พระราชปณิธาน
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
บทนำ
โดยที่ฐานข้อมูลตอนนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชทัศนะและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องระบอบการปกครอง ในแง่ที่ว่าควรหรือไม่ เปลี่ยนแปลงอย่างไรและเป็นอะไร จึงขอแจ้งไว้ในส่วนนี้ ซึ่งเป็นต้นของตอนว่า มีแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานโดยใช้มุมมองที่พยายามเข้าใจและเข้าถึงองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือ พิจารณาว่า ทรงมีอะไรเป็นฐานคิด จึงรับสั่ง/ไม่รับสั่งอะไร และจึงทรงทำ/ไม่ทรงทำอะไร แนวทางนี้ตรงกับที่นักมานุษยวิทยาแนะนำให้ใช้ในการศึกษาผู้ใด กลุ่มชนใด จากแง่มุมของผู้นั้น กลุ่มชนนั้นเอง หรือที่เรียกว่าแบบ inside out คือมองจากข้างในตัวเขาออกมาข้างนอก ทั้งนี้ โดยที่ฐานข้อมูลนี้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นี้ถือว่าพระองค์ทรงเป็นเสมือน “ตัวเอก” ของเรื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องทรงเป็น “พระเอก” ดังนั้น จึงมุ่งความสนใจไปที่การอธิบายพระองค์ ส่วนผู้อื่น “ตัวละคร” อื่นเป็น “ตัวรอง” หรือ “ตัวประกอบ” ซึ่งจะได้รับการวิเคราะห์เท่าที่จำเป็นแก่การอธิบายการกระทำของ “ตัวเอก”
ตอนนี้ใช้ชื่อว่า “พระราชปณิธาน” เพื่อนำเสนอว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริอยู่ตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้วว่าจะต้องทรงอำนวยให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แน่นอน แต่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงจนเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน โดยเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้น คือระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยประเภทหนึ่ง ซึ่งได้วิวัฒน์ขึ้นในประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศ มีอังกฤษเป็นสำคัญเป็นหนทางในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างการมีพระมหากษัตริย์กับการมีประชาธิปไตย เท่ากับว่าที่ทรงเห็นว่าเหมาะสมแก่สังคมไทยนั้น ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยประเภทใดก็ได้ แต่คือระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว
หากเข้าใจเช่นนี้ จะเข้าใจพระราชกรณียกิจด้านระบอบการปกครองทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ชัดเจน การนำเสนอข้อมูลในชุดนี้[1] คือวาระที่ทรงสละราชสมบัติ จึงจะเป็นไปตามร่องวิเคราะห์นี้ โดยมีรายละเอียดมากพอสมควร จึงได้นำเสนอบทสรุปไว้ที่ท้ายของบทความ เรื่อง สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นด้วย
ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดนำร่องพระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับระบอบการปกครอง พระราชนิพนธ์องค์หนึ่งของพระองค์ช่วยเราได้มาก พระราชนิพนธ์ดังกล่าวเป็นคำนำหนังสือพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ สองปีหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ
พระราชนิพนธ์คำนำองค์นี้[2] สาระสำคัญโดยสรุปว่า ทรงชี้ให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิม เป็นตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงตามแบบยุโรปสมัยใหม่ คือเป็นการแบ่งงานตามภาระหน้าที่ เช่น การคลัง การมหาดไทย การศึกษา เป็นต้น เป็นเพราะทรงรอบรู้ในประเพณีการปกครองอย่างเก่าของไทยและอย่างที่นิยมกันในยุโรปเป็นอย่างดีประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะพระองค์มีความสุขจากประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเป็นที่ตั้ง อีกทั้งการที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ทรงเห็นว่าเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” หรือ “Revolution” สำเร็จได้โดยแทบจะปราศจากการจลาจลหรือการเสียเลือดเนื้อนั้น ก็เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงริเริ่ม ประกอบกับพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงมี “พระราชอัธยาศัยละมุนละม่อม ทรงสามารถปลุกความจงรักภักดีในชนทุกชั้นที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว” รวมความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า
“พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจนและทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดี ได้พระราชทานดำริห์ตริตรองโดยรอบครอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองของไทยเราและต่างประเทศประกอบกันด้วยพระปรีชาญาณอันยวดยิ่ง ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเป็นลำดับมา ล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลา ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป”
ทรงสรุปดังนี้แล้ว จึงทรงชักชวนให้ “พวกเราผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ตั้งใจดำเนินรอยตามพระยุคลบาทเท่าที่จะทำได้ ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน ใน ๒ อย่างนี้ก็พอจะทำได้ มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไป อย่าให้เร็วเกินไป ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก นอกจากมีสติปัญญาแล้ว ยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย แต่ถ้าเราทำการใดๆ ไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้ว ก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่จนสุดกำลังแล้ว”
