงไว้ตามร่างเดิม

ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ท่ามกลางการพลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างแข็งขันโดยแกนนำระดับสูงของพรรคเพื่อไทย แต่กระแสการต่อต้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรระหว่างประเทศ และนักกิจกรรมต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มกรีนซึ่งมี นายสุริยะใส กตะสิลา ผู้ประสานงาน กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการสภาปฏิรูปประเทศไทย สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และภาคีธุรกิจ รวมทั้ง กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอาสาสมัครทางรัฐศาสตร์ และกลุ่มแบล็คสปริงค์ โดยมีแกนนำเช่น นางพะเยาว์ อัคฮาด นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เป็นต้น

ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยคะแนน 20 ต่อ 7 เสียง และเตรียมที่จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป กระทั่งวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมสภานัดพิเศษในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 2 และ 3 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์มีการคาดการณ์ว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น และภายหลังการประชุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือกับกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนิทสนมกัน ได้มีการวิเคราะห์ว่า

...รัฐบาลเร่งเกมเร็วเพื่อตัดตอน ขณะเดียวกัน ประธานสภาก็รับเข้าเป็นวาระประชุมเป็นการพิเศษ ถือเป็นการลักไก่ เนื่องจากผู้ชุมนุมยังค่อนข้างน้อย จึงเห็นว่าการเป่านกหวีดหลังจากผ่านวาระ 3 นั้นไม่ทันแล้ว จึงเห็นว่าหลังจากพิจารณาวาระ 2 นายสุเทพพร้อมด้วย ส.ส.พรรคส่วนหนึ่งจะออกมาต่อสู้เคียงข้างประชาชน จึงเห็นพ้องกันว่าจะมีการเป่านกหวีด โดยให้ประชาชนแต่งชุดดำมารวมกันที่สถานีรถไฟสามเสน ในเวลา 18.00 น. วันที่ 31 ต.ค. เป็นต้นไป แล้วจะมีการกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวผู้ชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง...

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ในวาระที่ 2-3 โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเริ่มพิจารณามาตรา 3 ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญโดยกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ทำการแก้ไข มีเนื้อหาระบุว่า

“...มาตรา 3 การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค. 56 ไม่ว่าผู้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112…”

แม้ว่าจะมีความวุ่นวายจนทำให้ต้องพักการประชุมถึง 2 ครั้ง นายสหรัฐ กุลศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด่าทอประธานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง 307 ต่อ 0 คะแนน และงดออกเสียง 4 เสียง

ในมาตรา 4 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 คะแนน และงดออกเสียง 4 เสียง

ในมาตรา 5 ไม่มีผู้ขออภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง 311 ต่อ 0 คะแนน และงดออกเสียง 5 เสียง

ในมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 0 คะแนน และงดออกเสียง 1 เสียง

ในมาตรา 7 ไม่มีผู้ขออภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง 315 ต่อ 0 คะแนน และงดออกเสียง 1 เสียง

และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง รวมเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 2 และ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป

ภายหลังจากมีการเร่งรัดบรรจุระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณา ทำให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ประกาศระดมมวลชนชุมนุมที่หลังสถานีรถไฟสามเสนในช่วงเย็นวันที่ 31 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นก็มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มอื่น ๆ กระจายทั่วกรุงเทพมหานครอีกอย่างน้อย 4 จุด คือ 1) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) บริเวณแยกอุรุพงษ์ 2) กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) บริเวณสวนลุมพินี 3) กลุ่มแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ บริเวณหลังสถานีรถไฟฟ้าสามเสน และ 4) กลุ่มแพทย์ไทยหัวใจรักชาติ บริเวณหน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี และวันที่ 4 พฤศจิกายน การชุมนุมของกลุ่มแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เดินเท้าพาผู้ชุมนุมไปทำกิจกรรมเป่านกหวีดร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย บริเวณถนนสีลม รวมทั้งมีการยกระดับการชุมนุม แม้ว่าในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะแถลงว่าได้ถอนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมออกจากวาระการประชุมสภาแล้วก็ตาม

กระทั่ง ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีมติเอกฉันท์ไม่รับร่างดังกล่าว และส่งคืนให้สภา หลังครบกำหนด 180 วัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การชุมนุมก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมกันลงสัตยาบันว่าไม่นำกฎหมายนิรโทษกรรมมาพิจารณาอีก จนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศก่อตั้ง “คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.” เพื่อต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกัน “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ “นปช.” ก็ได้จัดการชุมนุมขึ้นเพื่อตอบโต้การต่อต้านรัฐบาล เหตุการณ์จึงส่อเค้าว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศยุบสภาในช่วงเช้าของวันเดียวกัน เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสิ้นสุดความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง


สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....

(ฉบับนายวันชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กับคณะ)

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....

(ฉบับแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม)

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือของประชาชน

มาตรา 1 พ.ร.บ.นี้เรียกว่า “พ.ร.บ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....”

มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ขอประชาชนผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

มาตรา 4 เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง หรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดถ้าผู้นั้นในกรณีที่บุคคลใดอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น ทั้งนี้ ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อผู้กระทำตามมาตรา 3 ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดต่อไป

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตาม พ.ร.บ.นี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

หมายเหตุ ร่างฉบับนี้เป็นร่างสุดท้ายของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย ที่ กมธ.นิรโทษกรรม มีมติแก้ไขให้ครอบคลุมถึง "ทักษิณ-อภิสิทธิ์-สุเทพ" และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป โดย “ตัวอักษรขีดเส้นใต้” คือถ้อยคำจากร่างนิรโทษกรรมฉบับเดิมที่ถูก กมธ.นิรโทษกรรมตัดออก ส่วน “ตัวอักษรตัวหนา” คือถ้อยคำที่ กมธ. นิรโทษกรรมเติมเข้าไป

บรรณานุกรม

“18 กมธ. เพื่อไทยหนุนปล่อยผีหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.นิรโทษยกเข่งล้างผิดแม้วยืดยืด ก.ม. มั่นคงถึง 30 พ.ย.อ้างป้อง 65 ม็อบจ้องล้มมาร์ค ซัดสุมไฟขัดแย้ง.” คมชัดลึก. (19 สิงหาคม 2556), 13.

“การเมืองปี 2557 ย่ำรอยปีเก่าบอบช้ำเหตุนิรโทษกรรมสุดซอย.” คมชัดลึก. (28 ธันวาคม 2556), 3.

“ค้านสุดซอยนอกสภากำลังกระหึ่ม.” เดลินิวส์. (28 ตุลาคม 2556), 3.

“เครือข่าย 77 จว.ถกดีเดย์ชุมนุมใหญ่ คัดค้านนิรโทษสุดซอย เชื่อคืนเงินแม้วคนต้านแน่ ตำรวจน้ำดีขึ้นเวทีอุรุพงษ์ ถล่มระบอบทักษิณยับเยิน ปึ้ง ดอดจูบปากกัมพูชา รับมือคดีปราสาทพระวิหาร.” แนวหน้า. (27 ตุลาคม 2556), 10.

“เจ๊แดง ให้พท.ลุยเต็มที่ นิรโทษยกเข่ง สมชายย้ำเดินหน้าต่อ ไม่มีใครสั่งให้ถอยได้ ปชป.ชี้แดงเล่นละคร.” ไทยรัฐ. (23 ตุลาคม 2556), 11,15.

“ดันกม.ปรองดองยกเข่ง 163 พท.เซ็นยื่นสภา-เฉลิมตั้งเวทีแจง.” มติชน. (24 พฤษภาคม 2556), 15.

“‘เดินสุดซอย’ สัญญาณรบจาก ‘ทักษิณ’ ถึง ‘อำมาตย์’.” เนชั่นสุดสัปดาห์. (13 พฤษภาคม 2556), 7.

“ถก-โหวต 2 พ.ย.นิรโทษฉบับเหมาเข่งปชป.ผวาเสร็จในวันเดียวเทือกเป่านกหวีด31ต.ค..” เดลินิวส์. (30 ตุลาคม 2556), 16.

“ถอนนิรโทษ-รธน.ปชป.ร่วมวงปฏิรูปขู่โหวตมาตรา5มีสิทธิตายยกเข่ง.” ไทยรัฐ. (4 สิงหาคม 2556), 17,19.

“ทะลุคนทะลวงข่าว ค้านนิรโทษสุดซอย พะเยาว์-ธิดา-ศปช. ย้ำจุดยืน-เฉพาะผู้ชุมนุม.” ข่าวสด. (27 ตุลาคม 2556), 4.

“ปชป.เล็งตีความ 2 พรบ.ปลุกต้านยกเข่ง-นิรโทษขัด รธน..” มติชน. (27 พฤษภาคม 2556), 14.

“ผ่านฉลุย 20:7 สุดซอย พรบ.นิรโทษฯ.” บ้านเมือง. (29 ตุลาคม 2556), 6.

“ภาคประชาชนเรียกร้องชะลอร่างพ.ร.บ.นิรโทษวอนอย่าเหมายกเข่ง.” ฐานเศรษฐกิจ. (4 สิงหาคม 2556), 38.

“ร่างสุดท้าย ! พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย.” สำนักข่าวอิศรา. (24 ตุลาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/24634-amnesty_24634.html>. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2558.

“สปท.เปิดเวทีชำแหละจุดอันตรายนิรโทษเหมาเข่ง.” กรุงเทพธุรกิจ. (28 ตุลาคม 2556), 14.

“สภาบู๊สุดซอยฉลุย.” สยามรัฐ. (2 พฤศจิกายน 2556), 10.

“สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กองหนุน สุดซอย.” มติชน. (23 ตุลาคม 2556), 2, 11.

“เอกชนประกาศปลุกต้านนิรโทษ.” โพสต์ทูเดย์. (29 ตุลาคม 2556), A3.

อ้างอิง