การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า
เรียบเรียงโดย..อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ..รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
การปฏิรูประบบราชการใน พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น และประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ รวมทั้งมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ[1]
ความหมาย
การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า หมายถึงการบริหารราชการที่มีการกำหนดเป้าหมาย แผนการทำงาน การดำเนินการที่สะดวกและรวดเร็ว ใช้งบประมาณต่ำ มีความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจของรัฐและสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน
ความสำคัญ
การปฏิรูประบบราชการในปี 2545 ได้นำแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้[2]
1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูประบบราชการเพื่อบรรลุภารกิจของรัฐและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
การบริหารราชการยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
การบริหารราชการในยุคใหม่ จะต้องเป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ประสิทธิภาพในการบริหารราชการ หมายถึงความสามารถในการบรรลุเป้าหมายของทางเลือกโดยเปรียบเทียบจากต้นทุน และความคุ้มค่าในการบริหารราชการหมายถึงงานบริการสาธารณะจะต้องคุ้มค่าในภารกิจของรัฐ โดยพิจารณาถึงเป้าหมาย แผนการทำงาน ระยะเวลาแล้วเสร็จของงานหรือโครงการและงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละงานหรือโครงการ การประเมินความคุ้มค่ายังรวมถึงประโยชน์หรือผลเสียทางสังคมและประโยชน์หรือผลเสียซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย
การบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าจึงมีมิติในการดำเนินการหลายมิติ ตามแต่วัตถุประสงค์ ดังนี้คือ[3]
1. มิติของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต (Input) ได้แก่การใช้ทรัพยากรการบริหาร คือ คน เงิน วัสดุ เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างประหยัด และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
2. มิติของกระบวนการบริหาร (Process) ไดแก่ การทำงานที่ถูกต้องได้มาตรฐาน รวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีที่สะดวกกว่าเดิม
3. มิติของผลผลิตและผลลัพธ์ ไดแก่ การทำงานที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อสังคม เกิดผลกำไร ทันเวลา ผู้ปฏิบัติงานมีจิตสำนึกที่ดีต่อการทำงานและบริการ เป็นที่พอใจของลูกค้าหรือผู้มารับบริการ
1.มิติของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต (Input)
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดมิติของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต ไว้ดังนี้คือ
(1) เพื่อความโปร่งใสและเกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการ ส่วนราชการจะต้องกำหนดงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละงานหรือโครงการ และเผยแพร่ให้ข้าราชการและประชาชนทราบ
(2) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนราชการจะต้องจัดทำบัญชีต้นทุนและต้องคำนวณรายจ่ายต่อหน่วยของงานบริการสาธารณะ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทราบ ถ้ารายจ่ายต่อหน่วยของงานบริการสาธารณะสูงกว่ารายจ่ายต่อหน่วยของงานประเภทและคุณภาพเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันของส่วนราชการอื่น ส่วนราชการจะต้องจัดทำแผนการลดรายจ่ายเสนอต่อสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และ ก.พ.ร.
(3) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ในการจัดซื้อหรือจัดจ้างจะต้องเปิดเผยและเที่ยงธรรม คำนึงถึงคุณภาพและการดูแลรักษาเป็นสำคัญ การจัดซื้อหรือจัดจ้างไม่ต้องถือราคาต่ำสุดในการเสนอซื้อหรือจ้างเสมอ
2. มิติของกระบวนการบริหาร (Process)
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดมิติของกระบวนการบริหาร (Process) ไว้ดังนี้คือ
(1) ส่วนราชการจะต้องกำหนดเป้าหมาย แผนการทำงาน ระยะเวลาแล้วเสร็จของงานหรือโครงการและงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละงานหรือโครงการ และเผยแพร่ให้ข้าราชการและประชาชนทราบ
(2) เพื่อให้การบริราชการเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว การอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบส่วนราชการอื่น ที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด จะต้องแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ในกรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติไว้ และขั้นตอนการปฏิบัตินั้นต้องใช้ระยะเวลาเกินสิบห้าวัน ให้ส่วนราชการที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ ประกาศกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้ให้ส่วนราชการอื่นทราบ
ถ้าส่วนราชการที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด หากเกิดความเสียหายขึ้น ให้ถือว่าข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการนั้นประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากความผิดของตน
(3) การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาใด ๆ ส่วนราชการที่รับผิดชอบในปัญหานั้น ๆ จะต้องพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว การตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาวินิจฉัย ให้ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น
(4) การสั่งราชการโดยปกติจะสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ไม่อาจสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะนั้น อนุญาตให้สั่งราชการด้วยวาจา แต่ผู้รับคำสั่งต้องบันทึกคำสั่งด้วยวาจาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเมื่อปฏิบัติราชการตามคำสั่งดังกล่าวแล้วให้บันทึกรายงานให้ผู้สั่งราชการทราบ ในบันทึกให้อ้างอิงคำสั่งด้วยวาจาไว้ด้วย
(5) ในการพิจารณาเรื่องที่ไม่ใช่การวินิจฉัยปัญหาด้านกฎหมาย ให้มติของคณะกรรมการผูกพันส่วนราชการซึ่งมีผู้แทนร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย แม้ว่าในการพิจารณาเรื่องนั้นผู้แทนของส่วนราชการที่เป็นกรรมการจะไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาก็ตาม ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันสองฝ่าย ให้บันทึกความเห็นของกรรมการฝ่ายข้างน้อยไว้ให้ปรากฏในเรื่องนั้นด้วย
3.มิติของผลผลิตและผลลัพธ์
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดมิติ ของผลผลิตและผลลัพธ์ไว้ดังนี้คือ
(1) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณจะร่วมกันในประเมินความคุ้มค่าของส่วนราชการในการปฏิบัติภารกิจของรัฐ แล้วรายงานคณะรัฐมนตรี
(2) ผลที่ได้รับจากการประเมินจะใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาว่าภารกิจใดสมควรจะได้ดำเนินการต่อไปหรือยุบเลิก และจะใช้ประโยชน์ในการจัดทำงบประมาณในปีต่อไป
(3) การประเมินความคุ้มค่ายังรวมถึงประโยชน์หรือผลเสียทางสังคมและประโยชน์หรือผลเสียซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย
อ้างอิง
บรรณานุกรม
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ทิพาวดี เมฆสวรรค์. การส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบราชการ. (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์รักอ่าน. 2538). หน้า 2
หนังสืออ่านประกอบ
ทิพาวดี เมฆสวรรค์. การส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบราชการ. (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์รักอ่าน. 2538)