การที่ทรงใช้คำว่า “พวกเรา” ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าทรงหมายถึงพระองค์เองด้วย และหากคำนึงว่าทรงเห็นว่าการ “พลิกแผ่นดิน” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นไปได้โดยแทบจะไม่มีการจลาจลหรือการเสียเลือดเนื้อโดยเปรียบเทียบกับในแดนอื่น ย่อมกล่าวได้ว่าเป็น “พระราชปณิธาน” ของพระองค์ที่จะทรงดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ โดยการทรงเลือกประเพณีเดิมกับประเพณีใหม่มาประกอบกัน และดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมาะแก่กาลเวลา ไม่เฉพาะแต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านระบอบการปกครอง ซึ่งทรงทราบดีว่าจำเป็นต้องทรงทำในรัชกาลของพระองค์เอง จะได้สำเร็จโดยมีความระส่ำระส่ายและความขัดแย้งจนกลายเป็นความรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้อน้อยที่สุด ทั้งนี้ ทรงตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่ “ยากยิ่งนัก”จึงทรงหวังเล็กน้อยที่จะทรงพึ่งโชคชะตาของพระองค์ แต่ที่สำคัญทรงเชื่อมั่นใน “ผลแห่งกรรม” จึงทรงปลอบพระทัยพระองค์เองว่า หากทรงปฏิบัติ “หน้าที่” โดยทรงมี “ความสุจริตในใจ” (ซึ่งอาจทรงหมายความถึง ความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หรือ integrity ) และโดยสุดพระปรีชาสามารถแล้ว ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เป็นไปตามกรรมโดยแท้
หากเข้าใจเช่นนี้ “พระราชปณิธาน” ในด้านระบอบการปกครองก็คือ ทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ว่าเป็นพระราชภารกิจหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องทรงสานต่อพระราชกรณียกิจด้านนี้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือการเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองโดยมีตัวแทน (representative government) ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเล็งเห็นแต่ทรงเห็นว่ายังไม่ถึงจังหวะเวลา และซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงดำเนินการให้ลุล่วง จะด้วยเหตุหรือเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ประเด็นหลักในที่นี้
ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ควรถือเป็นแบบอย่างในการนั้นคือ “วิธีการ” หรือ “กระบวนการ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการทรงเลือกจากทั้งประเพณีไทยแต่เดิมและจากประเพณีของชาวตะวันตกประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ในการกระทำการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่ว่ากระบวนการนั้นจะได้ไม่ทำให้เกิดความระส่ำระส่าย ไร้เสถียรภาพ หรือความขัดแย้งจนรุนแรงเสียเลือดเนื้อ
การทำความเข้าใจกับ“พระราชปณิธาน” นี้อย่างถ่องแท้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะทำความเข้าใจกับพระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านระบอบการปกครองซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีและได้ทรงประกอบในเพียง ๙ ปี แห่งรัชกาล ทั้งในช่วง ๗ ปีที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และอีกประมาณ ๒ ปี ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ “ในระบอบรัฐธรรมนูญ” รวมถึงเหตุเบื้องลึกแห่งการสละราชสมบัติในท้ายที่สุด
อนึ่ง โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำดังกล่าวด้วยว่า พระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ทรง“อ่านและศึกษา” ก่อนที่พระองค์เองจะเสด็จขึ้นสู่ราชสมบัติไม่นาน ได้เอื้อ ให้พระองค์ทรงทราบประเพณีการปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดินสำคัญๆ และทรงเห็นความสำคัญของพระราชดำรัสนั้นมาแต่บัดนั้นแล้ว จึงอนุมานได้ว่าทรงมี “พระราชปณิธาน” นี้มาตั้งแต่วาระแรกที่ทรงครองราชย์สมบัติ มิใช่พึ่งมาทรง ๒ ปีให้หลังคือเมื่อตีพิมพ์พระราชดำรัสเป็นหนังสือ
ครั้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (พ.ศ. ๒๔๖๙ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ได้ทรงเปล่งพระบรมราชโองการว่า “บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน... เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป...”[3] เท่ากับว่าในวาระนั้น ทรงเป็นประมุขของชาติและทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลในขณะเดียวกัน จึงมิได้เพียงทรงครองแผ่นดินเท่านั้น หากแต่ต้องทรงจัดการปกครอง คือจัดการทั้งตัวระบอบและแนวทางการดำเนินการปกครองด้วยในขณะเดียวกันเพราะทรงขึ้นครองราชย์สมบัติในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถือคติ “ธรรมราชา” เป็นหลักสำคัญ
บรรณานุกรม
ธานีนิวัต, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๒๘. พระราชประวัติ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตีพิมพ์ซ้ำใน คณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพิมพ์ในการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘. หน้า ก-ธ. กรุงเทพ: โรง
พิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.
ประกาศอักษรกิจ, พระยา เรียบเรียง ๒๕๒๘. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘ ตีพิมพ์ซ้ำใน คณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพิมพ์ในการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน
๒๕๒๘. หน้า ๑-๙๔. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.
วุฒิชัย มูลศิลป์ ๒๕๕๔. พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง: พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระ
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปกครองแผ่นดิน. วารสารประวัติศาสตร์ ๒๕๕๓-๒๕๕๔: ๓-๙.
อ้างอิง
- ↑ บทความในชุดที่ ๓ เกี่ยวกับพระราชทัศนะและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” “ ประชาธิปไตย” และ “ระบบกษัตริย์”
- ↑ ธานีนิวัต, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๒๘. พระราชประวัติ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตีพิมพ์ซ้ำใน คณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพิมพ์ในการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘. หน้า ก-ธ. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.(หน้า ช-ฌ).
- ↑ ประกาศอักษรกิจ, พระยา เรียบเรียง ๒๕๒๘. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘ ตีพิมพ์ซ้ำใน คณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพิมพ์ในการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘. หน้า ๑-๙๔. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. (หน้า ๓๑)