การปฏิบัติราชการแทน
เรียบเรียงโดย..อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ .. รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
ความหมายของการปฏิบัติราชการแทน
การปฏิบัติราชการแทน หมายถึงการมอบอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ให้กับผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปฏิบัติราชการแทน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ[1]
ความสำคัญของการปฏิบัติราชการแทน
ในการบริหารราชแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ และกระจายอำนาจความรับผิดชอบ จึงมีบทบัญญัติในการปฏิบัติราชการแทนโดยผู้ปฏิบัติราชการแทนจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้มอบอำนาจและการมอบอำนาจจะมีอยู่ตลอดจนกว่าจะมีการยกเลิกการมอบอำนาจนั้น ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ
การปฏิบัติราชการแทนในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในการบริหารราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจในการบริหารราชการอาจจะมอบอำนาจในการสั่งการ อนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น โดยผู้มีอำนาจในการบริหารราชการสามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้มีอำนาจชั้นรองเพื่อปฏิบัติราชการแทน โดยที่ผู้มอบอำนาจยังคงดำรงตำแหน่งและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ
หลักในการมอบอำนาจด้วยกัน 5 ประการ คือ[2]
1. เป็นอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2. กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้
3. การมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ
4. เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้นและจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ (เว้นแต่กรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งกฎหมายกำหนดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจนั้นต่อไปอีกได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค)
5. เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หมวด 5 มาตรา 38 – 40 ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ ดังนี้
ตารางแสดงการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน
ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ
(1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
ปลัดกระทรวง อธิบดีหัวหน้าส่วนราชการอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง
ปลัดทบวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
(4) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด (5) ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
(6) ปลัดทบวง รองปลัดทบวง
ผู้ช่วยปลัดทบวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
(7) อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี
ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
(8) ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วน-
ราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามมาตรา 31 วรรค 2 ข้าราชการในกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้ตามระเบียบที่ อธิบดีกำหนด
(9) ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด
ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ
(10) นายอำเภอ ปลัดอำเภอ
หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ
(11) ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ
หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ
(12) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ
หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ
(13) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (1) ถึง (12) บุคคลอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
อ้างอิง
บรรณานุกรม
เฉลิมพงศ์ มีสมนัย, ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ และคณะ, การบริหารราชการไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5, นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ,หมวด 5 มาตรา 38-40.
หนังสืออ่านประกอบ
มานิตย์ จุมปา, (2548), คำอธิบายกฎหมายปกครองว่าด้วยการจัดระเบียบราชการบริหาร กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธันยวัฒน์ รัตนสัค,(2555), การบริหารราชการไทย ,เชียงใหม่ : คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.